Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ความขัดแย้งทางการเมืองได้รุกเข้ามาสู่ชุมชนทางวิชาการในประเทศไทยอย่างชัดเจน ทำให้นักวิชาการต้องออกมาปกป้องตนเองและความสัตย์จริงทางวิชาการต่อการกระทำของรัฐบาลไทยที่ถือเป็นการคุกคาม จะเห็นได้ว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญอย่างมากกับการจำกัดการถกเถียงทางวิชาการในเรื่องบางเรื่อง โดยเฉพาะหากประเด็นนั้นขัดแย้งกับผลประโยชน์ของรัฐ ดังจะเห็นจากการที่รัฐบาลใช้มาตรการต่างๆเพื่อบังคับให้นักวิชาการจำนวนมากต้องปฏิบัติตามกรอบที่รัฐบาลอนุญาตเท่านั้น ในขณะที่การควบคุมนักวิชาการในเมืองไทยเป็นเรื่องง่ายด้วยการใช้กลไกของรัฐที่มีประสิทธิภาพ เช่นในกรณีของอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่รัฐบาลไทยอ้างว่าการถกเถียงเรื่องสถาบันกษัตริย์เป็น “ภัยต่อความมั่นคง” แต่การควบคุมนักวิชาการต่างประเทศเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและซับซ้อนกว่ามาก สถานทูตไทยทั่วโลกได้รับคำสั่งให้เฝ้าระวังนักวิชาการที่คิดเห็นต่างไปจากอุดมการณ์ทางการเมืองของรัฐไทย และให้ใช้กลไกระหว่างรัฐ กดดันสถาบันทางวิชาการและนักวิชาการที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไทยในต่างประเทศด้วย การที่เจ้าหน้าที่รัฐทำให้บุคคลเหล่านี้กลายเป็น “ศัตรูของรัฐ” ออกจะดูเป็นวิธีที่ง่ายเกินไปหน่อย เห็นได้ชัดว่าตัวแทนรัฐบาลไทยในต่างประเทศไม่สามารถแยกออกระหว่างการอภิปรายถกเถียงที่เป็นเหตุเป็นผล กับการกระทำที่ยั่วยุปลุกปั่นมุ่งโค่นล้มชาติได้ เจ้าหน้าที่รัฐเหล่านี้อาจไม่ทราบว่าพวกเขาไม่มีอำนาจเหนืออธิปไตยในที่อื่นๆนอกจากดินแดนไทย สถาบันทางวิชาการที่อื่นในโลกส่วนใหญ่เป็นอิสระและไม่รับคำสั่งจากรัฐบาลของตนเองทั้งนั้น ยิ่งไม่ต้องพูดถึงคำสั่งจากรัฐบาลต่างชาติ อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถูกตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ถึงแม้จะยืนยันว่าการวิพากษ์วิจารณ์ของเขาเรื่องสถาบันกษัตริย์เป็นไปในเชิงวิชาการและไม่ได้ละเมิดกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็ตาม ต่อกรณีนี้ได้มีนักวิชาการทั้งไทยและต่างประเทศเข้าร่วมลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการกระทำของรัฐบาลซึ่งถูกมองว่า “เป็นสัญญาณสุดท้ายที่ส่อถึงเสรีภาพในการแสดงออกที่ย่ำแย่ลงในประเทศไทย” ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้กล่าวว่า “การวิพากษ์วิจารณ์ทางวิชาการนั้นเป็นเรื่องที่ยอมรับได้” แต่จนปัจจุบัน เขาก็ยังไม่มีท่าทีใดๆต่อกรณีของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล สิ่งที่เกิดขึ้นกับสมศักดิ์ เป็นส่วนหนึ่งของการพยายามเข้าไปแทรกแซงเสรีภาพทางวิชาการของรัฐบาลไทยที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2549 เมื่อรัฐบาลไทยทราบว่าสำนักพิมพ์ของมหาวิทยาลัยเยลวางแผนที่จะตีพิมพ์หนังสือของพอล แฮนด์ลีย์ที่ชื่อ “The King Never Smiles” รัฐบาลไทยก็ได้ว่าจ้างอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช เพื่อล็อบบี้ไม่ให้มหาวิทยาลัยเยลตีพิมพ์หนังสือดังกล่าว อย่างไรก็ตาม บุชก็ไม่สามารถยับยั้งการตีพิมพ์ได้เนื่องจากผู้บริหารสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเยลกล่าวว่าเนื้อหาในหนังสือของแฮนด์ลีย์เป็นงานศึกษาทางวิชาการ และงานทางวิชาการจะต้องปลอดจากการแทรกแซงทางการเมือง จากสหรัฐอเมริกามาสู่ออสเตรเลีย รัฐบาลไทยก็พยายามใช้มาตรการกดดันสถาบันทางวิชาการที่ถูกมองว่ามี “ทัศนคติที่ต่อต้านสถาบัน” ในการสัมภาษณ์ผู้ก่อตั้งของเว็บไซต์นิวแมนดาลา ซึ่งเป็นเว็บไซต์ทางวิชาการที่มีชื่อเสียงและเปิดพื้นที่ให้มีการถกเถียงทางวิชาการในประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย(ANU) พบว่ารัฐบาลไทยไม่พอใจเป็นอย่างมากต่อเนื้อหาที่ถูกมองว่าไม่เหมาะสมต่อบางสถาบัน เว็บไซต์นิวแมนดาลาเปิดเผยว่าสถานทูตไทยในแคนเบอร์ราได้ใช้มาตรการกดดันมหาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ทั้งต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยไปจนถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลออสเตรเลีย และกดดันให้ทีมงานของเว็บไซต์หยุดส่งเสริมการพูดคุยใน “ประเด็นละเอียดอ่อน”เกี่ยวกับประเทศไทย การล็อบบี้ในประเด็นดังกล่าวเกิดขึ้นผ่านทางสถาบันออสเตรเลีย-ไทย ซึ่งเป็นสภาบันทวิภาคีที่ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่ก่อตั้งในปี 2005 ผู้ก่อตั้งของเว็บไซต์นิวแมนดาลาเปิดเผยในระหว่างการสัมภาษณ์ว่า สถานทูตไทยกล่าวต่อประชาคมบางส่วนในมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียว่า พวกเขาจะไม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐบาลไทยหรือเจ้าหน้าที่ในประเทศไทย หากพวกเขามาจากมหาวิทยาลัยดังกล่าว นอกจากนี้ นักเรียนไทยทั้งใน ANU และมหาวิทยาลัยอื่นๆ ถูกเตือนว่าไม่ให้ติดต่อกับนิวแมนดาลา และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์นิวแมนดาลาจะไม่ได้รับการต้อนรับในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่ารัฐบาลไทยได้เสนอเงินจำนวนหนึ่งเพื่อก่อตั้งสถาบันไทยศึกษาใน ANU โดยมีเงื่อนไขชัดเจนว่านิวแมนดาลาต้องยุติกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล แต่สุดท้าย ANU ก็ได้ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว และเงินสนับสนุนดังกล่าวก็ไปลงที่มหาวิทยาลัยเมลเบิร์นแทน กรณีดังกล่าวที่เกิดขึ้นล้วนแสดงให้เห็นว่าสถาบันทางวิชาการไทยและต่างประเทศ ได้ตกเป็นเหยื่อในกระบวนการดำรงรักษาอำนาจของรัฐบาลไทย นักวิชาการไทยและต่างประเทศต่างรู้สึกรังเกียจต่อ “ความริเริ่มในระดับสากล” ของรัฐบาลไทยในการจำกัดการอภิปรายทางวิชาการประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตการเมืองไทย การจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างซึ่งๆหน้าเช่นนี้ ยิ่งแต่จะตอกย้ำว่าข้อวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความไม่เป็นประชาธิปไตยของไทยเป็นจริงและถูกต้องมากเพียงใด บางทีโฆษกรัฐบาล นายปณิธาณ วัฒนายากร ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นนักวิชาการนั้น อาจจะสามารถช่วยให้คำแนะนำต่อรัฐบาลประชาธิปัตย์ได้โดยเฉพาะในช่วงก่อนการเลือกตั้ง หากรัฐบาลต้องการแสดงความจริงใจในการเคารพเสรีภาพในการแสดงออก เพื่อทำให้บรรยากาศทางวิชาการเป็นไปได้อย่างเปิดกว้างและเสรี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net