ใต้เท้าขอรับ: ความขัดแย้งของคนเสื้อแดง ข่าวใหม่ตรงไหน?

มันน่าแปลกใจตรงไหนหรือ? ที่เห็นแกนนำคนเสื้อแดงแตกกัน สำหรับผม มันน่าแปลกใจมากกว่าว่า ทำไมสื่อเพิ่งจะเห็น หรือพูดให้ตรงขึ้นก็ต้องบอกว่า ทำไมสื่อจึงเพิ่งมานำเสนอข่าวความขัดแย้งนี้ในห้วงเวลาที่นักการเมืองผู้ได้รับการเลือกตั้งกำลังวิ่งฝุ่นตลบเพื่อเขยิบจุดประสงค์ของการลงเลือกตั้งจากการเป็น ส.ส. ไปสู่การมีบทบาทด้านการบริหารในตำแหน่งรัฐมนตรี หากเป็นอาการที่ “เพิ่งจะมาเห็น” อาการนี้ก็ย่อมสะท้อนว่า สื่อเองไม่ได้มีความเข้าใจขบวนการคนเสื้อแดง ขบวนการประชาชนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัยเลย!! ซึ่งผมไม่เชื่อ หากรู้อยู่แล้ว แต่เพิ่งจะเลือกมานำเสนอในห้วงการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่แทบไม่เคยเสนอเลย ไม่เคยสนใจความเป็นไปขบวนการเสื้อแดง ก็น่าสงสัยว่า จะเป็นไปเพื่อประโยชน์อันใด เป็นเครื่องมือของนักการเมืองอาชีพกลุ่มไหน หรือเกรงกลัวบทบาทของคนเสื้อแดงที่มีอิทธิพลสูงขึ้นเรื่อยๆ ในพรรคเพื่อไทย ในการเคลื่อนไหวเดือนเมษายน 2552 ซึ่งถือกันว่าเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อกดดันครั้งใหญ่ครั้งแรกของคนเสื้อแดงที่จบลงด้วยการพ่ายแพ้นั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เกิดขึ้นจากความไร้เอกภาพของการเคลื่อนไหวนี่เอง เพราะในขณะที่แกนนำ นปช. ซึ่งนำโดยวีระ มุสิกพงศ์ ยืนยันจะปักหลักยืดเยื้อบริเวณทำเนียบรัฐบาล มวลชนและแกนนำส่วนหนึ่งที่ต้องแบกความรับผิดชอบต้นทุนการชุมนุมอันมหาศาล ประกอบกับเชื่อมั่นในจำนวนมวลชนอันไพศาลที่แห่แหนมาร่วมชุมนุม และเลือกที่จะดำเนินแนวทางเผด็จศึกด้วยการรุกกดดัน เคลื่อนขบวนไปปิดถนนเพื่อกดดันรัฐบาลทั่ว กทม. เปิดช่องให้รัฐบาลใช้อ้างเป็นเหตุผลตอบโต้ ด้วยการประกาศให้เป็นวันหยุดยาวต่อเนื่องเพื่อเตรียมพร้อมไปสู่การสลายการชุมนุมในที่สุด พูดง่ายๆ ความไม่ลงรอยของกลุ่มคนเสื้อแดงนั้นมีมาตั้งแต่เริ่มอยู่แล้ว และถูกบีบให้สู้ร่วมกัน และได้พัฒนาจนเกิดโครงสร้างที่เหมาะสมสำหรับรองรับธรรมชาติของกลุ่มคนเสื้อแดงร้อยพ่อพันแม่ที่ตื่นตัวขึ้นมาแบบท่วมท้นหลายล้านคนพร้อมๆ กัน หรือพูดอีกแบบหนึ่งก็คือ ขบวนการเสื้อแดงเกิดจากการ ‘กวน’ ไม่ใช่การ ‘ก่อ’ ภายในขบวนการเอง ความขัดแย้งอันเป็นธรรมชาตินี้ ไม่ใช่จำกัดวงเฉพาะแกนนำที่ปรากฏนามบนหน้าสื่อเท่านั้น แม้แต่ ‘แดง’ ตามตรอกซอกซอย ความไม่ลงรอยในแนวทางการต่อสู้ก็มีให้เห็นเป็นเรื่องปกติ มีปัญหาตั้งแต่เรื่องยุทธศาสตร์ยุทธวิธีไปจนกระทั่งเรื่องกิจกรรมการเคลื่อนไหว จะวิชาการ จะวัฒนธรรม จะนักวิชาการ หรือจะศิลปิน จะแนวไหน สไตล์ใคร จะลูกทุ่ง หรือจะเพลงเพื่อชีวิต ไปจนถึงวิธีระดมทุน ว่าจะจัดผ้าป่าหรือจะจัดโต๊ะจีน ภายใต้ธรรมชาติและความขัดแย้งนี้ อย่าลืมนะครับว่า เพียงปีเดียว คนเสื้อแดงก็พิสูจน์ให้เห็นถึงการปราบไม่หมด ฆ่าไม่ตาย ยุให้แตกก็ไม่ได้ (เพราะแตกอยู่แล้ว) ถามว่าความไร้เอกภาพนั้นยังคงมีอยู่หรือไม่ ก็เมื่อมันเป็นธรรมชาติ มันจะหายไปได้อย่างไร และก็อย่างที่บอก ภายใต้การต่อสู้ในช่วงหลายปี มันได้ก่อพลวัตรใหม่ในแบบที่ ‘สมบัติ บุญงามอนงค์’ เรียกว่า ‘แกนนอน’ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ การไม่เห็นด้วยว่า ใครจำเป็นจะต้องผูกขาดการนำใครไปตลอดทุกกาล ทุกประเด็น สำหรับ ‘มวลชน คนเสื้อแดง ความขัดแย้งแตกแยกของแกนนำที่นำเสนอในหน้าสื่อ อาจจะมีผลเป็นการเสื่อมศรัทธา (ถ้ามีความศรัทธานั้นอยู่ในตัวแกนนำบางคน) แต่สำหรับ ‘ขบวนการเสื้อแดง’ ความขัดแย้งของแกนนำนั้นเป็นปัญหาที่มีน้ำหนักดังขนนก ตราบเท่าที่ปัญหาว่าด้วยความเป็นธรรม ความยุติธรรม ระบบการเมืองสองมาตรฐาน ปัญหาว่าด้วยศักดิ์ศรีความเป็นคนที่เหมือนกัน รวมเรียกด้วยคำใหญ่ๆ ว่า ‘ประชาธิปไตย’ ที่มีความหมายมากกว่าการมีการเลือกตั้งนั้น ยังไม่เกิดขึ้นจริง เรื่องราวในแบบที่คนเสื้อแดงถูกกระทำ การถูกสังหาร การถูกนำมาฆ่าซ้ำแบบไม่เคารพกัน ไม่หาความจริง ใส่ร้าย หมิ่นแคลนเพื่อนผู้จากไป หรือการจับคนเสื้อแดงเข้าคุกโดยไม่ได้ประกัน ถูกตีความยัดข้อหาหมิ่นฯ ถูกปฏิบัติไม่เป็นธรรมเพียงเพราะความคิดความเห็นที่ต่าง ถูกกล่าวหาว่าซื้อได้ โง่เขลา ผู้นำพรรคฯที่เขาเลือกถูกดำเนินการสอบสวนเพราะไปผัดหมี่โคราช อยู่กับระบบการเมืองที่สองมาตรฐาน หรือการต้องอยู่กับข่าวสารประเภทที่ว่า แกนนำอยากมีอยากได้ตำแหน่ง นำความขัดแย้งแบบที่ \ไม่เคยเป็นข่าว\" ไม่เคยได้รับความสนใจมาก่อน มาบิวด์มาปั้นเพื่อ \"เป็นข่าว\" ไม่ว่าจะด้วยจุดประสงค์ขายข่าวธรรมดา หรือด้วยจุดประสงค์ทางการเมือง เหตุการณ์แบบนี้นี่แหละที่จะทำให้ขบวนการเสื้อแดงเติบโตต่อไป อันที่จริง หากสื่อมวลชนรวมทั้งประชาไทเองเสนอความขัดแย้งในขบวนการเสื้อแดงอย่างตรงกับข้อเท็จจริงและตรงไปตรงมา คนไทยกลุ่มหนึ่งอาจจะได้เข้าใจและมองขบวนการเสื้อแดงได้อย่างเป็นจริงในแบบไม่เหมาเข่ง เช่น เผาบ้านเผาเมือง ล้มเจ้า สร้างรัฐไทยใหม่ หรือเพ้อเจ้อเพ้อฝัน เพราะมันอาจจะถูกทุกข้อหรือบางข้อก็ได้ แต่มันผิดแน่นอน ถ้าไปเหมาเข่งนิยามเป้าหมายการต่อสู้ของขบวนการเสื้อแดงแบบนั้น ที่กล่าวมาทั้งหมด ไม่ได้หมายความว่า ผมอยากเห็นคนเสื้อแดงเข้าไปนั่งเป็นรัฐมนตรี ผมเพียงแต่ทำในสิ่งที่คิดว่าตัวเองสนใจและให้ความสำคัญคือการ “เท่าทันสื่อ” เพราะในทัศนะผม แม้ความปรารถนาจะได้ไปนั่งบริหารประเทศเป็นสิทธิและไม่ใช่เรื่องที่ผิดบาปอะไร แต่คนเสื้อแดงก็ไม่ควรไปรับตำแหน่งรัฐมนตรี อาจจะยกเว้นอยู่บ้างก็ได้แก่ แกนนำเสื้อแดงที่เป็นนักการเมืองในพรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว เพราะนั่นเป็นสิ่งที่เขาเลือกเป็นมาตั้งแต่ต้น เป็นนักการเมืองที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ไม่ใช่นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเพื่อหวังจะได้เป็นนักการเมือง นอกจากนี้ ผมก็ไม่ได้ปรารถนาจะมาปกป้องขบวนการเสื้อแดง ด้วยตระหนักว่า ขบวนการเสื้อแดงในเวลานี้มีภารกิจที่ไกลเกินกว่าใคร กลุ่ม องค์กร หรือสถาบันใดๆ จะบั่นทอนหรือทำลายได้ง่ายๆ ไม่เช่นนั้น คงจะถูกทำลายไปนานแล้ว"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท