Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตากรุณาเสมอ ขอความสันติสุข จงมีแด่ศาสฑูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกท่าน หลังจากองค์กร ภาคประชาสังคมหลายองค์กรร่วมกันจัดเวทีสาธารณะหรือไปร่วมกับสื่อมวลชนต่างๆโดยเฉพาะไทยพีบีเอส “ไฟใต้ดับได้ด้วยการกระจายอำนาจหรือปัตตานีมหานคร ” ขึ้นในหลายเวทีและหลายจังหวัดของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้หลายพรรคการเมืองต้องอธิบายโมเดลการกระจายอำนาจในแนวคิดของพรรคตนเองโดยเฉพาะ ๒ พรรคการเมืองใหญ่ที่จะได้จัดตั้งรัฐบาลแน่และมีอำนาจในการตัดสินใจในอนาคตของจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทย โดยมีพรรคมาตุภูมิเป็นตัวสอดแทรกหากได้ร่วมจัดตั้งรัฐบาลและคุมภาคใต้ โดยพรรคประชาธิปัตย์จะสานต่อการกระจายอำนาจในองค์กรที่เรียกว่าศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอบต.) อันเป็นการบริหารส่วนภูมิภาคโดยเปิดโอกาสให้สภาที่ปรึกษาซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากทุกสาขาอาชีพมีส่วนร่วมในการบริหารและสามารถทำได้ทันทีเช่น หนึ่งเรื่องการศึกษาท้องถิ่น อยากให้มีโรงเรียนสองภาษา คือ ภาษามลายูถิ่นควบคู่กับภาษาไทย สอง หลักสูตรที่ท้องถิ่นต้องการคือวิถีชีวิตมุสลิม สาม การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่ไร้แอลกอฮอล์ ปลอดอบายมุข ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตมุสลิมก็ทำได้ หรือเขตเศรษฐกิจพิเศษ อุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ในขณะเดียวกันประชาธิปัตย์ค้านการกระจายอำนาจในรูปแบบ ปัตตานีมหานคร ซึ่งเป็นการ การปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษสู่การดูแลตัวเองภายใต้รัฐธรรมนูญไทย โดยนายถาวร เสนเนียมยืนยันว่า ในทางปฏิบัติเป็นไปได้ยาก อันเนื่องมาจาก การรวม 3 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาสและ 4 อำเภอของสงขลา เป็นปัตตานีมหานครเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นใหญ่ซึ่ง มีพื้นที่รวม 11,000 ตารางกิโลเมตรเศษ เทียบกับกรุงเทพมหานครที่มีพื้นที่ 1,500 ตารางกิโลเมตร ต่างกันมาก ประชาชนใน 3 จังหวัด มี 1.8 ล้านคน กรุงเทพมหานครมีเกือบ 6 ล้านคน 3 จังหวัดมี 32 อำเภอ กรุงเทพมหานครมี 50 เขต และจะต้องออกกฎหมายใหม่ทำให้ช้าที่สำคัญพรรคประชาธิปัตย์สัญญาจะเพิ่มอำนาจอบจ. อบต. เพราะ อบจ. อบต. เทศบาล มี 200 กว่าภารกิจ ที่ส่งมอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะเห็นได้ว่า ในท้องถิ่นมีพี่น้องมุสลิมเป็นผู้นำอยู่ ในเขตเทศบาลก็มีพี่น้องไทยเชื้อสายจีนเป็นผู้นำ ดังนั้นการกระจายอำนาจแบบนี้ดีกว่า ซึ่งทัศนะของพรรคประชาธิปัตย์ถูกขานรับจากกองทัพที่ออกมาแสดงความคิดเห็นความเป็นห่วงในปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้หากให้มีการกระจายอำนาจในรูปแบบ ปัตตานีมหานคร (โปรดดู http://www.prachatai.com/journal/2011/06/35583 ) สำหรับ พรรคเพื่อไทย สนับสนุนการกระจายอำนาจ ในรูปแบบ ปัตตานีมหานคร ที่ให้บทบาทกับการปกครองส่วนท้องถิ่นในการให้คนในพื้นที่ เลือกผู้นำสูงสุดเอง ซึ่งต่างจากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ให้บทบาทสูงสุดแก่ข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งจากส่วนกลาง แต่อาจจะแตกต่างในรายละเอียด ที่เสนอโดยภาคประชาชน (โปรดดู http://www.deepsouthwatch.org/node/2019 ) โดยพรรคเพื่อไทยหากได้จัดตั้งรัฐบาลก็จะประกาศยกเลิก การบริหารราชการของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอบต.) และเสนอพระราชบัญญัติ การปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ จังหวัดชายแดนภาคใต้เรียกว่า นครปัตตานี ซึ่งคณะทำงานของพรรคได้ร่างเตรียมไว้เรียบร้อยแล้วที่จะเสนอ โดยมีมี \ผู้ว่าราชการนครปัตตานี\" มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน และมี \"สภานครปัตตานี\" ที่มีสมาชิกมาจากการเลือกตั้งอำเภอละ 1 คน ทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลการทำงานของผู้ว่าราชการนครปัตตานี ร่างกฎหมายฉบับนี้มีความยาวถึง 121 มาตรา โดยในเอกสารประกอบร่างกฎหมายได้ระบุถึงเหตุผลและความจำเป็นในการเสนอร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการนครปัตตานีเอาไว้ว่า \"โดยที่สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อ ความสงบสุขของประชาชนและความมั่นคงของประเทศอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องบูรณาการการดำเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ในทุกรูปแบบ รวมถึงการกำหนดให้มีการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและกำหนดยุทธศาสตร์ การพัฒนาให้บรรลุตามเป้าหมายในอันที่จะทำให้จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดความสงบ เรียบร้อยด้วย\" (โปรดดู http://www.oknation.net/blog/print.php?id=701489) สำหรับ พรรคมาตุภูมิ หากได้เป็นรัฐบาลและได้รับมอบอำนาจให้ดูแล จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็จะ ตั้งทบวงบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ 3 จังหวัดและ 4 อำเภอของสงขลา ผู้ที่เป็นหัวหน้าของทบวงต้องเป็นรัฐมนตรี มาประจำอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และข้าราชทุกระทรวงขึ้นตรงต่อทบวงนี้เพื่อเอกภาพในการบริหาร แต่จะไม่ไปแตะต้องในส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเดิม โดยสัญญาว่าจะมีการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างจริงจัง ครับก็เป็นหน้าที่สำหรับประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ถึงแม้จะใช้เวลาแค่ ๔ วินาที) ที่จะตัดสินใจทางการเมืองด้วยสันติวิธีในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของตนเอง (ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน) โดยการเลือกพรรคใดพรรคหนึ่งอย่างชัดเจนระหว่างการกระจายอำนาจ ในรูปแบบ ศอ บต. ทบวงบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่อำนาจสูงสุดมาจากส่วนกลาง กับ นครปัตตานี ที่ผู้นำสูงสุดมาจากการเลือกตั้งของคนในพื้นที่ แต่หลังจากการเลือก องค์กรภาคประชาชนทุกเครือข่าย ก็จะต้องตรวจสอบ กดดันแต่ละพรรคที่ได้จัดตั้งรัฐบาล ว่าได้นำนโยบาย ที่หาเสียงไว้ไปปฏิบัติจริงหรือไหม และทำงานบนพื้นฐานหลักวิชาการต่อไปเพื่อรองรับทฤษฎีที่ได้รับการยอมรับ อย่างเช่น การนำ เสนอ โมเดล ปัตตานีมหานคร ที่เป็นการทำงานร่วมของ เครือข่ายประชาชนเพื่อพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้และ คณะกรรมการภาคประชาสังคมซึ่งอยู่ภายใต้หลักวิชาการของ สภา พัฒนาการเมือง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net