Skip to main content
sharethis

เครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี (ANFREL) ระบุทุกฝ่ายควรยอมรับผลการเลือกตั้งที่ได้มาด้วยวิถีประชาธิปไตย ชี้การใช้ความรุนแรง และการซื้อสิทธิ์ขายเสียงเป็นเรื่องน่าจับตาและต้องเฝ้าระวัง 6 มิ.ย. 54 - เครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี หรืออันเฟรล (Asian Network for Free Elections – ANFREL) แถลงข่าวเวลา 14.00 น. ณ โรงแรมสวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด เพื่อแถลงถึงการทำงานของผู้สังเกตการณ์นานาชาติที่จะลงพื้นที่จังหวัดต่างๆในประเทศไทย เพื่อสังเกตการณ์การเลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 รวมถึงการเลือกตั้งล่วงหน้าที่จะมีขึ้นในวันที่ 26 มิถุนายน 2554 ด้วย นายอิชาล สุเปรยดิ ผู้อำนวยการภารกิจการสังเกตการณ์ในครั้งนี้กล่าวว่า การส่งผู้สังเกตการณ์นานาชาติจำนวน 60 คน ลงมาทำงานในพื้นทีต่างๆของประเทศไทย มีจุดประสงค์เพื่อประเมินว่าการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ เป็นไปตามหลักกฎหมายไทย รวมถึงหลักการสิทธิมนุษยชนสากลมากน้อยเพียงใด โดยอันเฟรลจะทำหน้าที่จับตามองและรวบรวมข้อผิดปรกติต่างๆที่เกิดขึ้น และตีพิมพ์เป็นรายงานพร้อมข้อเสนอแนะให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง นายอิชาลยังได้กล่าวถึงความท้าทายต่อการเลือกตั้งในครั้งนี้ว่า ควรจับตามองปัญหาการซื้อเสียง และการใช้ความรุนแรง เพราะเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลในการใช้สิทธิเลือกตั้งตามหลักประชาธิปไตย นอกจากนี้ยังเป็นห่วงเรื่องการวางตัวเป็นกลางของหน่วยงานและบุคลากรต่างๆ เนื่องจากเห็นว่าความขัดแย้งทางการเมืองไทยแบ่งแยกเป็นขั้วอย่างชัดเจน ในภารกิจครั้งนี้ อันเฟรลจะทำงานร่วมกับอาสาสมัครอีกจำนวน 700 คน จากเครือข่ายประชาชนเพื่อการเลือกตั้ง หรือพีเน็ต เพื่อให้การสังเกตการณ์การเลือกตั้งในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศมีความครอบคลุมมากขึ้น และเรียกร้องให้สื่อมวลชน ตลอดจนหน่วยงานของภาครัฐวางตัวให้เหมาะสม เพื่อให้การเลือกตั้งในครั้งนี้เป็นไปอย่างสันติ “เราขอเรียกร้องให้กองกำลังรักษาความมั่นคงของไทย หน่วยงานของรัฐ รวมไปถึงสื่อมวลชน ทำหน้าที่ให้เหมาะสมและวางตัวเป็นกลาง เพื่อให้การรณรงค์หาเสียง และการเลือกตั้งที่จะมาถึงเป็นไปอย่างสงบและเรียบร้อย เพื่ออนาคตที่ดีของประเทศไทย ” นายอิชาลกล่าว นอกจากนี้ ในแถลงการณ์ของอันเฟรลได้ระบุว่า “...การยอมรับผลการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยจากพรรคการเมืองและผู้มีสิทธิเลือกตั้ง มีส่วนสำคัญที่จะยืนยันถึงความน่าเชื่อถือของกระบวนการเลือกตั้ง...โดยหวังว่าทุกภาคส่วนจะปฏิบัติตามหลักการดังกล่าวอย่างจริงจัง เพื่อเห็นแก่ความสงบสุข และความน่าเชื่อถือจากผลการเลือกตั้ง” ก่อนหน้านี้อันเฟรลได้เข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้งในประเทศไทยแล้วสามครั้ง คือในปี 2544, 2548 และ 2550 และครั้งนี้จะเป็นครั้งที่สี่ โดยมีผู้สังเกตการณ์นานาชาติทั้งหมด 60 คน มาจากกว่า 20 ประเทศในเอเชีย เช่น อัฟกานิสถาน กัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นตัวแทนจากองค์กรการสังเกตการณ์การเลือกตั้งในประเทศของตนเอง 000 แถลงการณ์ ผู้สังเกตการณ์นานาชาติหวังว่าเลือกตั้งจะนำการเมืองไทยเข้าสู่ภาวะปกติ และมีประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง 6 มิถุนายน 2554 เวลา 14.00 น. โรงแรม Swissotel le Concorde เครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี (อันเฟรล) แถลงถึงการส่งผู้สังเกตการณ์จากภูมิภาคเอเชีย และภูมิภาคอื่นๆ ลงพื้นที่ทำงานในจังหวัดต่างๆ ของประเทศไทย โดยกล่าวถึงขั้นตอนและวิธีการสังเกตการณ์ รวมถึงความห่วงใยที่มีต่อการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะถึงนี้ นับเป็นครั้งที่ 4ที่คณะผู้สังเกตการณ์เดินทางมาไทย หลังจากที่มาสังเกตการณ์ล่าสุดเมื่อปี 2550 และครั้งนั้นได้ให้ความสำคัญต่อปัญหาการซื้อเสียง ความรุนแรง การข่มขู่ และความเป็นกลางของเจ้าหน้าที่หน่วย โดยคาดว่าครั้งนี้จะได้เห็นพัฒนาการทางการเมืองในด้านต่างๆที่ดีขึ้น แตยังคงคำนึงถึงปัญหา รูปแบบการใช้ยุทธศาสตร์การรณรงค์หาเสียงของผู้สมัครพรรคต่างๆ การเมืองที่ใช้เงินเป็นหลัก ความรุนแรง รวมถึงการเรียกร้องให้เคารพในเสรีภาพของการรณรงค์ การชุมนุม และการแสดงความคิดเห็น ยิ่งไปกว่านั้น การยอมรับผลการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยจากพรรคการเมืองและผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีส่วนสำคัญที่จะยืนยันถึงความน่าเชื่อถือของกระบวนการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ผู้สังเกตการณ์ได้ย้ำเตือนถึงการยึดมั่นหลักจรรยาบรรณการรณรงค์หาเสียงที่พรรคการเมืองต่างๆได้ลงนามไปแล้ว ซึ่งหมายถึงจริยธรรมของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง กรรมการการเลือกตั้ง และสื่อมวลชนด้วย โดยหวังว่าทุกภาคส่วนจะปฏิบัติตามหลักดังกล่าวอย่างจริงจัง เพื่อเห็นแก่ความสงบสุข และความน่าเชื่อถือจากผลการเลือกตั้ง สำหรับการเลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฏาคม ที่จะถึงนี้ อันเฟรลจะมีผู้สังเกตการณ์ประมาณ 60 คน ลงพื้นที่ทั่วประเทศ โดยแบ่งเป็นสองคณะคือ ผู้สังเกตการณ์ระยะยาว 24 คน ที่เดินทางมาถึงแล้วตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน ซึ่งคณะนี้จะปฏิบัติหน้าที่จนถึง หลังวันเลือกตั้งหนึ่งสัปดาห์ และดูสถานการณ์ก่อนวันเลือกตั้ง วันลงคะแนน การนับคะแนน รวมถึงการส่งผลคะแนนหลังวันเลือกตั้ง ส่วนผู้สังเกตการณ์ระยะสั้น กว่า 30 คนรวมผู้ชำนาญการด้านการเลือกตั้ง จะเดินทางตามมาในวันที่ 22 มิถุนายน และเริ่มสังเกตการณ์สถานการณ์หนึ่งสัปดาห์ก่อนวันเลือกตั้ง ผู้สังเกตการณ์ของอันเฟรลมาจาก 20 ประเทศ ส่วนใหญ่มีประสบการณ์การทำงานภาคสนาม ด้านการเลือกตั้งและสิทธิมนุษยชน ทุกคนประสงค์ที่จะเห็นกระบวนการเลือกตั้งที่ปลอดจากการโกง การทุจริตในการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการบั่นทอนความตั้งใจที่ดีของประชาชน อันเฟรลเชื่อว่าการมีคนจากประเทศอื่นมาสังเกตการณ์ในครั้งนี้จะช่วยให้กระบวนการทั้งหมดมีความโปร่งใส และสาธารณชนสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net