เสนอแก้ กม.คนเข้าเมืองให้ทันสมัย-รับเปิดเสรีอาเซียน

สภาทนายความ-คณะกรรมการสิทธิฯ เสนอเร่งแก้ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง ซึ่งใช้มานานกว่า 20 ปีให้สอดคล้องกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายรัฐธรรมนูญ รวมทั้งสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป คณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ จัดการเสวนาเรื่อง “สิทธิในครอบครัวกับเงื่อนไขตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522” เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม โดยได้พิจารณาถึงการที่บุคคลถูกต้องห้ามเข้าประเทศ ในคดีหรือเหตุผลเพียงเล็กน้อย ทำให้ไม่สามารถเข้ามามีชีวิตร่วมกับครอบครัวที่เป็นคนไทยในประเทศไทยได้ นายณรงค์ ใจหาญ รองศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เรื่องครอบครัวและเด็กต้องดูอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งสำคัญมากกว่ากฎหมายคนเข้าเมือง และเห็นว่ารัฐไม่สามารถก้าวล่วงความเป็นอยู่ทางครอบครัวได้ นายสรรพสิทธิ์ คุมประพันธ์ กรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ ให้ความเห็นว่า ความเป็นอยู่ของครอบครัวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษยชาติ ซึ่งต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก การห้ามบิดามารดาไม่ให้เข้าประเทศมาพบกับลูกเป็นการขัดต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กหลายข้อ และไม่เห็นว่าขัดต่อความสงบเรียบร้อยแต่อย่างใด ทั้งเป็นการใช้กฎหมายที่ขัดต่อหลักหลักนิติธรรม นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ กล่าวว่า พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 บังคับใช้มากว่า 30 ปีแล้ว โดยไม่มีการแก้ไขเลย จึงควรมีการปรับปรุงให้ทันต่อยุคสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่จะเปิดภูมิภาคอาเซียนในปี พ.ศ.2558 ข้อเสนอเร่งด่วนคือ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกกฎกระทรวงเพื่อให้ครอบครัวได้อยู่ร่วมกัน โดยให้สามารถเข้าประเทศเพื่อดูแลครอบครัวได้ นอกจากนี้ ควรแก้ไขเรื่องการส่งกลับคนต่างด้าว กรณีที่อาจเกิดอันตราย โดยบัญญัติไว้ในกฎหมายด้วย ด้านนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า จะตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อจัดทำข้อเสนอรัฐบาลในการแก้ไขพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองในทุกๆ ประเด็น ทั้งที่มีในการเสวนาและประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท