Skip to main content
sharethis

นายแพทย์สุทธิพงษ์ ทักษิณสัมพันธ์ ผู้อำนวยการธนาคารเลือด ประจำโรงพยาบาลปัตตานี เปิดเผยว่า ขณะนี้ปริมาณเลือดในธนาคารเลือด โรงพยาบาลปัตตานี มีไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้เลือดที่มีมากถึง 4,000–5,000 ซีซีต่อวัน เนื่องจากมีผู้บริจาคเลือดเฉลี่ย 450 ซีซีต่อวัน หรือน้อยกว่า บางครั้งโรงพยาบาลออกไปขอรับบริจาคเลือด ชาวบ้านก็ไม่เข้าใจว่า มาขอรับบริจาคเลือดเพื่ออะไร ทำให้ไม่ได้รับบริจาคเลือดเลยก็มี แต่ละวันยอดผู้มาบริจาคมีเพียง 3–5 คน และบางวันแค่ 1–2 คนเท่านั้น นายแพทย์สุทธิพงษ์ เปิดเผยต่อไปว่า เลือดส่วนใหญ่ได้มาจากการบริจาคของทหาร จากค่ายทหาร เยาวชน นักเรียน นักศึกษา จากสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่ทางโรงพยาบาลออกจัดกิจกรรมขอรับบริจาคในช่วงเปิดเทอม ขณะที่ช่วงปิดเทอม ซึ่งเป็นช่วงที่ไม่สามารถจัดกิจกรรมขอรับบริจาคเลือดได้ จะเป็นช่วงที่ขาดแคลนเลือดอย่างหนัก ผู้บริจาคเลือดส่วนใหญ่ เป็นชาวไทยพุทธ ส่วนชาวมุสลิมบริจาคเลือดน้อยมาก เนื่องจากกลัวความเจ็บปวด กลัวเข็มฉีดยา บางคนบริจาคเลือดให้เฉพาะญาติเท่านั้น เพราะไม่ต้องการให้เลือดของตนไปอยู่กับคนอื่น โดยเฉพาะคนต่างศาสนา นายแพทย์สุทธิพงษ์ เปิดเผยด้วยว่า ส่วนมากชาวบ้านจะบริจาคเลือดเมื่อมีอาการป่วย เพราะเชื่อว่าการบริจาดเลือดจะช่วยให้อาการป่วยดีขึ้น การบริจาคด้วยจิตกุศลจึงมีน้อยมาก โดยทั่วไปชาวบ้านไม่ทราบว่า เมื่อบริจาคเลือดแล้วจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง ทำให้ชาวบ้านไม่อยากบริจาคเลือด ทั้งที่การบริจาคเลือดทำให้มีสุขภาพดีขึ้น และเข็มที่ใช้รับบริจาคเลือด เป็นเข็มที่สร้างความเจ็บปวดน้อยที่สุด นายแพทย์สุทธิพงษ์ เปิดเผยอีกว่า มาตรการรองรับกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินที่มีผู้ป่วยต้องใช้เลือดจำนวนมาก ทางโรงพยาบาลจะใช้วิธีขอบริจาคจากญาติ แต่ส่วนใหญ่ถูกปฏิเสธ ทางโรงพยาบาลจึงใช้วิธีขอรับบริจาคเลือดจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ซึ่งจำเป็นต้องบริจาคหากจำเป็นจริงๆ “นอกจากนี้ ก็ขออนุเคราะห์เลือดจากโรงพยาบาลใกล้เคียง หรือโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ หรือโรงพยาบาล ม.อ. อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา หรือหากมีความต้องการเลือดจำนวนมาก ก็จะขอจากธนาคารเลือดของสภากาชาด แต่วิธีนี้ต้องใช้เวลานานกว่าจะได้เลือด” นายแพทย์สุทธิพงษ์ กล่าว ดร.มะรอนิง สะแลมิง อาจารย์ประจำแผนกกฎหมายอิสลาม วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยว่า ความเข้าใจและทัศนคติของมุสลิมเกี่ยวกับการบริจาคเลือดอยู่ที่ความเชื่อทางศาสนาว่า เลือดเป็นสิ่งนาญิส (สกปรก) ดังนั้นการบริจาคสิ่งที่เป็นที่นาญิส จึงไม่ได้รับอนุญาต การนำสิ่งที่อยู่ในร่างกายออกมาเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ ซึ่งเป็นการวินิจฉัย (ฟัตวา) ที่ไม่ถูกต้อง นอกจากนี้มุสลิมยังเกรงว่า จะนำเลือดของตนไปให้คนต่างศาสนา ดร.มะรอนิง กล่าวว่า การบริจาคเลือดเพื่อช่วยชีวิตมนุษย์ เป็นสิ่งที่ศาสนาอิสลามอนุญาต เพราะหลักคำสอนจากคำภีร์อัลกุรอ่านระบุว่า หากผู้ใดได้รักษาหนึ่งชีวิตของมนุษย์ ก็เท่ากับได้รักษาชีวิตมนุษย์ทั้งมวล หากเมื่อใดมีความจำเป็นต้องใช้เลือด การบริจาคเลือดก็จะกลายเป็นเรื่องบังคับ (วาญิบ) ให้ทุกคนต้องบริจาคเลือด ถ้าไม่มีใครบริจาคเลือดเลย ทุกคนจะได้รับบาปทันที “ผมขอเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาชาวมุสลิมบริจาคเลือดกันน้อย โดยการสร้างธนาคารเลือดที่เป็นของมุสลิมเอง หรือการแยกรับบริจาคเลือดเฉพาะของมุสลิมมาไว้ต่างหาก อาจจะช่วยลดข้อครหาที่ว่า นำเลือดมุสลิมไปให้คนศาสนาอื่นได้ผมเสนอให้องค์กรมุสลิม หรือผู้นำศาสนาอิสลาม เป็นผู้นำการบริจาคเลือดให้มากขึ้น เพราะจะทำช่วยให้ชาวมุสลิมตามไปบริจาคเลือดกันมากขึ้นด้วย ” ดร.มะรอนิง กล่าว เปาะจิ ชาวบ้านจากชุมชนโรงอ่าง อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า ตนบริจาคเลือดมาแล้ว 2 ครั้ง เนื่องจากรู้สึกปวดหัว หลังจากบริจาคเลือดแล้ว อาการปวดหัวก็ดีขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net