Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

1) สมัย ร.5 ปราสาทพระวิหารเป็นของฝรั่งเศส พ.ศ. 2447 รัฐบาลสยามสมัย ร. 5 ทำสนธิสัญญาเรื่องเขตแดนกับฝรั่งเศส (ฉบับ 13 กุมภาพันธ์ 1904) ซึ่งมีพันธะให้ต้องยอมรับแผนที่แนบท้ายที่มีปราสาทพระวิหารอยู่ในเขตกัมพูชาของฝรั่งเศส เมื่อฝรั่งเศสยอมลงนามในสนธิสัญญา พ.ศ. 2447 นี้ จึงเป็นครั้งแรกที่สยามได้อธิปไตยที่แน่ชัด (หรือที่มหาอำนาจรับรอง) บนดินแดนด้านตะวันออกเฉียงเหนือ รัฐบาลสมัย ร. 5 น่าจะเห็นว่าเป็น “ความสำเร็จ” ที่ยิ่งใหญ่อันหนึ่ง เพราะขณะนั้นยังไม่แน่ชัดว่ามหาอำนาจโดยเฉพาะฝรั่งเศสยอมรับการมีอยู่ของประเทศสยามแค่ไหน (เช่น ที่ราบสูงโคราชทั้งหมดเป็นของสยาม หรือเป็นดินแดนที่ยังต้องเจรจาต่อรองกันก่อน) เมื่อแผนที่แนบท้ายมีเส้นเขตแดนที่ลัดเลาะเลียบแม่น้ำโขง และเทือกเขาพนมดงเร็ก มีความชัดเจนแน่นอน และประกันความปลอดภัยของสยาม เป็นอันหมดกังวลเสียทีกับความเปราะบางของอธิปไตยสยามทางด้านนี้ ดังนั้น ย่อมมีความสำคัญกว่ากันอย่างเทียบไม่ได้กับปราสาทพระวิหาร ซึ่งขณะนั้นแทบจะไม่มีใครรู้จักเลย แผนที่แนบท้ายที่สยามให้คำรับรองไว้จะบิดเบี้ยวไปจากสันปันน้ำอย่างไร จึงไม่มีความสำคัญนัก ขณะนั้น พ.ศ. 2447 ฝรั่งเศสยังยึดจันทบุรี, ตราด, และเกาะในอ่าวไทยด้านตะวันออกไว้ทั้งหมด ด้วยข้ออ้างว่าเป็นหลักประกันใช้บังคับสยามให้ยอมทำตามสัญญา ร.ศ. 112 พ.ศ. 2436 (ค.ศ. 1893) 2) สมเด็จฯ เสด็จปราสาทพระวิหารของฝรั่งเศส พ.ศ. 2472 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้เสด็จ “ตรวจโบราณวัตถุสถาน” มณฑลนครราชสีมา และเสด็จเลยไปถึงปราสาทพระวิหาร สมเด็จฯ เสด็จยืนรับการถวายการต้อนรับ และคงจะทอดพระเนตรเห็นธงฝรั่งเศสซึ่งชักขึ้นเหนือเสาบนปราสาทอย่างชัดเจน นอกจากทรง “ตรวจ” โบราณวัตถุสถานบนปราสาทพระวิหารแล้ว ยังได้เสด็จประทับค้างแรมข้างบนนั้นอีกหนึ่งคืนด้วย สมเด็จฯ ทรงทราบอยู่แล้วว่าปราสาทพระวิหารอยู่ในเขตปกครองของอินโดจีนฝรั่งเศส ตามสนธิสัญญาซึ่งสยามและฝรั่งเศสทำขึ้นใน พ.ศ. 2447 ซึ่งถูกกำหนดรายละเอียดด้วยแผนที่แนบท้ายซึ่งสยามและฝรั่งเศสร่วมกันทำ (ตามความในสนธิสัญญา ม.3) และสยามได้ให้คำรับรองทั้งในทางปฏิบัติและอย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2450 ทุกอย่างเป็นที่พอใจของชนชั้นนำขณะนั้นทุกคน 3) เริ่มแย่งปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2483 นายกรัฐมนตรี พลตรี ป. พิบูลสงคราม เริ่มปลุกระดมให้ชนชั้นกลางเรียกร้องดินแดนคืนจากมหาอำนาจ และนำไปสู่การทำสงครามกับฝรั่งเศส จนได้ดินแดนในประเทศกัมพูชาและลาวปัจจุบันมาอยู่ใต้การปกครองของไทย ปราสาทพระวิหารกลับตกเป็นของไทย เพราะสงครามกับอินโดจีนของฝรั่งเศส (ขึ้นอยู่ในจังหวัดนครจำปาศักดิ์) แต่เป็นการได้ที่ไม่มีมหาอำนาจใดรับรองนอกจากญี่ปุ่น ครั้นสิ้นสงครามไทยก็ต้องจำยอมประกาศสละดินแดนที่ยึดมาได้เหล่านี้คืนมหาอำนาจผู้ชนะสงครามหมด เหลือแต่ปราสาทพระวิหารเท่านั้นที่เรามุบมิบเอาไว้ เราไม่อาจตัดสินการกระทำหรือความคิดของคนแต่ก่อนด้วยเงื่อนไขของปัจจุบันได้ เพราะเขาทำและคิดขึ้นจากเงื่อนไขในสมัยของเขา ซึ่งมาในภายหลังอาจเห็นได้ว่าผิดหรือถูกก็ตาม แต่อย่างน้อยก็มีเหตุผลรองรับ ทั้งเป็นเหตุผลที่มีประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้งด้วย ต่างจากการนำเรื่องปราสาทพระวิหารกลับมาใหม่ในสมัยปัจจุบัน เพราะกลายเป็นผลประโยชน์ทางการเมืองเฉพาะตน หรือเฉพาะกลุ่มไปเสียหมด 4) เขมรฟ้องศาลโลก พ.ศ. 2502 กัมพูชาฟ้องศาลโลก กล่าวหาไทยว่าส่งทหารเข้ายึดครองปราสาทพระวิหารของกัมพูชา 5) ศาลโลกตัดสิน พ.ศ. 2505 ศาลโลกตัดสินให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชาตามสนธิสัญญา พ.ศ. 2447 (1904) และตามแผนที่ พ.ศ. 2451 (1908) ที่มีปราสาทพระวิหารอยู่ในเขตกัมพูชาของฝรั่งเศส และฝ่ายไทยไม่ทักท้วงตลอดเวลา 50 กว่าปี หลังลงนามในสนธิสัญญา คำตัดสินตอนหนึ่งของศาลโลกมีอ้างถึงสมเด็จฯ ว่า ค.ศ. 1930 (ในวันที่ 30-31 มกราคม 2472) สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพและคณะได้เสด็จชมปราสาทพระวิหาร ผู้ว่าราชการเมืองกำปงธม ซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศส แต่งเครื่องแบบเต็มยศ มารับเสด็จที่ตีนบันไดขึ้นปราสาทพระวิหาร ด้านหลังมีธงชาติฝรั่งเศส มีการฉายพระรูป ซึ่งต่อมาพระองค์ได้ทรงส่งรูปถ่ายดังกล่าวให้ผู้ว่าราชการเมืองกำปงธม และขอบใจที่เขาต้อนรับเป็นอย่างดี โดยมิได้ทักท้วงเรื่องฝรั่งเศสปักธงชาติฝรั่งเศสไว้ที่ปราสาทพระวิหาร 6) ปราสาทพระวิหาร มรดกโลก พ.ศ. 2551 (2 กรกฎาคม 2008) คณะกรรมการมรดกโลกลงมติรับรองปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ตามข้อเสนอของกัมพูชา ปราสาทพระวิหารกลายเป็น “มรดกโลก” ไทยเองก็มีส่วนเป็นเจ้าของร่วมกับประเทศอื่นๆด้วย แต่เป็นเจ้าของในเชิงวัฒนธรรม ไม่ใช่การเมือง 7) ประชาคมอาเซียน “อธิปไตย” ของประเทศที่ตั้งอยู่บนบุรณภาพทางดินแดนได้เปลี่ยนไปแล้ว อย่างน้อยๆ ก็อย่างช้าๆ เพราะองค์กรเหนือรัฐในทุกรูปแบบมีอำนาจและบทบาทเข้ามากำกับอำนาจอธิปไตยของรัฐต่างๆ มากขึ้น ไม่แต่เพียงองค์กรโลกอย่างสหประชาชาติเท่านั้น (ซึ่งเมื่อตั้งขึ้นก็ยังยึดถืออธิปไตยแบบเก่าอย่างมาก) แต่รวมถึงองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศด้านอื่นๆ อีกมาก อาเซียนพัฒนามาถึงความฝันเรื่อง “ประชาคม” อาเซียน แม้ยังไม่มีรูปธรรมมากนัก แต่อย่างน้อยก็กลายเป็นความฝันที่ไม่มีใครสามารถปฏิเสธอย่างเปิดเผยได้อีกต่อไป เห็นได้ชัดว่าเส้นเขตแดนในกลุ่มอาเซียนซึ่งหาความชัดเจนแน่นอนไม่ค่อยได้ในทุกประเทศ กำลังต้องถอยร่นให้แก่ความร่วมมือมากกว่าความขัดแย้ง แม้แต่ปราสาทพระวิหารเอง 8 ) ปราสาทพระวิหาร ของ ประชาคมอาเซียน ปราสาทพระวิหารกำลัง “กลับ” มาเป็นของเราอีก แต่เราในที่นี้หมายถึงเราในฐานะสมาชิกอาเซียนที่มีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ปราสาทพระวิหารจะมีทั้งคุณค่าและมูลค่าแก่เราผ่านความเป็นประชาคมของอาเซียน ไม่ใช่แสนยานุภาพของกองทัพ • • • ปรับปรุงแล้วเพิ่มเติมบางตอนขึ้นใหม่จากข้อเขียน เรื่อง อดีตและอนาคตของปราสาทพระวิหาร ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ พิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 13-19 พฤษภาคม 2554 หน้า 30-31 อ่านเพิ่มเติม 1. เบื้องลึกการเสียดินแดน และปัญหาปราสาทพระวิหาร จาก ร.ศ. 112 ถึงปัจจุบันโดย สุวิทย์ ธีรศาศวัต สมาคมประวัติศาสตร์ในพระราชูปถัมภ์ฯ พิมพ์ครั้งแรก 2553 2. ประมวลสนธิสัญญา อนุสัญญา ความตกลง บันทึกความเข้าใจ และแผนที่ ระหว่างสยามประเทศไทย กับอาเซียนเพื่อนบ้านฯ โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ พิมพ์ครั้งแรก 2554

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net