Skip to main content
sharethis

นักสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรม นักศึกษาและประชาชนชุมนุมหน้าสถานทูตมาเลเซียประจำประเทศไทย เพื่อประณามกรณีปรามปรามและจับกุมประชาชนที่รณรงค์เรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเลือกตั้งในมาเลเซีย ภาพนักกิจกรรมไทยประท้วงรัฐบาลมาเลเซียที่จับกุมกลุ่มรณรงค์เพื่อการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม (Bersih 2.0) ที่หน้าสถานทูตมาเลเซียประจำกรุงเทพ ถ.สาธร เมื่อ 1 ก.ค. 54 (เอื้อเฟื้อภาพโดย: กัปตัน จึงธีรพาณิช) เมื่อเวลา 11.00 น. วันนี้ (1 ก.ค.54) เวลา 11.00 น. นักกิจกรรมประกอบด้วยตัวแทนจากกลุ่มประกายไฟ กลุ่มคนงาน TRY ARM, มูลนิธิศักยภาพชุมชน, กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย, องค์กรเลี้ยวซ้าย และนักกิจกรรมอื่นๆ หลายสิบคนมาชุมนุมที่สถานเอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำกรุงเทพฯ เพื่อยื่นข้อเรียกร้องและประณามการจับกุมตัวนักกิจกรรม นักการเมืองของมาเลเซียที่ออกมารณรงค์เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งสะอาด เสรีและเป็นธรรม โดยทางสถานเอกอัครราชทูตได้ส่งนายนาซารูดิน จาอาแฟ เลขาธิการอันดับ 1 ประจำสถานทูต มารับหนังสือ เลขาธิการประจำสถานทูตยืนยันว่าจะส่งเรื่องไปยังรัฐบาลมาเลเซีย และยืนยันว่าไม่มีอำนาจในการบังคับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ด้านนักกิจกรรมที่มาประท้วงย้ำว่าจะจับตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและหากไม่มีอะไรคืบหน้าก็จะมาติดตามและเรียกร้องใหม่อีกครั้ง โดยจดหมายที่มีการยื่นต่อสถานทูตนั้นระบุถึงนายกรัฐมนตรีมาเลเซียอับดุล ราซัก เพื่อประณามการกระทำของตำรวจและรัฐบาลมาเลเซียที่ปราบปรามนักกิจกรรมสังคมในมาเลเซียซึ่งกำลังจัดการรณรงค์เพื่อการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม (Bersih 2.0) ในนามองค์กรสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรม นักศึกษาและประชาชนของประเทศไทย ในจดหมายยังระบุการจับกุมสมาชิกพรรคสังคมนิยมมาเลเซีย (PSM) ว่า “เป็นการกระทำที่รุนแรงพวกเขาถูกข้อกล่าวหาประกาศสงครามต่อกษัตริย์ซึ่งมีโทษสูงสุดถึงจำคุกตลอดชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา122ของมาเลเซีย” และในตอนท้ายของจดหมายยังได้เรียกร้องว่า “ขอให้รัฐบาลและตำรวจมาเลเซียปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมจากการรณรงค์ Bersih 2.0 อย่างไม่มีเงื่อนไขหรืออย่างน้อยก็ต้องยกเลิกการฟ้องข้อหาประกาศสงครามต่อกษัตริย์ต่อพวกเขาการรวมตัวกันและการชุมนุมอย่างสงบจะได้รับการอนุญาตและไม่ควรถูกพิจารณาว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ เราคาดหวังในความร่วมมือจากท่านในฐานะที่เหตุการณ์นี้สามารถแสดงถึงอนาคตและความมั่นคงของสิทธิมนุษยชนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” เลขาธิการประจำสถานสถานเอกอัครราชทูต กล่าวกับตัวแทนนักกิจกรรมที่มายื่นจดหมายว่า “ที่มามารับจดหมายนี้ ตนเป็นตัวแทนของทูต ส่วนทูตนั้นติดธุระไม่อาจมารับด้วยตนเองได้ ซึ่งสามารถส่งเอกสารผ่านตนได้” อย่างไรก็ตามไม่สามารถแสดงความเห็นได้ แต่ยินดีรบฟังความคิดเห็นของผู้ยื่นจดหมาย แต่ไม่สามารถรับปากได้ว่าจดหมายที่ยื่นถึงทางการมาเลเซียจะมีปฏิกิริยาอะไรจากทางรัฐบาล เพราะไม่ใช่อำนาจของตน ด้าน “วิภา ดาวมณี” ตัวแทนจากองค์กรเลี้ยวซ้าย กล่าวว่าขณะนี้ตัวเลขผู้ถูกจับกุมในมาเลเซียจากการรณรงค์เพื่อการเลือกตั้งสะอาด เพิ่มจาก 30 คนเป็น 108 คน ซึ่งโดนจับมาตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน ทั้งนี้ผู้ประท้วงเรียกร้องการเลือกตั้งที่ใสสะอาดและเป็นธรรม แต่รัฐบาลมาเลเซียกลับตั้งข้อหาว่ามีการกระทำที่ต้องการล้มล้างสถาบันกษัตริย์ รวมถึงกล่าวหาว่าพยายามที่จะก่อตั้งกลุ่มติดอาวุธและมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ “นี่เป็นการกระทำของเผด็จการอย่างชัดเจน เพราะทั่วโลกกระแสเรียกร้องประชาธิปไตยและความเป็นธรรมสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ชนชั้นปกครองทนไม่ได้ และในมาเลเซียมีหัวหอกนำโดยพรรคสังคมนิยมมาเลเซียเลยกลายเป็นเป้าที่ชนชั้นนำจะเล่นงาน ดังนั้นเราต้องออกมาต่อสู้เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมเหล่านี้ทั้งหมด” วิภากล่าว ด้าน \ศรวิษฐ์ โตวิวิชญ์\" ตัวแทนจากกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า กลุ่มจะจัดกิจกรรมเล็กๆ คู่ขนานไปกับการชุมนุมที่จะเกิดขึ้นในมาเลเซียวันที่ 9 กรกฏานี้ เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความสมานฉันท์กับกลุ่มที่กำลังประท้วงในมาเลเซีย “การละเมิดสิทธิมนุษยชนของไทยกับมาเลเซียไม่ต่างกันสักเท่าใดนัก เพราะฉะนั้นการติดต่อเชื่อมโยงระหว่าประเทศกันก็จะทำให้ขบวนการในการเปลี่ยนแปลงของเรามีความเข้มแข็งขึ้น เนื่องจากประชาชนไม่มีอาวุธในการไปต่อกรอะไรกับรัฐบาล เรามีเพียงความร่างกายและความคิดเห็น ถ้ารัฐบาลในประเทศอาเซียนที่บอกว่าเป็นประชาธิปไตยเสียงประชาชนนั้นต้องได้รับความสำคัญ” ศรวิษฐ์ ทิ้งท้าย จิตรา คชเดช ตัวแทนจากกลุ่มคนงาน TRY ARM กล่าวว่าสถานการณ์ในไทยและมาเลเซียแทบจะไม่ต่างกัน ถ้าภูมิภาคนี้รัฐบาลเป็นเผด็จการในลักษณะนี้ก็จะก่อให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบกันแล้วจะเป็นเผด็จการทั้งภูมิภาค ซึ่งตนไม่ต้องการนี้เป็นภูมิภาคเผด็จการ หลังจากนี้ไปคงต้องติดตามสถานการณ์ในมาเลเซียอย่างใกล้ชิด รวมถึงสถานการณ์ในไทยเองก็ยังเลวร้าย พร้อมเตรียมเคลื่อนไหวคู่ขนานร่วมกันต่อไป ส่วน \"พิมพ์ศิริ เพชรน้ำรอบ\" ตัวแทนจากมูลนิธิศักยภาพชุมชน กล่าวว่า “ประเด็นการเมืองในมาเลเซียในขณะนี้ขยายจากปฏิรูปการเลือกตั้งได้ยกระดับเป็นเรื่องแบ่งแยกเชื้อชาติไปแล้ว ซึ่งประเด็นนี้เป็นประเด็นที่อ่อนไหว และเหมือนรัฐบาลกระตุ้นประเด็นนี้เพื่อให้พวกชาตินิยมสุดโต่งออกมาต่อต้านพวกที่เรียกร้องปฏิรูปเลือกตั้ง อย่างเช่นจากเรื่องปฏิรูปเลือกตั้งกลายเป็นข้อหาต่อต้านกษัตริย์” “อยากฝากให้ประชาชนที่เรียกร้องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยในไทย มองว่าในต่างประเทศก็มีการเรียกร้องเหมือนกับเรา จึงอยากให้แสดงความสมานฉันท์สากลเพราะเป็นการต่อสู้ในประเด็นเดี่ยวกัน อาจจะส่งผลให้ประเด็นการต่อสู้ของเสื้อแดงหรือขบวนการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยในไทยมีพลังมากขึ้นอีกด้วย” พิมพ์ศิริ กล่าวทิ้งท้าย โดยขณะกลุ่มดังกล่าวยื่นจดหมายนั้นมีกำลังตำรวจทั้งชายและหญิงประมาณ 20 นายมาดูแลความสงบบริเวณหน้าสถานเอกอัครราชทูตด้วย จดหมายเปิดผนึก 1 กรกฎาคม 2554 เรื่อง: ประณามการกระทำของตำรวจและรัฐบาลมาเลเซียที่ปราบปรามนักกิจกรรมสังคมในมาเลเซียซึ่งกำลังจัดการรณรงค์เพื่อการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม(Bersih 2.0) เรียน: นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ดาโต๊ะ ศรี โมฮัมหมัด นาจิบ บิน ตุน อับดุล ราซัก เรา องค์กรสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรม นักศึกษาและประชาชนของประเทศไทยขอประณามการกระทำของตำรวจและรัฐบาลมาเลเซียที่ปราบปรามนักกิจกรรมสังคมในมาเลเซียซึ่งกำลังจัดการรณรงค์เพื่อการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม(Bersih 2.0)ซึ่งการรวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมเป็นสิทธิที่ระบุไว้ในคำประกาศสิทธิมนุษยชนสากลและควรได้รับความเคารพจากรัฐบาลของทุกประเทศทั่วโลก การกระทำของตำรวจที่ปีนังและเกอปาลาบาตาสต่อสมาชิกพรรคสังคมนิยมมาเลเซียถือว่าเป็นการกระทำที่รุนแรงพวกเขาถูกขอกล่าวหาประกาศสงครามต่อกษัตริย์ซึ่งมีโทษสูงสุดถึงจำคุกตลอดชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา122ของมาเลเซีย เราเข้าใจว่ารัฐบาลมาเลเซียมีความจำเป็นที่ต้องรักษาความมั่นคงของประเทศแต่สิ่งที่นักกิจกรรมเหล่านั้นได้ทำคือการรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้ง กฎหมายที่เกี่ยวข้องและทัศนคติของรัฐบาลที่มีต่อเสรีภาพทางการพูดในเรื่องการเมืองการรณรงค์นี้อาจมีการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลแต่นั่นก็เป็นการกระทำที่ถูกกฎหมายในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยความมั่นคงของประเทศกับความมั่นคงของรัฐบาลควรถูกแยกจากกันให้ชัดเจนเพียงสัญลักษณ์ของอดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มลายาไม่ควรที่จะถูกตีความว่าเป็นความพยายามที่จะล้มล้างระบอบการปกครองตามที่รัฐบาลมาเลเซียเคยเซ็นข้อตกลงหาดใหญ่เมื่อปี2532แล้ว การบุกเข้าจับกุมในสำนักงานของเอ็นจีโอและการจับกุมผู้คนที่สวมใส่สัญลักษณ์ของ Bersih 2.0 จะถูกประณามจากสังคมโลกผู้ถูกจับกุมบางคนที่ปีนังได้ระบุว่าพวกเขาถูกละเมิดสิทธิโดยเจ้าหน้าที่ซึ่งรัฐบาลควรเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้ ดังนั้น เราจึงขอให้รัฐบาลและตำรวจมาเลเซียปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมจากการรณรงค์Bersih 2.0 อย่างไม่มีเงื่อนไขหรืออย่างน้อยก็ต้องยกเลิกการฟ้องข้อหาประกาศสงครามต่อกษัตริย์ต่อพวกเขาการรวมตัวกันและการชุมนุมอย่างสงบจะได้รับการอนุญาตและไม่ควรถูกพิจารณาว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ เราคาดหวังในความร่วมมือจากท่านในฐานะที่เหตุการณ์นี้สามารถแสดงถึงอนาคตและความมั่นคงของสิทธิมนุษยชนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลงชื่อ -มูลนิธิศักยภาพชุมชน -กลุ่มประกายไฟ -กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย -กลุ่มคนงาน TRY ARM -องค์กรเลี้ยวซ้าย"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net