รายงาน: ยุบโรงเรียน (ขนาดเล็ก) ของชุมชนทำไม?! เสียงสะท้อนจากชาวบ้าน ครู และ อปท. (ตอนจบ)

“แม้ว่าตอนนี้ โรงเรียนจะเหลือนักเรียนเพียง 34 คน แต่ก็ไม่ได้สนใจว่าจะถูกยุบหรือไม่ยุบ แต่ขออย่างเดียว คือขอให้ชุมชนเป็นผู้ตัดสินใจ เพราะฉะนั้น ทางเขตการศึกษา จะต้องตอบคำถามกับชาวบ้านให้ได้” “ที่เราสามารถฟื้นโรงเรียนคืนกลับมาได้ สำคัญที่สุดก็เพราะโรงเรียนแห่งนี้ ชาวบ้านชุมชนมีส่วนสร้างประวัติศาสตร์กันขึ้นมา เพราะสมัยก่อน น้ำท่วม คนรุ่นก่อน ต้องมุดน้ำ งมลากซุงขึ้นมาเลื่อยไม้ทำโรงเรียน ทุกคนจึงมีความรัก ผูกพันและหวงแหน คนหมู่บ้านนี้จึงมีพลัง ในขณะที่นโยบายการศึกษาของรัฐข้างบนยังคงงี่เง่าไม่เข้าใจชาวบ้านอยู่เหมือนเดิม” “เราต้องหันมาตั้งคำถามกันว่า โรงเรียนกับชุมชนจะอยู่อย่างไร ถ้ารัฐยังคิดว่า โรงเรียนเป็นของรัฐอยู่?!...” “เราน่าเสนอไปยังพรรคการเมืองต่างๆ ที่กำลังหาเสียง ว่าเราจะไม่เลือกพรรคที่มีแนวคิดจะยุบโรงเรียนขนาดเล็ก” “จริงๆ แล้ว น่าจะยุบสพฐ. ยุบกระทรวงศึกษาฯ ยุบต้นตอของปัญหา รื้อวิธีคิดใหม่เสียด้วยซ้ำ” “เราต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ใหม่ นอกกรอบรัฐ โดยใช้กระบวนการของชุมชนท้องถิ่นเป็นฐาน” “แม่ตายเฉือนหูแม่ไว้ พ่อตายเฉือนลิ้นพ่อไว้” นั่นคือเสียงสะท้อนในวงเวทีวิเคราะห์ปัญหาและข้อเสนอแนะทางออกของโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งทางสภาการศึกษาทางเลือก ได้จัดขึ้นที่ห้องประชุมโรงแรมศิรินาถการ์เด้นท์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา หลังมีข่าวว่า ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้ออกมาประกาศนโยบาย ให้มีการยุบโรงเรียนขนาดเล็กในสังกัด ซึ่งมีทั้งหมดทั้งสิ้น 14,397 โรง ทั่วประเทศ ทำให้หลายกลุ่มหลายฝ่ายที่อาจได้รับผลกระทบต่อนโยบายจากข้างบนครั้งนี้ ต่างหวั่นวิตกกันไปตามๆ กัน โดยเฉพาะกลุ่มครู องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชาวบ้านผู้ปกครองเด็กนักเรียนในชุมชนซึ่งจะได้รับผลกระทบโดยตรง ที่สำคัญและน่าสนใจก็คือ ในวงเสวนาดังกล่าว ยังได้มีการเชิญตัวแทนชาวบ้าน ชุมชนในแต่ละพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกยุบ โรงเรียนขนาดเล็กไปก่อนหน้านั้น ชุมชนที่ถูกยุบแล้วได้ต่อสู้จนได้โรงเรียนกลับคืนมา รวมทั้งโรงเรียนที่ชาวบ้านได้ร่วมกันตั้งขึ้นมาเอง นางขันแก้ว รัตนวิไลลักษณ์ ตัวแทนครูโรงเรียนมอวาคี(หนองมณฑา) อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า โรงเรียนมอวาคี ก่อตั้งเมื่อ ปี 2535 หลังจากก่อนนั้นเด็กนักเรียนต้องเดินเท้าไปเรียนโรงเรียนข้างนอกระยะทางตั้ง 10 กิโลเมตร รูปแบบของโรงเรียน เป็นการจัดการศึกษาที่เกิดจากแนวคิดของคนในชุมชนปกาเกอะญอที่ร่วมกันจัดตั้งขึ้น โดยมีพะตีจอนิ โอ่โดเชา เป็นผู้หนุนเสริมให้มีการศึกษาแบบนี้ โดยทุกวันนี้ยังยืนหยัดที่จะคงไว้ ไม่ให้ถูกยุบหายไปเหมือนกับโรงเรียนอีก 4 ชุมชนใกล้เคียง “เราเน้นการศึกษาที่เริ่มจากฐานวัฒนธรรม สร้างคนให้เป็นผู้นำ ทำให้เป็นชุมชนพหุวัฒนธรรม โดยไม่ได้ทิ้ง 8 สาระการเรียนรู้ที่ทาง สพฐ.ตั้งไว้ แต่เรายังได้ผสมผสานภูมิปัญญาชาวบ้าน องค์ความรู้ชุมชนเข้าไปด้วย ซึ่งแม้ว่าตอนนี้เราจะมีนักเรียนเพียง 64 คน แต่ที่ผ่านมาโรงเรียนของเราก็มีเด็กจบไปแล้ว 13 รุ่นแล้ว ดังนั้น จะเห็นว่าชุมชนสามารถจัดการการศึกษากันเองได้ โดยมีรัฐคอยเสริม และคงถึงเวลาแล้ว ที่เราต้องหันมาตั้งคำถามกันว่าโรงเรียนกับชุมชนจะอยู่อย่างไร ถ้ารัฐยังคิดว่าโรงเรียนเป็นของรัฐอยู่?!...” ตัวแทนครูโรงเรียนมอลาคี กล่าวย้ำยืนยัน ในขณะที่นายวันชัย พุทธทอง ตัวแทนโรงเรียนวัดท่าสะท้อน ต.ชะอวด อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ได้บอกเล่าถึงกรณีโรงเรียนวัดท่าสะท้อนถูกยุบไป ในปี 2547 จนมีการเรียกร้องต่อสู้กลับคืนมาเหมือนเดิม ว่า เป็นการยืนยันสิทธิของชุมชนที่จะมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาในชุมชนของตนเอง “สาเหตุที่โรงเรียนถูกยุบนั้น ทางรัฐตั้งข้อหาว่า เด็กน้อย ไม่คุ้มทุน ซึ่งหลังจากนั้น พ่อแม่ของเด็กต้องส่งเด็กไปเรียนข้างนอก ต้องเดินผ่านป่าพรุ ซึ่งเสี่ยงอันตราย จนชาวบ้านมาวิเคราะห์กันว่า ทำอย่างไรถึงจะเปิดโรงเรียนได้อย่างเดิม ก็มีการร่างเนื้อหาหลักสูตรกันเอง เอาวิถีชีวิตมาเป็นเนื้อหาวิชา แล้วไปคุยกับทางเขตการศึกษา ซึ่งเขาไม่ยอมเปิดให้ ชาวบ้านจึงตัดสินใจมาเปิดโรงเรียนเองเลย” จากนั้น สถานการณ์มีการต่อสู้ มีความขัดแย้งกันมาอย่างต่อเนื่อง จนเริ่มมาคลี่คลายเมื่อเขตการศึกษาได้มาตกลงทำ MOU ร่วมกันแล้วกลับมาเปิดโรงเรียนได้เมื่อปี 2550 “ที่เราสามารถฟื้นโรงเรียนกลับคืนมาได้ สำคัญที่สุดก็เพราะโรงเรียนแห่งนี้ ชาวบ้านชุมชนมีส่วนสร้างประวัติศาสตร์กันขึ้นมา เพราะสมัยก่อน น้ำท่วม คนรุ่นก่อน ต้องมุดน้ำ งมลากซุงขึ้นมา เลื่อยไม้ทำโรงเรียน ทุกคนจึงมีความรัก ผูกพันและหวงแหน คนหมู่บ้านนี้จึงมีพลัง ในขณะที่นโยบายการศึกษาของรัฐข้างบนยังคงงี่เง่าไม่เข้าใจชาวบ้านอยู่เหมือนเดิม” นายวันชัย กล่าว ในช่วงท้ายของเวที ได้มีการแลกเปลี่ยนเรื่อง ‘การจัดการศึกษาของชุมชนโดยชุมชนกับการกระจายอำนาจการศึกษาสู่ท้องถิ่น’ นายกนกศักดิ์ ดวงแก้วเรือน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ทา กิ่ง อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ บอกว่า อย่างแรก ต้องกลับไปถามผู้ปกครองนักเรียนในชุมชนเสียก่อนว่า พอใจจะให้ยุบหรือไม่ให้ยุบ เพราะตนเคยทดลองให้ ผอ.โรงเรียนในพื้นที่ ออกสำรวจความเห็นในเรื่องการจัดการศึกษาทางเลือก ยกตัวอย่างให้เด็กเรียนครึ่งวัน ตอนบ่าย พาเด็กไปเรียนเรื่องการทำนา ทำเกษตรในทุ่งนา แต่ก็มีเสียงจากผู้ปกครองบ่นมาว่า จะให้ลูกเราทำนาทำไม เราอยากให้ลูกเราเป็นตำรวจ เป็นหมอ ซึ่งตนคิดว่าบางครั้งผู้ปกครองมักจะคาดหวังไว้สูงมากเกินไป “อีกกรณีหนึ่ง คือถ้ารัฐจะยุบโรงเรียนขนาดเล็ก แต่ชาวบ้านไม่ยอมให้ยุบ หากทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อย่าง อบต. เทศบาลจะเข้าไปจัดการแทนได้หรือไม่ โดยขอเข้าไปจัดการศึกษาทางเลือกเอง ทั้งในเรื่องการบริหาร เรือ่งหลักสูตร และการประเมินผลเองจะได้หรือไม่ ” นายก อบต.แม่ทา กล่าว ในขณะตัวแทนครู จากโรงเรียนวัดบ้านเต๊า จ.ลำปาง บอกว่า โรงเรียนจะยุบหรือไม่ยุบ ขึ้นอยู่กับชุมชนชาวบ้าน แต่ในฐานะที่เป็นครู ก็จะสอน เด็กมีจำนวนเท่าไหร่ก็จะสอนเท่านั้น “ผมไม่สนใจว่า จะถูกลดขั้น จากครูใหญ่กลายเป็นครูน้อย ก็จะสอนต่อไป ซึ่งที่ผ่านมา ได้พยายามปลุกจิตสำนึกครู ให้มาเช้า กลับค่ำ และกระตุ้นนักเรียนให้เกิดทักษะความรู้ รวมทั้งในเรื่องกีฬาจนเป็นที่ยอมรับ ทุกวันนี้ แม้ถูกตัดงบ เราก็ระดมเงินชาวบ้าน มาจ้างเด็กในหมู่บ้านที่จบ ป.ตรี มาเป็นครูผู้ช่วย รวมทั้งระดมแรงงานชาวบ้านมาแทนภารโรงที่ปลดเกษียณไป แม้ว่าตอนนี้ โรงเรียนวัดบ้านเต๊า จะเหลือนักเรียนเพียง 34 คน แต่ก็ไม่ได้สนใจว่าจะถูกยุบหรือไม่ยุบ แต่ขออย่างเดียว คือขอให้ชุมชนเป็นผู้ตัดสินใจ เพราะฉะนั้น ทางเขตการศึกษา จะต้องตอบคำถามกับชาวบ้านให้ได้” ตัวแทนครู บอกย้ำอย่างหนักแน่น ด้านนายโสภณ ท้าวแก้ว ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยเป้า ต.ทุ่งข้าวพวง อ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ได้ขอถ่ายโอนการบริหารการจัดการศึกษา จาก สพฐ.มาสังกัดเทศบาลตำบลทุ่งข้าวพวง และถือว่าเป็นโรงเรียนแห่งแรกของอำเภอเชียงดาวที่มีการถ่ายโอนมายัง อปท. ได้บอกว่า การถ่ายโอนโรงเรียนมาสังกัด อปท. อาจจะเป็นหนทางออกอีกทางหนึ่ง ที่ดีกว่าการยุบโรงเรียนในชุมชน ดีกว่าให้กลายเป็นโรงเรียนร้าง “จริงๆ แล้ว ต้องไปค้นหาสาเหตุเสียก่อน ว่าเป็นเพราะอะไร ข้างบนถึงจะยุบโรงเรียนนั้น แล้วถ้าหากว่าโรงเรียนขนาดเล็ก ถ้าบอกว่า จะยุบเพราะโรงเรียนไม่มีคุณภาพ โรงเรียนขาดงบประมาณ โรงเรียนขาดการสนับสนุน มันก็ต้องไปแก้ปัญหาตรงนั้นสิ วิธีการแก้ปัญหา มันก็หาได้หลายๆ วิธี ถ้าเกิดว่าโรงเรียนขนาดเล็กตอนนี้เขาว่าครูไม่ดี ครูสอนไม่ดี ครูไปที่ไหนครูไม่ดี แล้วทำไมครูไม่สอน เพราะฉะนั้น ก็ต้องเป็นของเรื่องการดูแลจัดการ ถ้าว่าโรงเรียนขาดงบประมาณไม่มีงบประมาณมาสนับสนุน สนับสนุนน้อยแล้ว เราจะทำยังไงให้ได้งบประมาณมาสนับสนุนเพื่อให้ได้คุณภาพ” ผอ.โรงเรียนบ้านห้วยเป้า บอกอีกว่า ทางออกอีกทางหนึ่ง ก็คือท้องถิ่นจะต้องเข้ามาดูแล มาจัดการ ท้องถิ่นก็คงรวมไปถึงผู้ปกครอง ชุมชน กำนันผู้ใหญ่บ้าน เทศบาล อบต.ที่อยู่ในพื้นที่ที่จะเข้ามาดูแลได้ “แต่ถ้าหากว่าคนเหล่านี้ไม่ให้ความสำคัญ ก็คงจะยาก แต่ที่สุดแล้ว ก็ต้องอยู่ที่ผู้ปกครองหรือชาวบ้านว่าจะให้ยุบหรือไม่ให้ยุบ ถ้าไม่ให้ยุบ เราจะช่วยยังไง ก็ต้องหาทางออกดูแลร่วมกัน โดยเฉพาะในปัจจุบัน เรามีท้องถิ่นดูแลทุกหมู่บ้าน ทุกตำบลกันอยู่แล้ว” นายโสภณ กล่าวทิ้งท้าย เช่นเดียวกับ นายสฤษดิ์ สุภาเลิศ ปลัดเทศบาลตำบลทุ่งข้าวพวง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ซึ่งสนับสนุนแนวคิดการกระจายอำนาจการศึกษาคืนสู่ท้องถิ่น ก็บอกย้ำว่า เรื่องการจัดการศึกษานั้นมันต้องลงทุนระยะยาว ซึ่งหากนักการเมืองท้องถิ่น บางพื้นที่ไม่สนใจ ไม่ให้ความสำคัญ ก็จะมุ่งไปที่จะใช้งบประมาณในการหาเสียง เช่น ทำถนน ซึ่งจะเห็นผลได้เร็วกว่า “เทศบาลตำบลทุ่งข้าวพวง ได้เห็นความสำคัญในเรื่องการศึกษา จึงพยายามดึงงบประมาณพัฒนาถนน มาสนับสนุนงบการศึกษาประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ มีการส่งครูอนุบาลไปเรียน ป.ตรี เอกปฐมวัยจบกลับมา 4 คน ต่อมามีการทดลองถ่ายโอนโรงเรียนบ้านห้วยเป้าเข้ามาอีก ซึ่งกำลังเดินหน้าไปได้ดี ดังนั้น ถ้าหาก อปท.มีความกล้า นโยบายการศึกษาต้องชัดเจน” ปลัดเทศบาลตำบลทุ่งข้าวพวง กล่าว ในขณะที่ ตัวแทนครู จาก จ.น่าน ก็บอกว่า ในพื้นที่ จ.น่าน มีโรงเรียนขนาดเล็ก 100 กว่าแห่งที่มีจำนวนต่ำกว่าที่ สพฐ.กำหนดไว้และจะต้องถูกยุบ ดังนั้น ต้องรวมกลุ่มครูและชาวบ้านในชุมชน ไม่ให้ยุบโรงเรียน เพราะถ้ายุบแล้ว จะกลับคืนมายาก อีกอย่างหนึ่ง การถ่ายโอนเข้ากับ อปท.ก็น่าจะเป็นทางออกอีกทางหนึ่ง ซึ่งถ้าท้องถิ่นไม่เข้าใจก็น่าจะมีองค์กรที่เกี่ยวข้องเข้าไปชี้แจงด้วย “เพราะฉะนั้น เราจะต้องตั้งรับที่จะหยุดแผนของกระทรวง ของ สพฐ.ตรงนั้นให้ได้ ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการล่ารายชื่อครู ชาวบ้าน โรงเรียน เพื่อคัดค้านและเรียกร้องให้ยุติแนวคิดเช่นนี้ แล้วให้มาทำประชาพิจารณ์เสียก่อน” ทั้งนี้ นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ เลขาธิการสภาการศึกษาทางเลือก ได้กล่าวสรุปไว้ว่า เราควรจะเอาวิกฤตนี้เป็นโอกาส นั่นคือ เราจะต้องพัฒนา ปรับกระบวนการของครูกันใหม่ อาจต้องเน้นทักษะ เรื่องจิตวิญญาณความเป็นครู เน้นเรื่องกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนและองค์กรสนับสนุนจากที่ต่างๆ “นอกจากนั้น เราอาจจะมีการเสนอให้ปลดล็อคแนวคิดนโยบายการศึกษาของรัฐบางเรื่อง อย่างเช่น การคิดจำนวนหัวนักเรียน จำนวนเด็กต่อโรงเรียน แม้กระทั่งการวัดผลประเมินผลซึ่งไม่สอดคล้องกับโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องร่วมกันยื่นข้อเสนอเหล่านี้ ต่อภาครัฐ กระทรวงศึกษา และสพฐ. ให้ระงับการยุบโรงเรียนขนาดเล็กไว้ก่อน” ในเวทีเสวนาวันนั้น ยังมีเสียงสะท้อนจากตัวแทนชาวบ้าน ครู และอปท.ออกมาแบบไม่พอใจกับแนวคิด การตัดสินของนโยบายการศึกษาของรัฐไทย ที่จะมีการยุบโรงเรียนขนาดเล็กในขณะนี้ “ฟ้องศาลรัฐธรรมนูญดีไหม” “เราน่าเสนอไปยังพรรคการเมืองต่างๆ ที่กำลังหาเสียง ว่าเราจะไม่เลือกพรรคที่มีแนวคิดจะยุบโรงเรียนขนาดเล็ก” “จริงๆ แล้ว น่าจะยุบ สพฐ. ยุบกระทรวงศึกษาฯ ยุบต้นตอของปัญหา รื้อวิธีคิดใหม่เสียด้วยซ้ำ” “เราต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ใหม่ นอกกรอบรัฐ โดยใช้กระบวนการของชุมชนท้องถิ่นเป็นฐาน” เหมือนกับคำสอนบทหนึ่งของชนเผ่าปกาเกอะญอ ที่ชาวบ้านได้เขียนติดป้ายไว้ในโรงเรียนของชุมชนมอวาคี โรงเรียนที่จัดการกันเองโดยคนในชุมชน เป็นคำสอนที่สะดุดหู สะกิดใจ บ่งบอกถึงความรู้ภูมิปัญญา หรือการศึกษา ว่าแท้จริงแล้ว ไม่ใช่มาจากรัฐใดๆ กำหนด หากมาจากพ่อแม่ ผู้รู้ ในชุมชนนั่นเอง “แม่ตายเฉือนหูแม่ไว้ พ่อตายเฉือนลิ้นพ่อไว้” แนวทางการแก้ไขปัญหาที่มีการระดมความเห็นจากตัวแทนชาวบ้าน ครู และอปท. ระดับท้องถิ่น -อปท.ควรเป็นส่วนประสานให้เกิดการแก้ปัญหาในระดับท้องถิ่น ระหว่างโรงเรียน/ชุมชน (ในท้องถิ่น) -การสนับสนุนงบประมาณเพื่อช่วยเหลือการพัฒนาในโรงเรียน เช่น สนับสนุนการจัดกิจกรรมเสริม การอุดหนุนเพื่อการศึกษา ฯลฯ -การมีนโยบายสนับสนุนการศึกษาให้แก่ชุมชน และการให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นของโรงเรียนชุมชน (ประสาน/หนุนงบ/หนุนคน/หนุนทรัพยากร ฯลฯ) ระดับเชิงรุกสู่ภายนอก -การประสานภาคีเครือข่ายต่างๆร่วมเคลื่อนไหว มีหน่วยงานประสานร่วม (สภาการศึกษาทางเลือก) -ตัวแทนชุมชน/โรงเรียน/เครือข่ายและสภาการศึกษาทางเลือก ร่วมกันลงรายชื่อ-ข้อเรียกร้อง และทำจดหมาย/ยื่นหนังสือคัดค้านให้ระงับคำสั่งยุบโรงเรียนขนาดเล็ก เคลื่อน “นอกกรอบ” -ฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ/เสนอสู่พรรคการเมืองต่างๆ -ยุบต้นตอของปัญหา รื้อวิธีคิดใหม่ -สร้างกระบวนการเรียนรู้ใหม่ นอกกรอบรัฐ โดยใช้กระบวนการของชุมชนท้องถิ่นเป็นฐาน ข้อเรียกร้อง -ระงับคำสั่ง/นโยบายการยุบโรงเรียนขนาดเล็กโดยเร่งด่วน -การยุบโรงเรียนต้องผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน -ต้องมีการจัดเวทีประชาพิจารณ์ที่จัดขึ้นโดยคณะกรรมการประชาพิจารณ์ร่วม โดยให้มีสัดส่วนของตัวแทนสภาการศึกษาทางเลือก ตัวแทนชุมชน ผู้ปกครอง และผู้มีส่วนได้เสีย ข้อเสนอการแก้ไขปัญหา -โรงเรียนขนาดเล็กเป็นโรงเรียนของท้องถิ่น ควรให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการ ถ้าชุมชนมีความพร้อม รัฐควรสนับสนุนให้ชุมชนจัดการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง (ภายใต้รัฐธรรมนูญ/พรบ.การศึกษาที่ให้สิทธิชุมชนท้องถิ่นในการจัดการศึกษา) -รัฐควรให้การสนับสนุนโรงเรียนชุมชนท้องถิ่น ให้มีสถานะ มีคุณค่า และกระจายการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างแท้จริง (เช่น การพัฒนาหลักสูตรและการวัดผลโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน ฯลฯ)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท