พุทธศาสนา/เหตุผล/การเมือง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ผมติดใจวาทกรรม “ธรรมนิยม” ที่อ้างคำพูดของท่านพุทธทาสว่า “หากสังคมมีธรรมะแล้วไม่ต้องมีการเมืองก็ได้” เพราะข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ในพระไตรปิฎกเอง แม้แต่สังคมของผู้บรรลุธรรมอย่างสังคมของพระอรหันต์ ก็ยังมีการเมืองเช่นกัน เช่น ในคราวปฐมสังคายนา พระอรหันต์ที่ประชุมร่วมสังคายนาพระธรรมวินัยจำนวน 500 รูป ก่อนการสังคายนาได้มีการประชุมพิจารณาความผิดของพระอานนท์ 5 ข้อ 1 ใน 5 ข้อนั้นมีว่า “พระอานนท์มีความผิด เพราะขวนขวาย (เรียกในภาษาปัจจุบันว่า “ล็อบบี้”) ให้สตรีบวชภิกษุณี” เรื่องของเรื่องก็คือว่า นางปชาบดีน้องสาวมารดาของพระพุทธเจ้าออกจากวังพร้อมบริวาร 500 คน โกนผม ห่มผ้าคล้ายนักบวช ไปขอบวชเป็นพระผู้หญิงกับพระพุทธเจ้า แต่ถูกปฏิเสธถึง 3 ครั้ง นางจึงไปขอร้องพระอานนท์ช่วยไปพูดกับพระพุทธเจ้า หรือช่วย “ล็อบบี้” ให้หน่อย พระอานนท์ก็ไปล็อบบี้พระพุทธเจ้า ชักแม่น้ำทั้งห้าเพื่อโน้มน้าวให้ท่าน (ไม่ใช้คำ “ราชาศัพท์” กับท่านได้ก็น่าจะดี เพราะท่านสละสถานะทางชนชั้นตั้งแต่ออกบวชแล้ว) อนุญาต แต่ท่านก็ไม่ยอม ในที่สุดพระอานนท์ยิงคำถามว่า “ถ้าสตรีบวชเป็นภิกษุณีแล้วจะสามารถบรรลุธรรมได้เหมือนบุรุษหรือไม่” พระพุทธเจ้าตอบว่า “ได้” เมื่อได้คำตอบเช่นนี้ปุ๊ป พระอานนท์ก็ขี่แพะไล่ทันที “ถ้าเช่นนั้นจะมีเหตุผลอะไรที่จะห้ามสตรีบวชด้วยเล่า” โดยยอมรับต่อเหตุผลของพระอานนท์ พระพุทธเจ้าจึงอนุญาตให้สตรีบวชภิกษุณีได้ จะเห็นได้ว่าการตัดสินใจของพระพุทธเจ้าอยู่บนการเคารพ “เหตุผล” ที่ว่า “เมื่อสตรีบวชภิกษุณีแล้วสามารถบรรลุธรรมได้ดุจดังบุรุษ ฉะนั้น จึงสมควรอนุญาตให้สตรีบวชได้” อย่างไรก็ตาม การอนุญาตให้สตรีบวชดูเหมือนอนุญาตบนเหตุผล “ความเท่าเทียมในความเป็นมนุษย์” คือ “ความเท่าเทียมในศักยภาพบรรลุธรรมที่มีอยู่ในมนุษย์ทุกคนไม่ว่าเพศใดๆ ก็ตาม” แต่ทว่าเงื่อนไขของการอนุญาตให้สตรีบวชกลับเป็นการยอมรับ “ความไม่เท่าเทียมทางเพศ” คือผู้หญิงที่บวชภิกษุณีต้องยอมรับเงื่อนไข 8 ข้อ ที่ปฏิบัติได้ยากยิ่ง เรียกว่า “ครุธรรม 8 ข้อ” หนึ่งในนั้นคือภิกษุณีแม้บวชนานร้อยพรรษาก็ต้องทำความเคารพกราบไหว้พระภิกษุแม้เพิ่งบวชได้วันเดียว ภิกษุณีต้องรับฟังคำสั่งสอนจากภิกษุเท่านั้นจะสอนภิกษุไม่ได้เลย เป็นต้น ปัญหาคือ ตรรกะของการอนุญาตให้บวชกับตรรกะของเงื่อนไขในการบวชขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง ทำให้เห็นว่าพุทธศาสนาไม่มี “ความสอดคล้อง” (consistency) หรือความคงเส้นคงวาในการใช้เหตุผล ย้อนไปที่เรื่องพระอรหันต์ประชุมกันพิจาณาความผิดของพระอานนท์ก่อนเริ่มทำสังคายนา การประชุมพิจารณาเรื่องนี้ถือเป็น “กิจกรรมทางการเมือง” อย่างหนึ่ง เพราะเป็นเรื่องของการร่วมกันแสวงหาข้อตกลงเกี่ยวกับสิทธิและอำนาจจัดการความเป็นธรรมในการอยู่ร่วมกัน ประเด็นคือ ทำไมพระอรหันต์เหล่านั้นจึงเห็นว่า การที่พระอานนท์ล็อบบี้ให้สตรีบวชภิกษุณีเป็นความผิด และหากเห็นว่าการกระทำของพระอานนท์เป็นความผิด ก็หมายความว่าการบวชภิกษุณีเป็นสิงที่ผิด และการอนุญาตให้บวชภิกษุณี (โดยพระพุทธเจ้า) ก็ต้องผิดด้วย นัยทางการเมืองที่น่าสนใจก็คือ หากเห็นว่าทั้งหมดนั้นผิด ทำไมไม่คัดค้านกับพระพุทธเจ้าโดยตรง หรือเสนอต่อพระพุทธเจ้าให้ดำเนินการวินิจฉัยความผิดของพระอานนท์ในการล็อบบี้นั้น ตั้งแต่ตอนที่ท่านยังไม่ปรินิพพาน ฉะนั้น การที่พระอรหันต์ประชุมมีมติให้ปรับอาบัติพระอานนท์ เพราะอ้างความผิดฐานล็อบบี้ให้สตรีบวช จึงเป็นมติที่ไม่มีเหตุผล เพราะ (1) ถ้าการกระทำของพระอานนท์ผิด และการบวชภิกษุณีเป็นสิ่งที่ผิดพระพุทธเจ้าจะอนุญาตทำไม (เพราะพระพุทธเจ้ามีอำนาจสูงสุดในการชี้ขาดถูก-ผิดในเรื่องพระธรรมวินัยอยู่แล้ว) หรือ (2) ถ้าการกระทำของพระอานนท์ผิด การบวชภิกษุณีผิด ผู้ต้องรับผิดชอบสูงสุดต้องเป็นพระพุทธเจ้า เหตุใดพระอรหันต์เหล่านั้นจึงไม่คัดค้านโดยตรงกับพระพุทธเจ้า หรือไม่ฟ้องเอาผิดพระอานนท์ต่อพระพุทธเจ้า การมาเอาผิดพระอานนท์หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว 3 เดือน แสดงให้เห็นว่าแม้แต่สังคมของพระอรหันต์ก็ทำสิ่งที่ไม่มีเหตุผลได้ และกระทำโดยมี “นัยทางการเมือง” (ไม่ทำในเวลาที่พระพุทธเจ้ามีอำนาจคุ้มครองพระอานนท์ และเป็นการแสดงท่าทีปฏิเสธการบวชภิกษุณี แม้ในการประชุมกันทำสังคายนาก็ไม่มีภิกษุณีเข้าร่วมด้วย เป็นต้น) อยู่ด้วยอย่างน่าสังเกต แต่ความน่าสนใจยังมีว่า เมื่อพระอานนท์ชี้แจงเหตุผลต่างๆ แล้ว ยืนยันว่าสิ่งที่ท่านทำนั้นไม่ใช่ความผิด แต่หากสงฆ์ต้องการให้ท่าน “แสดงอาบัติ” ท่านก็ยินดีทำตาม เพราะเมื่อ “เสียงส่วนใหญ่” เห็นอย่างนั้น เพื่อเห็นแก่ส่วนรวมที่ยึดหลัก “เยภุยยสิกา” (การตัดสินด้วยเสียงส่วนใหญ่) ในการอยู่ร่วมกันของสังคมสงฆ์ท่านก็ยินดีปฏิบัติตามมติของสงฆ์ พูดง่ายๆ คือหากตีความตามทัศนะของพระอานนท์ สังคมจะเป็นสังคมที่ดีได้ได้เราต้องเคารพ “กติกาที่ชอบธรรม” แม้บางครั้งโดยการตัดสินผ่านกติกานั้นอาจออกมาผิดกับข้อเท็จจริงและเหตุผลก็ตาม ตัวอย่างของเรื่องนี้ ทำให้เรามองเห็นว่า แม้ในสังคมพระอรหันต์ก็มีการเมือง และบางครั้งการตัดสินใจทางการเมืองของพระอรหันต์ที่ดำเนินไปตามหลักการตัดสินด้วย “เสียงส่วนใหญ่” ก็ไม่มีเหตุผล หรือไม่สมเหตุสมผลเอามากๆ ทว่าภายใต้ความเป็นจริงดังกล่าวนั้น ยังมีสมาชิกของสังคมที่เห็นค่าของการปกป้อง “กติกาที่ชอบธรรม” แม้บางครั้งโดยการใช้กติกานั้นตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรมก็ตาม นี่ก็เป็นลักษณะ “ย้อนแย้ง” (paradox) อีกอย่างหนึ่ง (ในอีกจำนวนมากอย่าง) ในพุทธศาสนาเช่นกัน ที่ผมยกตัวอย่างมายืดยาว เพียงต้องการชี้ประเด็นว่า ในที่สุดเรื่องการเมืองมันเป็นเรื่องของการยืนยัน “เหตุผล”และการเคารพ “กติกาที่ชอบธรรม” มันไม่ใช่เรื่องของการยืนยันคนดี-คนเลว หรือการละ-ไม่ละตัวกู-ของกู หมายความว่าคุณภาพของการเมืองขึ้นอยู่กับคุณภาพของ “กติกาที่ชอบธรรม” และคุณภาพของการใช้เหตุผล และการเคารพกติกาของสมาชิกแห่งสังคมการเมือง พูดอีกอย่างการเรียกร้อง “คนดี” ไม่ใช่หลักประกันของการเมืองที่ดีเสมอไป เพราะแม้แต่พระอรหันต์ยังตัดสินใจอย่างไม่มีเหตุผลได้ ฉะนั้น ข้อเรียกร้องทางการเมืองไม่ใช่ข้อเรียกร้องเรื่องคนดี แต่เป็นข้อเรียกร้องการสร้างกติกาที่ดี การเคารพกติกา และการใช้เหตุผลอย่างเที่ยงธรรมในการอยู่ร่วมกัน แต่ปัญหาของบ้านเรา จากจดหมายเปิดผนึกของนายกฯ อภิสิทธิ์ “จากใจอภิสิทธิ์ถึงประชาชน” ทั้งสองตอน สะท้องให้เห็นการพยายามแสดงว่าตนเองเป็นคนดี ซื่อสัตย์ ไม่ทุจริต มีความรับผิดชอบสูงยิ่งต่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน จนยอมสละตัวเองเป็นนายกฯ ในยามวิกฤต ทว่าพร้อมกับการอ้างดังกล่าวนั้นกลับเผยให้เห็นถึง “ความไม่คงเส้นคงวา” ในความมีเหตุผลและการเคารพกติกาที่ชอบธรรม เช่น ที่อ้างว่าตนเองเป็นนายกฯที่มีความชอบธรรมเพราะผ่าน “กระบวนการรัฐสภา” แต่กลับปฏิเสธการออกกฎหมายนิรโทษกรรมที่ต้องผ่าน “กระบวนการรัฐสภา” เช่นเดียวกัน ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารแต่ยอมรับกระบวนการเอาผิดที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร ไม่ต่อต้านการนิรโทษกรรมแก่ตัวเองของคณะรัฐประหาร แต่ต่อต้านการนิรโทษกรรมแก่นักการเมืองที่ถูกทำรัฐประหาร หรือต่อสู้เพื่อให้พรรคการเมืองของตนเองไม่ถูกยุบ โดยอ้างการดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายบกพร่อง แต่กลับยืนยันการเอาผิดนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามด้วยกระบวนการสืบเนื่องจากรัฐประหารว่าเป็นไปตามหลักนิติธรรม การนิโทษกรรมจากการเอาผิดเช่นนั้นเป็นการทำลายระบบนิติธรรมและนิติรัฐ นี่คือความไม่คงเส้นคงวา หรือพูดให้ตรงที่สุดคือความไร้เหตุผลและไม่เคารพกติกาของคนที่อ้างว่าตนเองเป็นคนดี รับผิดชอบต่อบ้านเมือง ยึดหลักการ ยึดหลักกฎหมายมาโดยตลอด เปรียบกับเรื่องที่ยกมาเป็นตัวอย่าง พระอรหันต์ใช้ “กติกาการตัดสินด้วยเสียงส่วนใหญ่” เพื่อออกมติที่ไม่มีเหตุผล (เสียงส่วนใหญ่ก็บกพร่องในความมีเหตุผลได้ แม้จะเป็นเสียงพระอรหันต์ก็ตาม) แต่พระอานนท์ยอมปฏิบัติตามมตินั้น เพราะเคารพ “กติกา” ฉะนั้น ความเห็นต่างจึงไม่นำไปสู่คามขัดแย้งแตกแยก แต่ในกรณีอภิสิทธิ์ ผมงงมากเลยว่า ตกลงเขายึดความเป็นคนดี (ซื่อสัตย์ เสียสละเพื่อส่วนรวมฯลฯ) ความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง ความมีเหตุผลที่คงเส้นคงวา การเคารพกติกา หลักการ หลักนิติธรรม นิติรัฐ หรือหลักอะไรกันแน่! เพราะเพียงบางตัวอย่างที่ว่ามา มันเห็น “ความขัดแย้งในตัวเอง” ชัดเจนมากทั้งในคุณลักษณะของคนดี ความรับผิดชอบ ความมีเหตุผล การเคารพกติกา หลักการ ฯลฯ (จบข่าว)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท