Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

(เสนอครั้งแรกวันที่ 15 มิถุนายน 2554 ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขอบคุณ ดร.วสันต์ ปัญญาแก้วและคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่เชิญผู้เขียนไปบรรยาย)[1] ปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เรียกกันจนติดปากว่า “การซื้อเสียง” หรือ “การขายเสียง” หลายสิบปีที่ผ่านมา \โรคร้อยเอ็ด\" (เกิดขึ้นในปี 2524) “ระบาด” และหลอกหลอนสังคมไทยมาโดยตลอด การสำรวจการใช้เงินในช่วงการเลือกตั้ง และการเบิกจ่ายธนบัตรขนาดในละร้อยในช่วงเลือกตั้งแต่ละครั้ง ยิ่งตอกย้ำความสำคัญของการซื้อเสียง ผลที่สุดคือภาพนักการเมืองที่กลายเป็น \"สัตว์\" หิวเงิน (ในสำนวนของพรรคการเมืองที่ไม่ส่งสัตว์สักตัวลงเลือกตั้ง) หิ้วถุงเงินไปในชนบท ลงทุนเลือกตั้งเพื่อไปถอนทุนคืนในสภา แต่มีใครจะสงสัยบ้างหรือไม่ว่า ประวัติศาสตร์ “การซื้อเสียง” ในสังคมไทยเป็นอย่างไร เมื่อสังคมประชาธิปไตยไทยผ่านการเรียกร้องสิทธิทางการเมืองมากี่ยุคกี่สมัยแล้ว ผ่านเหตุการณ์พฤษภาคม 35 และพฤษภาคม 53 มาแล้ว ผ่านการกระจายอำนาจทางการเมืองมาแล้ว ผ่านการเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเมืองมาแล้ว การซื้อเสียงจะยังทำให้นักเลือกตั้งได้รับเลือกกันมาอย่างง่ายๆอย่างนั้นหรือ นอกเหนือจาก “กกต.” และที่กำลังจะมี “กกต. แดง” แล้ว ผู้ออกเสียงเลือกตั้ง หรือชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่นเอง มีกลไกทางสังคมอย่างไรหรือไม่ที่กำกับการหว่านเงินของนักเลือกตั้ง เงินสามารถกำกับผลของการเลือกตั้งได้มากน้อยแค่ไหน เงื่อนไขใดที่เงินซื้อเวียงล้มเหลว เงื่อนไขใดที่เงินซื้อเสียงสำเร็จ มานุษยวิทยาว่าด้วยระบอบประชาธิปไตย แม้ว่านักมานุษยวิทยาในปัจจุบันจำนวนมากจะก้าวเข้ามาศึกษาสังคมสมัยใหม่อย่างเต็มที่ แต่ในการศึกษาด้านมานุษยวิทยาการเมือง การศึกษาการเมืองในระบอบประชาธิปไตยในเชิงมานุษยวิทยาายังนับว่าเพิ่งจะเริ่มต้น ข้อสรุปใหญ่ๆของการศึกษาพัฒนาการประชาธิปไตยในสังคมต่างๆ ในทางมานุษยวิทยาพบว่า ประชาธิปไตยในแต่ละท้องถิ่นมีพัฒนาการที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะในสังคมตะวันตกหรือในสังคมนอกตะวันตก หากแต่การศึกษาในแนวทางนี้ไม่ได้หมายความว่า ความหลากหลายของประชาธิปไตยจะทำให้เราต้องมีท่าทีที่สัมพัทธ์จนอาจจะไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับการละเมิดสิทธิ์ทางการเมืองของผู้คนในประเทศต่างๆ หากแต่เป็นการทำความเข้าใจว่า วิถีทางการเมือง อุดมการณ์ทางการเมืองที่เรียกกันว่า “ประชาธิปไตย” นั้น มีความแตกต่างกันอย่างไรในแต่ละประเทศ แต่ละถิ่นมีกระบวนการต่อสู้ทางการเมืองอย่างไรเพื่อให้ได้มาซึ่งหรือเพื่อบั่นทอนซึ่งประชาธิปไตย มีเงื่อนไขทางสังคมและเงื่อนไขเฉพาะทางวัฒนธรรมใดบ้าง ที่อาจจะเป็นอุปสรรคหรือเป็นแรงส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยในสังคมต่างๆ ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การศึกษาแนวนี้ไม่ได้มองว่า “ประชาธิปไตยแบบตะวันตก” คือประชาธิปไตยแบบในอุดมคติที่ใฝ่ฝันกัน กล่าวคือ แม้ในประเทศตะวันตกเอง ก็ใฝ่ฝันที่จะให้ประเทศเขาเป็นประชาธิปไตยมากกว่าที่เป็นอยู่จริงในประเทศเขา ในแง่นี้ ประชาธิปไตยจึงเป็นอุดมการณ์สากลที่คนในโลกยุคปัจจุบันใฝ่ฝันหา ไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของโลก การศึกษาวัฒนธรรมประชาธิปไตยแนวทางหนึ่งที่นักมานุษยวิทยาทำกันมากได้แก่การพิจารณาว่า ประชาธิปไตยถูกให้ความหมายแตกต่างกันออกไปอย่างไรในแต่ละสังคม เป็นการหาความหมายของประชาธิปไตยที่นิยามโดยคนในสังคมต่างๆ เนื่องจากเงื่อนไขของพัฒนาการทางการเมืองและวัฒนธรรมของแต่ละสังคมแตกต่างกันออกไป สังคมต่างๆ จึงให้ความหมายประชาธิปไตยแตกต่างกัน (กรณีบูกานดาศึกษาโดย Karlström 1996; กรณีโยรูบางานของ Apter 1987; กรณีเซเนกัลศึกษาโดย Schaffer 1997 เป็นต้น) อย่างไรก็ดี การศึกษาแนวนี้มีข้อจำกัดหลายประการ ประการแรก การศึกษาแนวนี้มักมองว่า ประชาธิปไตยที่ถูกนำไปใช้ในประเทศนอกตะวันตกแตกต่างจากประชาธิปไตยต้นฉบับดั้งเดิม การศึกษาแนวนี้จึงทึกทักเอาว่า ประชาธิปไตยในโลกตะวันตกก้าวหน้ากว่า และยึดตามแบบฉบับที่ถูกต้องของประชาธิปไตย (Michelutti 2007) ประการที่สอง การศึกษาแนวนี้อาจทำให้เราเห็นแต่เพียงว่า จะพัฒนาประชาธิปไตยให้เข้าใกล้ต้นแบบได้อย่างไร ทั้งๆที่กระบวนการประชาธิปไตยอาจจะไม่ได้ถูกใช้เพื่อเป็นเป้าหมายทางการเมืองที่จะต้องพัฒนาให้แต่ละสังคมกลายไปเป็นสังคมในอุดมคติแบบต้นแบบประชาธิปไตยเสมอไป ประการที่สาม การศึกษาแนวนี้จึงไม่ได้ทำให้เราเข้าใจประชาธิปไตยที่เป็นปฏิบัติการจริงๆ ในโลกตะวันตก ว่าแท้จริงแล้วในโลกตะวันตกมีประชาธิปไตยแบบใด แต่ในปัจจุบันการศึกษาประชาธิปไตยไม่ได้มุ่งที่จะพิจารณาภายใต้กรอบของกระบวนการทำให้ทันสมัยโดยมีประชาธิปไตยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการอีกต่อไป หากแต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ กลุ่มสังคมในประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประเทศในโลกตะวันตกหรือประเทศที่เกิดใหม่หลังยุคอาณานิคม ต่างอาศัย “กระบวนการสร้างประชาธิปไตย” ในการต่อรองอำนาจ ในการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจกันอย่างไร ประชาธิปไตยจึงถูกมองว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการต่อรองอำนาจ ไม่ใช่เป็นเป้าหมายที่สมบูรณ์ในตัวเอง หรือเป็นเครื่องมือที่จะนำไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วแต่อย่างใด (Paley 2002) ตัวอย่างที่น่าสนใจเช่น ในตุรกี ประชาธิปไตยถูกชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งใช้เพื่อแสดงให้รัฐยอมรับการมีอยู่ของชุมชน มากกว่าเพียงการมีส่วนร่วมทางการเมือง ประชาธิปไตยที่นั่นจึงเป็น “การเมืองของการแสดงตน” (politics of presence) มากกว่าการเมืองของการนำเสนอตัวแทนของตนเอง (Brink-Danan 2009) หรือในอินเดีย การต่อสู้เพื่อมีส่วนมีเสียงทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยเป็นมากกว่าการมีส่วนร่วมทางการเมือง แต่เป็นการแสดงถึงพลังทางการเมืองของคนกลุ่มที่เติบโตขึ้นมาใหม่ ที่ต่อสู้กับกลุ่มอำนาจเก่า (Michelutti 2007) ส่วนในประเทศเพื่อนบ้านในอาเชี่ยนอย่างฟิลิปปินส์ การตื่นตัวทางการเมืองของชนชั้นล่าง เพื่อต่อสู้กับระบอบมาร์กอส วางอยู่บนความรู้สึกถึงความแตกต่างทางชนชั้น ความน้อยเนื้อต่ำใจ แต่ถึงที่สุดแล้ว เมื่อความเปลี่ยนแปลงผ่านไป พวกเขาก็ต้องกลับไปอยู่ในพื้นที่ทางสังคมและการเมืองลักษณะเดิม ชี้ให้เห็นว่ากระบวนการที่ดูเป็นประชาธิปไตย ในที่สุดแล้วไม่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคนในประเทศที่ “เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น” เลย (Pinches 1992) ยิ่งกว่านั้น กรณีศึกษาจากประเทศตะวันตกเองก็ชี้ให้เห็นว่า แม้แต่ในประเทศที่เรายึดมั่นกันว่าเป็นตันแบบเสรีนิยมประชาธิปไตย อย่างสหรัฐอเมริกาและประเทศในยุโรปตะวันตก ก็ใช่ว่ารูปแบบทางการเมืองแบบประชาธิปไตยจะนำมาซึ่งวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตยไม่ ทั้งนี้เนื่องจากเงื่อนไขทางสังคมของสังคม “ตะวันตก” เองก็มีความแตกต่างกัน และในหลายๆกรณีชี้ให้เห็นว่า ประชาธิปไตยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการต่อสู้ทางการเมืองของกลุ่มคน มากกว่าเป็นการตัดสินใจทางการเมืองของปัจเจกเพื่อนโยบายของรัฐที่สนองต่ออุดมการณ์ของปัจเจกชน (กรณีที่น่าสนใจได้แก่ในสหรัฐอเมริกา ดู Clark 1984) นอกจากนั้น การจัดการเลือกตั้งเองอาจจะไม่ได้เป็นหลักประกันของการค้นหาตัวแทนทางการเมือง เท่ากับเป็นหลักประกันให้กับ “ความเป็นประชาธิปไตย” อย่างเที่ยงตรง เทคนิคการจัดการสิ่งต่างๆในคูหาเลือกตั้งจึงแสดงให้เห็นถึงการควบคุมการกระทำต่างๆ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับการเลือกตั้ง (Coles 2004) ในแง่นี้ การศึกษาวัฒนธรรมประชาธิปไตยในประเทศไทยจึงอาจต้องตั้งคำถามใหม่ กล่าวคือ แทนที่จะมองว่าประชาธิปไตยที่ผ่านมาของประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยแบบต้นฉบับหรือเข้าใกล้ต้นแบบหรือยัง ซึ่งเป็นแนวการศึกษาแบบทฤษฎีการพัฒนาแบบเก่า ที่ล้าหลังเนื่องจากอาศัยกรอบของวัฒนธรรมอุดมคติของตะวันตกเป็นศูนย์กลาง การศึกษาในระยะหลังกลับมาเน้นการให้ความหมายเฉพาะต่อประชาธิปไตยของสังคมต่างๆ และที่ร่วมสมัยกว่านั้นคือ การพิจารณาว่าประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือในการต่อสู่เชิงอำนาจของคนกลุ่มต่างๆในสังคมอย่างไร หากพิจารณาเฉพาะในเรื่องของการซื้อเสียง เราจึงต้องพิจารณาว่า สังคมการเมืองไทยมีเงื่อนไขเชิงโครงสร้างและเงื่อนไขทางวัฒนธรรมอย่างไรที่ก่อให้เกิดการซื้อเสียงขึ้นมา เราจะเข้าใจการซื้อเสียงจากเงื่อนไขเหล่านี้ได้อย่างไร หากประเทศไทยไม่ได้ต่างจากหลายๆประเทศที่ “เงื่อนไขเชิงสังคม” (collective conditions ไม่ว่าจะนิยามตามชาติพันธ์ุ ถิ่นกำเนิด ภาษาพูด สายตระกูล พรรคพวก เครือญาติก็ตาม) มีบทบาทสำคัญในกระบวนการทางการเมือง “หน่วยของผู้ลงคะแนน” จึงอาจจะไม่ใช่ปัจเจกชนโดดๆ และ “เงินซื้อเสียง” จึงมีความหมายลึกซึ้ง ทวิลักษณ์การเมืองไทย ในสองทศวรรษที่ผ่านมา ทฤษฎี \"ทวิลักษณ์การเมืองไทย\" (อันมี \"สองนคราประชาธิปไตย\" ของเอนก เหล่าธรรมทัศน์เป็นตัวอย่่างที่สำคัญ) ถือได้ว่าเป็นแนวคิดหลักที่วางกรอบความเข้าใจประชาธิปไตยและกำหนดแนวทางการเข้าใจการเลือกตั้งให้สังคมไทยมายาวนาน กรอบใหญ่ของทฤษฎีทวิลักษณ์การเมืองไทยคือการแบ่งสังคมไทยเป็นสองส่วน ส่วนที่หนึ่งคือเขตเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรุงเทพฯ ถูกมองว่ามีแนวคิดประชาธิปไตยแบบก้าวหน้า มีพื้นฐานสังคมแบบปัจเจกชนนิยม พฤติกรรมการเมืองและการเลือกตั้งของคนเมืองถูกมองว่าวางอยู่บนหลักเหตุผล คำนึงถึงนโยบายคือผลประโยชน์ของประเทศชาติมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตนเฉพาะหน้า ส่วนในเขตชนบท คนเหล่านี้ถูกมองว่ายากจน พวกเขาพึ่งตนเองไม่ได้ จึงจมปลักอยู่ในเครือข่ายของระบบอุปถัมภ์ พึ่งพิงผู้มีอิทธิพลเรื่อยไป ต้องยอมแลกคะแนนเสียงกับการพึ่งพิงทางเศรษฐกิจและการเมืองจากผู้มีอิทธิพล ที่หากไม่อุปถัมภ์นักการเมือง ก็กลายมาเป็นนักการเมืองเสียเอง ภาพตรงข้ามระหว่างนักประชาธิปไตยในเมือง ที่มีประวัติศาสตร์อันโรแมนติกของขบวนการนักศึกษาและปัญญาชน ที่เรียกร้องประชาธิปไตยอย่างบริสุทธิ์ใจ ขัดแย้งตรงข้ามกับชาวบ้านที่ถูกซื้อเสียง ถ้าไม่ถูกชักจูงให้ชักแถวมาสนับสนุนนักเลือกตั้ง ก็ถูกจ้างมาเลือกตั้ง จ้างมาชุมนุม หรือไม่ก็เสพติดประชานิยมจนงอมแงม แต่คำถามแย้ง (ที่เอนก เหล่าธรรมทัศน์เองก็สงสัย) คือ หากคนกรุงเทพฯ รักสิทธิการเลือกตั้งและประชาธิปไตยขนาดนั้น ทำไมคนกรุงเทพฯ จำนวนมากจึงสนับสนุนการรัฐประหารระบอบประชาธิปไตยโดยทหาร ในปี 2534 และปี 2549 ส่วนในชนบทนั้นเล่า ทุกวันนี้ภาพการพึ่งพิงในสังคมชนบทเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ การกระจายอำนาจในชนบทก่อให้เกิดกระบวนการทางการเมืองใหม่ๆ อย่างไร เงินมีอิทธิพลแค่ไหนหรือมีอิทธิพลอย่างไรกันแน่ในการเลือกตั้ง การตัดสินใจเลือกตั้งมีรายละเอียดปลีกย่อยอย่างไรบ้าง “การซื้อเสียง” ในพลวัตทางการเมือง หากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยคือการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีอำนาจกับประชาชน ว่าให้ประชาชนสามารถตรวจสอบ กำกับนักการเมืองได้ผ่านอำนาจของการเลือกหรือไม่เลือก “การซื้อเสียง” จึงกลับขั้วความสัมพันธ์เชิงอำนาจนี้ แทนที่ผู้ลงคะแนนจะเป็นผู้มีอำนาจ ผู้รับการเลือกตั้งกลับมีอำนาจในการกำหนดผลของการเลือกตั้ง แต่เหตุใด “อำนาจอธิปไตย” จึงราคาถูก หรือมีค่าเพียง 200

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net