รายงาน:ฉากสุดท้ายบ้านโนนป่าก่อ

บ้านโนนป่าก่อ 14 ครอบครัวสุดท้าย ยินยอมย้ายออกจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูสีฐานแล้ว ปิดตำนานการต่อสู้ที่ยืดเยื้อเกือบ 20 ปี เบื้องหลังพบ กอ.รมน. ใช้สารพัดวิธี ขู่ ปลอบ หลอก โครงการอพยพราษฎรบ้านโนนป่าก่อ ตำบลบ้านเหล่า อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร ออกจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูสีฐาน ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก กปร. (คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริ) โดยจัดสรรที่ทำกินและที่ปลูกสร้างบ้านครอบครัวละ 3 ไร่ พร้อมงบประมาณในการก่อสร้างบ้านและจัดหาปัจจัยการผลิต ครอบครัวละ 2 แสนบาท ในที่สุดก็ดำเนินงานบรรลุเป้าหมาย โดยราษฎรกลุ่มสุดท้าย ซึ่งมี 10 หลังคาเรือน รวม 14 ครอบครัว ยินยอมย้ายออกมาอยู่ในพื้นที่รองรับ ต.บ้านค้อ อ.คำชะอี แล้ว หลังเริ่มโครงการมาตั้งแต่ปี 2552 ในการรื้อถอนและขนย้ายบ้านเรือนออกมายังพื้นที่รองรับ มีกำลังจากชุดเฉพาะกิจกองร้อยทหารพรานที่ 2106 กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 23 เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ภูสีฐาน และเจ้าหน้าที่ป่าไม้หน่วยต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียงเข้ามาร่วมกันดำเนินการ แต่การยินยอมเซ็นมอบพื้นที่ถือครองและรื้อถอนบ้านเรือนออกของชาวบ้านป่าก่อกลุ่มสุดท้ายนี้ มีเบื้องหลังที่น่าเคลือบแคลงไม่น้อย ชาวบ้านหลายคนให้ข้อมูลว่า หลังการประชุมร่วมกับหน่วยงานของจังหวัดและอนุกรรมการป่าไม้-ที่ดิน ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อ 25 พฤศจิกายน 2553 ทางจังหวัดได้ทำแผนพัฒนาพื้นที่รองรับมาเสนอชาวบ้าน พร้อมกันนั้น ผวจ.มุกดาหาร ได้กล่าวว่า ภายใน 3 ปี จะพัฒนาพื้นที่รองรับให้ชาวบ้านที่โยกย้ายออกมามีความเป็นอยู่ที่ดี จนกลุ่มที่ยังไม่ย้ายเต็มใจที่จะย้ายออกมาเอง โดยไม่มีการบังคับ ชาวโนนป่าก่อจึงมีความหวังทำกินในที่ดินเดิมต่อ และเปลี่ยนชื่อบ้านเป็นบ้านดงเงินศรีปทุม แต่แล้ว ผ่านกลางเดือนมิถุนายน 2554 ไม่นาน พ.ท.วรรณชัย แววศรี หัวหน้าชุดพัฒนาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.) ภาค 2 ส่วนแยก 1 ได้ปรากฏตัวมาเยี่ยมชาวบ้านดงเงินศรีปทุม พร้อมกับมีกองกำลังชุดดำไม่มีสังกัดเข้ามาประจำที่หน่วยป่าไม้ มห.5 ข่าวที่ชาวบ้านได้ยินจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ กองกำลังชุดดำคือ สหายเก่าที่มาทำงานให้ กอ.รมน. และข่าวว่าทางการจะรื้อถอนบ้านที่เหลืออยู่ออกให้หมดในวันที่ 30 มิ.ย. เช้าวันที่ 23 มิถุนายน 2554 นายสงคราม.... ชาวบ้านที่ย้ายออกแล้วเข้าไปชี้ให้กองกำลังชุดดำรื้อถอนศาลาวัดก่อธรรมเมตตา โดยอ้างว่าเป็นบ้านของตน นายวีนัส อุทโท หนึ่งในชาวบ้านที่ยังไม่ย้ายออกเกิดความโมโหจึงกระโดดเข้าเตะนายสงครามได้รับบาดเจ็บ จากนั้น ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ พ.ท.วรรณชัย กล่าวว่าจะเอาเรื่องให้ได้ พร้อมกับสั่งให้จับตายนายวีนัส ตกเย็นกำลังทหาร(กองกำลังสุรศักดิ์มนตรี) ควบคุมตัวชาวบ้านทั้งหมดมาที่ มห.5 โดยแจ้งว่าจะดำเนินคดีเรื่องทำร้ายร่างกายนายสงคราม แต่ช่วงค่ำ ชาวบ้านก็ถูกพากลับส่งบ้านโดยไม่มีการดำเนินคดีแต่อย่างใด แต่กำลังทหารพร้อมเอ็ม 16 ยังคงอยู่ในหมู่บ้าน เดินลาดตระเวณ สร้างความหวาดกลัวแก่ผู้หญิงและเด็กเป็นอย่างมาก วันต่อมา พ.ท.วรรณชัย และปลัดอำเภอคำชะอี เข้าเจรจากับชาวบ้าน(โดยมีกำลังทหารอยู่ล้อมรอบ) ว่าจะไม่เอาเรื่องคดีดังกล่าว แต่ขอให้ย้ายออกก่อนวันที่ 28 มิถุนายน เนื่องจากในวันดังกล่าว แม่ทัพภาค 2 จะเดินทางมาทำพิธีถวายคืนผืนป่าให้ในหลวง พร้อมทั้งพาชาวบ้านไปดูพื้นที่รองรับแห่งใหม่ ซึ่งเป็นหน่วยป่าไม้เก่า แต่ยังไม่มีการสร้างบ้านไว้รองรับ มีเพียงบ้านพักเจ้าหน้าที่ซึ่งชำรุดทรุดโทรมจำนวน 4 ห้อง โดยชาวบ้านที่จะย้ายออกมาส่วนหนึ่งจะเข้าอยู่บ้านในพื้นที่รองรับบ้านด่านช้าง ซึ่งเหลือ 6 หลัง และส่วนที่เหลือให้อาศัยอยู่ที่บ้านพักนี้ชั่วคราว ก่อนที่การสร้างบ้านใหม่จะแล้วเสร็จ พ.ท.วรรณชัย ให้คำมั่นว่า จะนำทหารช่างมาปรับปรุง ต่อน้ำ ต่อไฟ ให้อยู่ได้สบาย ชาวโนนป่าก่อเดิมจึงยื่นข้อเสนอว่า หากมีการย้ายออก จะปลูกสร้างบ้านเอง โดยขอสนับสนุนสังกะสีครอบครัว 100 แผ่น และงบประมาณในการสร้างบ้านและสนับสนุนปัจจัยการผลิต(วัว,หมู,ไก่) ที่จัดสรรให้สำหรับผู้ที่ย้ายออกตามโครงการครอบครัวละ 2 แสนบาทนั้น จะขอรับเป็นเงินสด ปลัดอำเภอคำชะอีเพียงแต่รับว่าจะนำไปเสนอจังหวัดต่อไป 27 มิถุนายน 2554 การรื้อถอนบ้านหลังแรกเริ่มขึ้น โดยมีกำหนดแล้วเสร็จวันที่ 30 มีการปิดด่านป่าไม้ที่เป็นทางเข้า-ออกบ้านโนนป่าก่อไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าไป ทั้งหมดนี้ กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องไม่ได้รับแจ้งจากทางจังหวัด อีกทั้ง ทางจังหวัดก็อ้างว่า ไม่มีแผนการย้ายราษฎรในช่วงนี้ 28 มิถุนายน 2554 ไม่มีพิธีถวายคืนผืนป่า ไม่มีแม่ทัพภาค 2 มีเพียงพลตรีธวัช สุขปลั่ง ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 3 ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 2 ส่วนแยก 1 กองกำลังสุรศักดิ์มนตรี เดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์มาตรวจเยี่ยมการรื้อถอนบ้านเรือนของราษฎร หลังพล.ต.ธวัช เดินทางกลับ กองกำลังสุรศักดิ์มนตรีก็ถอนตัวกลับเช่นกัน ไม่ได้เป็นกำลังหลักในการรื้อถอนและขนย้าย ไม่มีกำลังทหารช่างมาปรับปรุงบ้านพัก ต่อน้ำต่อไฟ อย่างที่ พ.ท.วรรณชัยได้ให้คำมั่นไว้ ชาวโนนป่าก่อกลุ่มสุดท้ายจึงถูกอพยพโยกย้ายออกจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูสีฐานในช่วงฤดูการเพาะปลูกอย่างเร่งด่วน จากบ้านที่คุ้มแดดคุ้มฝน เพื่อมาอยู่บ้านพักหลังเก่าที่หลังคามีรอยแตกโหว่ไม่คุ้มฝน ไม่มีห้องส้วมให้ใช้ โดยอยู่อย่างไม่มีไฟฟ้า และใช้น้ำห้วยเหมือนเดิม “เราไม่เต็มใจย้ายออกหรอก แต่มันจำเป็น เราเหลือคนอยู่นิดเดียว กำลังทหารพร้อมอาวุธเต็มไปหมด ถึงเราไม่กลัว แต่ลูกเมีย และเพื่อนบางคนก็กลัว หันไปพึ่งใครก็ไม่มีแล้ว... เราจะรอดู ถ้าเขาไม่รักษาคำสัญญาที่ให้ไว้ด้วยเกียรติของทหาร เราก็คงจะสู้ต่อไป” หนึ่งในแกนนำชาวบ้านเปิดเผยความรู้สึก และหญิงลูก 2 อดีตเยาวชนของบ้านโนนป่าก่อ ซึ่งนั่งอย่างหดหู่อยู่หน้าห้องพักของเธอ ถอนหายใจพร้อมระบายความในใจ “เคยอยู่สบาย ได้มาอยู่ลำบากเสียแล้ว”สวนทางกับผู้หยิบยื่นการพัฒนา ซึ่งบอกพวกเขาว่า อยู่ในป่าลำบาก ย้ายออกมาอยู่สบาย มีโครงการพัฒนาให้อยู่ดีกินดีดีกว่า หมายเหตุ: บ้านโนนป่าก่อ เริ่มตั้งชุมชนอยู่ในป่าสงวนแห่งชาติภูสีฐานมาตั้งแต่ ปี 2519 ต่อมา ปี 2526-2529 รัฐบาลเปิดป่าในบริเวณนี้ให้สัมปทานตัดไม้ ปี 2533 กรมป่าไม้ประกาศ “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูสีฐาน” โดยมีบ้านโนนป่าก่อเป็น 1 ใน 2 หมู่บ้าน ที่ถูกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ ประกาศทับ ปี 2535 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ ประกาศให้ชาวบ้านออกจากที่ดินทำกิน ปี 2542 ชาวโนนป่าก่อเข้าร่วมการต่อสู้กับเครือข่ายเกษตรกรภาคอีสานตอนบน( คกอ.) โดยยืนยันที่จะทำกินในที่ดินเดิมและขอให้ทางราชการออกเอกสารสิทธิ์ให้ ปี 2543 จังหวัดมุกดาหารเตรียมพื้นที่รองรับการอพยพราษฎรในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ เสร็จ โดยจัดสรรที่ทำกินและอยู่อาศัยให้ครอบครัวละ 9 ไร่ แต่ที่ดังกล่าวทับที่ทำกินของราษฎร บ.แก่งนาง จึงมีชาวบ้านโนนป่าก่อยินยอมย้ายออกมาเพียง 14 ครอบครัว ปี 2544 เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าภูสีฐาน จึงแจ้งความดำเนินคดีกับชาวบ้านอีก 54 ครอบครัวที่ไม่ยอมย้ายออก ในปีเดียวกัน ชาวบ้านเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับสมัชชาคนจน เดินเท้าและรถไถทางไกลถึง จ.ขอนแก่น เพื่อเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและยกเลิกหมายจับ ปี 2552 กปร.ได้อนุมัติงบประมาณโครงการอพยพราษฎรบ้านโนนป่าก่อ โดยจะดำเนินการก่อสร้างบ้านพักอาศัย จำนวน 47 หลัง ในที่ดินหลังละ 0.5 ไร่ พร้อมที่ทำกินครอบครัวละ 2.5 ไร่ ต้นปี 2553 มีชาวบ้านกลุ่มแรกอพยพออกมา 15 ครอบครัว หลังจากนั้น มีชาวบ้านทยอยอพยพออกมาเรื่อยๆ ส่วนที่เหลือพยายามเจรจาต่อรองให้จัดพื้นที่รองรับที่เหมาะสมและเพียงพอ โดนร้องเรียนผ่านอนุกรรมการป่าไม้ที่ดิน ใน กสม. จนทางจังหวัดยินยอมทำแผนใหม่ จนกระทั่ง กอ.รมน.เข้าไปอพยพชาวบ้านกลุ่มสุดท้ายออกมา นับเป็นการปิดตำนานการต่อสู้ของชาวโนนป่าก่อที่ยืดเยื้อมาเกือบ 20 ปี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท