หมอไทยสุดเครียด สารพัดโรครุมตอม

จากรายงานการวิจัยเรื่องปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตแพทย์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของแพทย์หญิงพัชรี พุทธชาติ กลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลหาดใหญ่ ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2549 ระบุว่า วิชาชีพแพทย์เป็นวิชาชีพที่มีภาวะเจ็บป่วยด้วยความเครียด ภาวะซึมเศร้าและการติดสุราสูงกว่าบุคลากรอาชีพอื่น และยังมีอัตราการฆ่าตัวตายที่สูงกว่าประชากรทั่วไปด้วย ในรายงานการวิจัยชิ้นนี้ ระบุถึงผลการสำรวจสุขภาวะแพทย์ไทย เมื่อปี 2546 ว่า แพทย์ไทยร้อยละ 36.2 มีปัญหาสุขภาพกาย ได้แก่ โรคภูมิแพ้ โรคความดันโลหิตสูง โรคหอบหืด โรงเบาหวาน และโรคมะเร็งตามลำดับ ในด้านสุขภาพจิต พบความชุกของปัญหาสุขภาพจิตของแพทย์ไทย คิดเป็นร้อยละ 7.4 สูงกว่าประชากรโดยทั่วไป สำหรับภาวะวิกฤติซึ่งเกิดจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รายงานวิจัยฉบับนี้ พบว่าส่งผลให้คุณภาพชีวิตโดยรวมแพทย์ในพื้นที่ไม่ดีเท่าที่ควร โดยอ้างถึงผลการศึกษาเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าของแพทย์ในจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ติดกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยใช้แบบคัดกรองภาวะซึมเศร้า (CES–D) พบว่า อัตราความชุกของแพทย์ในจังหวัดสงขลา มีภาวะซึมเศร้าถึงร้อยละ 52.4 และประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ ปัญหาการก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะซึมเศร้าของแพทย์ในจังหวัดสงขลาสูง จากการศึกษาของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขภาคใต้ เมื่อปี 2547 พบว่า บุคลากรสุขภาพทุกกลุ่มวิชาชีพร้อยละ 70–80 ได้รับผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ผลการศึกษาจากงานวิจัยปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตแพทย์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ชี้ให้เห็นว่า นับตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 เป็นต้นมา ภาวะวิกฤตซึ่งเกิดจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง ทั้งต่อประชาชนและผู้ให้บริการในภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งระบบบริการสุขภาพ ผลที่จากการตอบกลับจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 116 ราย จากทั้งหมด 234 ราย คิดเป็นร้อยละ 50 ของแพทย์สังกัดสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุขในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แยกเป็นเพศชายร้อยละ 52.2 และหญิงร้อยละ 44.8 อายุเฉลี่ย 30.55 ปีนับถือศาสนาพุทธร้อยละ 70 อิสลามร้อยละ 30 สถานภาพสมรสคู่ร้อยละ 34.5 และโสดร้อยละ 65.5 ส่วนใหญ่อยู่ในภูมิลำเนาอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ร้อยละ 72.4 พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความรู้สึกไม่ปลอดภัย และรู้สึกว่าสถานการณ์ความไม่สงบมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำสูงถึงร้อยละ 95.7 และร้อยละ 93.9 ตามลำดับ ในส่วนของความไม่สบายใจของบุคคลในครอบครัวก็สูงเช่นกันถึงร้อยละ 94 กลุ่มตัวอย่าง 69.8 มีคุณภาพชีวิตในระดับกลางและร้อยละ 30.2 มีคุณภาพชีวิตในระดับดี โดยมีคะแนนเฉลี่ยคุณภาพชีวิต 83.2±10.3 คะแนน องค์ประกอบคุณภาพชีวิตด้านที่อยู่ในระดับดีมากที่สุด คือ ด้านร่างกาย ร้อยละ 54.3 รองลงมาคือ ด้านจิตใจ ร้อยละ 50 และด้านสัมพันธภาพทางสังคมร้อยละ 35.3 ส่วนองค์ประกอบคุณภาพชีวิตด้านสิ่งแวดล้อมอยู่ในระดับไม่ดีมากที่สุด คือ ร้อยละ 7.8 ประเด็นที่กลุ่มตัวอย่างรู้สึกไม่พึงพอใจมากที่สุด คือ การเดินทางไปไหนมาไหน (การคมนาคม) ไม่ปลอดภัยร้อยละ 52.6 รองลงมาคือ ชีวิตไม่มีความมั่นคงปลดภัยร้อยละ 40.5 ไม่พึงพอใจกับสภาพบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ร้อยละ 32.8 และไม่มีโอกาสได้พักผ่อนคลายเครียดอย่างเหมาะสมร้อยละ 30.1 ตามลำดับ ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อคุณภาพชีวิตโดยรวมของแพทย์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ปัจจัยด้านระยะเวลาที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ความพึงพอใจรายได้ ความพึงพอใจในวิชาชีพแพทย์ ความขัดแย้งกับผู้ร่วมงาน และความรู้สึกไม่ปลอดภัยในจากสถานการณ์ความไม่สงบ ซึ่งสามารถอธิบายความแปรปรวนของคะแนนคุณภาพชีวิตโดยรวมได้ถึง ร้อยละ 33 ปัจจัยสำคัญที่สัมพันธ์ในทางบวกกับคะแนนคุณภาพชีวิตโดยรวมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ ความพึงพอใจในวิชาชีพแพทย์ รองลงมาคือ ระยะเวลาที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และความพึงพอใจรายได้ ปัจจัยที่สัมพันธ์ในทางลบกับคะแนนคุณภาพชีวิตโดยรวมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ ความขัดแย้งกับผู้ร่วมงานและความรู้สึกไม่ปลอดภัยจากสถานการณ์ความไม่สงบ นอกจากนี้ยังพบว่า ปัจจัยทำนายคุณภาพชีวิตด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งพบว่าเป็นปัญหาของกลุ่มตัวอย่างก็มีความสอดคล้องกับปัจจัยทำนายคุณภาพชีวิตโดยรวมเช่นเดียวกัน ได้แก่ปัจจัยด้านความพึงพอใจรายได้ ความพึงพอใจต่อโอกาสศึกษาต่อ ความพึงพอใจในวิชาชีพแพทย์ และความรู้สึกไม่ปลอดภัยจากสถานการณ์ความไม่สงบ ซึ่งสามารถอธิบายความแปรปรวนของคะแนนคุณภาพชีวิตด้านสิ่งแวดล้อมได้ถึงร้อยละ 47. 3 ในรายงานการวิจัยได้มีข้อเสนอแนะที่น่าสนใจคือ ต้องเพิ่มจำนวนแพทย์ หรือควรเปิดโอกาสให้แพทย์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มีโอกาสพักผ่อนอย่างเหมาะสม เช่น มีแพทย์จากสถาบันอื่นๆ หมุนเวียนกันมาช่วยแบ่งเบาภาระงาน เพื่อการดูแลสุขภาพประชากรในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่า การทำงานเชิงรุกด้านสาธารณสุขทำได้ค่อนข้างลำบาก เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยไม่กล้าปฏิบัติงานในพื้นที่ ทำให้ผู้ป่วยต้องเดินทางมารักษาที่โรงพยาบาล ยิ่งเพิ่มความแออัดในโรงพยาบาลมากขึ้นหรือผู้ป่วยมีอาการหนักแล้วจึงจะมาโรงพยาบาล ซึ่งอาจทำให้ได้รับการรักษาที่ล่าช้าเกินไป ผลข้างเคียงจากโรคต่างๆ ก็มีมากขึ้น การทำงานด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคไม่สารถทำได้ดีเท่าที่ควร จึงเป็น “การซ่อมมากกว่าสร้างสุขภาพ” ไม่เป็นไปตามนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สถานพยาบาลใกล้บ้านใกล้ใจ เมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดของภาคอื่นๆแล้ว ปัญหาด้านสุขภาพยังมีอยู่มากและไม่สามารถสร้างสุขภาพได้ดีเท่าที่ควร นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ รองประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ในความเห็นส่วนตัว อาชีพแพทย์เป็นอาชีพที่มีความเครียดอยู่แล้ว จึงอาจจะเกิดความเครียดสะสมบ้าง ตนไม่เคยทราบมาก่อนว่า มีแพทย์ติดสุรา และผู้ประกอบอาชีพแพทย์มีอัตราฆ่าตัวตายสูงกว่าประชาชนทั่วไป นายแพทย์สุภัทร กล่าวถึงแพทย์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และจังหวัดสงขลาว่า ในช่วงเกิดสถานการณ์รุนแรงระยะแรกๆ ระหว่างปี 2547–2550 แพทย์มีความเครียดสูง แต่ในปัจจุบันปี 2554 แพทย์รู้สึกผ่อนคลายและปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ได้มากขึ้น ดูจากจำนวนของแพทย์ในพื้นที่ไม่ลดลง เมื่อเทียบกับในปีแรกๆ ที่เกิดสถานการณ์รุนแรง ในส่วนของชมรมแพทย์ชนบท ได้ผลักดันให้มีการเพิ่มเงินค่าเสี่ยงภัยแพทย์ โดยพิจารณาจากสถานการณ์ความรุนแรงในแต่ละพื้นที่ ส่วนสภาพจิตใจของแพทย์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการดูแลเป็นรายๆ ไป แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 15 กล่าวว่า แพทย์มีความเครียดเป็นเรื่องปกติ สำหรับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แพทย์คุ้นชินกับสถานการณ์มากขึ้น แต่ถ้าเหตุการณ์เกิดกับคนรู้จัก ก็ยังคงสะเทือนใจและเครียดอย่างมาก การนั่งพูดคุยและให้กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ในการเยียวยาจิตใจแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ สิ่งที่ก่อความเครียดให้กับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์มากกว่าเหตุการณ์ความไม่สงบก็คือ การเผชิญหน้ากันในโรงพยาบาล ระหว่างญาติผู้ป่วยฝ่ายเจ้าหน้าที่กับฝ่ายชาวบ้านในพื้นที่ ในส่วนของการเยียวยาจิตใจแพทย์นั้น ทางผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะเป็นคนดูแล โดยแต่ละโรงพยาบาลจะมีวิธีการผ่อนคลายความเครียดต่างกันออกไป แพทย์หญิงเศรษฐญาณี ตั่นไพบูลย์ แพทย์ใช้ทุนโรงพยาบาลปัตตานี เปิดเผยว่า ตนเป็นคนกรุงเทพมหานครโดยกำเนิด จบการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เลือกมาเป็นแพทย์ใช้ทุนที่โรงพยาบาลปัตตานี เพราะมีเพื่อนเป็นคนในพื้นที่นี้ ต้องปรับตัวเยอะ เพราะมีปัญหาด้านภาษา พูดคุยกับคนไข้ไม่ค่อยรู้เรื่อง แม้จะมีล่ามแปลภาษาแต่ล่ามก็ไม่สามารถอธิบายความรู้สึกของผู้ป่วยจริงๆ ได้ หรือถ้าวันไหนไม่มีคนที่สามารถสื่อสารทางภาษา วันนั้นก็ไม่สามารถตรวจได้ แพทย์หญิงเศรษฐญาณี กล่าวต่อไปว่า ตนไม่ได้มีความเครียดและความกดดันในการทำงาน แม้ว่าครั้งหนึ่งจะเกิดเหตุการณ์ยิงกันหน้าโรงพยาบาลก็ตาม ถึงแม้เหตุการณ์นั้นทำให้หมอรู้สึกกลัวอยู่บ้างก็ตาม ตั้งแต่มาใช้ทุนที่โรงพยาบาลปัตตานี เคยออกปฏิบัติหน้าที่ในชุมชนที่โรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่งเพียงครั้งเดียว กรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน จะมีพยาบาลฉุกเฉินออกไปดูแลหรือรับผู้ป่วยจากจุดเกิดเหตุมายังโรงพยาบาล ถึงแม้การมาเป็นแพทย์ใช้ทุนในโรงพยาบาล พื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ จะสามารถย้ายออกนอกพื้นที่หลังจากที่ใช้ทุนไปแล้วหนึ่งปี แต่ตนยังไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท