Skip to main content
sharethis

สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไม่เห็นด้วยนโยบายขึ้นค่าแรง นายถาวร ชลัษเสถียร อุปนายกฝ่ายบริหาร สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย เปิดเผยว่า จากนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองใหญ่ในกรณีที่จะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 25% ภายใน 2 ปี และเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน ยอมรับว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่เป็นขนาดเล็ก ซึ่งมีสัดส่วนกว่า 70% ไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ต่อไป เพราะต้นทุนเพิ่มขึ้น ขณะที่รายกลางและรายใหญ่ไม่มีปัญหา เนื่องจากจ่ายค่าแรงขั้นต่ำราประมาณ 300 บาทต่อวันอยู่แล้ว นอกจากนี้อุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วน ยานยนต์ ยังเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานต่อเนื่อง โดยประกาศรับคนงาน 100 คน แต่มีคนมาสมัครเพียง 50 คนเท่านั้น ต่างจากที่ผ่านมาคนแห่มาสมัครงานทะลัก ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้สมาคมฯเตรียมจัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้านแรงงาน 10 ปี (2554-2563) ในการพัฒนาและผลิตแรงงานเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม 6 กลุ่ม ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์, 2.ยานยนต์,3.เครื่องปรับอากาศ, 4.เครื่องจักรกลและโลหะการ, 5.เครื่องจักกรการเกษตร และ6.อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 24% ในผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ทั้งนี้เป้าหมายระยะแรกจะมีแรงงานใน ภาคอุตสากรรมเพิ่มอีกประมาณ 2.5 แสนราย รวมเป็น 1.5 ล้านราย ในปี 2558 จากปัจจุบันมีกว่า 1.25 ล้านราย ทั้งนี้สมาคมฯได้ร่วมกับกระทรวงแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และกรมอาชีวะศึกษา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ด้านแรงงาน ซึ่งยุทธศาสตร์เบื้องต้นที่ต้องดำเนินการใน 2 ด้าน คือ 1.สร้างมาตรฐานฝีมือแรงงาน และ2.กำหนดคุณวุฒิวิชาชีแรงาน ขณะเดียวกันต้องวางแนวทางการผลิตผลิตแรงงาน เช่น นักเรียนอาชีวะศึกษา เพื่อให้จบมาสามารถทำงานได้เลยทันที ไม่ต้องฝึกงานมากนัก โดยจะมีการจัดหลักสูตรทางการศึกษาให้ เรียนในเชิงลึกมากขึ้น สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ, การเพิ่มทักษะของฝีมือแรงงานให้มีมาตรฐานมากขึ้น, การพัฒนาเด็กด้อยโอกาสให้เข้าสู่การเป็นแรงงานฝีมือ เป็นต้น เพื่อให้สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพแรงงานเป็นแกนนำในการนำไปปฏิบัตต่อไป “ภายในเดือนมิถุนายนนี้ภาคอุตสาหกรรม จะร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในการกำหนดยุทธศาสตร์ด้านแรงงานภายใน 10 ปีข้างหน้าว่าทิศทางของแรงงานไทยควรจะไปด้านไหน และอย่างไรบ้าง ขณะเดียวกันต้องเร่งผลิตแรงงานฝีมือให้ได้มาตรฐานมากขึ้น เพื่อสอดรับกับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ซึ่งจะมีการกำหนดมาตรฐานแรงงานแบบเดียวกันทั้งภูมิภาค” นายถาวร กล่าว (แนวหน้า, 23-5-2554) ลูกจ้างกรุงรอไปก่อนยังไม่เคาะปรับค่าแรง ดร.อำมร เชาวลิต ที่ปรึกษาวิชาการแรงงาน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำกรุงเทพมหานคร(กทม.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำกรุงเทพมหานคร ครั้ง 1 ประจำปี 2554 ว่า ในที่ประชุมได้มีการหารือผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการหลังการปรับขึ้น ค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อต้นปีที่ผ่านมา พบว่าส่วนใหญ่ต่างระบุถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังการปรับค่าจ้าง นอกจากนี้ยังได้มีการนำเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเฉพาะ กรุงเทพฯ อยู่ที่ร้อยละ 3.06 ส่วนทั่วประเทศอยู่ที่ 3.27 มาหารือด้วย อย่างไรก็ตาม การประชุมครั้งนี้ยังไม่มีการเสนอให้มีการปรับอัตราค่าจ้างในพื้นที่ กทม. เนื่องจากอนุกรรมการทั้งฝ่ายนายจ้าง และลูกจ้าง มองว่าอยากเห็นการดำเนินการเรื่องอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือที่จะมีผล บังคับใช้ในวันที่ 28 กรกฎาคมนี้ก่อน และมีความเห็นใจต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในปัจจุบัน เนื่องจากราคาสินค้าปรับสูงขึ้นย่อมกระทบทุกฝ่าย ซึ่งการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลางในวันที่ 2 มิถุนายนนี้ ในส่วนของกทม.ยังไม่มีการเสนอตัวเลขขอปรับค่าจ้างขั้นต่ำอัตราใหม่ ด้าน นายอรรถยุทธ ลียะวณิช อนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำกรุงเทพมหานคร ฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า หลังปรับค่าจ้างเมื่อต้นปีที่ผ่านมา นายจ้างส่วนใหญ่ต่างร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบเพราะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย แต่การปรับค่าจ้างมีการนำเรื่องคุณภาพชีวิตเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งในกฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ ดังนั้น รัฐบาลควรควบคุมราคาสินค้าไม่ให้สูงขึ้น เพราะเมื่อมีการปรับค่าจ้าง ราคาสินค้าก็เพิ่มไปด้วย ผู้ที่จะได้รับผลกระทบคือประชาชน ส่วนนโยบายการปรับค่าจ้างต่างๆ ที่เกิดขึ้นในหลายอัตรา มองว่าเป็นการผลักภาระให้ฝ่ายนายจ้าง เนื่องจากการปรับค่าจ้างขึ้นต่ำในปีนี้ตลอดทั้งปีจะมีเงินสะพัดในระบบ เศรษฐกิจของประเทศกว่าแสนล้านบาท. (โพสต์ทูเดย์, 23-5-2554) ครส. ไต่สวนกรณี บ.ฝรั่งเศส เลิกจ้างคนงานหลังเป็นสมาชิกสหภาพฯ 23 พ.ค. 54 - นายสุทธิรักษ์ ยะโลมพันธุ์ ประธานสหภาพแรงงานไทยอินดัสเตรียลแก๊ส ระบุว่าในวันนี้ (23 พ.ค. 54) คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) ได้พิจารณานัดแรกกรณีการเลิกจ้างคนงานจำนวน 5 คนของบริษัทแอร์ลิควิท จำกัดจากการที่คนงานกลุ่มดังกล่าวได้เข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานไทยอินดัสเต รียลแก๊สซึ่งเป็นการรวมกลุ่มคนงานในกิจการประเภทเดียวกัน โดยในวันนี้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้สอบปากคำคนงานที่ถูกเลิกจ้างจำนวน 2 คนและยังไม่มีข้อสรุป หนังสือร้องเรียนของคนงานต่อคณะ กรรมการแรงงานสัมพันธ์ระบุว่า การเลิกจ้างดังกล่าว ซึ่งเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตร 121 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า ห้ามมิให้นายจ้าง “เลิกจ้างหรือกระทำการใดๆ อันอาจเป็นผลให้ลูกจ้างไม่สามารถทนทำงานอยู่ต่อไปได้เพื่อเหตุที่ลูกจ้าง นั้นเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน” รวมทั้งบัญญัติไว้อีกว่า ห้ามมิให้นายจ้าง “ขัดขวางการดำเนินการของสหภาพแรงงานหรือสหพันธ์แรงงานหรือขัดขวางการใช้ สิทธิของลูกจ้างในการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน” กรณีการเลิกจ้างดังกล่าวเกิดขึ้น เมื่อ 14 ก.พ. 54 ภายหลังจากที่คนงานแอร์ลิควิทจำนวน 4 คนได้แจ้งให้นายจ้างทราบว่า พวกเขาได้เข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานแล้ว โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 54 ได้มีการเลิกจ้างคนงานที่เป็นสมาชิกสหภาพฯ 1 คนโดยนายจ้างให้เหตุผลว่า คนงานกระทำผิดข้อบังคับของบริษัทในการหลีกเลี่ยงการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ โดยคนงานถูกเลิกจ้างต้องการให้นายจ้างรับกลับเข้าทำงานเนื่องจากประสบปัญหา ทางเศรษฐกิจอย่างหนักหลังจากถูกเลิกจ้าง นายสุทธิรักษ์ ให้ความเห็นว่า สิทธิการรวมกลุ่มของคนงาน นอกจากจะเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายไทยแล้ว ยังเป็นการใช้สิทธิแรงงานตามมาตรฐานแรงงานสากลที่บริษัทต่างๆ ควรยอมรับโดยเฉพาะบรรษัทข้ามชาติในประเทศไทย มาตรฐานแรงงานสากลที่รับรองสิทธิขั้นพื้นฐานของคนงานได้แก่ อนุสัญญาหลักขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยสิทธิในการรวมกลุ่ม รวมทั้งแนวปฎิบัติขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ต่อบรรษัทข้ามชาติ ซึ่งบริษัทแอร์ลิควิทเป็นบริษัทจากประเทศฝรั่งเศสซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศ สมาชิกของ OECD (ประชาไท, 23-5-2554) ฮอนด้ายังขาดแคลนอะไหล่ พักงานอีก 14 วัน บริษัทรถยนต์ ฮอนด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยวันนี้ว่า คนงานในบริษัทจะได้รับวันหยุดพักในเดือนมิถุนายน 1 วัน, เดือนกรกฎาคม 10 วัน และอีก 3 วันในเดือนสิงหาคมรวม 14 วัน แต่จะต้องมาชดเชยให้ใหม่ในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งจะทำให้การผลิตในโรงงานในเมืองไซตามะ และซูสุกะ และชิ้นส่วนบางตัวในโรงงานในเมืองฮามามัตสึ จะปิดตัวลงราว 14 วัน รายละเอียดของการให้หยุดงานชั่วคราว ยังไม่มีประกาศออกมา แต่เป็นผลพวงมาจากภัยพิบัติครั้งร้ายแรงที่เกิดขึ้นทางตะวันออกเฉียงเหนือ ของประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา ที่ทำบริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์นับร้อยแห่งเกิดความเสียหาย รวมถึงบริษัทฮอนด้าเองด้วย โดยฮอนด้าคาดว่าจะมีการผลิตกลับมาอยู่ในระดับเดิมได้ภายในสิ้นปีนี้ (เนชั่นทันข่าว, 23-5-2554) เอกชนประเมินความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นหลังเปิดเออีซี นายดุสิต นนทะนาคร ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายในงานสัมมนาเรื่อง “ความต้องการกำลังคนของภาคอุตสาหกรรมการผลิตและบริการ กับการจัดตั้งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน)” ว่า หลังจากที่ไทยก้าวเข้าสู่การรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 คาดว่าไทยจะมีความต้องการแรงงานทักษะเพิ่มขึ้นอีกจากปัจจุบันหลายแสนคน ซึ่งภาครัฐบาลจำเป็นต้องวางแผนรองรับการเปิดเออีซี และสำรวจว่าไทยจะขาดแคลนแรงงานประเภทไหน ในอุตสาหกรรมอะไรบ้าง ทั้งนี้ การจัดตั้งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ถือเป็นความร่วมมือที่ชัดเจนในการช่วยกันแก้ปัญหาทั้งเรื่องการขาดแคลนแรง งาน และการพัฒนาทักษะแรงงาน และเป็นตัวกระตุ้นให้แรงงานเร่งพัฒนาตัวเอง ให้สามารถเติบโตในสายงานของตัวเองได้ นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในอนาคตภาคบริการจะมีความต้องการแรงงานมากขึ้น ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมจะต้องการแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคนิค เพื่อเข้ามาทำงานร่วมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ส่วนภาคเกษตรจะมีการใช้เครื่องจักรเข้ามาทุ่นแรง แรงงานที่ต้องการก็จะต้องมีความสามารถในการใช้เครื่องจักรมากขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ จากการสำรวจความต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรมทั้ง 7 กลุ่ม เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ จะมีความต้องการแรงงานมากขึ้น 2.5 แสนคน โดยจะเป็นความต้องการแรงงานตั้งแต่ระดับม. 3 ถึงปวช.-ปวส. ในสายอาชีพ รวมกันประมาณ 90% และในระดับปริญญาตรีประมาณ 10% “อนาคตการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกจะมีผล ต่อการเปลี่ยนแปลงการค้าและเทคโนโลยีที่รวดเร็ว แรงงานจะต้องปรับตัวรองรับทั้งในเรื่องของภาษา และการเพิ่มทักษะที่จะต้องรวดเร็วเพราะขณะนี้ความรู้ที่เรียนมาเพียง 2 ปีเทคโนโลยีก็เปลี่ยนไปแล้ว ด้านบริการอนาคตแรงงานกลุ่มนี้ก็จะต้องการมากขึ้น ขณะที่ภาคเกษตรก็จะขยายตัวแต่ส่วนหนึ่งก็จะต้องมุ่งเน้นการใช้เครื่องจักร เพิ่มขึ้นด้วย”นายพยุงศักดิ์ กล่าว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “นโยบายรัฐบาลต่อการผลิตกำลังคนโดยมุ่งเน้นสมรรถนะและทักษะ” ว่า ในปี 2558 ไทยจะเป็นส่วนหนึ่งของเออีซี ซึ่งจะมีการโยกย้ายฐานการผลิต ฐานการลงทุน การเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานก็จะเกิดขึ้นตามมา ดังนั้นแรงงานไทยจะต้องเร่งปรับตัวในการเพิ่มทักษะเพื่อรองรับการเปลี่ยน แปลงดังกล่าว นอกจากนี้ ผลจากวิกฤตด้านอาหารที่ทำให้ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น จะส่งผลให้แรงงงานภาคอุตสาหกรรมไหลกลับเข้าสู่ภาคการเกษตร ประกอบกับไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คนวัยทำงานมีน้อยลง รัฐบาลและเอกชนจึงได้ร่วมมือกันผลักดันการจัดตั้งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพที่จะ ร่วมมือกันพัฒนาแรงงานให้ตรงกับความต้องการตลาดโดยจะเพิ่มแรงงานด้านอาชีวะ เพิ่มขึ้นจาก 40% เป็น 60% ของแรงงานในระบบ (โพสต์ทูเดย์, 24-5-2554) คกก.รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เห็นชอบแก้ไขประกาศ กก.รสก.ให้สอดคล้องกับกม.ใหม่ที่จะบังคับใช้ 16 ก.ค เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2554 นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ โดยมีเรื่องพิจารณาและที่ประชุมมีมติเห็นชอบการแก้ไขประกาศคณะกรรมการรัฐ วิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่องความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานพ.ศ. 2554 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2554 เป็นต้นไป ทั้งนี้ที่ประชุมคณะอนุกรรมการ พิจารณากฎหมายแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2554 พิจารณาเกี่ยวกับการปรับปรุงประกาศคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่องมาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ หมวด 7 ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน คือ ข้อ 55 ให้นายจ้างบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ตามกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ข้อ 56 ให้นายจ้างจัดให้มีการตรวจสุขภาพของลูกจ้างตามกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน อย่างไรก็ดี มีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิบางคนได้แย้งตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อมีกฎหมายใหม่แล้วก็มีข้อบัญญัติครอบคลุมถึงรัฐวิสาหกิจ จึงไม่น่าจะต้องเขียนอะไรเพิ่มเติมเข้ามาอีกแต่อย่างใด (ฐานเศรษฐกิจ, 25-5-2554) เครือข่ายผู้ใช้แรงงานร้องให้ชะลอตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย กระทรวงแรงงาน 25 พ.ค.- เครือข่ายผู้ใช้แรงงาน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย และเครือข่ายพัฒนาชีวิตแรงงาน ยื่นหนังสือถึง นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เรียกร้องให้ชะลอกระบวนการยกร่างการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย โดยมีเจ้าหน้าที่จากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นผู้รับหนังสือแทน นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า สาเหตุที่ให้ชะลอนั้นเนื่องจากที่ผ่านมาสัดส่วนของคณะอนุกรรมยกร่างฯ มีความไม่เป็นธรรม โดยคณะอนุกรรมการทั้ง 17 คน มีตัวแทนจากฝ่ายแรงงานและนักวิชาการเพียง 3 คน ที่เหลือเป็นข้าราชการ เมื่อมีปัญหาความขัดแย้ง หรือไม่เห็นด้วยในสาระสำคัญ หรือ ความเข้าใจในกฎหมายความปลอดภัยในงานหลายประเด็น อาจจะทำให้เสียงของผู้ใช้แรงงานถูกละเลย นอกจากนี้ ต้องการให้ทำประชาพิจารณ์เกี่ยวกับกฎหมายที่จะนำไปใช้บังคับ เนื่องจากหลายกรณีมีผลกระทบต่อผู้ใช้แรงงานโดยตรง จึงเรียกร้องให้ชะลอกฎหมายดังกล่าวออกไปก่อน โดยให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พิจารณาสั่งการต่อไป ทั้งนี้ เพื่อให้กฎหมายนี้ได้ขับเคลื่อนไปตามเจตนารมณ์ที่ต้องการส่งเสริมความ ปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้แรงงาน (สำนักข่าวไทย, 25-5-2554) หวั่นแรงงานคืนถิ่นไม่ได้ใช้สิทธิในเขตเลือกตั้ง นายสาโรจ ไพเราะ ผู้อำนวยการคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า หลังจากที่มีการกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในวันที่ 3 กรกฎาคมนี้ สำหรับผู้ที่ไม่สะดวกที่จะไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคม สามารถไปยื่นขอลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าก่อนในวันที่ 13-17 มิถุนายน ที่สำนักงานเขต หรือสำนักงานท้องถิ่น เพื่อไปใช้สิทธิ์นวันที่ 26 มิถุนายน เวลา 08.00-15.00 น. ส่วนการเลือกตั้งนอกเขตจังหวัด สามารถยื่นคำขอลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจังหวัดได้ ตั้งแต่บัดนี้ไปจนถึงวันที่ 2 มิถุนายนนี้ เพื่อไปใช้สิทธิในวันที่ 26 มิถุนายน ในเวลา 08.00-15.00 น.เช่นกัน สำหรับจังหวัดมหาสารคาม ประชาชนได้เคยยื่นขอใช้สิทธินอกเขตเมื่อปี 2550 ไว้จำนวน 46,333 คน ซึ่งคาดว่าในจำนวนนี้จะเป็นแรงงานคืนถิ่นแล้วจำนวนกว่า 50% ซึ่งประชาชนที่เคยยื่นลงทะเบียนขอใช้สิทธินอกเขต เมื่อกลับมาอยู่ในภูมิลำเนาเดิมแล้วจะต้องแจ้งถอนชื่อ เพื่อให้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตที่ตนอาศัยอยู่ ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถลงคะแนนเลือกตั้งได้ โดยสามารถแจ้งถอนชื่อได้ที่สำนักงานเขต หรือสำนักงานท้องถิ่นในวันและเวลาที่กำหนดไว้ (ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 26-5-2554) แรงงานเร่งวางมาตรการแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานรับสังคมผู้สูงอายุ ก.แรงงาน 26 พ.ค.- ก.แรงงาน เร่งวางมาตรการแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ปีละประมาณ 3 แสนคน รับสังคมผู้สูงอายุ ทั้งเตรียมแผนเติมกำลังแรงงานเข้าสู่ตลาด พร้อมพัฒนาศักยภาพแรงงานที่มีอยู่ในระบบให้ทำงานได้มากขึ้น เผยตั้งอนุกรรมการ 7 ชุด เร่งวางยุทธศาสตร์ ขับเคลื่อนรับรัฐบาลชุดใหม่ นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ครั้งที่ 1/2554 ว่า ที่ประชุมวันนี้ได้พิจารณาถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงงาน ปีละประมาณ 3 แสนคน สาเหตุหลักคือเศรษฐกิจไทยเติบโต และขยายการจ้างงานมากขึ้นทุกปี ขณะที่เปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรไปสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในปี 2573 จำนวนผู้สูงอายุสูงถึงร้อยละ 25 ของประชากรทั้งหมด จึงได้วางแนวทางแก้ปัญหา เป็น 2 แนวทาง คือ 1.การหาแรงงานมาเติมในตลาดแรงงาน ด้วยการสนับสนุนนักเรียนนักศึกษาจบใหม่ ผู้ว่างงาน รวมถึงแรงงานอื่นๆ อาทิแรงงานที่ทำงานไม่เต็มศักยภาพ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และแรงงานต่างด้าว เข้าสู่ตลาดแรงงานให้มากขึ้น เบื้องต้นกระทรวงแรงงาน จะเร่งรวบรวมข้อมูลจะประสานกับสถานประกอบการ สำรวจจำนวนแรงงานที่ขาดแคลนให้ชัดเจน และนำเข้าสู่ศูนย์ข้อมูลแรงงานแห่งชาติเพื่อให้เป็นข้อมูลเป็นระบบภายใน 2 ปี นพ.สมเกียรติ กล่าวอีกว่า 2.การพัฒนาแรงงานที่มีอยู่แล้วให้สามารถทำงานได้มากขึ้น โดยเน้นใน 3 เรื่องหลักคือ 1.การเพิ่มทักษะฝีมือ ประสิทธิภาพ รวมถึงขวัญและกำลังใจในการทำงาน 2.การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือสมัยใหม่ให้มากขึ้น ซึ่งได้ให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงการคลัง ดูแลเรื่องการลดหย่อนภาษีเครื่องจักรสมัยใหม่ และ 3. การพัฒนาระบบการทำงาน เช่นระบบการขนส่งโลจิสติกส์ และการบริหารจัดการภายใน นพ.สมเกียรติ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบให้ตั้งคณะอนุกรรมการ 7 ชุด เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ และแผนการดำเนินงานในการแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน แบ่งเป็นคณะอนุกรรมการที่ดูแลเกี่ยวกับการหากำลังแรงงานมาเพิ่มในตลาด 4 ชุด และคณะอนุกรรรมการที่ดูแลการพัฒนาแรงงานที่มีอยู่แล้วให้สามารถทำงานได้มาก ขึ้นอีก 3 ชุด โดยให้คณะอนุกรรมการทั้ง 7 ชุด เร่งจัดทำยุทธศาสตร์เพื่อนำเสนอรัฐบาลชุดใหม่ต่อไป. (สำนักข่าวไทย, 26-5-2554) ซิโน-ไทยอ้อนนำเข้าแรงงาน 2 พันคน นายวรพันธ์ ช้อนทอง กรรมการรองผู้จัดการ สายงานการเงินและบริหาร บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทได้เสนอเรื่องไปยังกระทรวงแรงงาน เพื่อขอโควตาแรงงานเพิ่มอีก 2,000 คน จากปัจจุบันที่มี 10,000 คน ซึ่งขณะนี้มีการทยอยส่งแรงงานมาบ้างแล้วประมาณ 100 คน จึงมองว่าปัญหาขาดแคลนแรงงานจะไม่มีผลกระทบกับบริษัทแต่อย่างใด ประกอบกับบริษัทอยู่ระหว่างการขอโควตาแรงงานจากประเทศอื่นเพิ่มเติมด้วย ส่วนกรณีที่ 2 พรรคการเมือง ทั้งประชาธิปัตย์ และเพื่อไทย มีนโยบายเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำนั้น มองว่า คงมีการปรับขึ้นอย่างแน่นอน แต่คงไม่มีผลกระทบกับบริษัทมากนัก เนื่องจากการขึ้นค่าแรงคงไม่ได้ปรับขึ้นรอบเดียว เช่น จากราคา 250 บาท เป็น 300 บาท แต่คงปรับขึ้นแบบขั้นบันไดมากกว่า อีกทั้งปัจจุบันบริษัทได้ศึกษาการนำเครื่องจักรมาใช้ เพื่อลดการใช้แรงงานคน ซึ่งคาดว่าจะสามารถทดแทนแรงงานคนได้ระดับหนึ่งเท่านั้น ในส่วนของงานที่เครื่องจักรไม่สามารถทดแทนได้ เช่น งานภาครัฐจะมีการทำสัญญาแบบปรับราคาได้ (ค่าเค) บริษัทจะขอปรับค่าเคเพิ่มขึ้น ขณะที่งานเอกชนบริษัทจะเจรจากับผู้ว่าจ้าง เพื่อขอปรับราคาขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาผู้ว่าจ้างก็เข้าใจ ดังนั้น บริษัทจึงไม่กังวลเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำมากนัก โดยปัจจุบันบริษัทมีต้นทุนด้านแรงงานประมาณ 12% ของต้นทุนทั้งหมด “การที่นักลงทุนมองว่าบริษัทเป็นหุ้น การเมือง เป็นเรื่องที่ทำความเข้าใจได้ลำบาก แต่ความจริงแล้วไม่มีความเกี่ยวข้องกัน เพราะในการประมูลโครงการต่าง ๆ ภาครัฐจะขีดเส้นตายหรือกำหนดราคากลางมา เพื่อให้บริษัทต่าง ๆ เข้าประมูลงาน หากบริษัทใดเสนอราคาต่ำกว่าก็จะได้รับงานไป บริษัทใดประมูลราคาสูงกว่าก็ไม่ได้รับงานประมูล ดังนั้น แม้ใครจะมาเป็นรัฐมนตรีคงไม่เกี่ยวข้อง เนื่องจากมีราคากลางเป็นตัวกำหนดงานประมูลอยู่แล้ว ส่วนกรณีที่บริษัทมีตระกูลชาญวีรกูลเป็นผู้ถือหุ้นนั้น คงไม่เกี่ยวข้องกัน เพราะเป็นเพียงผู้ถือหุ้น ไม่ได้เข้ามานั่งบริหารงาน และที่ผ่านมาผู้ถือหุ้นพอใจการบริหารงานของบริษัท ขณะที่ฝ่ายบริหารรู้สึกมีความเป็นอิสระ จากการที่ผู้ถือหุ้นไม่ได้เข้ามาก้าวก่ายในการบริหารงาน” ทั้งนี้ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่าง ยื่นเสนองานไปแล้วและรอผลการประมูลมูลค่า 60,000 ล้านบาท เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง 2 สัญญา ช่วงบางซื่อ-รังสิต และโครงการโรงไฟฟ้าอีก 3 โรง รวมถึงอาคารรัฐสภาใหม่ นอกจากนี้ ยังเตรียมเข้าประมูลงานใหม่อีก 70,000 ล้านบาท รวมเป็นงานที่รอผลการประมูลทั้งสิ้น 130,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าบริษัทจะได้รับงานประมูลดังกล่าว 20,000-30,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หลังจบไตรมาส 2 บริษัทเตรียมปรับเป้าหมายรายได้ทั้งปีเพิ่มขึ้น จากเดิมซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ 14,000 ล้านบาท ส่วนจะปรับเพิ่มขึ้นเป็นเท่าใดต้องพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง แต่มีความเป็นไปได้สูงที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 15,000 ล้านบาท เพราะปีนี้มีงานประมูลค่อนข้างมาก อีกทั้งเป้าหมายรายได้ 14,000 ล้านบาทอยู่บนสมมุติฐานมูลค่างานในมืองของปีที่ผ่านมา ขณะที่กำไรทั้งปีนี้น่าจะดีกว่าปีที่ผ่านมา แม้ตั้งแต่ต้นปีต้นทุนของบริษัทจะเพิ่มขึ้น 8% แต่สามารถควบคุมได้ด้วยการล็อกราคาวัตถุดิบต่าง ๆ เช่น การซื้อเหล็กเส้นล่วงหน้า. (เดลินิวส์, 26-5-2554)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net