รายงาน: ยุบโรงเรียน (ขนาดเล็ก) ของชุมชนทำไม?! เสียงสะท้อนจากชาวบ้าน ครู และ อปท. (2)

“รัฐมีนโยบายเปิดมหาวิทยาลัยราชภัฎทุกจังหวัด แต่กลับมาไล่ยุบโรงเรียนในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ อย่างนี้แล้วเด็กนักศึกษาจะเรียนครูไปทำไม” “โรงเรียนคงจะเปิดดำเนินการไม่ได้ ถ้าคนในชุมชนไม่ยืนยันอย่างหนักแน่นว่ามีความต้องการโรงเรียน และพร้อมเข้ามาหนุนช่วยกันด้วย” “เพราะฉะนั้น ถ้าหากครูยังคิดว่าโรงเรียนเป็นของชุมชนและพากันออกมาเรียกร้องต่อสู้ร่วมกับชาวบ้าน ก็น่าจะช่วยหยุดยั้งไม่ให้โรงเรียนถูกยุบได้ แต่ถ้าถูกยุบไปแล้วโอกาสที่จะฟื้นคืนกลับมานั้นคงยาก เหมือนกับชุมชนบ้านดอนของผม เราจะไม่ได้เห็นเด็กวิ่งเล่นในชุมชน และจะไม่ได้ยินเสียงเพลงชาติไทยอีกต่อไป” นั่นคือเสียงสะท้อนบางส่วนในวงเวทีวิเคราะห์ปัญหาและข้อเสนอแนะทางออกของโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งทางสภาการศึกษาทางเลือก ได้จัดขึ้นที่ห้องประชุมโรงแรมศิรินาถการ์เด้นท์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา หลังมีข่าวว่า ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้ออกมาประกาศนโยบาย ให้มีการยุบโรงเรียนขนาดเล็กในสังกัด ซึ่งมีทั้งหมดทั้งสิ้น 14,397 โรง ทั่วประเทศ ทำให้หลายกลุ่มหลายฝ่ายที่อาจได้รับผลกระทบต่อนโยบายจากข้างบนครั้งนี้ ต่างหวั่นวิตกกันไปตามๆ กัน โดยเฉพาะกลุ่มครู องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชาวบ้านผู้ปกครองเด็กนักเรียนในชุมชนซึ่งจะได้รับผลกระทบโดยตรง ที่สำคัญและน่าสนใจก็คือ ในวงเสวนาดังกล่าว ยังได้มีการเชิญตัวแทนชาวบ้าน ชุมชนในแต่ละพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกยุบ โรงเรียนขนาดเล็กไปก่อนหน้านั้น ชุมชนที่ถูกยุบแล้วได้ต่อสู้จนได้โรงเรียนกลับคืนมา รวมทั้งโรงเรียนที่ชาวบ้านได้ร่วมกันตั้งขึ้นมาเอง และนี่คืออีกหนึ่งกรณีที่ชุมชนท้องถิ่นถูกนโยบายรัฐยุบโรงเรียนขนาดเล็กไปแล้ว สมบัติ สุขคีรี ผู้ใหญ่บ้านบ้านดอน ตำบลวังสรรพรส อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ได้บอกเล่าถึงสาเหตุที่มาว่าทำไมถึงโรงเรียนในหมู่บ้านถึงถูกยุบให้ฟังอย่างน่าสนใจว่า ชุมชนบ้านดอน เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งในอีกหลายชุมชนที่มีชะตากรรมอันขมขื่นในการจัดการระบบการศึกษาของรัฐที่ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เมื่อโรงเรียนซึ่งเคยเป็นที่บ่มเพาะความรู้ของคนในชุมชนต้องถูกยุบไปต่อหน้าต่อตา ซึ่งก็มีอยู่หลายสาเหตุปัจจัยที่ทำให้โรงเรียนต้องล่มสลายไป “ชุมชนของผมตอนนี้ โรงเรียนได้ถูกยุบไปแล้ว ซึ่งสาเหตุนั้นก็มีหลายประการ เนื่องจากชุมชนบ้านดอนนั้นเคยเป็นพื้นที่ทำเหมืองพลอย ประชากรส่วนใหญ่จึงมาจากหลายทิศหลายทาง แต่พอทรัพยากรหมด เหมืองพลอยปิดไป ผู้คนก็เริ่มพากันโยกย้ายออกไป เด็กนักเรียนก็ลดลง ครูก็ต้องย้ายไปที่อื่น จนเหลือครู 1 คน กระทั่งโรงเรียนถูกยุบไปเมื่อปี 2542ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบตามมา เพราะต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการส่งลูกหลานไปเรียนข้างนอก ทั้งค่าเรียน ค่าใช้จ่ายในการเดินทางต่างๆ” กระทั่ง ผู้ใหญ่บ้านสมบัติ พยายามเรียกร้องต่อสู้เพื่อขอฟื้นคืนโรงเรียนชุมชนของตนกลับคืนมา จนได้ร่วมกับคณะ ซึ่งเป็นชาวบ้านได้ร่วมกันทำงานวิจัย ของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ขึ้นมา ‘โครงการการศึกษาแนวทางฟื้นคืนโรงเรียนระดับประถมและสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของชุมชนบ้านดอน อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี’ แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถเปิดโรงเรียนขึ้นมาใหม่ได้ หากทำได้ก็แต่เพียงการนำโรงเรียนร้างนั้นมาจัดเป็นศูนย์การเรียนชุมชน เพื่อจัดกิจกรรมเสริมสร้างทักษะความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นแทนในขณะนี้ “เพราะฉะนั้น กรณีที่ในขณะนี้หลายโรงเรียนยังไม่ถูกยุบ ก็ถือว่าดีที่ยังมีลมหายใจที่จะเรียกร้องต่อสู้อยู่ถ้าหากครูบาอาจารย์ที่ยังคิดว่าโรงเรียนเป็นของชุมชนและพากันออกมาเรียกร้องต่อสู้ร่วมกับชาวบ้าน ก็น่าจะช่วยหยุดยั้งไม่ให้โรงเรียนถูกยุบได้ แต่ถ้าถูกยุบไปแล้วโอกาสที่จะฟื้นคืนกลับมาได้นั้นคงยาก เหมือนกับชุมชนบ้านดอนของผม เราจะไม่ได้เห็นเด็กวิ่งเล่นในชุมชน และจะไม่ได้ยินเสียงเพลงชาติไทยอีกต่อไป” ผู้ใหญ่บ้านสมบัติ ยังบอกอีกว่า “รัฐมีนโยบายเปิดมหาวิทยาลัยราชภัฏทุกจังหวัด แต่ขณะเดียวกัน กลับมาไล่ยุบโรงเรียนในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ อย่างนี้แล้วเด็กนักศึกษาจะเรียนไปทำไม” ในขณะที่บางชุมชน นั้นยังมีโรงเรียนขนาดเล็กอยู่ในหมู่บ้าน แต่ชาวบ้านไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วม ตัวแทนชาวบ้านจากหมู่บ้านห้วยหอย อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นชุมชนชนเผ่าปกาเกอะญอ หรือกะเหรี่ยง ได้บอกเล่าให้ฟังว่า ยอมรับว่าจำนวนเด็กในหมู่บ้านนั้นลดลง แต่มีอีกเรื่องหนึ่ง คือ ชาวบ้านสนใจอยากจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอน อยากเข้าไปเป็นครูภูมิปัญญาชาวบ้าน เราอยากเข้าไปสอนให้เด็กเรียนรู้เรื่องชีวิต เรื่องจิตวิญญาณ “พอเราเสนอเข้าไป แต่ครูจะอ้างว่า ไม่มีงบประมาณจ้างสอน ทำให้เด็กนักเรียนที่ไปโรงเรียนนั้นเปลี่ยนไป ไม่มีจิตสำนึก ไม่มีจิตวิญญาณ ชอบเถียงพ่อแม่ ในขณะที่ครูก็มัวแต่ทำผลงาน ไม่ได้สนใจเด็กๆ บางครั้งจึงเห็นเด็กๆ เดินไปไม่ถึงโรงเรียน จะแวะเข้าไปในป่าในไร่ ไปเล่นอยู่ตามต้นไม้แทน” ตัวแทนชาวบ้านห้วยหอย ยังได้วิตกกังวลกรณีถ้าโรงเรียนจะถูกยุบ ตามนโยบายของรัฐว่าถ้าจำนวนของเด็กนักเรียนลดลงกว่าที่นโยบายรัฐกำหนด ว่า ชุมชนจะต้องได้รับผลกระทบอย่างหนัก “เพราะว่าฐานะทางบ้านส่วนใหญ่นั้นยากจน คงจะไม่สามารถพาเด็กไปเรียนที่อื่นได้ และหมู่บ้านห้วยหอยนั้นตั้งอยู่ห่างไกล ถ้าจะให้เด็กไปเรียนในโรงเรียนข้างนอก ต้องใช้เวลาเดินทางไป-กลับ ประมาณ 20 กิโลเมตร ซึ่งถ้าเอาเด็กนักเรียนไปนอนค้างโรงเรียนอื่น ก็จะเกิดปัญหาครอบครัวตามมาอย่างแน่นอน ต้องขาดความอบอุ่น เพราะเคยอยู่กับพ่อแม่ โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง ยิ่งน่าเป็นห่วง” อีกหนึ่งโรงเรียน ที่ชาวบ้านร่วมกับองค์กรจัดการศึกษา ได้ร่วมกันก่อตั้งขึ้นมา จนกลายเป็นอีกหนึ่งของการจัดการศึกษาทางเลือกในขณะนี้ ‘โจ๊ะมาโลลือหล่า บ้านสบลาน’ เกิดขึ้นมา เนื่องมาจากมูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดการศึกษาเพื่อสร้างคนให้พัฒนาไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ได้นำคณาจารย์ ครู นักศึกษาปริญญาโท นักเรียน ไปเรียนรู้ที่บ้านสบลานให้มีประสบการณ์ตรงในการเรียนรู้ทางจิตวิญญาณจากชุมชนป่าต้นน้ำที่มีวิถีชีวิตและภูมิปัญญาในการพึ่งพาตนเองและอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน เป็นแหล่งเรียนรู้ ซึ่งก่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างเป็นองค์รวมไปสู่การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตนจากภายใน ทำให้มีโอกาสได้รับรู้ปัญหาเรื่องการศึกษาของชุมชนบ้านสบลาน ที่เด็กๆต้องไปโรงเรียน ซึ่งห่างจากหมู่บ้านไปตามป่าเขาอีกประมาณ 7-8 กิโลเมตร จึงต้องไปอยู่ประจำที่หอพักตั้งแต่ยังเล็ก ส่งผลให้เกิด ปัญหา ตามมามากมาย ทั้งปัญหาด้านการเรียน ขาดความอบอุ่น อันตรายจากการเดินทาง โรงเรียนอยู่นอกชุมชน ทำให้ปรับกระบวนการเรียนรู้ให้เชื่อมโยงกับชีวิตได้ยาก ส่งผลให้ผู้เรียน ไม่เห็นคุณค่าของวิถีชีวิตและภูมิปัญญาในชุมชน ไม่สามารถนำความรู้มาพัฒนาตนเองและชุมชน เป็นเหตุให้ชุมชนอ่อนแอลง สูญเสียรากฐานทางวัฒธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น แม้วิถีในการรักษาป่าและต้นน้ำก็อาจสูญหาย ส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมต่อไป จากปัญหาต่างๆ เหล่านี้ ทำให้มูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ ได้ตระหนักถึงคุณค่าการศึกษาของเยาวชน ซึ่งจะเป็นผู้สืบสานและอนุรักษ์ธรรมชาติ วิถีชีวิตและภูมิปัญญาในการพัฒนามนุษย์อย่างเป็นองค์รวม ด้วยจิตสำนึกในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ป่าและน้ำ ให้แก่สังคมไทยและโลกจึงได้จัดทำโครงการงานวิจัยและพัฒนาการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชนเผ่าปกาเกอะญอ กรณีศึกษา ชุมชนปกาเกอะญอ บ้านสบลาน จังหวัดเชียงใหม่ โดยประสานความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆในทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชน สร้างศูนย์การศึกษาและจัดทำโครงร่างหลักสูตรร่วมกับชุมชน เพื่อเปิดดำเนินการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตให้กับนักเรียนในชุมชนบ้านสบลาน โดยมีชื่อว่า ‘โจ๊ะมาโลลือหล่า’ หรือหมายถึง ‘โรงเรียนวิถีชีวิต’ จนกระทั่งดร.สมเกียรติ ชอบผล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้เดินทางมาเปิดศูนย์การศึกษาพิเศษโจ๊ะมาลือหล่าบ้านสบลาน(โรงเรียนบ้านแม่ลานคำ) เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2553 ที่ผ่านมา แต่กว่าจะมาเป็น โจ๊ะมาโลลือหล่า ได้นั้น ต้องผ่านอุปสรรคปัญหามาอย่างหนักหน่วง ด่านแรก นั่นคือ กรอบแนวคิดของโรงเรียนขนาดใหญ่ในพื้นที่รับผิดชอบ กับเขตการศึกษา ในช่วงเริ่มต้นนั้นยังไม่ค่อยยอมรับแนวคิดนี้ อรพินท์ กุศลรุ่งรัตน์ ครูศูนย์การศึกษาพิเศษโจ๊ะมาโลลือหล่า บ้านสบลาน อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ บอกว่า สาเหตุที่ไปเปิดโรงเรียนนี้ขึ้นมาก็เพราะต้องการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น “คือตอนแรกนั้น ทางเขตการศึกษา เขาคงไม่อยากยุ่งยากมากกว่านี้ ที่จะต้องเปิดโรงเรียนขนาดเล็ก และคงกลัวว่าเราจะไม่จัดการเรียนการสอนให้ครบ 8 สาระ ซึ่งจะมีผลต่อการประเมินผลของครู ซึ่งจริงๆ แล้ว เราได้สอนครบทั้ง 8 สาระ เหมือนกับโรงเรียนทั่วๆไป แต่ยังได้มีการบูรณาการหลักสูตรให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต ภูมิปัญญาของคนในชุมชนอีกด้วย ในขณะเดียวกัน ตัวแทนครู ก็บอกว่า อีกปัญหาหนึ่งกำลังเกิดกับชาวบ้านในชุมชน คือ เริ่มมีการเปรียบเทียบกับโรงเรียนข้างนอก จนทำให้ผู้ปกครองหลายคนเริ่มหวั่นไหว ไม่อยากส่งลูกเข้าเรียนในโรงเรียนในชุมชนของตน มีผู้ปกครองบางคนมองว่า ถ้าเรียนโรงเรียนขนาดเล็ก จบมาจะต้องไปเลี้ยงควาย ทำให้ไม่อยากส่งลูกไปเรียน ต้องออกไปเรียนโรงเรียนข้างนอกเท่านั้น ซึ่งหากเป็นอย่างนี้ อาจทำให้ชุมชนถูกสั่นคลอน และอาจทำให้วัฒนธรรม วิถีชีวิตนั้นเปลี่ยนไปได้ อย่างไรก็ตาม ทางครูโรงเรียนโจ๊ะมาโลลือหล่า ก็ได้ประสานงานกับทางเขตการศึกษาฯ จนเปิดดำเนินการได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การจะเปิดหรือไม่ให้เปิดโรงเรียนในชุมชนนั้น ต้องขึ้นอยู่กับความต้องการของคนในชุมชนเป็นหลัก “โรงเรียนคงจะเปิดดำเนินการไม่ได้ ถ้าคนในชุมชนไม่ยืนยันอย่างหนักแน่นว่ามีความต้องการโรงเรียน และพร้อมเข้ามาหนุนช่วยกันด้วย” ตัวแทนครู ยังบอกอีกว่า การจะเปิดโรงเรียนบนดอยนั้น ส่วนมากจะติดปัญหาอุปสรรคในเรื่องกรณีที่ดินสร้างโรงเรียนนั้นไม่มีเอกสารสิทธิ์ และเนื้อที่ไม่ได้ขนาดเท่าที่ระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการกำหนดไว้อีก ซึ่งอาจทำให้เป็นข้ออ้างไม่ให้เปิดโรงเรียนได้ ตอนหน้า - - ติดตามแนวทางแก้ไข ทางออกและข้อเรียกร้อง ของชาวบ้าน ครูและองค์กรท้องถิ่นต่อนโยบายการศึกษาของคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ข้อมูลประกอบ http://www.soblarn.org/home

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท