Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

มติชนออนไลน์ รายงานว่า เว็บไซต์หนังสือพิมพ์พนมเปญโพสต์ รายงานเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ว่า เอกสารลับทางการทูตของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ที่เว็บไซต์จอมแฉ "วิกิลีกส์" นำมาเผยแพร่ ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2550 ได้กล่าวถึงรายละเอียดการไปเยือนกรุงพนมเปญของสภาธุรกิจสหรัฐ-อาเซียน และร่วมประชุมกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงกัมพูชาว่า ผู้แทนบริษัท โคโนโคฟิลิปส์ ยักษ์ใหญ่พลังงานสหรัฐ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลกัมพูชา หาทางคลี่คลายข้อพิพาทพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทย โดยระบุว่าบริษัทฯ ถือสัญญาสำรวจพื้นที่ดังกล่าวเป็นเวลาเกือบสิบปี 

ในระหว่างการประชุมครั้งนั้น นายเกา คิม ฮอร์น เจ้าหน้าที่ระดับสูงกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา ได้แจ้งต่อบริษัทฯว่า รัฐบาลไทยกับกัมพูชาเกือบได้ข้อยุติในเรื่องนี้ ไม่นานนักก่อนรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะถูกรัฐประหารยึดอำนาจ 

นายเกากล่าวว่า ทั้งสองเห็นพ้องกัน ในหลักการแบ่งรายได้ในพื้นที่ใกล้ไทยมากที่สุด สัดส่วนไทย 80% กัมพูชา 20% ส่วนพื้นที่ตรงกลางแบ่ง 50-50 และสัดส่วนไทย 20 กัมพูชา 80 สำหรับพื้นที่ใกล้ฝั่งกัมพูชา ในเวลานั้น นายเกาคิดว่า การเจรจาเพิ่มเติมอีก 6 เดือนน่าจะตกลงในประเด็นนี้ได้ ความสำคัญของเขตแดนซับซ้อนทางทะเลต่ออนาคตของภูมิภาค ถูกตอกย้ำในเอกสารที่รั่วอีกฉบับ ซึ่งให้รายละเอียดการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกัมพูชา กับนายแกรี ฟลาเฮอร์ตี้ กรรมการผู้จัดการใหญ่ของเชฟรอน ในปี 2550 เช่นกัน

เอกสารระบุว่า เชฟรอน บริษัทที่ขุดเจาะและสำรวจบ่อน้ำมันส่วนที่เรียกว่า "บล็อค เอ" นอกชายฝั่งของกัมพูชา มีความสนใจอย่างมากในการได้รับสิทธิในการสำรวจบ่อน้ำมันในพื้นที่ทับซ้อนเช่นกัน โดยนายฟลาเฮอร์ตี้ กล่าวว่า พื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทยนั้น เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ดีที่สุดในโลกสำหรับการสำรวจ และอาจเปลี่ยนแปลงกัมพูชาแบบพลิกโฉม ส่วนบล็อค เอ นั้น ไม่มีความสำคัญพอที่จะสำรวจและทำกำไรได้โดยลำพัง

หลัง พ.ต.ท.ทักษิณถูกโค่นอำนาจ กรณีพิพาทน่านน้ำทับซ้อนแทบไม่มีความคืบหน้า ประกอบกับการตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณเป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจของกัมพูชาเมื่อปี 2552 ยิ่งสร้างปัญหามากขึ้น เมื่อคณะรัฐมนตรีไทยได้ยกเลิกบันทึกความเข้าใจฉบับหนึ่งที่ลงนามในปี 2544 โดยอ้างว่าบทบาทใหม่ของอดีตนายกฯทักษิณ ทำให้สถานะการเจรจาของไทยเสียเปรียบ

เอกสารสถานทูตอีกฉบับในเดือนธันวาคม 2552 ยังกล่าวอย่างชัดเจนในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณกับกัมพูชาระบุว่า "การไปเยือนพนมเปญของทักษิณฯ ถูกนักสังเกตการณ์ส่วนใหญ่มองว่า เป็นความต่อเนื่องของ พ.ต.ท.ทักษิณและสมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ในการใช้กันและกันเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว"

ด้าน นายเมน เดน รองผู้อำนวยการสำนักงานปิโตรเลียมแห่งชาติ กล่าวว่า ไม่ทราบเรื่องข้อตกลงแบ่งรายได้ระหว่างกัมพูชากับไทย เพราะเป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือความรับผิดชอบ ส่วนนายเกา คิม ฮอร์น กล่าวสั้นๆ ว่า จำไม่ได้

 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net