24 มิถุนาฯ เส้นทางวิบากของประวัติศาสตร์อาภัพ และ (ถูกทำให้) พร่าเลือน

24 มิ.ย.54 - ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดงานงานเสวนาเนื่องในวันครบรอบ79 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยกลุ่มประชาคมจุฬาฯ เพื่อประชาชนร่วมกับชมรมประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ ภายใต้หัวข้อ “24มิถุนา ประวัติศาสตร์ อำนาจ และความทรงจำ” โดยมีวิทยากร ได้แก่ เกษม เพ็ญพินันท์ และณัฐพล ใจจริง ซึ่งได้รับความสนใจจากนักศึกษาและประชาชนทั่วไปเข้าร่วมฟังแน่นห้องประชุม ณัฐพล ใจจริง ได้พาผู้ร่วมฟังทัศนะไปยังภูมิทัศน์ของการปฎิวัติ 2475 ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ไปจนถึงพรมแดนทางความรู้ตั้งแต่ช่วง 2475 จนถึงปัจจุบัน โดยให้คำจำกัดความของการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของไทยว่าเป็น “อภิมหาสถาปนิกสยามกับการวาดเส้นขอบฟ้าอันดารดาษด้วยเงาปราสาทเวียงวัง” หรือคือการที่ชนชั้นนำพยายามควบคุมพลวัตรการเรียนรู้ของราษฎรที่ให้จำกัดอยู่ภายใต้เรื่องราวอันสวยหรูของชนชั้นนำ โดยเริ่มตั้งแต่ตำราเรียนของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ แม้ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ถูกเนรเทศออกไปยังต่างประเทศ แต่กรมพระยาดำรงราชานุภาพก็ยังไม่หยุดเขียนประวัติศาสตร์ ทรงใช้ชีวิตที่เหลือขัดเงาระบอบเก่าต่อไป งานประวัติศาสตร์ของเขาไม่เคยพูดถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เลย และทรงพูดแต่เรื่องของกษัตริย์ ซึ่งเป็นวิถีแบบราชาชาตินิยมเพียงอย่างเดียว ในช่วงปี2470-2480 ได้เกิดความท้าทายของระบอบอนุรักษ์นิยมขึ้น ทำให้เกิดการยอมรับแบบราชาชาตินิยมอีกครั้ง เพราะฝ่ายคณะปฎิวัติมิได้ทำการรื้อถอนการเรียนการสอนแบบระบอบเก่าอย่างหมดสิ้น และเมื่อกลุ่มรอยัลลิสต์กลับมามีอำนาจอีกครั้ง ประวัติศาสตร์การปฎิวัติ2475ก็ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องน่ารังเกียจ น่าอุจจาดหรือเรียกได้ว่าอยู่ในฐานะทัศนะอุจาดบนภูมิทัศน์ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม มีการสาดโคลนและพยายามฝังกลบการปฎิวัติฯ พร้อมพยายามสร้างภูมิทัศน์ใหม่โดยการบอกว่า รัฐธรรมนูญนั้นมีมาตั้งนานแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัย นั่นคือหลักศิลาจารึก ตัวอย่างของงานเขียนที่ทำหน้าที่นี้ได้ดีงานหนึ่งคือสี่แผ่นดิน ของ มรว. คึกฤทธิ์ ปราโมช สี่แผ่นดินเป็นนิยายฝังกลบ โดยชี้ให้เห็นถึงความทุกข์ทรมานของการปฎิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง ผ่านการดำเนินเรื่องโดยแม่พลอย หญิงชนชั้นสูงที่มีชีวิตที่รุ่งเรืองก่อน2475 พอหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ชีวิตของแม่พลอยก็ต้องเจอกับมรสุมหนักมากมาย จนสุดท้ายชีวิตของแม่พลอยก็สิ้นไปพร้อมกับการเปลี่ยนผ่านของรัชกาล นอกจากนี้ยังมีการร่วมทำลาย2475 โดยสำนักมาร์กซิสม์ในฐานะแนวร่วมมุมกลับของรอยัลลิสต์ ซึ่งจะเน้นการให้ภาพการถูกคุมคามเอกราชไทยจากจักรวรรดินิยมตะวันตกที่สอดคล้องไปกับจินตภาพในประวัติศาสตร์ของสำนักกรมพระยาดำรงฯ นอกจากนี้สำนักมาร์กซิสต์ไทยได้โจมตีการปฎิวัติว่าเป็นการปฎิวัติของกระฎุมพี ปฎิวัติครึ่งๆกลางๆ กลายเป็นสังคมกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา และมองการปฎิวัติ2475 ในฐานะเป็นตัวทำให้เกิดระบอบอำมาตยาธิปไตย ที่รวมพลของการรัฐประหาร และที่มาของปัญหาประชาธิปไตย การให้ภาพแบบมาร์กซิสม์ทำให้การประเมินทางภูมิทัศน์ของ2475 ยิ่งถูกลบเลือนไป แต่พอหลัง 6 ตุลาคม 2519 ก็เกิดการผลิบานของการขุดแต่งบูรณะ หลังป่าแตก นักศึกษา-ปัญญาชนหันกลับมาโจมตีลัทธิมาร์กซ์ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล และชาญวิทย์ เกษตรศิริ เริ่มผลิตงานในเชิงเชิดชูคณะราษฎร การฉลอง50ปีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และการเสียชีวิตของปรีดี เป็นส่วนสำคัญในการฟื้นฟูคณะราษฎร ในช่วงปี 2520-2530 มีการพูดถึงการปฎิวัติมากขึ้นในทางบวก มีการจัดพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับการปฎิวัติเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเน้นหนักที่การตั้งคำถามกับประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะงานของธงชัย วินิจจะกูล และสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล มาถึงปัจจุบันที่การเปล่งประกายของการปฎิวัติ2475 ตั้งอยู่บนภูมิทัศน์ประวัติศาสตร์การเมืองไทยภายหลังรัฐประหาร2549 ที่การปฎิวัติฯกลายเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มทางการเมือง มีการพูดถึงคณะผู้ก่อการในวงกว้าง มีภาพพวกเขาบนเสื้อยืด มีการนำเหตุการณ์นี้ไปตั้งชื่อกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง ฯ อย่างไม่เคยมีมาก่อน เกษม เพ็ญพินันท์ อาจารย์จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตั้งข้อสังเกตต่อเว็ปไซต์สถาบันพระปกเกล้าซึ่งเป็นสถาบันที่มีเป้าหมายในการส่งเสริมประชาธิปไตยว่าทำไมจึงไม่มีข้อมูลของเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญสองเหตุการณ์คือกบฎบวรเดช และ24มิถุนายน 2475 เลย นี่เป็นส่วนหนึ่งในการพยายามทำให้การรับรู้เกี่ยวกับ2475 จางหายไป รวมไปถึงในแบบเรียนมัธยมที่สร้างการรับรู้และความเข้าใจของเหตุการณ์ในภาพที่ใหญ่มาก ตัวละครในการเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่ใช่คณะราษฎร แต่ตัวเอกของเรื่องกลายเป็นพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พยายามทำให้ดูเหมือนว่าไม่ใช่เรื่องของประชาชนแต่เป็นเรื่องของพระมหากษัตริย์ที่ประสงค์อยู่แล้วในการมอบรัฐธรรมนูญ วันที่24มิถุนายน ถูกทำให้กลายเป็นวันที่ไม่น่าให้ความสำคัญเท่าใดนัก เมื่อเทียบกับวันที่10 ธันวาคม เพราะเกิดการผุกร่อนทางภูมิทัศน์ของประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่อยู่ภายใต้ความเป็นราชาชาตินิยม นักประวัติศาสตร์จำนวนมากเห็นตรงกันว่า 24มิถุนาฯ เป็นการเกิดรัฐประชาชาติสมัยใหม่ จากรัฐไทยแต่เดิมที่มีการรวมศูนย์อำนาจ จึงทำให้เกิดกลุ่มสำนึกความรับรู้ความทรงจำ และวาทกรรม”ชิงสุกก่อนห่าม” โดยวาทกรรมนี้มาจากศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวาณิช ทำไมเรื่องเล่าเหล่านี้จึงมีความสำคัญ ไม่ใช่การนำเสนอว่าเป็นอย่างไร แต่ความทรงจำและสำนึกของความเป็นประชาธิปไตย คิดว่าประชาธิปไตยไม่ได้เกิดจากการต่อสู้เรียกร้องของประชาชนจริงๆ และคิดว่าการปฎิวัติคือการที่รัฐกระทำต่อรัฐเอง สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือสิ่งที่เกิดบนถนนราชดำเนิน ประเด็นทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นบนถนนราชดำเนิน ไม่ว่าจะเป็นพระราชพิธี หรือสถาปัตยกรรม ถนนราชดำเนินเป็นพื้นที่ในการเฉลิมฉลองการปฏิวัติ แต่ก็มีความพยายามที่พยายามเปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ บรรดาอาคารบ้านเรือนต่างๆ บนถนนราชดำเนิน หลังจากคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีการสร้างสถาปัตยกรรมจำนวนมากรวมทั้งศาลยุติธรรมและอาคารพาณิชย์โดยรอบ แต่สุดท้ายก็เกิดการปะทะกันในแง่ของความทรงจำและทำให้หลงลืม คือการพยายามลบสถาปัตยกรรม เช่นกรณีรื้อโรงหนังเฉลิมไทย การย้ายกรมโยธาธิการให้เป็นพิพิธพัณฑ์พระปกเกล้า และการพยายามรื้อสร้างเปลี่ยนสถาปัตยกรรมในตึกรายล้อม และประเด็นที่สำคัญคือการรื้อศาลยุติธรรม การพยายามไล่รื้อทำลายสถาปัตยกรรมของคณะราษฎร สิ่งที่น่าสนใจต่อมาคือเรื่องผังเมืองของเกาะรัตนโกสินทร์ ที่จะทำให้ราชดำเนินเป็น ฌอง เอลิเซ่ การปรับเปลี่ยนสถาปัตย์ให้ลบเลือนความเข้าใจของคณะราษฎร การพยายามจะฟื้นลักษณะของสยามในฐานะที่เป็นรอยต่อกลับสู่อดีต เรื่องสุดท้ายที่เกษม กล่าวถึงคือเรื่องวันชาติใต้ร่มพระบารมี โดยระบุว่าวันชาติในช่วงแรกของการเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ คือวันที่ 24 มิถุนายน มีการเฉลิมฉลองวันชาติครั้งแรกที่ราชดำเนิน โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่การเฉลิมฉลองงานวันชาตินี้มีอายุอยู่เพียงแค่21 ปีเท่านั้น พอมาถึงยุคของจอมพลถนอม กิติขจร จอมพลถนอม ได้อ้างสวีเดน อังกฤษ ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ ที่ปกครองระบอบเดียวกันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ว่าประเทศเหล่านี้ใช้วันชาติเป็นวันเดียวกับวันพระราชสมภพของประมุข การเปลี่ยนวันจึงไม่ใช่เรื่องของชาติ แต่เป็นเรื่องของชนชั้นนำ ความเข้าใจต่อคณะราษฎรจึงถูกทำให้เป็นผู้ร้ายในการเมืองไทยตลอดมา ผู้ร้ายที่ทำให้เกิดมรสุม ชิงสุกก่อนห่าม และความทรงจำก็จะถูกทำลายลงไปทีละนิดๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท