ข้อเสนอให้พรรคการเมืองแก้ รธน. มาตรา 291

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ชื่อบทความเดิม: ข้อเสนอให้พรรคการเมืองต่างๆ ประกาศนโยบายร่วมกันในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อสร้างความปรองดองในชาติภายหลังการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 1. ระบบสังคมการเมืองไทยขณะนี้อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญยิ่ง ความขัดแย้งทางการเมืองภายใต้ยุคข้อมูลสารสนเทศที่สื่อต่างๆสามารถเข้าถึงประชาชนอย่างกว้างขวาง ได้ทำให้ประชาชนจำนวนมากตื่นตัวทางการเมืองอย่างสูง แต่ในขณะเดียวกันก็เกิดปัญหาอย่างมากในระดับที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในการจัดการความขัดแย้งทางความคิดที่แตกต่างกัน ตลอดจนได้ไปดึงปมปัญหาสำคัญหลายเรื่องที่ซ่อนตัวอยู่ในระบบสังคมการเมืองไทยให้คลี่คลายปรากฏออกมาด้วย ความขัดแย้งในระบบสังคมการเมืองไทยครั้งนี้จึงจำเป็นต้องมีเวทีให้ประชาชนซึ่งถูกปลุกให้มีความตื่นตัวทางการเมืองอย่างกว้างขวางดังกล่าว มีพื้นที่ทางการเมืองที่จะเข้ามามีส่วนร่วมพิจารณาตัดสินใจเพื่อกำหนดทิศทางอนาคตของบ้านเมือง 2. ข้อเสนอของเส้นทางสู่ความปรองดองในระบบสังคมการเมืองไทยก็คือ ผลักดันให้พรรคการเมืองต่างๆยอมร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันในเบื้องต้นเฉพาะมาตรา 291 ก่อน (คล้ายกับแนวทางที่เคยมีการรณรงค์ผลักดันให้พรรคการเมืองยอมแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี 2540 ) เพื่อเปิดช่องทางให้มีการตั้ง “สภาปฏิรูประบบสังคมการเมืองไทย” ที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน (ไม่ใช่วิธีเลือกตั้งโดยอ้อมอย่างเมื่อครั้งร่างรัฐธรรมนูญ 2540) เพื่อทำหน้าที่เป็น “คนกลาง” ในการดึงประเด็นปัญหาความขัดแย้งและข้อเสนอของคนไทยทุกกลุ่ม เข้าสู่กระบวนการพูดคุยเจรจาด้วยเหตุด้วยผลใน “ เวที ” ที่มีกฎกติกามารยาทรองรับ (แทนการชุมนุมเรียกร้องบนท้องถนน) แล้วกลั่นกรองยกร่างเป็นรัฐธรรมนูญเพื่อเสนอให้ประชาชนทั้งประเทศลงประชามติ 3. ถ้าประชาชนลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูประบบสังคมการเมืองไทยนี้ ก็ให้กลับไปใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ตามเดิม แล้วให้นักการเมืองในสภาฯ แก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนที่เห็นควรปรับปรุงแก้ไขด้วยกลไกปรกติของรัฐสภาต่อไป แต่ถ้าประชาชนลงประชามติเห็นชอบ ก็ให้เริ่มต้นขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทยตามกรอบแนวทางแห่งรัฐธรรมนูญที่คนไทยทั่วประเทศให้ฉันทานุมัติไปดำเนินการแล้วนั้น 4. การแก้ไขรัฐธรรมนูญเบื้องต้นเฉพาะมาตรา 291 จึงเท่ากับเป็นบันไดขั้นแรกของเส้นทางสู่การสร้างความปรองดองในชาติ และการปฏิรูปประเทศไทยให้อภิวัฒน์สู่ความเป็นเจริญงอกงามยิ่งขึ้นอีกขั้น โดยอาศัยกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับเป็นเครื่องมือสร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของประชาชน ตลอดจนเป็นเครื่องมือประสานความขัดแย้งที่เกิดจากความคิดความเชื่อที่แตกต่างกันของคนไทยกลุ่มต่างๆ แล้วกำหนดวิสัยทัศน์ของคนไทยทั้งประเทศร่วมกันที่จะขับเคลื่อนบ้านเมืองไปสู่จุดหมายในอนาคต ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญที่คนไทยทุกคนมีส่วนร่วมในการยกร่างและให้ความเห็นชอบ 4.1) ในเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่ยกร่างขึ้นโดยอาศัยฐานอำนาจจากการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ไม่เป็นที่ยอมรับของคนไทยฝ่ายหนึ่ง ความพยายามที่จะผลักดันให้กลับไปใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ก็ไม่เป็นที่ยอมรับของคนไทยอีกฝ่ายหนึ่งเช่นกัน ครั้นจะให้นักการเมืองในสภาฯเป็นผู้แก้ไขรัฐธรรมนูญก็ไม่เป็นที่ยอมรับของมวลชนฝ่ายซึ่งไม่ศรัทธาเชื่อถือนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งทุกวันนี้ แต่ความพยายามสร้างเงื่อนไขเพื่อให้มีการทำรัฐประหาร แล้วแต่งตั้ง “คนดีมีความรู้ความสามารถ” มายกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่นั้น ก็ไม่เป็นที่ยอมรับของมวลชนฝ่ายประชาธิปไตยเช่นกัน ถ้าเช่นนั้นทำไมเราไม่หา “คนกลาง” ที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนให้มาทำหน้าที่นี้ 4.2) การที่ประชาชนมีฉันทานุมัติมอบหมายให้ตัวแทนไปใช้ “อำนาจอธิปไตย” แทนประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจนั้น ประชาชนย่อมมีสิทธิ์จะมอบหมายตัวแทนไปทำหน้าที่แทนตนได้เป็นเรื่องๆไป การแก้ไขรัฐธรรมนูญในสาระสำคัญถึงขั้นยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่เพื่อคลี่คลายวิกฤตความขัดแย้งในบ้านเมืองที่ยืดเยื้อมานานกว่า 5 ปีเช่นนี้ จึงเป็นการสมควรที่ประชาชนจักพึง “มอบอำนาจ”ให้กับตัวแทนของประชาชนอีกชุดหนึ่งเป็นการเฉพาะต่างหากจากสมาชิกรัฐสภา (ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการแก้ไขกฎกติกาของการแข่งขันเลือกตั้งเข้าสู่อำนาจและควบคุมการใช้อำนาจของตัวเองนั้นๆ) เพื่อให้เป็นผู้เขียนรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่อย่าง “ เป็นกลาง ” โดยปราศจากปัญหา “ผลประโยชน์ทับซ้อน” 4.3) หากพิจารณาจากบทเรียนสำคัญทางประวัติศาสตร์ดังกรณีความสำเร็จในการจัดทำรัฐธรรมนูญของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นแม่แบบสำคัญหนึ่งของประเทศประชาธิปไตยในโลกแล้ว ก่อนที่จะมีการยกร่างรัฐธรรมนูญของประเทศสหรัฐอเมริกาขึ้นนั้น ได้มีการถกเถียงกันว่าปัญหาของสังคมอเมริกันคืออะไร และจะออกแบบทิศทางการขับเคลื่อนประเทศเพื่อตอบสนองต่อการแก้ปัญหาต่างๆดังกล่าวอย่างไร จากนั้นจึงค่อยลงมือยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อวางกรอบแนวทางขับเคลื่อนประเทศชาติไปสู่เป้าหมายที่พึงปรารถนา ในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูประบบสังคมการเมืองไทยตามข้อเสนอที่กล่าวมาข้างต้น จึงไม่สมควรดำเนินการอย่างรีบเร่ง แต่ต้องเน้นให้มีการสร้างกระบวนการเรียนรู้และแสวงหาทางออกจากปัญหาร่วมกันของคนไทยทั้งชาติ แล้วนำสิ่งที่ตกผลึกร่วมกันมากลั่นกรองเป็นสาระของรัฐธรรมนูญ ทั้งในหมวดแนวนโยบายแห่งรัฐ รวมถึงมาตรการปฏิบัติต่างๆ เพื่อให้คนไทยตระหนักถึงความจำเป็นและ “เกิดความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข” ในสิ่งที่สมควรเปลี่ยนแปลงแก้ไข “ยอมรับในความจริง” ของสิ่งที่ยังเปลี่ยนแปลงแก้ไขอะไรไม่ได้ในขณะนี้ ตลอดจนมี “ปัญญา” สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่าง “สิ่งที่ควรเปลี่ยนแปลงแก้ไข” กับ “สิ่งที่ยังเปลี่ยนแปลงแก้ไขอะไรไม่ได้” ดังกล่าว 5. จุดอ่อนสำคัญประการหนึ่งของรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี 2540 ก็คือ การไม่ได้ออกแบบกลไกที่จะส่งผ่านความเข้าใจและสร้างกระบวนการอบรมกล่อมเกลาทางการเมือง (political socialization) ตามกรอบอุดมการณ์ทางการเมืองของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อเปลี่ยน “วัฒนธรรมทางการเมือง” ของประชาชนในระดับ “โครงสร้างส่วนลึกทางสังคม” จึงทำให้การแก้ปัญหาระบบสังคมสังคมการเมืองไทยในระดับ “โครงสร้างส่วนพื้นผิว” ของกฎหมายและองค์กรบริหารนั้น ไม่เพียงพอที่จะยกระดับพัฒนาการของระบบสังคมการเมืองไทยให้อภิวัฒน์สู่ความเจริญงอกงามขึ้นเพื่อให้อยู่เหนือปัญหาต่างๆที่หมักหมมมานานนับสิบๆปี ฉะนั้นจึงมีข้อเสนอเพิ่มเติมคือ 5.1) ควรมีการออกแบบกลไกติดตามสนับสนุนการปฏิรูประบบสังคมการเมืองไทยตามกรอบรัฐธรรมนูญที่ประชาชนลงประชามติเห็นชอบแล้วนั้น ซึ่งอาจใช้โครงสร้างของ “สภาปฏิรูประบบสังคมการเมืองไทย” ที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน (ตามข้อ 2.) ให้เป็นผู้ทำหน้าที่นี้ต่อไปอีกระยะเวลาหนึ่งภายหลังจากยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จก็ได้ 5.2) ควรให้สภาปฏิรูประบบสังคมการเมืองไทยตามข้อ 5.1 ทำหน้าที่ศึกษาแนวทางปฏิบัติต่างๆตามกรอบของรัฐธรรมนูญ อาทิ ยกร่างกฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญเพื่อเสนอให้รัฐบาลนำไปออกเป็นกฎหมายต่อไป เป็นต้น รวมถึงพัฒนา “ดัชนีชี้วัด” การขับเคลื่อนบ้านเมืองตามทิศทางแห่งรัฐธรรมนูญที่ประชาชนให้ความเห็นชอบ แล้วอาศัยดัชนีดังกล่าวเป็นเครื่องติดตามความก้าวหน้าในการปฏิรูประบบสังคมการเมืองไทย โดยแถลงผลคะแนนการประเมินในแต่ละปีเพื่อรายงานให้ประชาชนเจ้าของประเทศรับทราบว่า รัฐบาลแต่ละชุดที่เข้ามาบริหารประเทศได้ขับเคลื่อนบ้านเมืองสู่ความเจริญก้าวหน้าตามทิศทางแห่งรัฐธรรมนูญที่ประชาชนทั้งประเทศลงประชามติเห็นชอบแล้วนั้นมากน้อยแค่ไหน สอบตกในคะแนนหมวดใดอันควรต้องปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นหรือไม่ ฯลฯ ตลอดจนสนับสนุนการสร้างกระบวนการเรียนรู้สำหรับประชาชนเพื่อให้เกิดวัฒนธรรมทางการเมืองที่สอดคล้องกับกรอบอุดมการณ์ทางการเมืองของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ *หมายเหตุ ถ้าท่านเห็นด้วยกับข้อเสนอให้มีการปฏิรูปการเมืองเพื่อสร้างความปรองดองของชาติตามแนวทางที่กล่าวมานี้ โปรดช่วยกันแสดงความคิดเห็นและร่วมลงชื่อ เพื่อจะได้รวบรวมเสนอให้พรรคการเมืองที่สนใจประกาศเป็นนโยบายในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ ประชาชนจะได้ใช้เป็นข้อมูลส่วนหนึ่งประกอบการพิจารณาตัดสินใจเลือกพรรคการเมือง ซึ่งมีแนวนโยบายในการสร้างความปรองดองของชาติที่เคารพความคิดเห็นของประชาชน และเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างกว้างขวางในการร่วมกันกำหนดทิศทางอนาคตของประเทศชาติ โดยเชิญร่วมแสดงความเห็นและลงนามได้ที่ e-mail ของผู้ประสานงานกลุ่มฯ ได้แก่ นายสุนัย เศรษฐ์บุญสร้าง (sunai.setb@gmail.com) นายวสันต์ ลิมป์เฉลิม (proactivewasan@yahoo.com)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท