Skip to main content
sharethis

ขยายวงถกเถียงจากในสังคมออนไลน์ ต่อคลิปรับน้องที่ ม.มหาสารคาม เมื่อนักศึกษากลุ่มหนึ่งลุกขึ้นมาตั้งคำถามถึงระบบการรับน้องในมหาวิทยาลัย ที่แสดง “อำนาจเผด็จการ” และควรได้รับการ “เปลี่ยนแปลง” กรณีมีการเผยแพร่คลิปต่อต้านการรับน้องที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) ในอินเทอร์เน็ต ซึ่งก่อให้เกิดการถกเถียงและเผยแพร่ต่อๆ กันอย่างกว้างขวางในโซเชียลมีเดีย ล่าสุด (7 มิ.ย.54) ยุทธนา ลุนสำโรง นิสิตชั้นปีที่ 4 เอกการเมืองการปกครอง วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มนิสิตที่ร่วมตัวกันทำกิจกรรม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่า ภาพที่ถูกเผยแพร่ออกไปนั้น เป็นเหตุการณ์ช่วงค่ำของวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่บริเวณสนามกีฬามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งเรียกว่าเป็นวันพิสูจน์รุ่น (ยอมรับเป็นรุ่นน้อง) มมส. หลังจากจากมีการรับน้องทั้งมหาวิทยาลัยมาตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค.54 โดยน้องปีหนึ่งทุกคณะจะต้องมาร่วมกิจกรรมเชียร์ ด้วยการขู่ว่าไม่มาจะไม่ได้รุ่น ยุทธนา ย้ำว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้นไม่ใช่การสร้างสถานการณ์ มีน้องนักศึกษาเป็นลมจริง ในการรับน้อง และก็มีการการพูดว่า การที่มีคนเป็นลมเป็นปกติอย่างนี้ทุกปี ซึ่งส่วนตัวรู้สึกไม่เห็นด้วย ทั้งนี้ ทุกๆ ปีที่ผ่านมาเขาและเพื่อนๆ ทำกิจกรรมชูป้ายต่อต้านการใช้ความรุนแรงในการรับน้องมาโดยตลอด เพราะเขาและเพื่อนๆ ซึ่งผ่านกระบวนการรับน้องมาแล้ว อีกทั้งส่วนตัวยังเคยเข้าร่วมจัดกิจกรรมเชียร์ในฐานะกรรมการสโมสรนิสิต ได้เห็นถึงความเป็นเผด็จการ จากการกระทำของรุ่นพี่ ทั้งยูนิฟอร์มสีเขียว การให้จัดแถวเหมือนทหาร การก่นด่า ไซโค กดดัน ซึ่งเท่ากับเป็นการส่งเสริมอำนาจนิยม ขณะที่รุ่นน้องที่เข้ามาใหม่ ยังไม่รู้จักใคร ถ้าปรับตัวไม่ได้ก็อาจมีผลกระทบกับทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต ยุทธนา กล่าวด้วยว่า จุดหมายของกิจกรรมของเขาคือการขึ้นอ่านแถลงการณ์คัดค้านการรับน้องบนเวที เพราะอยากสื่อสารจุดยืนของพวกเขาออกไปในวงกว้าง โดยเชื่อว่าไม่ได้มีเฉพาะกลุ่มของพวกเขาที่คิดแบบนี้ หากแต่คนอื่นๆ อาจยังไม่กล้าออกมา และประเมินว่ากิจกรรมที่ผ่านมายังไม่สามารถก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ จึงคิดกิจกรรมนี้ขึ้น แต่เมื่อขึ้นไปบนเวทีได้กลับไม่สามารถเจราจาเพื่ออ่านแถลงการณ์ผ่านเครื่องขยายเสียงบนเวทีได้ และถูกกันออกไป อีกทั้งยังถูกประกาศไล่ให้ออกจากบริเวณดังกล่าว จึงต้องลงมาเจรจาข้างล่างแต่ก็ไม่เป็นผล นิสิตเอกการเมืองการปกครอง กล่าวต่อมาว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่งชี้ถึงการใช้อำนาจเผด็จการที่รุ่นพี่พยามแสดงออกกับรุ่นน้อง ไม่ว่าจะเป็นการใช้คำพูดที่ว่า “คุณท้าทายอำนาจประธานเชียร์อย่างผม” การขู่ว่าจะเอาชื่อออกจากระบบการเป็นนักศึกษา รวมทั้งการออกคำสั่งว่าให้จดชื่อและบันทึกภาพใบหน้าของเขาและเพื่อนเอาไว้ให้หมด ในสถานการณ์วุ่นวาย ยุทธนาเล่าว่า เขาและเพื่อนๆ อีกราว 30 คนที่ทำกิจกรรมร่วมกันได้เตรียมตัวรับไว้แล้วกับความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ เนื่องจากทราบว่าสต๊าฟเชียร์มีจำนวนมากกว่าในหลักร้อย แต่การทำกิจกรรมครั้งนี้ยึดตามแนวทางสันติวิธีเพราะพวกเขาเชื่อว่าได้ทำสิ่งที่ถูกต้อง และหากเกิดการใช้ความรุนแรงกลุ่มสต๊าฟเองจะเป็นคนถูกตั้งคำถามถึงการใช้อำนาจป่าเถื่อน อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์คลี่คลายลงได้เนื่องจากมีรุ่นพี่คนหนึ่งมาเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย และสุดท้ายรองอธิการบดี ฝ่ายกิจการนิสิต ได้ลงมารับหนังสือที่ลงท้ายชื่อกลุ่มประชาคมเสรี ม.มหาสารคาม ชมรมคนสร้างฝัน ชมรมรัฐศาสตร์สัมพันธ์ กลุ่มเถียงนาประชาคม โดยการรวมตัวของนิสิตจากหลายคณะ ซึ่งเขาคิดว่าอย่างน้อยก็เป็นการสื่อสารไปยังระดับของผู้บริหารมหาวิทยาลัย เมื่อถามว่าก่อนหน้านี้เคยมีความพยายามคัดค้านการใช้ความรุนแรงในการรับน้องหรือไม่ ยุทธนาตอบว่า จากที่เคยมีโอกาสเป็นกรรมการสโมสรนิสิต เขาได้พยายามเสนอประเด็นนี้ แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับในที่ประชุม โดยได้คำตอบว่าเป็น \ประเพณี\" แต่เขามองว่า คำตอบนี้ไม่มีการตั้งคำถามว่า ประเพณีนี้เป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดี ส่วนการยื่นหนังสือเพื่อคัดค้านที่ผ่านมามีการทำผ่านคณบดี และกองกิจการนักศึกษา \"ผมไม่ล้มเชียร์ แต่ผมอยากปฏิรูป เปลี่ยนวิธีการใหม่\" เขากล่าวและว่า จุดยืนของเขาและเพื่อนๆ คือการยกเลิกกระบวนการว้าก ส่วนการสอนร้องเพลงก็ควรพูดคุยกันดีๆ ให้มีการใช้วิธีการรับน้องแบบใหม่ๆ เช่น กระบวนการค่ายที่ปลุกจิตสำนึกของนิสิต นักศึกษา เพื่อร่วมแก้ปัญหาต่างๆ ในชุมชน ซึ่งปัญหาของชาวบ้านหรือชุมชนโดยรอบมหาลัยเองก็มีอยู่มากมาย ที่ผ่านมาเขาถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกล้มเชียร์ แต่สิ่งที่เขาต้องการเปลี่ยนแปลงวิธีการมากกว่า เมื่อถามถึงผลที่เกิดขึ้นจากการทำกิจกรรมดังกล่าว ยุทธนา เล่าว่า ในวันรุ่งขึ้น คณบดีได้เรียกเขาเข้าพบโดยการรายงานของกองกิจการนักศึกษา ซึ่งคณบดีแสดงความกังวลว่าการทำกิจกรรมในครั้งนี้ของเขาอาจกระทบต่อการเรียน เนื่องจากขณะนี้เขาอยู่ในช่วงภาคเรียนสุดท้ายแล้ว แต่เขาเชื่อว่าผลกระทบเช่นนั้นจะไม่เกิดขึ้น ส่วนนิสิตด้วยกัน บางกลุ่มที่เชื่อในระบบเดิมจะถูกตั้งคำถามว่า “ทำไปทำไม” หรือบอกว่าเขาเป็นพวก \"มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ” “เป็นพวกกลุ่มก่อกวน” และมีการข่มขู่ในเฟซบุ๊กส่วนตัวด้วย ขณะที่บางกลุ่ม เช่น เพื่อน หรือรุ่นพี่ที่รู้จักซึ่งจบไปแล้วก็จะเข้ามาแสดงความชื่นชม ส่วนกรณีที่มีการตั้งคำถามว่ากิจกรรมที่เขาและเพื่อนทำเป็นการข้ามขั้นตอนจากระบบที่มีอยู่แล้ว แต่เขามีความคิดว่าแม้จะยื่นเรื่องขอขึ้นพูดบนเวทีแต่ก็เป็นเรื่องยากที่จะได้รับอนุญาต ยุทธนา กล่าวต่อมาถึงกิจกรรมภายหลังจากนี้ว่า จะมีการรณรงค์ต่อเนื่องในเรื่องกิจกรรมรับน้องของคณะต่างๆ ซึ่งจะมีขึ้นต่อจากนี้ โดยผ่านการให้ข้อมูลแจกใบปลิว ป้ายผ้า ในตลาดนัดของมหาวิทยาลัย และใช้รถเครื่องเสียงตระเวนไปตามคณะต่างๆ เพื่อให้ข้อมูล โดยตั้งคำถามกับการรับน้อง และผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งจะมีการโยงไปถึงแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วย “เชื่อว่ากิจกรรมที่ทำไปจะทำให้ทุกคนตื่นตัว อย่างน้อยก็ตั้งคำถาม ว่าทำไมมีคนไม่เห็นด้วย และคนที่คิดเหมือนกันไม่ใช่แค่นี้ อยากบอกว่าคุณเลิกกลัวได้แล้ว เวลาของความกลัวหมดลงแล้ว” ยุทธนา กล่าวพร้อมย้ำความเชื่อที่ว่าพลังของคนตัวเล็กตัวน้อยสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ โดยแค่เพียงการให้กำลังใจให้กับคนที่ลุกขึ้นมาทำกิจกรรม หรือร่วมกันเผยแพร่ข่าวสารข้อมูลต่อๆ กันไป เท่านี้ก็ถือว่าเป็นเพื่อนกันแล้ว ยุทธนา ฝากถึงนิสิต นักศึกษาในสถาบันอื่นๆ ว่า มีสถานศึกษาอีกหลายแห่งที่ยังเป็นแบบนี้ และดุเดือดไม่แพ้กัน เสนอว่า ถ้ามีคนคิดแบบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่เป็นธรรม โดนกดขี่ ก็ลุกขึ้นมาสู้ร่วมกัน และมันอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในวงกว้าได้ ไม่ใช่เพียงแค่ที่มหาสารคาม เรื่องแบบนี้น่าจะถกเถียงได้เยอะ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตของพวกเขาโดยตรง คลิปวีดิโอที่ถูกอัพโหลดโดย TheNickacid เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2554"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net