Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“ขอ ตือ มั่ว ฮื่อ สิ ขอเต๋อ เหลี่ย หลี่” (Qhov twg muaj hwj tshim qhov natawv liam tsim) ภาษิตม้งบทหนึ่งที่จำได้แม่นขึ้นใจมาทุกวันนี้ คือ “ที่ไหนมีอำนาจ ที่นั่นมีความหายนะ” ชาวบ้านม้งคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า “ชีวิตของคนเผ่าม้ง ไม่ต้องการให้ผู้มีอำนาจ นำอำนาจมาใช้ในทางที่ผิด เมื่อใดอำนาจถูกใช้ในทางที่ผิด ความหายนะก็จะเกิดขึ้นทันที” ภาษิตบทนี้ทำให้คิดถึงบางเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ณ บ้านทับเบิก หมู่ที่ 14 และ 16 ต.วังบาล อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ ขึ้นมาทันที บ้านทับเบิกเป็นหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่บนภูสูง อยู่เลยจากยอดภูทับเบิกสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังของ จ.เพชรบูรณ์ ไปอีก 5 กม. คนในหมู่บ้านแทบทั้งหมดกว่า 600 ครัวเรือนเป็นชนเผ่าม้ง อาชีพหลัก คือ ปลูกกะหล่ำปลี ที่นี่เป็นแหล่งปลูกกะหล่ำปลีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย กะหล่ำปลีที่คนเมืองกินทุกวันนี้หรือที่วางขายกันตามท้องตลาดมาจากบ้านทับเบิกกว่า 80 % คนม้งบางส่วนของหมู่บ้านประมาณ 30 % นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2530 จึงทำให้มีการตั้งคริสตจักรทับเบิกขึ้นมาอย่างถูกต้องตามธรรมนูญแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ.2543 เพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เหมือนกับการตั้งวัดของคนไทยในศาสนาพุทธ โดยมีนายพรชัย บัญชาสวรรค์ เป็นศิษยาภิบาล (ครูสอนศาสนา) พื้นที่ทั้งหมดของหมู่บ้านอยู่ในความดูแลของศูนย์พัฒนาสังคม หน่วยที่ 38 จ.เพชรบูรณ์ (หรือในชื่อเดิมคือศูนย์พัฒนาสงเคราะห์ชาวเขา) สังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จากนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะในเรื่อง Unseen Thailand ที่มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 ภูทับเบิกจึงกลายเป็นหนึ่งในสถานที่ดังกล่าว หากใครได้เห็นบรรยากาศชุ่มฟ้าฉ่ำฝน เมื่อฟ้าหลังฝนเต็มไปด้วยเมฆหมอกฝนขาวโพลนลอยอ้อยอิ่งให้ได้สัมผัส จับ สูดดม ท่ามกลางขุนเขาและแมกไม้เขียวขจี หรือในทุกๆเหมันตฤดู ชื่อของ “ภูทับเบิก” ถูกนำเสนอด้วยสโลแกนเก๋ๆว่า “นอนทับเบิก สัมผัสความหนาว ดูดาวบนดิน” จึงทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างถิ่นจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามาเที่ยวที่ภูทับเบิกจนที่พักไม่เพียงพอ ชาวบ้านม้งคนหนึ่งเล่าว่า “อย่าว่าแต่ที่จะกางเต็นท์เลย ที่จอดรถยังแทบไม่มี รถติดกันเป็นแถวยาว ไปไหนไม่ได้ ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วที่นี่ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลหยุดยาว ตั้งแต่วันพ่อ วันรัฐธรรมนูญ วันปีใหม่” จึงทำให้ชาวบ้านที่นี่ลุกขึ้นมาหาทางจัดการ มีการรวมตัวกันจัดตั้งเป็น \วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวภูทับเบิก\" เพื่อเข้ามาบริหารจัดการ ดูแลการท่องเที่ยวบนภูทับเบิก ตลอดจนมีการก่อสร้างอาคารถาวรเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวในที่ดินทำกินของแต่ละคนมากขึ้นเป็นลำดับ เช่นเดียวกับคริสตจักรทับเบิกก็ได้มีแนวคิดพัฒนาพื้นที่ของคริสตจักร โดยการก่อสร้างอาคารคอนกรีตถาวรเป็นสถานคริสเตียนศึกษาภูสวรรค์ขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ.2552 เพื่อใช้ในการฝึกอบรมด้านความรู้ต่างๆแก่สมาชิกคริสตจักรที่อยู่ในหมู่บ้านทับเบิก ตลอดจนให้บริการด้านที่พักแก่บุคคลทั่วไปรวมไปถึงนักท่องเที่ยวตามฤดูกาล อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ.2553 และ 5 มกราคม พ.ศ.2554 ทางศูนย์พัฒนาสังคม หน่วยที่ 38 โดยนายสมคิด เตชะพะโลกุล ผู้อำนวยการศูนย์ฯได้มีหนังสือแจ้งมายังคริสตจักรถึงนายพรชัย บัญชาสวรรค์ ให้ทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว นี้ไม่นับว่านายพรชัยยังได้รับหมายเรียกจากสถานีตำรวจภูธรหล่มเก่า ให้ไปพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ.2554 และ 13 มิถุนายน พ.ศ.2554 ตามลำดับ เนื่องจากศูนย์พัฒนาสังคมฯ ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีในข้อหา “เข้าไปยึดถือครอบครอง รวมตลอดถึงก่นสร้าง หรือเผาป่า ที่ดินของรัฐ โดยไม่ได้รับอนุญาต และก่นสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่า หรือเข้ายึดถือ หรือครอบครองป่าเพื่อตนเอง หรือผู้อื่น โดยไม่ได้รับอนุญาต” นายพรชัย บัญชาสวรรค์ ในฐานะเจ้าทุกข์ เล่าให้ฟังว่า “แม้ว่าที่ดินแห่งนี้จะอยู่ในความดูแลของศูนย์พัฒนาสังคมที่ 38 แต่คริสตจักรทับเบิกก็ได้ซื้อที่ดินจำนวน 3 ไร่เศษมาโดยถูกกฎหมายจากนายไพโรจน์ สุวรรณศรี เมื่อปี 2549 เป็นเงิน 120

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net