Skip to main content
sharethis

กฟผ. เมินข้อเสนอกรรมการสิทธิฯ เดินหน้าก่อสร้างโครงข่ายไฟฟ้าอุดร-น้ำพอง นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง กว่า 100 นาย เข้าพื้นที่ปะทะชาวบ้าน-นักศึกษา จับกุมตัวคุมขังสถานีตำรวจ

 

วันนี้ (27 พ.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 13.30 น. เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าแหล่งประเทศไทย (กฟผ.) พร้อมกับกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ จากหลายสถานีในจังหวัดอุดรธานี อาทิ สภ.อ.หนองหาน, สภ.อ.บ้านดุง, สภ.อ.ทุ่งฝน ฯลฯ รวมจำนวนกว่า 100 คน เข้าสลายและจับกุมกลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านการก่อสร้างเสา และแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง (ขนาด 500 กิโลโวลต์ (kv.) น้ำพอง2-อุดรธานี3) ประมาณ 20 คน ที่บริเวณทุ่งนาของนายสง่า  บุญโยรัตน์ บ้านเหล่ากล้วย ต.เสอเพลอ อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี โดยมีผู้ถูกจับกุมจำนวน 15 ราย ซึ่งขณะนี้ฝากขังอยู่ที่ สภ.อ.กุมภวาปี

นายณัฐวุฒิ พรมภักดี ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพอีสาน (ศสส.) หนึ่งในกลุ่มนักศึกษาและชาวบ้าน 15 คนที่ถูกจับกุมให้ข้อมูลผ่านทางโทรศัพท์ระหว่างที่ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ สภ.อ.กุมภวาปีว่า จากจำนวนผู้ถูกควบคุมตัวทั้งหมด ประกอบด้วยกลุ่มชาวบ้านทั้งหมด 9 คน เป็นผู้หญิง 4 คนและผู้ชาย 5 คน ส่วนนักศึกษามีจำนวน 6 คน มาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.ปัตานี) เบื้องต้นยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา

นายณัฐวุฒิ กล่าวให้ข้อมูลว่า ได้ร่วมกับกลุ่มนักศึกษาลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลและติดตามสถานการณ์ความขัดแย้ง ของกลุ่มชาวบ้านและกฟผ.มาตั้งแต่ก่อนวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่ง กฟผ.ได้นำเจ้าหน้าที่ พร้อมด้วยกำลังเจ้าหน้าตำรวจและฝ่ายปกครอง เข้าไปรื้อถอน ทำลายทรัพย์ของชาวบ้าน สำหรับสถานการณ์วันนี้ถือว่า กฟผ.และเจ้าหน้าที่รัฐทำเกินกว่าเหตุในการใช้กำลังเข้าทำร้ายร่างกายและจับ กุมชาวบ้าน ไม่ยอมฟังเสียงที่ขอให้ชะลอการดำเนินการโครงการในพื้นที่เพราะอยู่ในระหว่าง กระบวนการพิจารณาของศาลปกครอง ร่วมทั้งไม่สนใจข้อเสนอที่ให้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นตัวกลางในการแก้ปัญหา 

ผู้สื่อข่าว รายงานว่า บรรยากาศเริ่มตั้งแต่เวลา 09.00 น. เจ้าหน้าที่ กฟผ. ได้เข้ามาพูดคุยเกลี้ยมกล่อม นายสง่า กับบรรดาลูกหลานเพื่อให้ยินยอมรับเงินค่าทดแทน และขอให้เจ้าหน้าที่ กฟผ.ลงไปทำการก่อสร้างเสาในที่นาของนายสง่า ขณะเดียวกันก็ให้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมรถกักขังผู้ต้องหาตรึงกำลังอยู่ ในบริเวณ อบต.เสอเพลอ การเจรจาใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง แต่ไม่สามารถตกลงกันได้

ทั้งนี้ ฝ่ายชาวบ้านยืนยันตามข้อเสนอที่ได้มีการประชุมกับคณะกรรมการสิทธิ์มนุษยชน แห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งการประชุมในวันนั้นตัวแทนชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ ได้เจรจากับผู้แทนของ กฟผ. รองผู้ว่าฯ อุดรธานี ปลัดอำเภอ และอำเภอกุมภวาปี โดยนายแพทย์นิรันด์  พิทักษ์วัชระ เป็นประธาน เพื่อขอให้ชะลอการดำเนินการก่อสร้างเสาไฟฟ้าไว้ก่อน เนื่องจากว่ายังมีประเด็นการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ซึ่งยังไม่ตัดสิน อีกทั้งการลงดำเนินการของกฟผ.ในวันที่ 27 พ.ค.นี้ จะเกิดความขัดแย้ง มีการปะทะ และนำมาซึ่งปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน (มีรายละเอียดในแถลงการณ์ของคณะกรรมการสิทธิ์) แต่กฟผ.ไม่ยอมปฏิบัติตาม

เวลา 11.00 น. เจ้าหน้าที่กฟผ. พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้นำรถแม็คโคร และรถกักขังผู้ต้องหา เข้ามาประจันหน้ากับกลุ่มชาวบ้านบริเวณถนนสายบ้านเหล่ากล้วย-บ้านทองอินทร์ ใกล้กับแปลงนาของนายสง่า บรรดาลูกหลานนายสง่า และกลุ่มชาวบ้านจึงเข้ามาช่วยกันนั่ง และยืนขวางเอาไว้ไม่ให้รถแม็คโครลงไป ซึ่งบรรยากาศขณะนั้นเริ่มมีความตรึงเครียด แต่ฝ่ายกฟผ.ก็ไม่ยอมเจรจาอีก จับจ้องคอยรอจังหวะและดูท่าทีที่จะเข้าชาร์ต และจับกุมชาวบ้านแต่อย่างเดียว ฝ่ายชาวบ้านมีเพียงมือเปล่า ก็ตะโกนด่าทอ บ้างก็ชูรัฐธรรมนูญ เพื่อบ่งบอกให้ กฟผ.และตำรวจรู้ว่าพวกตนก็มีสิทธิปกป้องพื้นที่ตามกฎหมาย และขณะนั้นก็มีกลุ่มนักศึกษาจากหลายสถาบัน เช่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช, มหาวิทยาลัยสงขลานคริน วิทยาเขตปัตตานี  เป็นต้น เดินทางมาร่วมกับกลุ่มชาวบ้านด้วย

จนกระทั่งเวลา 13.30 น.กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจก็เข้าสลายและจับกุม ชาวบ้านและนักศึกษาที่นั่งขวางรถแม็คโคร เพื่อเปิดทางให้เจ้าหน้าที่กฟผ.ลงดำเนินการก่อสร้างเสาไฟฟ้า ทั้งนี้ พบว่าตำรวจได้เข้าขัดขวางไม่ให้มีการถ่ายภาพ และยังยึดกล้องบันทึกภาพของนักศึกษาเอาไว้ด้วย  นอกจากนั้นยังมีชาวบ้านบางรายถูกตามตัวไปถึงบ้านเพื่อทำการจับกุม

เวลา ประมาณ 14.00 น. รถกักขังผู้ต้องหานำกลุ่มชาวบ้านและนักศึกษาไป ดำเนินคดี รับทราบข้อกล่าวหา และฝากขังที่ สภ.อ.กุมภวาปี โดยมี พ.ต.ท. วิชัย  พงษ์ขยัน เป็นร้อยเวรรับผิดชอบคดี

เวลาประมาณ 16.00 น. เจ้าหน้าที่ กฟผ.และตำรวจ เรียกตัวแทนชาวบ้านไปเกลี้ยมกล่อมเพื่อให้ลงลายมือชื่อรับสารภาพว่าได้ขัด ขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน และจะไม่มีการเอาความกับเจ้าหน้าที่ที่กระทำการในวันนี้ แต่กลุ่มชาวบ้านและนักศึกษาปฏิเสธข้อกล่าวหา และไม่ยินยอมลงลายมือชื่อ ตำรวจจึงพิมพ์รายนิ้วมือเป็นหลักฐาน และดำเนินการฝากขัง

โดยทั้งหมด ถูกดำเนินคดีในข้อหาขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ตามพ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน ต้องประกันตัวในหลักทรัพย์ไม่เกิน 7.5 หมื่นบาทต่อคน

เวลาประมาณ 18.00 น. ผู้ต้องหาทั้ง 15 คน ยังคงสภาพจิตใจดี โดยมีกลุ่มชาวบ้านทยอยเดินทางไปเยี่ยมและให้กำลังใจ

อนึ่ง ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ เมื่อวันที่ 25 พ.ค.54 กลุ่มคณะกรรมการชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง (คชส.) จ.อุดรธานี เจรจาเพื่อหาทางออกกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยมีคณะกรรมการสิทธิ์มนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นคนกลางเชิญแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาประชุมร่วมกัน ที่ห้องประชุม กสม. ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 โดยมีข้อสรุปว่าขอให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ยุติการดำเนินการใดๆ อันจะทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้ร้องหรือทรัพย์สินของผู้ร้อง จนกว่าคดีในศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญจะถึงที่สุด รวมทั้งยุติการนำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครองกระทำการใดๆ ในลักษณะเผชิญหน้า ยั่วยุกับกลุ่มผู้ร้อง เพื่อลดความขัดแย้งและความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้

อัพเดทข่าว 20.50 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net