การรับน้อง ณ มมส.: “ระบอบไพร่ในเผด็จการอำนาจนิยม”

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในคลิปวีดีโอที่กำลังเป็นที่กล่าวขานและวิพากษ์วิจารณ์กันในอินเตอร์เน็ตซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการที่นักศึกษากลุ่มหนึ่งของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือออกมาชูป้าย “Staff หยุดเผด็จการ” เพื่อต่อต้านกิจกรรมที่เรียกกันว่าการ “รับน้อง” ในนาทีที่ 1.17 ของคลิปวีดีโอดังกล่าว บุคคลที่อ้างต้นว่าเป็น “ประธานเชียร์” ได้กล่าวด้วยความมั่นอกมั่นใจต่อนิสิตที่ต่อต้านด้วยการชูป้ายว่า “พวกคุณท้าทาย อำนาจ ประธานเชียร์” พร้อมกันนั้นเอง ประธานเชียร์ก็ได้ไล่กลุ่มผู้แสดงความไม่เห็นด้วยต่อกิจกรรมรับน้องด้วยการตะโกนพร้อมทั้งให้กลุ่มสต๊าฟ รวบหัวรวบหาง แย่งป้ายซึ่งมีข้อความแสดงความคิดเห็นอันเป็นปฏิปักษ์ต่อกิจกรรมรับน้องของสถาบันการศึกษาแห่งนั้น มีการแตะเนื้อต้องตัวและหิ้วปีกเสรีชนผู้ซึ่งแสดงออกในเชิงไม่เห็นด้วยต่อกิจกรรมรับน้อง ในช่วงเวลาเดียวกัน กลุ่ม “น้องใหม่” ขานรับลูกคอกับประธานเชียร์ด้วยการขับกล่อมประสานเสียงคำว่า “ออกไป” เพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกเขาเหล่านั้นชอบการกดถูกขี่ยิ่งกว่าอะไรทั้งสิ้น เหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนบางสิ่งบางอย่างของสังคมนักศึกษาจนก่อให้เกิดระบอบที่ผู้เขียนขอเรียกว่า “ระบอบไพร่ในเผด็จการอำนาจนิยม” ภาพบางส่วนจากคลิปวิดีโอ จากการตั้งข้อสังเกตบางประการ จะเห็นได้ว่า “ภาษา” ที่เหล่าผู้นิยมการรับน้องในรูปแบบนี้ มีความใกล้เคียงกับพวกเผด็จการอำนาจนิยมเข้าไปทุกที ไม่ว่าจะเป็นการเอ่ยว่า “พวกคุณท้าทาย อำนาจ ประธานเชียร์” ซึ่งการใช้ภาษาดังกล่าวจะปรากฏพบเห็นได้ในรัฐที่มีลักษณะการปกครองเอนเอียงไปทางเผด็จการอำนาจนิยม นอกจากนี้ จากที่เห็นได้จากในวีดีโอคลิปมีการปฏิบัติต่อนิสิตผู้แสดงความไม่เห็นด้วยต่อกิจกรรมรับน้องด้วยการ “หิ้วปีก” หรือใช้กำลังคนจำนวนมาก “แย่งป้าย” และ “เบียดขับ” การกระทำเหล่านี้หาได้ต่างจากการที่รัฐเผด็จการอำนาจนิยมพยายามเซ็นเซอร์หรือปิดกั้นการแสดงออกของประชาชนไม่ปฏิบัติการของกลุ่มสต๊าฟต่อเหล่านิสิตผู้ประท้วงนั้น มีความคล้ายคลึงต่อตรรกะในรูปแบบของ “รัฐตำรวจ” อีกด้วย กล่าวคือ “ใครไม่เห็นด้วย ข้าอุ้ม เพราะข้าใหญ่” นอกจากกิจกรรมการรับน้องซึ่งมีความคล้ายคลึงกับรัฐเผด็จการอำนาจนิยมแล้ว อีกหนึ่งข้อสังเกตต่อกิจกรรมดังกล่าวก็คือ กิจกรรมรับน้องในที่นี้มีความละม้ายคล้ายกับระบอบไพร่อยู่สองประการ 1) ปราศจากสิทธิในการแสดงความคิดเห็นต่อระบอบ 2) ต้องถูกเกณฑ์เข้าสังกัด ในระบอบเผด็จการอำนาจนิยมดังเช่น จีน นั้น สมาชิกของรัฐถูกเรียกอย่างอารยะว่า “ประชาชน” แต่ทว่านิสิตผู้เข้ามาศึกษาใหม่นั้นถูกเรียกเข้าสังกัดราวกับไพร่ ดังที่ นาย ยุทธนา ลุนสำโรง นิสิตชั้นปีที่ 4 ผู้ซึ่งเข้าร่วมกิจกรรมต่อต้านการรับน้อง ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “น้องปีหนึ่งทุกคณะจะต้องมาร่วมกิจกรรมเชียร์ ด้วยการขู่ว่าไม่มาจะไม่ได้รุ่น” (http://www.prachatai.com/journal/2011 /06/35345) จากคำสัมภาษณ์ดังกล่าว จะเห็นได้ว่า ผู้ที่อ้างว่าตนเองเป็น “รุ่นพี่” มีพฤติกรรมละม้ายคล้ายกับเจ้าขุนมูลนายเมื่อครั้งระบอบไพร่ทาสยังเป็นที่นิยมกล่าวคือ “ขาดไพร่ในสังกัดไม่ได้” จึงต้องพยายามสร้างระเบียบทางสังคมในมหาวิทยาลัยขึ้นมาโดยการหา “ไพร่ในสังกัด” ดังนั้นนี่จึงเป็นระบอบที่ผู้เขียนเรียกอย่างหยาบๆ ว่า “ระบอบไพร่ในเผด็จการอำนาจนิย” ผู้ที่เพิ่งจะได้เข้ามาศึกษาใหม่ต้อง “เข้าสังกัด” มิฉะนั้นจะไม่สามารถอยู่ได้ (เพราะไม่มีรุ่น) เพราะอะไรถึงไม่มีรุ่น? เพราะว่าเหล่า “ไพร่ในสังกัด” ทั้งหลายผู้ซึ่งพร้อมกายพร้อมใจกันที่จะยอมเป็นไพร่นั้น จะไม่ยอมรับ “ผู้เข้าใหม่” ซึ่งไม่ยอม “เข้าสังกัด” ด้วยกัน และพร้อมที่จะปฏิบัติต่อผู้ที่ไม่ยอมเป็นไพร่หรือผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับระบอบด้วยความสุดโต่งอันจะเห็นได้จากการที่เหล่า “ไพร่ใหม่ในสังกัด” ได้ตะโกนขับไล่กลุ่มนิสิตผู้ซึ่งแสดงความไม่เห็นด้วยต่อระบอบ แล้วเพราะอะไรกันเล่า เหล่า “ไพร่ในสังกัดใหม่” จึงได้ยินยอมพร้อมใจเข้าไปเป็นตัวแสดงในระบอบโดยมิได้ตั้งข้อกังขา โรเบิร์ต ค็อกซ์ (Robert Cox) ได้เคยกล่าวไว้ในงานเขียนอันลือชื่อของเขาว่า “ทฤษฎีหรือชุดความคิดหนึ่งๆดำรงอยู่สำหรับบุคคลบางกลุ่มและเพื่อจุดประสงค์ซ่อนเร้นบางประการ” (Theory is always for someone and some purpose.) และในที่นี้ “ทฤษฎี” หรือ “ชุดความคิด” ดังกล่าว(ในภาษาของค็อกซ์) นั้นก็คือ การรับน้องอย่าง “โหด” (อย่างที่ยุทธนาให้สัมภาษณ์จากเว็บประชาไท) เป็นไปเพื่อสร้างความมีระเบียบวินัย เรียนรู้ที่จะอดทนต่อแรงกดดันเพื่อการทำงานในอนาคต และสร้างความรักสามัคคีร่วมกันเพื่อจะได้ช่วยเหลือกัน เป็นที่น่าแปลกใจว่า “รุ่นพี่” มักจะตั้งสมมติฐานว่า “รุ่นน้อง” มักจะขาดระเบียบวินัย แต่อันที่จริงแล้ว จะเห็นได้ว่ารุ่นน้องหลายๆ คนมีระเบียบวินัยในด้านต่างๆ มากกว่ารุ่นพี่เสียด้วยซ้ำ สิ่งที่น่าหัวร่อมากกว่านี้ก็คือการที่รุ่นพี่เที่ยวโพนทะนาไปทั่วว่าการรับน้องจะสามารถสอนให้รุ่นน้องได้เรียนรู้ที่จะอดทนต่อการกดดันเพื่อเป็นประโยชน์ในการทำงานในอนาคต แต่ความเป็นจริงก็คือว่ารุ่นพี่ส่วนมากมาจากครอบครัวชนชั้นกลางและยังแบมือขอเงินพ่อแม่รับประทานอยู่เนืองๆ นอกจากนี้ชุดความคิดที่ว่าการรับน้องเสริมสร้างความสามัคคีนั้น ก็แทบจะไม่ต่างจากแนวคิด “ชุนชนจินตกรรม” (Imagined Communities) ของเบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน (Benedict Anderson) กล่าวคือ มีความรู้สึกร่วมกันว่าเป็นกลุ่มเป็นชุมชนเดียวกัน ถึงแม้ว่าจะไม่รู้จักมักจี่กับสมาชิกในชุมชนทั้งหมด และเช่นเดียวกับชุมชนจินตกรรม หลังจากรับน้องแล้ว ต่างคนต่างต้องเรียนต้องถีบตนเองเพื่อช่วยเหลือตัวเองในด้านการศึกษา ผู้ที่ไม่รู้จักมักจี่ซึ่งอาศัยอยู่ในชุมชนจินตกรรมคงมิเสียเวลากระเสือกกระสนมาช่วยเหลือสมาชิกชุมนุมหรอก นอกจากนี้จะสังเกตได้ว่ากลุ่ม “รุ่นพี่” หรือ “ประธานเชียร์” ในคลิปวีดีโอยังมีวิธีรักษาโครงสร้างอำนาจเดิมและสถานะที่เป็นอยู่ (status quo) คล้ายคลึงกับเหล่าผู้นำเผด็จการทั้งหลายทั้งในอดีตและปัจจุบัน นั่นคือการพูดในทิศทางที่ว่า “เฮ้ย ที่เป็นอยู่นี่ละดีแล้ว” ดังที่ปรากฏในวีดีโอคลิปนาทีที่ 1.43 ซึ่ง “ประธานเชียร์” ได้กล่าวว่า “พวกคุณจะทำลายเจตนารมณ์ของผมที่สืบมาเป็นรุ่น พวกคุณไม่ภูมิใจในสถาบันใช่ไหมครับที่ทำอย่างนี้?” เหตุผลที่กล่าวว่าประโยคดังกล่าวมีความละม้ายเฉกเช่นวิธีการของเหล่าเผด็จการอำนาจนิยมนั้นก็ด้วยเหตุที่ว่า “ประธานเชียร์” เที่ยวไล่คนที่คิดเห็นไม่เหมือนตนเองด้วยการหาว่า ไม่รักบ้าง หรือว่า ไม่ภูมิใจบ้าง แทนที่จะเปิดโอกาสให้มีการถกเถียงเพื่อบรรลุไปสู่ความจริงดังที่ จอห์น สจ๊วต มิลล์ (John Stuart Mill) ได้เคยกล่าวไว้ในงานเขียน On Liberty “ประธานเชียร์” กลับกดทับขับไสไล่ส่งรวมทั้งวาดภาพเขาเหล่านั้น (ผู้ที่ไม่เห็นด้วย) ราวกับเขามิใช่เพื่อนร่วมสถาบัน (ในชุมชนจินตกรรม) เพื่อจุดประสงค์ที่จะแต่งแต้มให้เหล่า “ไพร่ใหม่ในสังกัด” ได้เห็นว่าเขาเหล่านั้นมีศัตรูร่วมกัน: “เพราะระบอบเราดี แต่มีผู้พยายามจะทำลาย เราต้องรวมกันไว้ ด่าทอพวกที่ไม่เห็นด้วยโดยไม่สนว่าเขาเป็นมนุษย์เหมือนกันหรือเปล่า และเราต้องไม่ให้โอกาสพวกมันได้พูดความเห็นของมัน เพราะว่าความเห็นของมัน เป็นอันตรายต่อโครงสร้างอำนาจที่เป็นอยู่” มีเพียงรัฐที่ไม่เสรีเท่านั้นที่มีลักษณะเยี่ยงนี้ การสร้างเสรีประชาธิปไตยของรัฐไทยช่างน่าเป็นห่วงเหลือแสน เพียงแค่ในระดับอุดมศึกษา นักศึกษาผู้ซึ่งควรที่จะได้เข้าไปคิด กลับถูกจำกัดกรอบคิดไว้ในระบอบไพร่ในเผด็จการอำนาจนิยม ทั้งหลายๆ คนยังมีทีท่าสนับสนุนเสียอีก มิต้องมองไปถึงการสร้างเสรีประชาธิปไตยเลย คณาจารย์ทั้งหลายผู้อยากเห็นเสรีประชาธิปไตยกลับละเลยกิจกรรมอันเป็นปฏิปักษ์ต่อเสรีประชาธิปไตย แล้วไฉนเลยเหล่าเยาวชนเหล่านี้จะเป็นพลเมืองผู้สนับสนุนการสร้างเสรีประชาธิปไตยได้ ถ้าหากว่าเขาถูกหล่อหลอมมากจากระบอบที่วาดภาพการคิดการแสดงออกว่า “เลว” และการเชื่อฟังเยี่ยงไพร่ว่า “ดี”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท