Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2554 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ตีพิมพ์ภาพถ่ายดาวเทียมของค่ายกักกันนักโทษการเมืองในเกาหลีเหนือ พร้อมทั้งคำให้การที่เผยให้เห็นถึงสภาพอันเลวร้ายภายในค่ายดังกล่าว ซึ่งเชื่อว่ามีนักโทษอยู่ราว 200,000 คน ภาพถ่ายเปิดเผยถึงตำแหน่ง ขนาดและสภาพแวดล้อมภายในค่ายกักกัน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องจำนวนหนึ่งตั้งแต่ผู้ที่เคยถูกกักกันอยู่ในค่ายโยดอกไปจนถึงยามรักษาการณ์จากค่ายกักกันแหล่งอื่น เพื่อที่จะรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตภายในค่าย จากคำกล่าวของผู้ที่เคยถูกควบคุมตัวที่ค่ายกักกันดังกล่าว นักโทษจะถูกบังคับให้ทำงานไม่ต่างจากทาส และถูกทารุณกรรมอยู่บ่อยครั้ง และได้รับการปฏิบัติที่ไร้มนุษยธรรม ผู้ถูกคุมขังทุกคนในค่ายโยดอกต่างเป็นประจักษ์พยานต่อการสังหารนักโทษภายในค่าย “เกาหลีเหนือไม่สามารถปฏิเสธเรื่องนี้ได้อีก เป็นเวลาหลายทศวรรษ ที่ทางการปฏิเสธการมีอยู่ของค่ายกักกันดังกล่าว” แซม ซาริฟิ ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกกล่าว “มีสถานที่หลายแห่งบนโลกใบนี้ที่อยู่นอกเหนือการรับรู้ของผู้คนส่วนใหญ่ ที่ซึ่งสิทธิมนุษยชนตามมาตรฐานกฎหมายสากลซึ่งเราพยายามรณรงค์ในช่วงเวลา 60 ปีที่ผ่านมาไม่ได้รับการปกป้อง” “เกาหลีเหนือกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผู้นำเป็นคิมจองอัน ซึ่งถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนทางการเมือง แต่ความกังวลของเรา คือ ค่ายกักกันกำลังขยายพื้นที่มากขึ้น” แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เชื่อว่าค่ายกักกันทางเมืองนี้มีมาตั้งแต่ในช่วงทศวรรษ 1950s หรือราวปี 2493-2503 และเป็นที่รู้กันว่าเคยมีนักโทษเพียงแค่สามคนเท่านั้นที่หลบหนีออกจากค่ายได้สำเร็จในส่วนของพื้นที่เขตควบคุมเบ็ดเสร็จและหลบหนีออกนอกประเทศได้ ประมาณ 30 คนได้รับการปล่อยตัวจากส่วนพื้นที่เขตปฏิวัติในค่ายกักกันนักโทษการเมืองโยดอกและหลบหนีออกจากเกาหลีเหนือเช่นกัน ซึ่งจากคำให้การของนักโทษที่เคยถูกคุมขังในค่ายกักกันดังกล่าว เชื่อว่าประมาณร้อยละ 40 ของนักโทษเสียชีวิตภายในค่ายเนื่องจากภาวะขาดสารอาหารในช่วงปี 2542-2544 ภาพถ่ายทางดาวเทียมแสดงให้เห็นถึงค่ายกักกันประมาณ 4-6 ค่ายครอบคลุมบริเวณกว้างของพื้นที่ทางตอนใต้ของจังหวัด เปียงอัน พื้นที่ทางตอนเหนือและใต้จังหวัดฮัมคยุง ซึ่งเป็นเขตการผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เต้าเจี้ยว ขนมหวาน ไปจนถึงถ่านหินและซีเมนต์ ภาพเปรียบเทียบระหว่างภาพที่ถ่ายได้ครั้งล่าสุดกับภาพถ่ายเมื่อปี 2544 แสดงให้เห็นถึงการขยายพื้นที่ค่ายกักกันที่กว้างขึ้นอย่างมาก ในค่าย Kwanliso 15 ที่ค่ายโยดอก ผู้คนจำนวนหลายพันคนถูกจับกุมเนื่องจากสมาคมกับผู้กระทำผิด หรือเพียงแค่ญาติของพวกเขาถูกจับกุมไปก่อนหน้านั้น นักโทษส่วนใหญ่ รวมถึงนักโทษที่โดนจับกุมเพราะสมาคมกับผู้กระทำผิดจะถูกควบคุมตัวในส่วนของเขตควบคุมเบ็ดเสร็จซึ่งนักโทษในส่วนนี้จะไม่มีทางได้รับการปล่อยตัว ที่น่าตกใจก็คือ ผู้คนจำนวนมากที่ถูกส่งไปยังค่ายกักกันเหล่านี้ไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าตนเองถูกตั้งข้อกล่าวหาในเรื่องอะไร แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล พูดคุยกับ คิม อดีตนักโทษของค่ายกักกัน Kwanliso 15 ในค่ายโยดอกเขากล่าวว่า ทุกคนที่ Kwanliso เป็นพยานเห็นการสังหาร คนที่พยายามหลบหนีเมื่อถูกจับได้จะถูกสอบปากคำเป็นเวลา 2-3 เดือน หลังจากนั้นก็จะถูกฆ่าทิ้ง Jeong Kyoungil นักโทษอีกหนึ่งรายที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้สัมภาษณ์ในกรุงโซลในเดือนเมษายน 2554 เขาถูกจับกุมครั้งแรกเมื่อปี 2542 และถูกคุมขังอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2543-2546 “นักโทษ 30-40 คนถูกบังคับให้นอนในห้องขนาด 50 ตารางเมตร เราถูกบังคับให้นอนบนแผ่นไม้กระดานโดยมีผ้าห่มปกคลุม แต่ละวันจะเริ่มต้นการทำงานตั้งแต่ตีสี่ไปจนถึงเจ็ดโมงเช้า ซึ่งเรียกว่ากะก่อนอาหาร อาหารเช้าเริ่มตอนเจ็ดโมงถึงแปดโมง แต่อาหารแต่ละมื้อก็แค่โจ๊กที่ทำมาจากข้าวโพด หลังจากนั้นก็จะเป็นการทำงานกะเช้า ตั้งแต่แปดโมงจนถึงเที่ยง และอาหารกลางวันตั้งแต่เที่ยงจนถึงบ่ายโมง และบ่ายโมงจนถึงสองทุ่มคือกะเย็น อาหารเย็นช่วงสองทุ่มถึงสามทุ่ม หลังจากสามทุ่มถึงห้าทุ่มจะเป็นชั่วโมงเล่าเรียนอุดมการณ์ ซึ่งถ้าพวกเราจำกฎ 10 ข้อที่เราโดนบังคับให้ท่องไม่ได้ เราก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้านอน นี่คือตารางประจำวันของนักโทษ” “โจ๊กข้าวโพด 200 กรัมซึ่งปรุงอย่างหยาบๆ จะให้เฉพาะนักโทษที่ทำงานเสร็จเท่านั้น ถ้าเกิดทำงานไม่เสร็จก็ไม่ได้รับอาหาร งานประจำที่ต้องทำทุกวัน คือ กำจัดวัชพืชที่ขึ้นรกในทุ่ง ทุกคนจะโดนสั่งให้กำจัดวัชพืชในทุ่งซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 1157 ตารางเมตร และคนที่ทำงานเสร็จเท่านั้นที่จะได้รับอาหาร ถ้าเราทำงานเสร็จแค่ครึ่งเดียว เราก็จะได้รับอาหารแค่ครึ่งเดียว” “การเห็นคนตายอยู่เป็นประจำแทบทุกวันไม่ใช่เรื่องแปลก มันไม่เหมือนกับสังคมปกติ พวกเรายินดีกับสิ่งที่เกิดขึ้นและไม่รู้สึกเศร้าเสียใจกับเหตุการณ์ดังกล่าว ถ้าเรานำศพคนตายไปฝัง เราก็จะได้รับอาหารเพิ่มอีกถ้วยหนึ่ง ผมเคยมีหน้าที่รับผิดชอบฝังศพคนตาย เมื่อเจ้าหน้าที่ออกคำสั่ง ผมรวบรวมผู้คนและช่วยกันฝังศพ หลังจากทำงานเสร็จ เราก็จะได้รับอาหารเพิ่มตามสัญญา พวกเราดีใจมากกว่าที่จะเสียใจครับ” เป็นที่รู้กันว่าทางการเกาหลีเหนือใช้กรงทรงลูกบาศก์ในการกักขังทรมานนักโทษ นักโทษที่โดนขังในกรงดังกล่าวไม่สามารถยืน หรือนอนในกรงได้ นักโทษที่กระด้างกระเดื่องจะถูกกักขังอยู่ในกรงประมาณหนึ่งสัปดาห์ แต่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สืบทราบมาว่า มีกรณีที่เด็กถูกขังอยู่ในกรงดังกล่าวเป็นระยะเวลา 8 เดือน ในค่ายกักกันส่วนใหญ่ ไม่มีเครื่องนุ่มห่มให้นักโทษต้องเผชิญกับความหนาวเหน็บในฤดูหนาว นักโทษต้องทำงานเป็นระยะเวลานานต่อเนื่องกันหลายชั่วโมง เป็นงานที่ใช้แรงงานอย่างหนักและไม่มีทีท่าว่าจะจบสิ้น อาหารในค่ายกักกันขาดแคลนอยู่เสมอ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้รับการรายงานว่า มีหลายครั้งที่นักโทษกินหนูหรือคุ้ยหาเศษเมล็ดข้าวโพดจากมูลสัตว์เพื่อความอยู่รอด แม้จะเสี่ยงต่อการถูกจับได้ คนที่ถูกจับได้จะถูกแยกขังเดี่ยวหรือถูกทรมาน “ผู้คนนับแสนมีชีวิตอยู่โดยไม่มีสิทธิใดๆ โดนปฏิบัติเยี่ยงทาส ถือได้ว่าเป็นสถานการณ์เลวร้ายที่สุดที่เราบันทึกได้ในช่วงระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา” แซม ซาริฟี กล่าว “สภาพความเป็นอยู่ภายในค่ายกักกันเป็นสิ่งที่ไร้มนุษยธรรม และคิมจองอิลจะต้องปิดค่ายดังกล่าวโดยเร็วที่สุด” รายงานข่าวใน VOICE TV http://news.voicetv.co.th/global/9514.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net