Skip to main content
sharethis

สมัชชาสังคมก้าวหน้าได้จัดการเสวนา “รำลึกศรีบูรพาและ 24 มิถุนายน” เพื่อรณรงค์ปลดปล่อยนักโทษการเมือง และเชิดชูเสรีภาพในการแสดงออก เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2554 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว กิจกรรมเริ่มเวลา 13.30 น. เปิดงานด้วยการอ่านบทกวีของ ประกาย ปรัชญา สองบทที่เขียนโดยเดือนวาด พิมวนา “การอมสากอันแสนสุข” และ “เสรีภาพโบยบินอยู่ในตัวข้า” ไชยวัฒน์ ตระการรัตน์สันติ สมัชชาสังคมก้าวหน้า กล่าวรำลึกว่า ศรีบูรพาเป็นนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ตลอดชีวิต เกียรติยศของศรีบูรพาได้นำไปสู่การตั้ง “รางวัลศรีบูรพา” ผู้ได้รับรางวัลบางคนที่ไปรับใช้อำมาตยาธิปไตย เช่น เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ควรคืนรางวัลเพราะทำให้ศรีบูรพามัวหมอง ท่านได้รับการเชิดชูจากยูเนสโก ศรีบูรพา ถูกกล่าวหาด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีเนื้อหาแท้จริงคือข้อหาล้มเจ้า เหมือนกับสิ่งที่เราเผชิญในช่วงปัจจุบัน วัฒนะ วรรณ องค์เลี้ยวซ้าย เสนอว่าการต่อสู้ของศรีบูรพายังไม่สิ้นสุด เหมือนบทเรียนของการต่อสู้ของประชาชนอียิปต์ที่ยังคงต่อสู้ต่อไป มีการตั้งพรรคการเมืองแนวสังคมนิยม นที สรวารี กล่าวว่า ในปีที่ สมบัติ บุญงามอนงค์ ถูกจับ แสดงให้เห็นว่าเสรีภาพถูกคุกคาม ซึ่งเขาได้เขียนลำนำที่บอกว่า “ถ้าให้ฉันหยุดคิด ก็หยุดลมหายใจฉันเสีย” ต่อมามีการจับสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ และสมยศ พฤษาเกษมสุข รวมถึงสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ถ้าห้ามไม่ให้พวกเราคิด ก็ต้องหยุดลมหายใจของพวกเรา ศรีบูรพากล่าวถึงผู้ยากไร้และต่อสู้เพื่อพวกเขา มีผู้ยากไร้เร่รอนไม่น้อยกว่า 7 คนถูกยิงตายในปีที่แล้วเพราะมีความคิดเห็นทางการเมืองต่างกัน ธีรวัฒน์ แซ่วี นักโทษการเมือง 19 พฤษภา เล่าว่า เขาถูกจับขณะที่พยายามช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ เขาเก็บปะทัดยักษ์ที่ตกได้และถูกจับ ปะทัดยักษ์ได้เป็นหลักฐานว่า เขาพกพาระเบิดแสวงเครื่อง ถูกตัดสินจำคุก 1 ปี เขาเห็นมีผู้สูญเสียมากกว่าเขาในเหตุการณ์ครั้งนั้นและเขายืนยันที่จะต่อสู้ต่อไป ตัวแทนกลุ่มเอื้ออาทร มีนบุรี เรียกร้องให้เสื้อแดงโปรดไปเยี่ยมและให้ความช่วยเหลือกับผู้ต้องขังเสื้อแดง ทั้งจากเหตุการณ์ชุมนุมและข้อหาหมิ่นฯ เสื้อแดงส่วนใหญ่ไม่สนใจไปเยี่ยมเพราะพวกเขาไม่ใช่แกนนำ การเสวนาเริ่มต้นเมื่อเวลา 14.00 น. คมรักษ์ ไชยะ ผู้ดำเนินรายการ เริ่มต้นด้วยให้นำเสนอถึง บทบาทและคุณูปการของกุหลาบ สายประดิษฐ์ เดือนวาด พิมวนา กล่าวถึง ศรีบูรพาว่า เป็นที่ยอมรับในการปัญญาชนที่ต่อสู้เคียงข้างประชาชน ศรีบูรพามีความสำนึกทางด้านเสรีภาพที่เข้มแข็งมาก แม้ในยุคเริ่มที่ยังเป็นงานที่โรแมนติก ศรีบูรพานอกจากจะมีสำนึกแล้ว ยังมีความสามารถ ในยุคนั้นที่เป็นยุคของเผด็จการทหาร เมื่อชนชั้นปกครองสามารถควบคุมวิทยุ โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ ก็สามารถควบคุมทิศทางความเชื่อของประเทศ เปรียบเทียบกับวันนี้ที่มีคนตื่นตัวมากมาย อาจจะเป็น “แลไปข้างหน้า” ที่ศรีบูรพาต้องการมองเห็น ในวันนี้เราไม่ได้มีเสรีภาพ เพราะความใจดีของชนชั้นปกครอง แต่วันดี คืนดีเช่นนี้ได้เพราะโลกเปลี่ยนแปลง ที่ทำให้เมืองลับแลอย่างประเทศไทยไม่สามารถปกปิดได้อีกแล้ว ในยุคของกุหลาบ ถ้ามีคนถูกจับทุกอย่างก็เงียบ แต่ขณะนี้เป็นไปไม่ได้ คนถูกจับคนหนึ่งด้วยข้อหาทางการเมืองก็จะเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก ในยุคนี้ เสรีภาพของประชาชนเป็นไปตามสถานการณ์ของโลก ในยุคที่การสื่อสารไปถึงทุกคน คนในยุคนี้คนอยู่บ้านเฉยก็สามารถก็รับรู้ข่าวสาร และจะต้องตระหนักถึงเสรีภาพ ศรีบูรพาต่อสู้ด้วยความเข้มแข็งทางอุดมการณ์ของตัวเอง ในนวนิยายจะเขียนถึงอุดมคติ เมื่อทำหนังสือพิมพ์ก็จะตรวจสอบรัฐบาล ในสถานการณ์ที่ต้องเลือกจะเป็นการพิสูจน์จุดยืน เมื่อถูกบังคับ เขาเลือกที่จะลาออก ศรีบูรพาไม่เคยเลือกที่จะเสียจุดยืนของตัวเอง มาถึงยุคที่มีการโขมยเสรีภาพ ฆ่าคนไปแล้วร้อยกว่าศพ ถ้าจะเขียนก็ต้องพูดถึงสถานการณ์ที่เป็นจริง เมื่อเปรียบเทียบกับยุคของศรีบูรพาที่เป็นยุคเผด็จการ ศรีบูรพายังคงเขียนงานในเชิงอุดมการณ์ มาถึงวันนี้ นักเขียนหลายคนรู้สึกว่าไม่มีทางสร้างสรรค์ในประเทศที่ปกครองอย่างอยุติธรรม ในประเทศที่คุกคามเสรีภาพด้วย ม.112 ท่ามกลางความอยุติธรรม การสร้างสรรค์แบบอารยะย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะต้องถมหลุมดำแห่งความอยุติธรรมลงเสียก่อน วาดรวี อภิปรายเป็นคนต่อมา เริ่มจาก กุหลาบ สายประดิษฐ์ เกิดในสมัย ร. 5 เมื่อ ร.6 ขึ้นครองราชย์ เขามีอายุ 6 ขวบ ร.7 ครองราชย์ เขามีอายุ 21 ปี เมื่อเกิดเหตุการณ์ 2475 กุหลาบอายุได้ 28 ปี เขาจึงเป็นนักเขียนที่พบเห็นกับเหตุการณ์ผันผวน เขาเริ่มเขียนหนังสือเมื่อเรียนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ 2471 กุหลาบเขียนนวนิยายเรื่อง “ลูกผู้ชาย” เป็นผลงานชิ้นแรก ตัวละครมี 3 ตัวคือ มาโนช เป็นลูกชาวนาหรือไพร่ รำพัน และคีรีเป็นลูกขุนนางหรืออำมาตย์ เนื้อเรื่องเป็นเรื่องชิงรักหักสวาทที่ทีลักษระชนชั้น คีรีจะดูถูกมาโนช แต่เรื่องคลี่คลาย โดยมาโนช มีความสำเร็จด้านการเรียนและการงาน จนสามารถสอบเป็นผู้พิพากษาและได้รับแต่งตั้งเป็นคุณหลวง คีรีประพฤติตัวเหลวแหลก จบลงด้วยการเป็นโจร และมาโนชต้องเป็นผู้พิพากษาคดีของคีรี ส่วนความรักกับรำพัน ก็ไม่สมหวัง กุหลาบได้สะท้อนความไม่เท่าเทียม แต่กุหลาบเห็นว่าคนดีไม่ได้อยู่ที่ชาติกำเนิด 2474 กุหลาบเขียนบทความเรื่อง “มนุษยภาพ” 6 เดือนก่อนหน้า การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ในบทความชิ้นนี้กุหลาบพูดถึงนักคิดหลายคน พูดถึงความเท่าเทียม ความเสมอภาค ที่เป็นแนวคิดใหม่มากด้วยคำนึงถึงความเท่าเทียมของความเป็นมนุษย์ ในยุคนั้นนับเป็นการวิจารณ์ที่รุนแรงมาก ด้านหนึ่งสะท้อนว่าพัฒนาการของสังคมที่ทำให้ กุหลาบ เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว บทบาทสำคัญของกุหลาบอีกด้านหนึ่งคือ นักหนังสือพิมพ์ กุหลาบมีบทบาทนำในค่ายบางขุนพรหม หนังสือพิมพ์เล่มสำคัญที่ทำคือ ประชาชาติ ประชามิตร และสุภาพบุรุษ กุหลาบติดคุก 2 ครั้ง ครั้งแรก ติดนาน 80 วันในช่วงสงครามโลกปี 2484 เพราะเกี่ยวข้องกับแจกใบปลิวต่อต้านพระราชบัญญัติการพิมพ์ 2484 ครั้งที่สองติดนาน 4 ปี เศษ ช่วง 2495 – 2500 กรณีนั้น เรียกว่า กบฎสันติภาพ ขอตั้งข้อสังเกต เมื่อดูจากประวัติศาสตร์การเมือง มีจุดหัวเลี้ยวหัวต่อ 2 เรื่อง เรื่องที่หนึ่ง พ.ศ.2478 – 79 มีความขัดแย้งรุนแรงระหว่าง จอมพล ป. กับ พระยาทรงสุรเดช ซึ่งเป็นคณะราษฎร์สายนิยมเจ้า กุหลาบไปอยู่ญี่ปุ่น 1 ปี เรื่องที่สอง พ.ศ.2490 ฝ่ายคณะราษฎร์กำลังเพลี่ยงพล้ำฝ่ายอนุรักษ์นิยม กุหลาบไปอยู่ออสเตรเลีย ทำให้เห็นว่ากุหลาบเป็นนักเขียนที่ไม่ radical กุหลาบเป็นพวกที่สำนึกด้านมนุษยธรรมและไม่ใช่ฝ่ายซ้าย ในช่วงสถานการณ์พัฒนาสู่ความแหลมคม กุหลาบจะไม่แสดงจุดยืนที่ชัดเจน กิตติพล สรัคคานนท์ มีความเห็นว่า บทความ “มนุษยภาพ” ทำให้เขารู้จักกุหลาบ มีสงสัยหลายประเด็น เช่น ความจริง กุหลาบเห็นว่า “ความจริง” ต้องอยู่พื้นฐานที่สังคมมีความเท่าเทียมกัน ในช่วงสถานการณ์ที่แหลมคม จึงเป็นสถานการณ์ไม่ปกติที่แสดงออกถึงความจริงได้ อาจจะต้องนำปัจจัยนี้มาร่วมพิจารณาถึงความ radical ของกุหลาบ ถ้าอยากรู้ว่าความจริงของ “ความไม่เท่าเทียมกัน” ในสังคมไทย ให้ดูไทยรัฐหน้า 4 เช่น ขณะที่มีการปราบปรามเข่นฆ่าผู้ชุมนุม ในอีกมุมหนึ่งชนชั้นสูงยังมีการเปิดงาน ตัดริบบิ้นเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทำให้เราต้องมองเห็นว่ามีความจริงหลายชั้น ธนาพล อิ๋วสกุล กล่าวว่า ฐานะของศรีบูรพาได้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไปแล้ว การอ้างถึงกุหลาบ อย่างไรก็ไม่ผิด อยากให้ดู “รางวัลศรีบูรพา” ผู้รับรางวัลควรจะมีคุณสมบัติสอดคล้องกับแนวคิดของกุหลาบ เช่น ทมยันตี ไม่ควรมารับรางวัล เป็นต้น ซึ่งจะขัดแย้งในตัวเอง แต่ขอยกตัวอย่างของ ชัย ราชวัตร เขาเป็นนักเขียนการ์ตูนการเมือง ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ 6 ตุลา จนต้องไปอยู่ต่างประเทศชั่วคราว ต่อมาชัย ราชวัตรเป็นผู้เขียน “พระมหาชนก” ฉบับการ์ตูน ในเหตุการณ์ชุมนุมเสื้อแดงก็ได้แสดงความปรปักษ์ชัดเจน ข้อความที่ถูกอ้างเสมอ เช่น “ถ้าเรายืนอยู่ที่เดิม ... พอฝุ่น ควันนั้นจางไป เราก็จะพบว่าเรายังยืนอยู่ที่เดิม” ถูกนำไปใช้โดยสนธิ ลิ้มทองกุล และคำนูญ สิทธิสมาน ความศักดิ์สิทธิของศรีบูรพาที่เห็นได้ เช่น การเปิดห้องประชุมศรีบูรพาโดยสมเด็จพระเทพฯ อาจจะเป็นบอกว่าฝ่ายประชาชนไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อชนชั้นปกครอง ปัญหาหนึ่งคือเรายังยึดติดกับตัวบุคคล ในขณะเดียวกัน ถูกไฮแจ็คไปเป็นการสะท้อนว่าอุดมการณ์ได้รับการ establish แล้ว ขณะนี้ เราควรทำในสิ่งที่เราเชื่อ โดยไม่สนใจว่าจะเกิดอะไรขึ้น หรือเปลี่ยนแปลงอย่างไร รอบต่อมาได้พูดถึง “บทบาทของนักเขียนในสถานการณ์ปัจจุบัน” เริ่มจาก วาดรวี กล่าวว่า ประวัติวรรณกรรมสามารถตีความได้ ศรีบูรพามีคุณสมบัติเฉพาะและ establish แล้วจึงถูกนำไปใช้ ต่างจากจิตร ภูมิศักดิ์ และอัศนี พลจันทร์ ที่ดูเหมือนว่าเป็นไปไม่ได้ ศรีบูรพาและคณะสุภาพบุรุษพยายามสถาปนาความเท่าเทียม ความเสมอภาคในสังคม ขณะนี้สังคมไทยยังมีปัญหานี้อยู่ เดือนวาด เห็นว่า ในอดีตการต่อสู้มีความชัดเจนระหว่างประชาชนกับชนชั้นปกครอง มาถึงยุคปัจจุบัน คนบางกลุ่มอยู่กับชนชั้นนำ แต่อ้างว่าตัวเองคือประชาชน มีการสร้างวาทกรรมว่าประชาชนต้องมีการศึกษา คนที่ไม่มีการศึกษาไม่ควรนับเป็นประชาชน สำนึกเสรีภาพและอุดมการณ์ไหลไปตามกระแส ส่วนไทยรัฐหน้า 4 บอกถึงความแตกต่าง โดยความเป็นจริงเราพาตัวเองไปอยู่ภายใต้ความเป็นทาส เหมือนลิงล่ามโซ่ ได้รับอาหาร มีความปลอดภัย ถึงเวลาออกไปเก็บมะพร้าวมาให้เจ้าของ มองเห็นลิงตัวอื่นที่กระโดดโลดเต้นไปมาตามต้นไม้อย่างไม่สนใจ ประเทศไทยมีประชาชนที่ล่ามตัวเองอยู่ สื่อหลายช่องได้บอกตัวตนเป็นอย่างดีว่า พวกเขาอยู่ข้างชนชั้นสูง ไม่ได้อยู่ข้างประชาชน ประชาชนมีสิทธิที่จะพูด คิดต่อปัญหาบ้านเมือง สำหรับนักเขียน ม.112 ไม่ได้หนักหัวพวกเขา แต่หนักหัวประชาชน อยากให้มีการสำรวจเสรีภาพในสังคม กิตติพล กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดถึงการเลือกตั้งเพื่อสถาบัน เขาพูดในฐานะอะไร ถ้าพูดในฐานะประชาชน เขากำลังขโมยฐานะของประชาชน การชิงใช้คำหนึ่ง เช่น “ประชาชน” ของแต่ละฝ่าย ต้องมีการโต้แย้งเพื่อหาเหตุผล ประชาชนต้องหมายถึงทุกคน ทหารและพันธมิตรใช้คำว่าประชาชน แต่ในความหมายเพียงบางด้าน ธนาพล นำเสนอว่า เสรีภาพต้องเป็นเสรีภาพของคนส่วนน้อย เช่น ประสบการณ์การตั้งเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน พยายามเปิดเสรีมากที่สุดแล้วให้สังคมเป็นผู้ควบคุม เราควรมีเสรีภาพที่กล่าวหาว่าประชาชนโง่ เพราะคนต้องมีการพัฒนาก่อนที่จะไม่โง่ ในการเลือกตั้ง ถ้าเพื่อไทยเป็นรัฐบาล แล้วพันธมิตรชุมนุม ก็ต้องไม่เอาปืนมาไล่ยิงพันธมิตร จะจัดการอย่างไรกับรายการคลายปมของเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง จะปิดหรือไม่ คำพูดของธนพล ทำให้เสื้อแดงที่มาฟังไม่พอใจมาก บางส่วนออกจากห้อง หลายคนบนว่า “บอกว่าประชาชนโง่ได้ยังไง” “เสื้อแดงนะหรือจะไปยิงคนอื่น” เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการเสนอกับนักเขียนที่นำการเสวนา เช่น เรื่องของศรีบูรพาเก่าไปแล้วตั้ง 80 ปี อยากจะให้นักเขียนรวมตัวนำเสนอปัญหาในปัจจุบัน เป็นต้น ในการจัดเสวนาครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจของ สน.ชนะสงคราม มาบันทึกรายการตั้งแต่เริ่มต้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net