เสียงของผู้ให้บริการและผู้รับบริการ เสียงที่ไม่ธรรมดาในพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

การรับฟังความเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ถูกกำหนดไว้ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เกือบทุกปี สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้มีกิจกรรมที่เรียกว่าการประชุมรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการ โดยมีลักษณะของกิจกรรมที่แตกต่างกันออกไปตามกรอบและแนวทางที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้กำหนด หลายปีที่ผ่านมา การรับฟังความคิดเห็นทั่วไปเริ่มกลายเป็นงานประเพณี บางปีเริ่มใช้ข้อจำกัดทางการเงิน มาเป็นตัวกำหนดรูปแบบและวิธีการ ข้อสรุปหลายประเด็นถูกเลือกหยิบไปใช้ ตามความสนใจ ความต้องการของแต่ละกลุ่มองค์กรที่มีบทบาทเกี่ยวพันกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่ประเด็นสำคัญบางประการที่ถูกกำหนดไว้ในกฎหมายอาจซุกซ่อนอยู่ในบางย่อหน้าของผลการรับฟัง และอาจเป็นที่มาของปัญหาการดำเนินการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องของการกำหนดหลักเกณฑ์ค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข ดังนั้นหากไม่สามารถใช้กลไกของการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการให้สอดคล้องกับกฎหมายอย่างจริงจัง เสียงบ่น และความคับข้องใจโดยเฉพาะของผู้ให้บริการก็จะยิ่งดังขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไป คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกับการรับฟังความเห็น พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กำหนดให้คณะกรรมการ “หมายความว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” มีอำนาจหน้าที่ในการรับฟังความเห็น บัญญัติไว้ในมาตรา 18(10) และมาตรา 18(13) มาตรา 18(10) กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการรับฟังความเห็นจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการเพื่อประโยชน์ในการปรับปรุงคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข มาตรา 18(13) จัดประชุมเพื่อให้คณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นโดยทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการเป็นประจำทุกปี จะเห็นได้ว่ามาตรา 18(10) เป็นบทบาทในส่วนของอำนาจ ให้คณะกรรมการ สามารถกำหนดหลักเกณฑ์ ส่วนมาตรา 18(13) เป็นบทบาทในส่วนของหน้าที่ ซึ่งกำหนดให้ ต้องมีการจัดประชุมเป็นประจำทุกปี สำหรับการจัดประชุม คณะกรรมการสามารถกำหนดให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หน่วยงานซึ่งรับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการต้องไปดำเนินการจัดประชุมให้ โดยคณะกรรมการเป็นผู้รับฟังความเห็น จึงจะเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับหน้าที่ของคณะกรรมการ เรื่องที่กฎหมายกำหนดให้ต้องรับฟัง แม้ว่าในพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาตรา 18(10)(13) จะกล่าวถึงการรับฟังความเห็นโดยทั่วไป แต่ในพระราชบัญญัติมีบทบัญญัติ ให้หลักเกณฑ์การกำหนดค่าใช้จ่าย เพื่อบริการสาธารณสุข ต้องผ่านการรับฟังความเห็น ตามมาตรา 18(13) ก่อน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในพระราชบัญญัติที่ถูกระบุ อย่างชัดเจนว่าต้องทำการรับฟังความเห็น และเมื่อประกอบกับมาตรา 18(13) ก็หมายถึงว่าต้องทำทุกปี ก่อนที่จะมีการกำหนดค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขในแต่ละปี ไม่ได้เปิดโอกาสให้สำนักงานหรือ คณะกรรมการมีการกำหนดหลักเกณฑ์โดยไม่ผ่านการรับฟังความเห็น ลองพิจารณารายละเอียดในพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาตรา ๔6 มาตรา 46 หน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการตามมาตรา 44 และหน่วยบริการที่รับการส่งต่อผู้ป่วย มีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขจากกองทุนตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด หลักเกณฑ์การกำหนดค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขตามวรรคหนึ่ง ต้องผ่านการรับฟังความเห็นตามมาตรา18(13) ก่อน และอย่างน้อยต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้ อาศัยราคากลางที่เป็นจริงของโรคทุกโรคมาเป็นฐานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานตามาตรา50(4) ครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายของหน่วยบริการในส่วนเงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากร คำนึงถึงความแตกต่างในภารกิจของหน่วยบริการ คำนึงถึงความแตกต่างในกลุ่มผู้รับบริการและในขนาดของพื้นที่บริการที่หน่วยบริการรับผิดชอบ บทบัญญัติในมาตรานี้เชื่อมโยงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข การจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขจากกองทุนเข้ากับการรับฟังความเห็น โดยมีเงื่อนไขสำคัญ 4 ประการ และเป็นการประชุมรับฟังความเห็นโดยคณะกรรมการที่ต้องทำทุกปี ในภาคปฏิบัติหากจะดำเนินการให้สอดคล้องกัน หลังจากที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติงบกองทุนหลักประกันสุขภาพในปีถัดไป สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต้องนำเสนอต้นร่างหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเบื้องต้นให้คณะกรรมการพิจารณา จากนั้นจึงนำหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่ผ่านการพิจารณาดังกล่าวไปจัดประชุมให้คณะกรรมการได้มีการรับฟังความเห็น ก่อนจะเกิดเป็นหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่มีการประกาศใช้ในแต่ละปี ดังนั้นเวลาที่เหมาะในการรับฟังความเห็นของการจัดสรรค่าใช้จ่ายแก่หน่วยบริการต่างๆต้องเกิดขึ้นก่อนเดือนกันยายนของแต่ละปี เพื่อให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สามารถดำเนินการบริหารกองทุนได้อย่างเหมาะสมและทันเวลา กระบวนการตามมาตรา 46 จนนำไปถึงการรับฟังความเห็นตามมาตรา 18(13) หากมีการดำเนินการอย่าง เคร่งครัดจึงเป็นกลไกสำคัญ ทั้งต่อผู้ให้บริการ ผู้รับบริการและผู้เกี่ยวข้องทั้งมวล ให้อยู่ในฐานะของการตกลงร่วมกันจากการที่ต้องมีส่วนได้ ส่วนเสียกับการจัดสรรงบกองทุนหลักประกันสุขภาพในแต่ละปี ซึ่งอาจมีความจำกัดหรือเพียงพอตามภาวะทางการเงินการคลังของประเทศในแต่ละปี คณะกรรมการและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก็จะมีบทบาทในการดำเนินการจัดสรรให้มีประสิทธิภาพและทันเวลาต่อไป การเกิดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่จะทำให้หน่วยบริการได้รับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขอื่นๆจากกองทุนที่จะเกิดขึ้นในระหว่างปี หากจะเกิดขึ้น ย่อมยังอยู่ภายใต้มาตรา 46 คือ “ต้องผ่านการรับฟังความเห็นตามมาตรา 18(13) ก่อน” นั้นคือถ้าจำเป็นที่จะต้องมีการกำหนดสิทธิการได้รับค่าใช้จ่ายขึ้นมาใหม่ในระหว่างปี จะต้องมีการรับฟังความเห็นโดยคณะกรรมการก่อน ดังนั้นการกำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข หากจะเกิดขึ้นใหม่โดยไม่ได้มีการดำเนินการรับฟังความเห็นมาก่อนตามมาตรา 18(13) จึงขัดกับหลักการสำคัญของพระราชบัญญัติ เสียงที่ไม่ธรรมดาในพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การรับฟังความเห็นตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจึงนับเป็นกลไกสำคัญของการจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยเชื่อมโยงมาตรา 46 เข้ากับการรับฟังความเห็นของคณะกรรมการเป็นประจำทุกปีตามมาตรา 18(13) ซึ่งเป็นประเด็นหลักที่กฎหมายกำหนดให้ต้องรับฟัง สำหรับประเด็นอื่นๆจึงเป็นประเด็นที่คณะกรรมการอาจมีการกำหนดเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับภาวการณ์ เพื่อช่วยให้คุณภาพและมาตรฐานของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ดังนั้นการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการภายใต้พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจึงไม่ใช่เรื่องทั่วไป ไม่ใช่เรื่องที่จะดำเนินการเพียงขอให้ผ่านไปทีในแต่ละปี แต่การรับฟังความเห็นของคณะกรรมการ โดยเฉพาะเรื่องการจัดสรรค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขจากกองทุน เป็นสิ่งที่ไม่สามารถละเลยได้ และจำเป็นต้องเป็นการรับฟังภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 เสียงของผู้ให้บริการและผู้รับบริการ จึงเป็นเสียงที่ไม่ธรรมดา ในพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอย่างแน่แท้จริงๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท