Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“J’apprenais du moins que je n’étais du côté des coupables, des accusés, que dans la mesure exacte où leur faute ne me causait aucun dommage. Leur culpabilité me rendait éloquent parce que je n’en étais pas la victime. Quand j’étais menacé, je ne devenais pas seulement un juge à mon tour, mais plus encore : un maître irascible qui voulait, hors de toute loi, assommer le délinquant et le mettre à genoux.” “... การที่โดดเข้าไปช่วยเหลือจำเลยนั้นก็เพราะอาชญากรรมของเขาไม่เป็นภัยต่อสวัสดิการของผม ผมแก้คดีของเขาด้วยอรรถาธิบายอันไพเราะจับใจ เพราะผมไม่ได้เป็นผู้รับเคราะห์จากการกระทำของเขา ทว่าเมื่อใดก็ตามที่เขาอาจเป็นอันตรายต่อผม เมื่อนั้นผมจะจัดการพิพากษาเขาทันที ยิ่งกว่านั้นก็พร้อมจะกลายเป็นคนคลั่งอำนาจ กฎหมายว่าอะไร กูไม่ฟัง จำจะต้องลงโทษมันให้ได้” Albert Camus, La Chute, Gallimard, 1956, p.66. สำนวนแปลโดย ตุลจันทร์ ใน อัลแบร์ กามู, มนุษย์สองหน้า, สำนักพิมพ์สามัญชน, 2543, หน้า 68. - 1 - “กฎหมาย” วัฒนธรรมการเมืองไทยในทุกวันนี้ มักอ้าง “กฎหมาย” กันเป็นสรณะ หากต้องการเสริมสร้างความชอบธรรมให้แก่การกระทำของตน ก็ต้องอ้างกฎหมาย เช่นกัน หากต้องการทำลายความชอบธรรมของการกระทำของศัตรู ก็ต้องอ้างว่าการกระทำนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย การเถลิงอำนาจของ “กฎหมาย” เป็นส่วนหนึ่งของชัยชนะอุดมการณ์ประชาธิปไตย-เสรีนิยม-นิติรัฐ เมื่อประเทศไทยอยู่ในสังคมโลก จึงไม่อาจตกขบวน “นิติรัฐ-ประชาธิปไตย” ได้ [1] เราจึงพบเห็นบุคคลจำนวนมากหยิบยกคำใหญ่ๆโตๆจำพวก “นิติรัฐ” “นิติธรรม” “เคารพกฎหมาย” “กฎหมายเป็นใหญ่” “ปกครองโดยกฎหมาย” “ศาลตัดสินแล้วเป็นที่สุด ทุกคนต้องยอมรับ” เพื่ออ้าง \กฎหมาย-กระบวนการยุติธรรม-คำพิพากษา\" ไว้อุดปากฝ่ายตรงข้าม และสร้างความชอบธรรมให้ฝ่าย ตนเอง โดยจงใจไม่พูดถึงที่มาอันอุบาทว์ของ “กฎหมาย” ปัจจัยรอบด้านของ \"กฎหมาย\" เนื้อหาของ “กฎหมาย” ไม่อนาทรร้อนใจต่อการใช้กฎหมายแบบเสมอภาค การแสดงออกของคนจำนวนมากว่าไม่ยอมรับกระบวนการทางกฎหมายที่เกิดขึ้นจากคณะรัฐประหาร ไม่ใช่เรื่อง “การเมือง” มารังแก “กฎหมาย” ไม่ใช่เรื่อง “กฎหมู่” อยู่เหนือกฎหมาย แต่เป็นเรื่องที่คนจำนวนมากต้องการ “โต้” ว่าสิ่งที่พวกท่านอ้างว่าเป็น “กฎหมาย” นั้น เป็น “กฎหมาย” จริงหรือ? หรือมันเป็น “กฎหมู่” ที่ใส่เสื้อผ้า “กฎหมาย? “กฎหมู่” หากเชื่อว่าในประเทศไทยนี้มี “กฎหมู่” จริง “กฎหมู่” ก็คงมิได้มีเพียงแต่ “กฎหมู่ชินวัตร” เท่านั้น ยังมีกฎหมู่อีกหลายตระกูล “กฎหมู่” ของบางตระกูลได้ทำลายระบอบประชาธิปไตย “กฎหมู่” ของบางตระกูลได้ตัดตอนบอนไซไม่ให้ประชาธิปไตยตามอุดมการณ์ของคณะราษฎร 24 มิถุนายน 2475 ได้เจริญเติบโตงอกงามในสังคมไทย และ “กฎหมู่” อีกหลายประเภทอาจสร้างความเสียหายต่อประเทศอย่างมหาศาล รัฐประหารเพื่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็น “กฎหมู่” หรือไม่? คณะรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ 2540 แล้วประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 เป็น “กฎหมู่” หรือไม่? คณะรัฐประหารรับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำของตนเองและการกระทำต่อเนื่อง ตามมาตรา 36 ของรัฐธรรมนูญ 2549 [2] เป็น “กฎหมู่” หรือไม่? คณะรัฐประหารนิรโทษกรรมตนเองและพรรคพวกตามมาตรา 37 ของรัฐธรรมนูญ 2549 [3] เป็น “กฎหมู่” หรือไม่? คณะรัฐประหารออกประกาศ คปค ฉบับที่ 27 ข้อ 3 [4] เป็น “กฎหมู่” หรือไม่? “กฎหมาย” ที่เกิดจากน้ำมือของคณะรัฐประหาร เป็น “กฎหมู่” หรือไม่? ที่มาและเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ 2550 เป็น “กฎหมู่” หรือไม่? มาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญ 2550 [5] เป็น “กฎหมู่” หรือไม่? กระบวนการใช้ “กฎหมาย” เป็นเครื่องมือจนนำมาสู่การยุบพรรคการเมืองหลายพรรค ตัดสิทธินักการเมืองหลายคน เป็น “กฎหมู่” หรือไม่? คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เกิดขึ้นจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารเป็น “กฎหมู่” หรือไม่? ขบวนการ “ตลก ภิวัตน์” เป็น “กฎหมู่” หรือไม่? สาธุชนพึงพิจารณาได้เอง ข้าพเจ้าเห็นว่า ด้วยความสามารถและความเฉลียวฉลาดของมนุษย์ มนุษย์จึงไม่ควรมีความจำที่สั้นจนเกินไปนัก มนุษย์ผู้มีเหตุมีผลต้องตระหนักรู้ได้ถึงเหตุการณ์ที่กฎหมายถูกนำไปใช้อย่างบิดเบี้ยว ทั้งการตราตัวบทกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับนิติรัฐ-ประชาธิปไตย ทั้งการใช้และการตีความกฎหมายขององค์กรผู้มีอำนาจไปในทิศทางที่ไม่สนับสนุนนิติรัฐ-ประชาธิปไตย และก่อให้เกิดความไม่ยุติธรรม ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนับแต่รัฐประหาร 19 กันยา 49 การพิจารณาให้ความเห็นในเชิงคุณค่าต่อเรื่องใดก็ตาม โปรดพิจารณาให้สม่ำเสมอและเป็นมาตรฐานเดียวกันด้วย มิใช่ติดตั้งสวิตช์ตัดไฟ พร้อมเปิด-ปิดได้ตามสถานการณ์ เรื่องหนึ่งเปิดสวิตช์ “นิติรัฐ” เต็มที่ พออีกเรื่องหนึ่ง กลับปิดสวิตช์ “นิติรัฐ” ทิ้งเสีย น่าเสียดาย ถ้าคนเหล่านี้ “ขยันขันแข็ง” กับการต้านรัฐประหาร ต้านรัฐประหารได้สักเสี้ยวหนึ่ง ต้านกระบวนการทางกฎหมายที่บิดเบี้ยวมาตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยา 49 ได้สักครึ่งหนึ่งของสิ่งที่พวกเขากำลังกระเหี้ยนกระหือรือกระทำกันอยู่... ก็คงดี ข้าพเจ้าเห็นว่าบุคคลเหล่านี้ควรกลับมาทบทวน ตั้งสติ ลดอัตตา และแอมบิชันส่วนตนลงเสียบ้าง มิใช่ตั้งคำตอบไว้ในใจ ฝังลงไปในสมอง ลึกเข้าไปในจิตสำนึกว่ามันผิด มันโกง มันชั่ว ข้าขออาสาเข้ามาจัดการมันเอง เมื่อจัดการมันแล้ว ได้ผลสำเร็จมาบางส่วน ก็จะตามราวีมันต่อ เพื่อสนองตอบจิตสำนึกของตน เพื่อขับเน้นว่าสิ่งที่ข้าคิดนั้นมันถูก สิ่งที่ข้าทำนั้นมันดี เมื่อข้าอาสาเข้ามาทำงานนี้แล้ว ผลงานที่ข้าร่วมรังสรรค์ขึ้นต้องเดินหน้าไปให้ถึงจุดหมาย วิธีคิดแบบนี้มีแต่พาไปสู่อันตราย ข้าพเจ้าเป็นคนไม่สันทัดเรื่องพระเรื่องศาสนา แต่ครั้งนี้ขอยืมคำพระมาใช้บ้าง : “ปล่อยวาง” อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ นิติราษฎร์ http://www.enlightened-jurists.com/blog/37 อ้างอิง: โปรดดู ปิยบุตร แสงกนกกุล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net