Skip to main content
sharethis

ปลัด ก.แรงงาน ระบุ ผู้ประกันตนมาตรา 40 รูปแบบที่ 1 สามารถสมัครเข้ากองทุนการออมแห่งชาติได้ นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) กล่าวถึงกรณีการสมัครเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ของผู้ประกันตนมาตรา 40 ว่า ผู้ประกันตนมาตรา 40 แบ่งเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบที่ 1 (100) ผู้ประกันตนจ่ายสมทบ 70 บาท รัฐบาลสมทบ 30 บาทต่อเดือน ได้รับสิทธิ์ประโยชน์ 3 กรณีคือ ทุพพลภาพ ชดเชยการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย และเสียชีวิต ส่วนรูปแบบที่ 2 (150) ผู้ประกันตนจ่ายสมทบ 100 บาท รัฐบาลสมทบช่วย 50 บาทต่อเดือนได้รับสิทธิ์ประโยชน์ 4 กรณี ตามรูปแบบที่ 1 โดยเพิ่มสิทธิ์เงินออมชราภาพ ทั้งนี้ จากการตรวจสอบ พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 และ พ.ร.บ.ประกันสังคม พบว่า ผู้ประกันตนมาตรา 40 ในรูปแบบที่ 1 สามารถสมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนการออมฯ ได้ เนื่องจากไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ในเรื่องของเงินออมชราภาพ จึงไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.กองทุนการออมฯ ซึ่งห้ามไม่ให้ผู้ประกันตนที่ได้รับสิทธิประโยชน์เงินออมชราภาพจากกองทุน ประกันสังคมสมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องการรักษาพยาบาลของผู้ประกันตนมาตรา 40 ทั้งสองรูปแบบนั้น เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ชี้แจงแล้วว่า ผู้ประกันตนมาตรา 40 ยังคงใช้สิทธิการรักษาพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ได้เช่นเดิม เนื่องจากสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนมาตรา 40 ทั้งสองรูปแบบไม่ครอบคลุมไปถึงสิทธิการรักษาพยาบาล (สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 4-7-2554) ลูกจ้างทวงถามปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทตามนโยบายหาเสียง 4 ก.ค.- นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมกรรมการแรงงานสมานฉันท์ (ครสท.) กล่าวถึงผู้ที่จะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนใหม่ว่า ต้องการได้คนที่มีความรู้พื้นฐานและเข้าใจปัญหาด้านแรงงาน และเปิดโอกาสให้แรงงานเข้าพบและพูดคุยอย่างเปิดอก อีกทั้งสามารถประสานงานกับทุกฝ่ายทั้งราชการ นายจ้างและลูกจ้างไม่จำเป็นต้องมีความรู้ อย่างไรก็ตาม ไม่ต้องการได้นักวิชาการเพราะเข้าไม่ถึงแรงงาน สำหรับพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ควรรีบดำเนินการนโยบายด้านแรงงานให้เป็นรูปธรรม เช่น ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน เพราะประชาชนที่เทคะแนนให้นั้นต่างมีความหวังในนโยบายที่รัฐบาลหาเสียงไว้ หากไม่รีบทำ ประชาชนจะตั้งคำถามและเป็นแรงกดดันในการทำงานของรัฐบาลแน่นอน นอกจากนี้ ยังขอให้รัฐบาลนำนโยบายด้านแรงงานที่ใช้หาเสียงโดยเฉพาะเรื่องการปรับค่า จ้างไปเป็นนโยบายรัฐบาลที่ใช้แถลงต่อรัฐสภา เนื่องจากนโยบายช่วงหาเสียงเป็นนโยบายพรรค พท.เป็นพรรคเดียว แต่ถ้าเป็นนโยบายต่อรัฐสภา จะต้องผ่านความเห็นชอบจากพรรคร่วมด้วย (สำนักข่าวไทย, 4-7-2554) สมท. เตรียมทวงนโยบายด้านแรงงานกับ รมว.แรงงานคนใหม่ นายทวี เตชะธีราวัฒน์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างสมาพันธ์แรงงานแห่งประเทศไทย (สมท.) กล่าวว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ และให้เงินเดือนเริ่มแก่คนที่จบปริญญาตรีรุ่นใหม่ 15,000 บาท ต่อเดือน ตามนโยบายของพรรคเพื่อไทย คิดว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เนื่องจากสถานประกอบการต้องแบกภาระต้นทุนสูงขึ้น คงจะไม่เห็นด้วย ซึ่งดูจากการประชุมคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองค่าจ้างครั้งล่าสุด พบว่าตัวแทนนายจ้างทั้ง 5 คนก็ไม่ได้เข้าร่วม อย่างไรก็ตาม ทราบว่านายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีตปลัดกระทรวงแรงงาน และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ได้ประกาศว่าจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ในวันที่ 1 มกราคม 2555 นั้น ถ้ารัฐบาลใหม่สามารถผลักดันค่าจ้างขั้นต่ำได้ 300 บาทต่อวัน ก็เป็นเรื่องที่ดี ซึ่งสมท.จะเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนใหม่เพื่อทวงถามในเรื่องนี้ ประธานสภาองค์การลูกจ้างสมาพันธ์แรง งานแห่งประเทศไทย กล่าวอีกว่า อยากได้รัฐมนตรีที่เป็นอดีตข้าราชการกระทรวงแรงงาน เพราะจะเป็นคนที่มีความรู้ความเข้าใจด้านแรงงาน และไม่ต้องมาเริ่มนับหนึ่งใหม่ ส่วนงานเร่งด่วนที่อยากให้รัฐบาทใหม่ทำ คือเรื่องปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ค่าจ้างระดับปริญญาตรี พร้อมทั้งผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 เป็นต้น (สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 4-7-2554) บอร์ดค่าจ้างฯ เลื่อนถกปรับค่าจ้างรอหารือ รมว.แรงงานคนใหม่ 4 ก.ค.- บอร์ดค่าจ้างฯ เลื่อนถกปรับค่าจ้างรอหารือ รมว.แรงงานคนใหม่ ขณะที่นักวิชาการเตือนปรับค่าจ้างก้าวกระโดดรวดเดียววันละ 300 บาท อาจส่งผลธุรกิจล้มละลาย แนะปรับโครงสร้างค่าจ้างทั้งระบบแทน นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างกลาง เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างเพื่อหาข้อสรุปในการปรับขึ้นค่าจ้าง ขั้นต่ำรอบใหม่ ที่เดิมมีกำหนดจะประชุมในวันที่ 6 กรกฎาคมนี้ว่าอาจจะต้องเลื่อนการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำออกไป เนื่องจากต้องรอการหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนใหม่ ว่าจะมีนโยบายในเรื่องดังกล่าวอย่างไร โดยเฉพาะนโยบายในการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน ของพรรคเพื่อไทย รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวันเท่ากันทั่วประเทศ หากปรับในงวดเดียวจะเกิดผลกระทบต่อนายจ้าง และระบบเศรษฐกิจโดยรวมอย่างมาก ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ธุรกิจล้มละลาย เกิดปัญหาการเลิกจ้าง ตลอดจนบริษัทต่างชาติไม่กล้าเข้ามาลงทุน รวมทั้งปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งรัฐบาลใหม่จะต้องตามแก้ปัญหาเหล่านี้ รศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวอีกว่า หากรัฐบาลใหม่จะปรับค่าจ้างให้ได้ตามนโยบายที่ประกาศไว้ ก็ไม่ควรปรับในอัตราที่เท่ากันทั่วประเทศ เพราะแต่ละพื้นที่มีต้นทุนการผลิตและค่าครองชีพต่างกัน จึงควรปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเปอร์เซ็นต์และแบ่งเป็น 2 งวด จะมีผลกระทบน้อยกว่า และถ้าจะให้ค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ เห็นว่าควรใช้วิธีปรับโครงสร้างค่าจ้างทั้งระบบ โดยไล่เรียงจากค่าจ้างขั้นต่ำไปสู่ค่าจ้างแรกเข้า และค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานตามลำดับ ซึ่งจะช่วยให้อัตราค่าจ้างเข้าสู่อัตราเดียวกันทั่วประเทศ “คนที่จะมานั่งเป็นรัฐมนตรีแรงงานคน ใหม่ควรเป็นนักเศรษฐศาสตร์แรงงาน ไม่ใช่นักสังคมแรงงาน และต้องมีความรู้ความเข้าใจ มีจิตวิญญาณเป็นนักแรงงาน ที่สำคัญจะต้องมองกระทรวงแรงงานในเชิงมิติเศรษฐกิจ ทำงานเป็นทีมและประสานเชื่อมโยงหน่วยงานด้านเศรษฐกิจอื่น ๆ เพื่อทำให้แรงงานเกือบ 40 ล้านคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น ควรเพิ่มสิทธิประโยชน์ประกันสังคมให้ดีกว่านี้” รศ.ดร.ยงยุทธ กล่าว (สำนักข่าวไทย, 4-7-2554) อนุฯ ค่าจ้าง กทม.เสนอ 2 แนวทาง ขึ้นค่าจ้างกลางปี 7 บาท/รอขึ้นต้นปีหน้า 5 ก.ค. 54 - นางอำมร เชาวลิต ที่ปรึกษาวิชาการแรงงาน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการค่าจ้าง กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการค่าจ้างฯ มีมติเห็นชอบในการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของกรุงเทพฯ ใน 2 แนวทาง แนวทางแรกคือ เสนอปรับขึ้นอีก 7 บาท จากเดิม 215 บาท เพิ่มเป็น 222 บาท ในช่วงเดือนตุลาคม ส่วนแนวทางที่สอง คือ ให้ปรับขึ้นค่าจ้างในช่วงเดือนมกราคม 2555 แต่ยังไม่สรุปตัวเลขว่าจะปรับขึ้นมากน้อยเพียงใด โดยให้นำข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจ เช่น อัตราค่าครองชีพ ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงความสามารถในการจ่ายของฝ่ายนายจ้าง ณ ช่วงเวลาดังกล่าวมาพิจารณาอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม มติดังกล่าวจะเสนอให้กับคณะอนุวิชาการและกลั่นกรองค่าจ้างกลางพิจารณา ก่อนเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลาง (บอร์ดค่าจ้าง) พิจารณาสรุปในวันที่ 11 กรกฎาคมนี้ สำหรับกรณีที่ทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อ ไทย ออกมาระบุว่าจะต้องมีการแก้ไขระบบไตรภาคีค่าจ้าง เพื่อให้สามารถปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้ได้ถึงวันละ 300 บาทว่า หากจะมีการแก้ไขระบบไตรภาคีของคณะกรรมการค่าจ้างตามที่เป็นข่าวจริง ต้องมีการแก้ไขกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 (ฉบับปรับปรุงแก้ไข) ก่อน ซึ่งต้องใช้เวลา 1- 2 ปี จึงจะสามารถทำได้ แต่เชื่อว่าฝ่ายนายจ้างคงไม่ยินยอมแน่ (สำนักข่าวไทย, 5-7-2554) ติงรัฐบาลใหม่รื้อไตรภาคี เสี่ยงค่าจ้างถูกบิดเบือน 5 ก.ค.54- อาจารย์จุฬาฯเตือนรัฐบาลใหม่รื้อไร้ระบบไตรภาคี หวั่นค่าจ้างไม่สะท้อนความเป็นจริง เหตุขาดข้อมูล3ฝ่าย ด้านนายจ้างค้านยันระบบดีอยู่แล้ว ขณะที่นักวิชาการกระทรวงแรงงานชี้ต้องแก้กฎหมายอย่างน้อย 2ปี ดร.อำมร เชาวลิต ที่ปรึกษาวิชาการแรงงาน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการค่าจ้าง กรุงเทพมหานคร กล่าวถึงกรณีที่นายสุชาติ ธาดาดำรงเวช แกนนำทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย(พท.)และแคนดีเดตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีแนวคิดแก้ไขระบบไตรภาคีค่าจ้างเพื่อให้รัฐบาลชุดใหม่สามารถปรับค่าจ้าง ขั้นต่ำได้ถึง 300 บาทต่อวันเท่ากันทั่วประเทศว่า หากจะแก้ไขระบบไตรภาคีของคณะกรรมการค่าจ้างกลางที่มีตัวแทน 3 ฝ่ายทั้งภาครัฐ นายจ้างและลูกจ้าง ก็จะต้องมีการแก้ไขกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 (ฉบับปรับปรุงแก้ไข)ก่อน โดยตามขั้นตอนกระทรวงแรงงานจะต้องเป็นผู้เสนอแก้ไขต่อรัฐบาลใหม่ ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลว่าจะมีคำสั่งลงมาอย่างไร ซึ่งขั้นตอนปกติของการแก้ไขกฎหมายทั่วไปต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี นายปัณณพงศ์ อิทธิอรรถนนท์ กรรมการค่าจ้างกลางฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า การพิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นไปตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานที่กำหนดให้การ ปรับขึ้นค่าจ้างต้องดำเนินการโดยคณะกรรมการไตรภาคี อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลใหม่ต้องการปรับค่าจ้างขึ้นเป็น 300 บาทต่อวันเท่ากันทั่วประเทศ ก็ต้องเข้ามาพูดคุยด้วยเหตุผล เชื่อว่าคณะกรรมการทั้งฝ่ายยินดีรับฟัง แต่ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลใหม่จะให้ใครมาเป็นรมว.แรงงานคนใหม่และมีนโยบายอย่าง ไร เพราะเป็นผู้ที่คุ้นเคยด้านแรงงานก็คงมีความเข้าใจในเรื่องการปรับค่าจ้าง ขั้นต่ำว่าหากปรับแล้วจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการอย่างไรโดยเฉพาะผู้ประกอบ การขนาดกลางและขนาดเล็กก็ต้องทำให้อยู่ได้ รศ.ดร.แล ดิลกวิทยรัตน์ ผอ.ศูนย์พัฒนาแรงงานและการจัดการ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การที่รัฐบาลชุดใหม่เตรียมจะรื้อระบบไตรภาคีค่าจ้างกลางมีข้อดีตรงที่รัฐบาล สามารถปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำได้ตามความต้องการ ส่วนข้อเสียคือถ้าไม่มีระบบไตรภาคี หากมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแล้วไม่เป็นที่พอใจของลูกจ้าง ทางรัฐบาลก็จะไม่สามารถอ้างได้ว่าเป็นผลการพิจารณาของคณะกรรมการไตรภาคี จะต้องรับผิดชอบไปเต็มๆ นอกจากนี้ รัฐบาลจะไม่มีแหล่งช่วยกลั่นกรองข้อมูลในการปรับขึ้นค่าจ้างให้สอดกับสภาพ ความเป็นจริง เช่น อัตราค่าครองชีพ ค่าใช้จ่ายของลูกจ้างด้วย ดังนั้น รัฐบาลจะต้องมั่นใจในข้อมูลของตนเอง อย่างไรก็ตาม โอกาสที่ข้อมูลของรัฐบาลจะผิดพลาดได้ก็มีอยู่ เพราะไม่ได้มาจากแหล่งข้อมูลของนายจ้างและลูกจ้างโดยตรง “หากไม่มีระบบไตรภาคีแล้ว รัฐบาลก็สามารถปรับขึ้นค่าจ้างได้ตามความต้องการ ส่วนผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะตามมาก็ขึ้นอยู่กับว่าจะปรับขึ้นค่าจ้างในอัตรา ที่สูงหรือต่ำ หากปรับค่าจ้างสูงมากก็จะมีผลกระทบทางเศรษฐกิจมาก อย่างไรก็ตาม ผมมองว่าขณะนี้การปรับค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราที่ไม่สูงเกินไป ยังสามารถทำได้เพราะต้นทุนของสถานประกอบการไม่ได้อยู่ที่ค่าจ้าง แต่อยู่ที่ค่าน้ำมัน ค่าวัตถุดิบซึ่งสถานประกอบการขนาดใหญ่จะไม่กระทบมากนักเพราะยังมีกำลังจ่าย ค่าจ้างได้ ส่วนกลุ่มธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบอย่างมากคือ กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีต้นทุนน้อย ดังนั้น รัฐบาลต้องเตรียมมาตรการดูแลธุรกิจกลุ่มนี้ด้วย ” รศ.ดร.แล กล่าว (กรุงเทพธุรกิจ, 5-7-2554) เอกชนต้านขึ้นค่าแรง 300 บาท-ทวงสัญญาแก้ไขไม่แก้แค้น นายวิทูรย์ กมลนฤเมธ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยถึงปัญหาที่ภาคอุตสาหกรรมหรือกลุ่มผู้ประกอบการวิตกกังวลมากในขณะนี้ คือ กรณีนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่ใช้หาเสียงจะเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมแบกภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว หากเพิ่มขึ้นจริง โรงงานผลิตภาคส่วนต่างๆก็ไม่สามารถอยู่ได้ ต้องปรับแผนการลงทุนใหม่ด้วยการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นที่ต้นทุนค่า แรงต่ำกว่า ที่สำคัญการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้เท่ากัน 300 บาท/วัน ในความเป็นจริงไม่มีประเทศใดในโลกเขาทำกัน ในข้อเท็จจริงการกำหนดอัตราค่าแรงนั้นต้องสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจค่าครอง ชีพของแต่ละท้องถิ่นหรือจังหวัดนั้นๆ ซึ่งแต่ละจังหวัดค่าครองชีพแตกต่างกัน จะกำหนดอัตราค่าแรงเท่ากันหมดไม่ได้ “ยกตัวอย่างกรณีจังหวัดขอนแก่น ขณะนี้ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 169 บาทหากเพิ่มเป็น 300 บาท เท่ากับว่าปรับเพิ่มมากถึง 90% ไม่มีนายจ้างที่ไหนสามารถรับภาระได้ ทางออกระยะสั้นคือต้องปรับลดแรงงาน แล้วแรงงานที่ถูกให้ออกต้องตกงานทันที ระยะยาวไม่ต้องพูดถึงผู้ประกอบการอยู่ไม่ได้แน่นอน เรื่องนี้ต้องมีการทบทวน ซึ่งทางกลุ่มผู้ประกอบการคงต้องมีการหารือกันเพื่อหาทางออก”นายวิทูรย์กล่าว และว่า ผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงดังกล่าวนอกจากภาคอุตสาหกรรมจะล่มสลายแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วไป ข้าราชการ พนักงานบริษัทเอกชนที่มีรายได้จากเงินเดือนประจำค่อนข้างคงที่เพราะต้อง เผชิญกับปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น ราคาสินค้าทุกประเภทจะปรับตัวสูงขึ้นตามค่าแรงที่รัฐบาลกำหนด อย่างไรก็ตาม นายวิทูรย์ แสดงความเห็นต่อว่า ประเด็นเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องทำเป็นสิ่งแรกคือการสร้างความปรองดองให้เกิด ขึ้นในชาติก่อน ที่ผ่านมามีการแบ่งขั้วแบ่งสี แตกแยกรุนแรง พรรคเพื่อไทยต้องทำตามที่ประกาศหาเสียงไว้ให้ได้ว่า จะเข้ามาแก้ไขไม่แก้แค้น อย่างน้อยหมู่บ้านเสื้อแดง หรือกลุ่มคนเสื้อแดงต้องสลาย หากแก้ปัญหาความแตกแยกไม่ได้ นโยบายอื่นๆก็ทำไม่ได้ เพราะไม่มีความมั่นคง ภาคธุรกิจก็ไม่เชื่อมั่น การลงทุนใหม่ๆก็ไม่เกิด ที่สำคัญรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยต้องไม่ออกกฎหมาย นิรโทษกรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เด็ดขาด หากยังเดินหน้านิรโทษกรรม จะเกิดความขัดแย้งรอบใหม่ทันที และความขัดแย้งครั้งนี้จะรุนแรงกว่าอดีต การชุมนุมต่อต้านจากกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยจะเกิดขึ้น ประเทศชาติจะหาความสงบไม่ได้ ท้ายสุดรัฐบาลก็อยู่ไม่ได้ (ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 6-7-2554) พนักงานเคเอฟซี ร้อง ครส. โดนเลิกจ้างไม่เป็นธรรม นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) พร้อมด้วยอดีตพนักงานเคเอฟซี 3 คนได้มายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) เพื่อแก้ไขข้อพิพาทระหว่าง บริษัทยัมเรสเทอรองตส์ อินเตอร์ เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของแบรนด์เคเอฟซี กับพนักงาน 3 คน ที่ถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โดยนายชาลี กล่าวว่า ได้พาพนักงานทั้ง 3 คน ไปยื่นหนังสือต่อ ครส.ให้ช่วยไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกับเคเอฟซี เนื่องจากถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม จากกรณีการออกมาเรียกร้องสวัสดิการจากบริษัท และจัดตั้งสหภาพแรงงานเคเอฟซี ทั้งนี้ ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ได้ยื่นขอเจรจากับนายจ้าง 4 ครั้ง แต่มีการส่งตัวแทนมาเจรจาเพียงครั้งเดียว อีกทั้งยังกดดันให้พนักงานเคเอฟซีที่ร่วมลงชื่อขอจัดตั้งสหภาพแรงงาน 266 คน ถอนชื่อออก ซึ่งสะท้อนถึงการไม่เคารพต่อ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ขณะเดียวกันกระบวนตามกฎหมายของรัฐและการทำงานของเจ้าหน้ารัฐล้มเหลว และหากการเรียกร้องครั้งนี้ไม่ได้ผล คสรท.จะเริ่มรณรงค์ให้คนไทยเลิกกินไก่เคเอฟซี และจะยื่นฟ้องต่อศาลแรงงาน ด้านนางอภันตรี เจริญศักดิ์ อดีตผู้จัดการเขตเคเอฟซี กรุงเทพมหานครและปริมณฑล กล่าวว่า ทำงานนานกว่า 16 ปีแต่กลับถูกเลิกจ้างภายใน 1 ชั่วโมง ทั้งที่ไม่ได้ทำผิด เพียงแค่เรียกร้องสวัสดิการเพิ่ม ทั้งนี้ อยากให้นายจ้างเข้ามาพูดคุย เพราะต้องการกลับเข้าทำงาน อย่างไรก็ตาม หากภายใน 90 วัน ข้อพิพาทไม่ได้ข้อยุติ จะยื่นฟ้องศาลแรงงานต่อไป (สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 6-7-2554) เพื่อไทยลั่นปรับฐานเงินเดือน 15,000 บ.ตั้งแต่เดือน ต.ค.นี้-ค่าแรง 300 บ.คาดเริ่มปี 2555 6 ก.ค.- เลขาธิการพรรคเพื่อไทยชี้แจงนโยบายการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท เพื่อมุ่งช่วยคนจนระดับรากหญ้า จากนี้เมืองไทยจะไม่มีค่าแรงถูกอีกต่อไป โดยจะเริ่มที่เงินเดือนข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ คาดเริ่มตุลาคมนี้ พร้อมยืนยันจะไม่รื้อระบบไตรภาคีแต่จะแก้การสรรหาที่มาของตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ในฐานะทีมเศรษฐกิจของพรรคและอดีตปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวชี้แจงนโยบายการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ของพรรคหลังถูกวิพากษ์วิจารณ์จากภาคเอกชนและนักวิชาการว่า เป็นนโยบายที่มุ่งพลิกฟื้นเศรษฐกิจ เพื่อทำให้คนจนและระดับล่างของสังคมหรือรากหญ้าสามารถลืมตาอ้าปากได้ ยืนยันจะให้เท่ากันทุกจังหวัด ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของลูกจ้างที่เรียกร้องค่าจ้างขั้นต่ำควรจะอยู่ที่ 441 บาท ขณะที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ก็ระบุว่าค่าจ้างต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานที่สามารถเลี้ยงดูของแรงงานได้โดยรวม คู่สมรสและบุตร ดังนั้น แนวคิดพรรคจากนี้เมืองไทยจะไม่มีค่าแรงถูกอีกต่อไป โดยจะยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานและยุทธศาสตร์การผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูง ให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศในปี 2020 นายจารุพงศ์ กล่าวว่า ยืนยันจะไม่รื้อระบบไตรภาคีค่าจ้างถือว่าเป็นระบบที่ดีอยู่แล้ว เพราะทุกฝ่ายมีส่วนร่วมแต่จะแก้กระบวนการสรรหาที่มาของตัวแทนไตรภาคีที่ยัง มีปัญหาตัวแทนฝ่ายลูกจ้างไม่สามารถส่งตัวแทนที่แท้จริงเข้ามาเป็นคณะกรรมการ ได้ เพราะติดขัดเรื่องสหภาพแรงงานที่มีจำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับสัดส่วนแรงงานทั้งประเทศ โดยจะเริ่มจากการปรับฐานเงินเดือนข้าราชการและรัฐวิสาหกิจให้มีเงินเดือนไม่ ต่ำกว่าเดือนละ 15,000 บาท คาดจะเริ่มในเดือนตุลาคมนี้ ส่วนค่าจ้างขั้นต่ำจะเริ่มได้เมื่อได้ทำความเข้าใจกับภาคเอกชน รวมถึงหานโยบายสนับสนุนให้เอกชนมีกำลังในการขึ้นค่าจ้าง เช่น การลดภาษีนิติบุคคล ภาษีเครื่องจักร หาตลาดสินค้าส่งออกให้ คาดจะเริ่มได้ในเดือนมกราคม 2555 ส่วนกรณีหลายฝ่ายกังวลปัญหาค่าจ้าง จะส่งผลให้มีการย้ายฐานผลิตนั้น นายจารุพงศ์ กล่าวยืนยันว่าอุตสาหกรรมที่มีการใช้แรงงานเข้มข้น หากจำเป็นต้องย้ายฐานการผลิต ภาครัฐจะสนับสนุนให้เอกชนไปตั้งโรงงานในประเทศที่ค่าแรงถูกหรือตามแนวชายแดน แทน. (สำนักข่าวไทย, 6-7-2554) ค่าจ้างขั้นต่ำส่อแววเลื่อนอีกรอบ เผยรอ รมว.แรงงานใหม่เคาะตัวเลข 7 ก.ค. 54 – นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างกลาง (บอร์ดค่าจ้าง) กล่าวถึงการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ว่า คณะกรรมการฯ จะประชุมกันในวันที่ 11 กรกฎาคมนี้ คงต้องขอให้ที่ประชุมพิจารณาว่า ควรจะรอฟังนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนใหม่หรือไม่ ก่อนที่จะพิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด 38 จังหวัด ได้เสนอตัวเลขขอปรับค่าจ้างขั้นต่ำ อยู่ที่ระหว่าง 2-28 บาท จากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบันอยู่ที่ 159-221 บาทต่อวัน ขณะที่จังหวัดที่เหลือไม่ขอปรับขึ้น “เรื่องการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศนั้น คงต้องรอฟังนโยบายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนใหม่ก่อน ว่าจะมีนโยบายอย่างไร และมีข้อมูลเพิ่มเติมอีกหรือไม่ ซึ่งในส่วนของกระทรวงแรงงานมีข้อมูลพร้อมอยู่แล้ว สามารถเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนใหม่ได้ทันที ส่วนกรณีจะมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ ในช่วงเดือนมกราคม 2555 คงต้องมีการสำรวจข้อมูลเพิ่มเติม เช่น ค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ กันอีกครั้ง” นพ.สมเกียรติ กล่าว (สำนักข่าวไทย, 7-7-2554) 26 แรงงานโร่แจ้งความถูกตุ๋นไปทำงานอิสราเอล 6 ก.ค. 54 - กลุ่มผู้เสียหายที่ถูกหลอกให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศ 26 คน แจ้งความ พ.ต.ต.ปัญญา ไอยราคม สารวัตรเวรสอบสวน สภ.เมืองนนทบุรี สาขาย่อยรัตนาธิเบศร์ ว่าถูกนายเอกพล รัตนดำรงค์ เจ้าของบริษัทไทยโอเอเอ็นเตอร์ไพรส์จำกัด และนางวิลาวัณย์ จันทะวงษ์ หุ้นส่วนของบริษัทดังกล่าว หลอกเรียกเก็บเงินจากการรับสมัครคนงานเพื่อเดินทางไปทำงานยังต่างประเทศ จนกระทั่งมีผู้หลงเชื่อหลายรายนำเงินไปสมัคร แต่สุดท้ายเมื่อถึงกำหนดเดินทาง กลับถูกบริษัทดังกล่าวเบี้ยวและปิดบริษัทหนี ทำให้มีผู้ถูกหลอกเป็นจำนวนมาก โดยนางสาวสวัสดิ์ หาวิชา อายุ 30 ปี หนึ่งในผู้เสียหาย ให้การกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ก่อนหน้านี้ตนเองเคยไปสมัครหางานไว้กับกระทรวงแรงงานเพื่อเดินทางไปทำงาน ต่างประเทศ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ถูกกระทรวงแรงงานเรียกตัว จนกระทั่งต่อมาตนเองได้รับไปรษณียบัตรจากบริษัทไทยโอเอเอ็นเตอร์ไพรส์ว่า บริษัทดังกล่าวกำลังรับสมัครแรงงานไทยไปทำงานฟาร์มเห็ด ฟาร์มไก่ ที่ประเทศอิสราเอลและแคนาดา โดยผู้ที่สนใจหลังกรอกเอกสารครบและมีเงินเพียง 25,000 บาท ก็สามารถเดินทางไปทำงานต่างประเทศได้ทันที ตนเองที่กำลังมีความสนใจจะเดินทางไปทำงานต่างประเทศจึงหลงเชื่อโทรศัพท์ ติดต่อกลับไปหาบริษัทดังกล่าว ที่เขียนไว้ในไปรษณียบัตร แล้วถูกเรียกให้เข้ามาคุยเรื่องสัญญา เอกสารที่บริษัท ตนเองจึงต้องเดินทางจากต่างจังหวัดเข้าที่บริษัทดังกล่าว เมื่อมาถึงที่บริษัทดังกล่าว ก็พบว่าบริษัทดังกล่าวดูหน้าเชื่อถือ เพราะมีชาวต่างชาติเป็นฝรั่ง 2 คน และ ชาวอาหรับ 1 คน นั่งประชุมพูดคุยกันอยู่ โดยมีล่ามคนไทยช่วยแปลภาษาให้ และเมื่อตนสอบถามกับนายเอกพล เจ้าของบริษัทว่า บริษัทแห่งนี้เปิดถูกต้องตามกฏหมายหรือไม่ นายเอกพลบอกว่า ได้จดทะเบียนไว้กับกระทรวงแรงงานเรียบร้อยแล้ว สามารถตรวจสอบได้ ตนจึงเชื่อใจนำเงินสดที่กู้หนี้ยืมสินมา 8 หมื่นบาท ให้กับทางบริษัทเพื่อทำสัญญาในการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ โดยนายเอกพลบอกว่า เมื่อถึงเวลาวันที่ 4 กรกฏาคมจะมีรถตู้เดินทางไปรับมารวมกับคนอื่น ๆ ที่บริษัท ก่อนจะขึ้นเครื่องไปทำงานพร้อมกัน แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงวันเวลาเวลานัดหมายกลับไร้วี่แวว ด้วยความสงสัยจึงโทรเข้ามาที่บริษัทก็พบพนักงานของบริษัทคนหนึ่ง บอกให้เข้าที่บริษัทได้เลย แต่ตนมาถึงในวันที่ 5 ก็พบว่าบริษัทได้ปิดและขนย้ายข้าวของออกไปหมดแล้ว จึงรู้ตัวว่าถูกหลอกและมีคนถูกหลอกอีกรายคน จึงปรึกษากันและรวมตัวมาเข้าแจ้งความในวันนี้ ด้านนายสง โสดาวิชิต หนึ่งในแรงงานที่ถูกหลอก กล่าวว่า ตนเองนำเงินสดจำนวน 2.2 แสนบาทเข้ามาทำสัญญาเดินทางไปทำงานต่างประเทศกับบริษัทดังกล่าว เพราะเห็นว่าหากต้องทำเรื่องกู้ยืมเงินกับทางบริษัทเพื่อจะไปทำงาน จะต้องทำสัญญากู้ยืมและเสียเงินให้กับบริษัทเป็น 2.5 แสนบาท จึงรวบรวมเงินหยิบยืมญาติพี่น้องมาได้ 2.2 แสนบาท มาจ่ายเป็นค่าเดินทางไปทำงาน เพราะคิดว่าหากได้ไปทำงานที่อิสราเอลแล้ว จะมีเงินมาใช้คืนญาติพี่น้อง แต่สุดท้ายพอถึงวันนัดหมายที่จะเดินทางจากต่างจังหวัดเพื่อไปสนามบิน ก็ไม่สามารถติดต่อได้ จนกระทั่งเมื่อเข้ามาดูที่บริษัทด้วยตนเองก้พบว่าบริษัทดังกล่าวได้ปิดตัวไป แล้ว ส่วนชายฝรั่งกับชายชาวอาหรับที่พบในบริษัทนั้น น่าจะถูกหลอกมาจัดฉากสร่างความน่าเชื่อถือกับพวกตน มากกว่าที่จะเป็นตัวแทนบริษัทจากอิสราเอลจริง ๆ ทำให้พวกตนต้องตัดสินใจมาเข้าแจ้งความกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ช่วยติดตาม ผู้ต้องหาทั้งสองคนมาดำเนินคดีในข้อหาฉ้อโกงต่อไป (เนชั่นทันข่าว, 6-7-2554) ปลัด ก.แรงงาน เตรียมเสนอรัฐบาลใหม่ของบประมาณ 1,000 ล้านบาท จัดตั้งกองทุนความปลอดภัยฯ นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน จะเสนอของบประมาณจากรัฐบาลใหม่ 1,000 ล้านบาท เพื่อจัดตั้งกองทุนความปลอดภัยฯ ส่งเสริมด้านความปลอดภัยในการทำงาน รองรับ พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อม ในการทำงาน พ.ศ.2554 ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 ก.ค.นี้ โดยจะมีการจัดตั้งสถาบันและกองทุนความปลอดภัยฯ ขึ้นภายใน 1 ปี ซึ่งหากนายจ้างไม่ปฏิบัติตาม มีโทษเพิ่มขึ้นจากเดิมจำคุก 1 ปี ปรับ 2 แสนบาท เป็นจำคุก 2 ปี ปรับ 8 แสนบาท อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พบว่า ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2553 จนถึงปัจจุบัน มีการดำเนินคดีอาญาตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จำนวนทั้งสิ้น 655 คดี เปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 12 ล้านบาท ในจำนวนนี้ เป็นคดีสถานประกอบการที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัย ในการทำงาน 91 คดี คิดเป็นร้อยละ 14.81 ของจำนวนคดีทั้งหมด โดยมีการจ่ายค่าปรับประมาณ 6 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 50 ของค่าปรับทั้งหมด โดยในปีนี้มีสถานประกอบการที่ได้รับรางวัลสถานประกอบการดีเด่น ด้านความปลอดภัยในการทำงานระดับประเทศทั้งสิ้น 528 แห่ง (ไอเอ็นเอ็น, 7-7-2554) จัดหางานยโสฯ เตือนขายแรงงานสิงคโปร์ สำนักงานจัดหางานจังหวัดยโสธรเตือน ประชาชนที่จะเดินทางไปขายแรงงานที่ประเทศสิงคโปร์ ระวังถูกหลอก เพราะที่ผ่านสำนักงานแรงงานสิงคโปร์ได้รับการร้องเรียนจากแรงงานไทยแล้วโดย เฉพาะแรงงานร้านอาหาร ยโสธร/ นายปรีชา อินทรชาธร จัดหางานจังหวัดยโสธร เปิดเผยว่า เนื่องจากสำนักงานแรงงานไทยในประเทศสิงคโปร์ ได้ประกาศเตือนคนไทยที่จะเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศสิงคโปร์โดยเฉพาะในสถาน เริงรมย์ ในตำแหน่งนักร้อง นักดนตรี ที่ไม่มีสัญญาถูกต้องผ่านทางกระทรวงแรงงาน ซึ่งพบว่ายังมีคนไทยเดินทางเข้ามาประกอบอาชีพดังกล่าว และได้รับปัญหาเรื่องรายได้โดยได้ค่าจ้างไม่ตรงตามที่ตกลงกันไว้ นอกจากนั้นยังได้ถูกกำหนดให้ขายเครื่องดื่ม ดอกไม้ และถ้าหากทำยอดขายที่เขากำหนดไว้ไม่ได้ ก็จะถูกหักเงินค่าจ้าง นายปรีชา ยังกล่าวอีกว่า นอกจากนั้นแล้วถ้าหากลูกจ้างในสถานเริงรมย์ต้องการที่จะขอลากลับบ้านก่อน กำหนดก็ไม่สามารถเดินทางกลับบ้านได้ ซึ่งบางรายยอมจ่ายค่าเสียหายให้กับนายจ้าง และสถานเริงรมย์บางแห่งยังให้ลูกจ้างเซ็นรับเงินโดยไม่แจกแจงรายละเอียดว่า เป็นเงินเดือนหรือเงินค่าขายดอกไม้ ซึ่งที่ผ่านมาทางสำนักงานแรงงานไทยสิงคโปร์ได้รับร้องเรียนจากแรงงานไทยเป็น จำนวนมาก ดังนั้นตนจึงฝากเตือนแรงงานในจังหวัดยโสธรที่จะเดินทางไปทำงานที่ประเทศ สิงคโปร์ ขอให้เข้าไปทำงานให้ถูกขั้นตอนโดยผ่านทางกระทรวงแรงงาน เพื่อที่ป้องกันการถูกหลอกและเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง (บ้านเมือง, 8-7-2554) ขึ้นเงินป.ตรี 1.5 หมื่นป่วน-ใช้งบอื้อซ่า เอสเอ็มอีกระอักค่าแรง 300 บ.แบกต้นทุน 13% รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลางได้ตรวจสอบเงินเดือนข้าราชการระดับปริญญาตรีในส่วนที่ได้รับ เงินเดือนต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาท พบว่าหากต้องขึ้นเงินเดือนเป็นเดือนละ 1.5 หมื่นบาท ตามนโยบายของพรรคเพื่อไทย (พท.) จะต้องใช้งบประมาณเพิ่มเดือนละ 1,000 ล้านบาท หรือทั้งปีต้องใช้เงิน 1.2 หมื่นล้านบาท และกรมบัญชีกลางได้ทำข้อสังเกตว่า การปรับขึ้นเงินเดือนของ พท.จะทำ ให้เกิดปัญหาโครงสร้างเงินเดือนในระบบราชการไม่เป็นธรรม และจะต้องมีการปรับขึ้นเงินเดือนทั้งโครงสร้าง ซึ่งจะส่งผลกับภาระงบประมาณที่สูงมาก รายงานข่าวระบุว่า หากให้เงินเดือน 1.5 หมื่นบาท เฉพาะข้าราชการปริญญาตรีที่เข้าใหม่ ก็จะเกิดปัญหากับข้าราชการปริญญาตรีที่ทำงานอยู่ก่อนหน้าที่ได้เงินเริ่มต้น ประมาณ 1 หมื่นบาท เพราะหากไม่ปรับให้ปริญญาตรีที่ทำงานอยู่ก่อน ข้าราชการดังกล่าวต้องทำงานอีกอย่างน้อย 6-8 ปี ถึงจะได้เงินเดือน 1.5 หมื่นบาท นอกจากนี้ ในส่วนของข้าราชการปริญญาโท ที่ปัจจุบันเงินเดือนเริ่มต้นประมาณ 1.3 หมื่นบาท ก็จะได้รับต่ำกว่าเงินเดือนของปริญญาตรีเข้าใหม่ ดังนั้น หากจะปรับขึ้นเงินเดือนก็ต้องปรับขึ้นทั้งหมด ขณะที่ในส่วนของรัฐวิสาหกิจจะมีปัญหาเช่นเดียวกัน รายงานข่าวระบุว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ศึกษาผลกระทบนโยบายของพรรคพท. โดยเฉพาะการปรับขึ้นเงินเดือน 1.5 หมื่นบาท และการขึ้นค่าแรงเป็นวันละ 300 บาท จะส่งผลกระทบกับอัตราเงินเฟ้อให้สูงขึ้น จนกระทบกับเสถียรภาพของเศรษฐกิจมากน้อยขนาดไหน อย่างไรก็ตาม นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง จะเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ โดยเฉพาะเรื่องเงินเดือนและค่าจ้าง รวมถึงนโยบายเกี่ยวกับเกษตรกร ในวันที่ 8 ก.ค.นี้ รายงานข่าวจากสำนักงานส่งเสริม วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว.ได้ศึกษาผลกระทบต่อการปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท พบว่าโครงสร้างต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านแรงงานและเงินเดือนของเอสเอ็มอีคิดเป็น 16.2% ของต้นทุนปัจจัยการผลิตทั้งหมด ดังนั้น หากค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 1% จะส่งผลให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านแรงงานเพิ่มขึ้น 0.16% ซึ่งค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเฉลี่ยขณะนี้วันละ 175.8 บาท ดังนั้น นโยบายการขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท เท่ากันทั่วประเทศ จะส่งผลกระทบ ต่อภาคธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้ เมื่อดูการจ้างงานเอสเอ็มอีพบว่ามีการจ้างงาน 10.5 ล้านคน จากจำนวน เอสเอ็มอี 2.9 ล้านรายการ ปรับขึ้นค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาท จะต้องจ่ายค่าแรงเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 35.7-75.4% หรือต้องแบกรับต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านแรงงานเพิ่มขึ้น 6.4-13% นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างกลาง (บอร์ดค่าจ้าง) กล่าวว่า คณะกรรมการจะประชุมในวันที่ 11 ก.ค.นี้ แต่ยังไม่รู้ว่าจะมีวาระพิจารณาเรื่องการปรับค่าจ้างขั้นต่ำหรือไม่ หากมีวาระคงต้องให้ที่ประชุมพิจารณาว่าควรจะรอฟังนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศของ รมว.แรงงานคนใหม่หรือไม่ ก่อนที่จะพิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำ (ข่าวสด, 8-7-2554)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net