ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ! วิพากษ์พุทธทาสในวันล้ออายุปีที่ 105

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ! วิพากษ์พุทธทาสในวันล้ออายุปีที่ 105 [1]

 

ธัมมิกสังคมนิยม0002 - ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ! วิพากษ์พุทธทาสในวันล้ออายุปีที่ 105 

สำหรับ ชื่อ มันอาจจะยาวตามความหมายที่ว่า ประชาธิปไตยแบบสังคมนิยมที่เป็นธัมมิกะ แล้วก็ดำเนินงานโดยวิธีเผด็จการ ถ้าจะพูดให้สั้นสักหน่อยก็ว่า ธัมมิกสังคมนิยมเผด็จการ ประเทศเล็กๆ จะต้องใช้ระบบนี้ แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ในเวลานี้ [2]

พระ เงื่อม อินทปัญโญ หรือที่เรารู้จักกันในนาม “พุทธทาสภิกขุ” นับได้ว่าเป็นพระปัญญาชนชาวไทยที่มีความโดดเด่นที่สุดคนหนึ่ง นับจากพระวชิรญาณภิกขุ วัตรปฏิบัติ ตัวตนและคำสอนของเขาได้กลายเป็นชุดความคิดหลักอันแข็งแกร่ง คำสอนเชิงจิตวิญญาณ ประสบการณ์การตื่นรู้ การตีความพระไตรปิฎก ไม่ใช่ปัญหาสำหรับผู้เขียน แต่การนำคำสอนทางศาสนาไปตัดสินความถูกต้องทางการเมืองของพุทธทาสต่างหากที่ นอกจากจะไม่มีคนตั้งคำถามอย่างเป็นกิจลักษณะแล้ว [3] กลับสนับสนุนเอออวย วิธีคิดหลายอย่างของเขานับวันจะเป็นการบั่นทอนทำลายการเมืองที่เปิดกว้างแบบ ประชาธิปไตย ที่มีหัวใจสำคัญอยู่ที่ความเชื่อมั่นวางใจในมนุษย์ปุถุชนว่ามีความเสมอภาค เท่าเทียมกัน มีความสามารถพอเพียงที่จะดูแลกันได้ แต่หลักธรรมที่ตีความโดยพุทธทาสกลับมีนัยที่ตรงกันข้ามอย่างรุนแรง

บทความนี้เป็นความพยายามจะใส่แว่นมองการเมืองในคำสอนของพุทธทาส ผ่านหนังสือ ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ ซึ่งสำหรับผู้เขียนแล้ว เห็นว่าข้อเขียนที่ปรับมาจากการบรรยายนี้ เป็นตัวแทนความคิดทางการเมืองของพุทธทาสในยามที่สังคมไทยเข้าสู่สภาวะหน้า สิ่วหน้าขวาน เมื่อเกือบสี่ทศวรรษผ่านมาแล้ว นอกจากนี้ในฐานะพุทธศาสนิกชนคนหนึ่งที่ศรัทธาทั้งศาสนาและประชาธิปไตย ผู้เขียนขอทดลองนำเสนอความเสมอภาคในภาษา ไม่แบ่งแยกศัพท์สามัญชนกับพระสงฆ์ เพื่อลดทอนความสูงส่งของสถานะที่ค้ำคอระหว่างนักบวชและคนเดินดิน ให้เหลือเพียงความสัมพันธ์อันเท่าเทียมกันของเพื่อนมนุษย์

ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ เป็นหนังสือที่นำมาจากการบรรยายอบรมผู้พิพากษา เมื่อวันที่ 14-15 กันยายน 2517 ในยุคหลัง 14 ตุลาคม 2516 ที่ฝ่ายก้าวหน้าเห็นว่าเป็น ยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน แต่ฝ่ายอนุรักษ์กลับเห็นว่าเป็นภาวะของความวุ่นวาย ชุดความคิดดังกล่าวเกิดก่อนการประทุขึ้นของความรุนแรงที่เป็นอาชญากรรมจาก น้ำมือรัฐ ที่บรรลุจุดสุดยอดในปี 2519 อันนำไปสู่ผลลัพธ์ก็คือ ความสงบราบคาบและเรียบร้อย โดยมีกลไกสำคัญคือ การใช้กำลัง การรัฐประหาร และอำนาจเผด็จการ

 

พุทธทาส รูปปฏิมาของปัญญาชนนักปฏิวัติ

อาจกล่าว ได้ว่าในฝ่ายของนักการเมือง นักเขียนและนักเคลื่อนไหวหัวก้าวหน้า ได้มีความพยายามผูกโยงพุทธทาสเข้าเป็นส่วนหนึ่งของยุคสมัยของการปฏิวัติสยาม 2475 ด้วยเหตุที่ว่า เขาตัดสินใจทิ้งกรุงเทพฯ เดินทางกลับบ้านนอกเพื่อไปสร้างสถานที่ในอุดมคติของชาวพุทธที่บ้านเกิด [4] ซึ่งเป็นช่วงเวลาหนึ่งเดือนก่อนการโค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของคณะ ราษฎร ไม่เพียงเท่านั้นพุทธทาสยังถูกนับรวมให้เป็นพวกเดียวกันกับนักการเมืองและ นักคิดฝ่ายประชาธิปไตยอย่างปรีดี พนมยงค์ และกุหลาบ สายประดิษฐ์ ไว้อีกด้วย มีบันทึกไว้ว่า ครั้งก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ปรีดี พนมยงค์ เคยเชิญพุทธทาสขึ้นมาอยุธยาเพื่อสนทนากันอย่างออกรส และเคยพูดคุยกันถึงขนาดว่า จะสร้างสวนโมกข์ที่อยุธยา [5] สำหรับกุหลาบ สายประดิษฐ์ เองก็พบว่าบันทึกของเขาได้ บรรยายถึงการเดินทางไปปฏิบัติธรรมถึงสวนโมกข์ สุราษฎร์ธานี เมื่อปี 2495 จนได้ตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือในภายหลัง [6]

งาน “"ปรีดี พนมยงค์ กุหลาบ สายประดิษฐ์ พุทธทาสภิกขุ บุคคลสำคัญของโลก” [7] ที่จัดขึ้น ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ในวันที่ 24 มิถุนายน 2549 ซึ่งตรงกับวันปฏิวัติสยาม เมื่อ 74 ปีก่อน ยิ่งแสดงนัยสำคัญของปัญญาชนนักปฏิวัติร่วมสมัยชัดเจนขึ้นไปอีก เมื่อสรุปถึงความสัมพันธ์ของทั้งสามบุรุษว่า “เป็นผู้สร้างสังคมทั้งทางโลกและทางธรรม ถือเป็นคนที่อยู่ใน "สำนึกคิด" เดียวกัน และเป็นคนที่อยู่ร่วมในศตวรรษแห่งสามัญชน”

หากมองลึกลงไป แล้ว สิ่งที่พุทธทาสแตกต่างจากสามัญชนทั้งสองนั่นก็คือ การที่ ปรีดี และกุหลาบ อยู่ในโลกปุถุชนที่อยู่ในกระแสของการเปลี่ยนที่รุนแรงเชี่ยวกรากทางการเมือง ทั้งสองแทบจะไม่มีเกราะคุ้มภัยตนเอง พวกเขามีปฏิบัติการทางการเมืองผ่านทางข้อเขียน บทความ รวมไปถึงกิจกรรมทางการเมืองเพื่อมนุษยชาติ แต่ในเวลาต่อมากลับกลายเป็นสิ่งต้องห้ามในสังคม และถูกตราหน้าว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ ถูกป้ายสี ถูกตั้งข้อหาทางการเมืองร้ายแรงและถูกทำให้กลายเป็นบุคคลต้องห้าม จนในที่สุดพวกเขาไม่สามารถกลับมาหลับตาตายได้ในแผ่นดินมาตุภูมิ กุหลาบเสียชีวิตที่เมืองจีนในปี 2517 ส่วนปรีดีเสียชีวิตที่ฝรั่งเศสในปี 2526 ต้องใช้เวลานับทศวรรษถึงจะฟื้นฟูเกียรติภูมิพวกเขาเหล่านั้นจากการย่ำยีจาก รัฐและชนชั้นนำไทย

Timeline42วันก่อนมรณภาพ - ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ! วิพากษ์พุทธทาสในวันล้ออายุปีที่ 105
คลิปข่าวจากหนังสือพิมพ์ ที่มา หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทฺปัญโญ
http://archives.bia.or.th/
(คลิกที่รูปเพื่ออ่านรายละเอียด)

สำหรับ พุทธทาสนั้น ความคิด และคำสอนของเขาถูกถ่ายทอดอย่างอิสระ แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์และท้าทายอยู่บ้าง แต่เราต้องเข้าใจกันให้ดีเสียก่อนว่า พุทธทาสนั้นมีพรรคพวกที่ใหญ่โตและความสัมพันธ์ที่ไม่ไกลนักจากชนชั้นนำของ ประเทศ ข้อหาที่ร้ายแรงที่สุดก็คือ การถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ แต่ก็ถือว่าเขายังมีเกราะคุ้มภัยด้วยกาสาวพัสตร์และเส้นสายกับ “ทางการ” ที่แข็งแกร่ง ข้อธรรมความคิดของพุทธทาส นับได้ว่าเติบโตและงอกเงยอย่างต่อเนื่องกันไม่ขาดสายจากรุ่นสู่รุ่น หากเทียบกับสามัญชนทั้งสองที่ความตายถูกทำให้กลายเป็นความเศร้าสงัดที่ไร้ เสียงแล้ว ความตายของพุทธทาสในปี 2536 นั้นต่างกันไป อาการป่วยหนักจนถึงวันมรณภาพกลายเป็นข่าวที่ขายได้ การตายของพุทธทาสจึงเป็นที่รับรู้ในวงกว้างของมวลชน ในฐานะพระผู้ยิ่งใหญ่ในยุคสมัยที่ได้จากไป พิธีฌาปนกิจยังได้รับการบันทึกเทป และนำมาเผยแพร่ในภายหลัง ทุกวันนี้เรายังหาดูได้ง่ายจากใน Youtube [8] เสียด้วยซ้ำ

 

พุทธทาส รูปปฏิมาของปัญญาชนพุทธเถรวาท

จุด เด่นสำคัญอีกประการก็คือ การใช้เทคโนโลยีการพิมพ์เข้าช่วยในการขยายความคิด ผลงานของพุทธทาสในระหว่างที่มีชีวิต เขาได้อุตสาหะผลิตงานออกมาอย่างสม่ำเสมอ งานเขียนของเขาทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการถูกเก็บเป็นระบบอย่างดี จนนำไปสู่การตั้งหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทฺปัญโญ ในปัจจุบัน ดังนั้นจึงไม่แปลกที่งานของเขาจะถูกผลิตซ้ำออกมาอย่างมากมาย หากตามรอยพุทธทาสแล้วจะพบว่า บทความชิ้นแรกที่ได้ตีพิมพ์สู่สาธารณะชื่อว่า “ประโยชน์แห่งทาน” พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพระอุปัชฌาย์ ในปี 2473 ขณะที่ศึกษาต่อที่วัดปทุมคงคากรุงเทพฯ เมื่อเขากลับบ้านไปสร้างสวนโมกข์ ได้ให้กำเนิดหนังสือพิมพ์ พุทธสาสนา ในปี 2476 [9] มีการลงทุนซื้อเครื่องพิมพ์เพื่อสนับสนุนการเผยแพร่ดังกล่าวอย่างเป็นกิจลักษณะ [10] การเผยแพร่ธรรมในลักษณะดังกล่าวจึงเผยแพร่ไปทั่วประเทศ พร้อมๆไปกับการขยายตัวของการศึกษาของชนชั้นกลางมากขึ้น รสชาติของการตีความศาสนาแนวใหม่ ที่ใช้โวหารที่ชาญฉลาด ใช้คำศัพท์ทางปรัชญาตะวันตก ภูมิปัญญาพุทธศาสนาในแขนงอื่นๆ น่าจะช่วยดึงดูคนรุ่นใหม่เข้าถึงพุทธศาสนาได้มาก “หลักอนัตตากับการอบรมประชาชน” (ปี 2476) “พระสงฆ์ควรเลิกยาเสพติด” (ปี 2480) “จุดแท้จริงของความเป็นคน!” (ปี 2484) “พระที่ตรงตามตัวหนังสือ” (ปี 2486) “ฯลฯ นี่เป็นเพียงตัวอย่างของหัวข้อธรรมในยุคนั้น

การอธิบายศาสนาด้วยมุมมองใหม่ เป็นภาพตัดที่ชัดเจนกับ สังคมสงฆ์แบบเก่าที่ถูกเขย่าไปกับกระแสโลก คร่า

ครึ น่าเบื่อ อย่างไรก็ตามแรงกระเพื่อมสำคัญ ที่ทำให้คนหวนกลับมานึกถึงศาสนากันขนานใหญ่ น่าจะเกิดขึ้นหลังจากช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย ตั้งแต่การเมืองระดับประเทศที่ไร้เสถียรภาพ เกิดสิ่งที่ไม่คาดฝันอย่างคดีสวรรคต ณ ใจกลางเมืองหลวง ขณะที่รอบๆกรุงเทพฯ เกิดคดีอาชญากรรมพุ่งสูงไปทุกหย่อมหญ้า ภาวะข้าวยากหมากแพงกระจายไปทั่ว ข่าวแพร่สะพัดเรื่อง ส.ส.ทุจริต เหล่านี้นำไปสู่วิกฤตศรัทธาต่อคณะราษฎรที่นำการเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคมไทย อุดมการณ์รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยของคนที่เสมอกันที่เคยสุกสกาว กลับถูกบ่อนทำลายลงด้วยตัวมันเอง และพลังอนุรักษ์นิยมที่โต้กลับ ภาวะอันน่าตระหนกของสังคมที่ถดถอย นอกจากกลับไปเสริมอุดมการณ์ราชาชาตินิยมให้เข้มแข็งขึ้นมาแล้ว ยังได้ไปสอดคล้องกับพลังอนุรักษ์นิยมทางศาสนาด้วย นั่นคือ คติกึ่งพุทธกาลที่กำลังจะมาถึงในปี 2500 ตามความเชื่อปรัมปราเชิงพุทธในนาม “ปัญจอันตรธาน” ที่อธิบายกันสืบมาว่า เมื่อศาสนาพุทธมีอายุได้ 5,000 ปี พุทธศาสนาจะหายไปจากโลกมนุษย์ ดังนั้นในปี 2500 จึงนับได้ว่าเป็นครึ่งทางของมิติเวลาทางพุทธศาสนา ซึ่งเรียกกันว่าเป็นยุค “กึ่งพุทธกาล” ซึ่งสะท้อนความเสื่อมถอยของสังคมไทยที่พยายามผูกแน่นกับอุดมการณ์ทางศาสนา

ใน ด้านหนึ่งพุทธศาสนิกชนจึงแห่กันสร้างถาวรวัตถุเพื่อสืบพุทธศาสนา ด้วยเหตุนี้การเติบโตของทุนนิยมในทศวรรษ 2490 จึงเข้าไปเป็นเนื้อในหนึ่งของวัดโดยทั่วไป การขยายตัวของทุนไปกันได้ดีกับการระดมทุนแบบทอดผ้าป่าสามัคคี ทอดกฐิน การเริ่มขยายตัวของวัตถุมงคล พุทธพาณิชย์ [12] เงินมหาศาลจึงเริ่มหลั่งไหลเข้าไปสู่วัด ในเวลาไม่ช้าเราจึงพบว่า วัดหลายแห่งสั่งสมทุนกลายเป็นนายทุนขนาดใหญ่ และอาจนับได้ว่ากลายเป็นเครือข่ายกับนายทุนอย่างธนาคาร ตามหัวเมืองต่างๆไปด้วย ดังนั้นสำหรับวัดโดยทั่วไปแล้ว จึงเต็มไปด้วย ถาวรวัตถุใหญ่โต พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ เครื่องรางของขลัง

ขณะที่พุทธ ทาส ประกาศพุทธศาสนาอันเรียบง่ายมุ่งไปสู “ความเดิมแท้” โดยหันย้อนกลับไปยึดเอาสภาพแวดล้อมสมัยพุทธกาลเป็นต้นแบบ จากการตีความจากพระไตรปิฎกที่เขาเปรียบว่าเป็นธรรม “จากพระโอษฐ์” ของพระพุทธเจ้า ดังนั้นการเกิดขึ้นและชื่อเสียงของสวนโมกข์ ความรู้ทางธรรมะที่ตีความใหม่ที่มากับเทคโนโลยีการพิมพ์ของเขา ล้วนแสดงจุดยือที่อยู่กันคนละฟากฝั่งกับวัดและพระสงฆ์ในสมัยเดียวกันอย่าง ยิ่ง

สำหรับปัญญาชนหัวสมัยใหม่ที่มักเชื่อว่าตนเองยึดหลักเหตุผลทาง วิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้แล้ว วัดและพระสงฆ์ที่มีภาพลักษณ์ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ มุ่งแสวงหาเงินทองเพื่อก่อสร้างถาวรวัตถุ บูชาเครื่องรางของขลัง จึงไม่เป็นที่ตั้งของศรัทธา พวกเขาต้องการธรรมะและผู้นำทางธรรมที่มีศักยภาพมากพอที่จะสื่อสารกับพวกเขา และตอบคำถามทางศาสนาที่เข้ากับวิถีชีวิตในโลกสมัยใหม่ที่กำลังเข้ามาถึงได้ ซึ่งจะมีใครเหมาะไปกว่าพุทธทาสภิกขุ

 

ก่อนจะถึง ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ!

ชื่อ เสียงของการเผยแพร่และคำสอนที่โต้แย้งความงมงาย แต่เรียบง่าย ลัดสั้น ตรงใจคน ทำให้พุทธทาสไม่ได้มีสถานะเป็นเพียงพระบ้านนอกอีกต่อไป เขาได้รับเชิญให้ไปปาฐกถาธรรมที่กรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็น พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย [13] ซึ่งเริ่มต้นอย่างน้อยตั้งแต่ปี 2489 ด้วยเรื่อง “พุทธศาสนากับสันติภาพ” เรื่อง “พุทธธรรมกับเจตนารมณ์แห่งประชาธิปไตย” (2490) "ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม" (2491)

เราพบว่า บทบาทของพุทธทาสโดดเด่นในที่สาธารณะมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขนาดได้รับเชิญให้ไปบรรยายยังสถาบันการศึกษาที่เชื่อกันว่าเป็น มหาวิทยาลัยชั้นเลิศอย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยิ่งตอกย้ำภาพลักษณ์ของพระปัญญาชนร่วมสมัยได้เป็นอย่างดี เช่น การปาฐกถาที่หอประชุมใหญ่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง "พระพุทธศาสนาจะช่วยพวกเราในปัจจุบันนี้ได้อย่างไร" ในปี 2490 แสดงธรรมที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง "ส่วนสำคัญของพระพุทธศาสนาที่ทุกคนควรรู้จัก" ตามคำอาราธนาของสมเด็จพระราชชนนี องค์อุปถัมภกของชมรมกลุ่มศึกษาพุทธศาสตร์และประเพณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกันว่ามีผู้ฟังมากถึง 3,000 คน ในปี 2503 หรือการ ร่วมสัมมนาเรื่อง "การศึกษาพุทธศาสนาในมหาวิทยาลัย" ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และแสดงธรรมอบรมนิสิต ในปี 2504 [14]

นอก จากนั้นบทบาทการเผยแพร่ธรรมอันโดดเด่นยังปรากฏในการบรรยายต่างๆ ที่ได้รับการถอดเทปและตีพิมพ์ออกมาเป็นรูปเล่มในที่สุดได้แก่ ปี 2502 บรรยาย "อานาปานสติ" (ฉบับสมบูรณ์) ในสวนโมกข์ ปี2504 พูดเรื่อง "ตัวกู-ของกู" อบรมพระสงฆ์สามเณร ในเวลาไล่เลี่ยกันนั้น เริ่มสร้างสร้างโรงมหรสพทางวิญญาณ (โรงหนังแบบสวนโมกข์) และมีโรงปั้นเพื่อปั้นภาพพุทธประวัติยุคแรกของโลก ตั้งแต่ปี 2505 ใช้เวลาราว 10 ปี นอกจากนั้นยังมีกรณีดีเบททางประวัติศาสตร์กับ คึกฤทธิ์ ปราโมช นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ชื่อดังแห่งยุค ในปี 2507 ที่เรียกกันว่า “ธรรมสากัจฉา” [15] อาจเป็นการไม่เกินเลยนักที่จะกล่าวว่า หลังยุคกึ่งพุทธกาล พุทธทาสได้ขยายอาณาจักรทั้งคำสอนและสวนโมกข์อย่างกว้างขวางและมั่นคงไปแล้ว

touku - ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ! วิพากษ์พุทธทาสในวันล้ออายุปีที่ 105
บทกลอน ตัวกู-ตัวสู เขียนเมื่อปี 2509 หลังจากที่ ประเด็น ตัวกู-ของกู เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายแล้ว

แต่ ความมั่นคงหนักแน่นของพุทธทาสนั้นช่างสวนทางกับ สถานการณ์ของวงการสงฆ์ในทศวรรษ 2500 เสียเหลือเกิน ในหน้าประวัติศาสตร์แล้ว ถือว่าช่วงนี้เป็นวิกฤตที่นำไปสู่การเปลี่ยนโครงสร้างเชิงอำนาจของพระ กรณีคลาสสิคที่เกิดขึ้นก็คือ พระสงฆ์หัวก้าวหน้าอย่าง พระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) ถูกเล่นงานโดยวิธีทางการเมืองของพระผู้ใหญ่ จนในที่สุดถูกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถอดออกจากสมณศักดิ์ และจับสึกในปี 2505 อันเป็นเดียวกันกับที่ สฤษดิ์ ร่วมกับพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ ล้มพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ปี 2484 ที่จัดระเบียบการปกครองภายในให้มีความเป็นประชาธิปไตยโดยมีการแบ่งแยกอำนาจ นิติบัญญัติ บริหารและการปกครองออกจากกันเพื่อการถ่วงดุลตรวจสอบ โดยเสนอกฎหมายใหม่ ให้คณะสงฆ์อยู่ใต้การปกครองของ มหาเถรสมาคม อันเป็นรูปแบบที่คล้ายคลึงกับการปกครองสงฆ์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ รวบอำนาจไว้ส่วนกลาง โดยไม่มีการแบ่งแยกอำนาจเพื่อการตรวจสอบและถ่วงดุลกันเอง

แต่จนบัด นี้ยังไม่พบหลักฐานว่า พุทธทาสได้กล่าวถึงความขัดแย้งและวุ่นวายในวงการสงฆ์ในช่วงทศวรรษนั้นแต่ อย่างใด นี่ถือว่าเป็นความเงียบที่พุทธทาสมีท่าทีวางเฉยต่อสังคมการเมืองสงฆ์

 

ตุลาการคอนเนคชั่นของพุทธทาส

ใน ทางกลับกัน แม้จะมีบันทึกว่า หลังจากที่แสดงธรรม "ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม" ในปี 2491 พุทธทาสต้องเผชิญกับข้อหากล่าวหาคอมมิวนิสต์ ในความเป็นจริงแล้ว ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของพุทธทาสกับชนชั้นนำในสถาบันตุลาการ ยังไม่นับความมีชื่อเสียงในหมู่ปัญญาชนคนรุ่นใหม่ กลับเป็นเครื่องการันตีความปลอดภัยของพุทธทาสได้อย่างหนักแน่น

เราพบ ความสัมพันธ์ที่เรียกได้ว่าเป็น “สหายธรรม” ของพุทธทาส 3 คนที่ถือว่าเป็นกัลยาณมิตรได้แก่ พระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์ (วงศ์ ลัดพลี), พระดุลยพากย์สุวมัณฑ์ (ปิ่ณฑ์ ปัทมัษฐาน) และสัญญา ธรรมศักดิ์ มีจดหมายติดต่อกันไว้จำนวนมาก โดยเฉพาะสัญญา ที่ถือว่าเป็นคนรุ่นเดียวกันกับพุทธทาส เหลือหลักฐานจดหมายมากถึง 180 ฉบับ จากประวัติพบว่า พุทธทาส-สัญญา รู้จักกันมาตั้งแต่ทศวรรษ 2470 [16] ความสัมพันธ์เช่นนี้จึงไม่เกินความคาดหมายว่า ไฉนพุทธทาส จึงมีบทบาทมากในการอบรมข้าราชการแวดวงตุลาการในปีต่างๆ เช่น ปี 2494 อบรมข้าราชการในสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรมและศาล ที่กรุงเทพฯ เรื่อง "ทุกขขัปนูทนกถา ปี 2498 อบรมข้าราชการตุลาการครั้งแรก เรื่อง "ใจความสำคัญของพุทธศาสนา" ณ ห้องบรรยายเนติบัณฑิตยสภา ต่อมาพิมพ์เป็นเล่มชื่อหลักพระพุทธศาสนา และพิมพ์ในชุดธรรมโฆษณ์ ชื่อ "ตุลาการิกธรรม เล่ม 1" การบรรยายชุดนี้ทำต่อเนื่องมาอีกรวม 14 ครั้ง [17]

 

จากการเรียกร้องประชาธิปไตยของมวลชนสู่การปรับบรรยากาศทางการเมืองแบบควบคุม

การ สั่งสมภูมิปัญญาทั้งส่วนที่เป็น “เสรีนิยมประชาธิปไตย” “สังคมนิยม” และ “อนุรักษ์นิยม” ได้ระเบิดออกมาปะทะกับการผูกขาดอำนาจทางการเมืองของกลุ่มเผด็จการใน เหตุการณ์ที่เรียกว่า 14 ตุลา 2516 แม้จะทำลายกลุ่มอำนาจ ถนอม-ประภาส-ณรงค์ ได้สำเร็จ แต่ก็มิใช่เป็นการสถาปนาความคิดและอุดมการณ์ที่ก้าวหน้าให้มั่นคงนัก พลังที่ถูกปลดปล่อยออกมา ในที่สุดก็ถูกตะล่อมให้เข้าทางพลังอนุรักษ์นิยมในเวลาต่อมา

ก่อน เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จะจบลงอย่างเป็นทางการ ได้มีพระบรมราชโองการ ประกาศแต่งตั้งสัญญา ธรรมศักดิ์ ผู้มีตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และองคมนตรี ดำรงตำแหน่งใหม่เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแสดงให้เห็นว่า สำหรับฝ่ายชนชั้นนำแล้ว สัญญา ธรรมศักดิ์ ถือเป็น คนที่เป็นคนดีมีคุณธรรม มีความรู้ความสามารถ เพียงไม่กี่ตัวเลือกในสมัยนั้น

สัญญา ธรรมศักดิ์ - ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ! วิพากษ์พุทธทาสในวันล้ออายุปีที่ 105
ภาพถ่ายของสัญญา ธรรมศักดิ์ มีคำบรรยายว่า
“นายสัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรี กล่าวปราศรัยกับประชาชนชาวไทย
ทางโทรทัศน์ ณ หอตึกพระสมุด สวนจิตรลดา คืนวันที่ 14 ตุลาคม 2516”

การ เชิดชูภาพลักษณ์ของความเป็นคนดีมีศีลธรรมของสัญญานั้นมิได้เป็นเพียงเพราะ ตัวของสัญญาเท่านั้น แต่สัญญายังเป็นรูปปฏิมาที่แบกรับความคาดหวังในชุดความคิดว่า หากผู้นำเป็นคนดีแล้วทุกอย่างจะดีขึ้นเอง การที่สื่อมวลชนให้ฉายาว่า “รัฐบาลพระราชครู” นอกจากจะแสดงสถานะและเส้นสายแล้ว ก็ยังแสดงความคาดหวังของสังคมที่วางไว้กับสัญญาที่มีแบ็คอัพที่แน่นปึ้กอีก ทางหนึ่งด้วย แต่สถานการณ์ในเมืองไทยได้มาถึงจุดที่กู่ไม่กลับได้ง่าย หลังจากที่รัฐบาลเผด็จการทหารถูกกำจัดออกไป ก็เกิดการขยายตัวของการเรียกร้องสิทธิอันเท่าเทียม อันพึงที่จะได้รับของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆที่ตื่นตัวนับตั้งแต่กรรมกร เกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน เขาเหล่านั้นเป็นคนอีกชนชั้นหนึ่งที่ไม่เคยมีปากเสียงมาก่อน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สำหรับชนชั้นนำแล้ว การที่คนต่างชั้นกับตนมีปากมีเสียงนั้นภัยคุกคามอย่างยิ่งต่อความสัมพันธ์ ระหว่างชนชั้นที่มีลำดับขั้น ปรากฏการณ์ของการขยายตัวของมวลชนที่น่าขนพองสยองเกล้าสำหรับชนชั้นนำในยุค นั้น ดาหน้ากันออกข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์อย่างถี่ยิบ ได้แก่ เช่น การเดินขบวนขับไล่ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ อาจารย์และครูกระจายไปทั่วประเทศ, การนัดหยุดงานของคนงานทั่วประเทศเพื่อขอค่าแรงเพิ่ม, คนงานท่าเรือยึดท่าเรือกรุงเทพฯ, นักศึกษาและแม่บ้านชุมนุมประท้วง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เรื่องเศรษฐกิจ, ครูกรีดเลือดประท้วง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, เหตุการณ์ลุกฮือของคนจีนจากการปราบปรามจีนชั้นล่างพลับพลาไชย เป็นต้น [18]

ปัญหา ที่ประดังประเดภายนอกก็ถือว่าหนักหนาแล้ว ปัญหาในสภาก็ยังเกิดขึ้นดุจผีซ้ำด้ามพลอย รัฐบาลไม่ผ่านการเสนอกฎหมาย ถึง 3 ฉบับ ความบ้อท่าของรัฐบาลสัญญา เป็นที่เอือมระอาจนสื่อมวลชนตั้งฉายาใหม่ให้ว่า “รัฐบาลมะเขือเผา” สัญญาเองก็รู้ตัวดีถึงข้อจำกัดของเขาเอง และได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะลาออกหลายครั้ง แต่เมื่อตัวเลือกของชนชั้นปกครองมีน้อยยิ่งกว่าน้อย ในที่สุดก็ต้องบีบให้สัญญา ธรรมศักดิ์รับตำแหน่งตามเดิม

ที่น่า สังเกตก็คือ หลังจากข่าวการพยายามลาออกของสัญญาผ่านไปประมาณ 4 เดือน พุทธทาส ผู้เป็นสหายธรรมกับสัญญา ก็ได้แสดงธรรมแก่ผู้พิพากษา ในเดือนกันยายน 2517 ซึ่งในเวลาต่อมาได้ถูกรวบรวมพิมพ์เป็นหนังสือในชื่อว่า ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ [19]

 

และแล้ว...ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ ก็ปรากฏ!

เรา พบจดหมายติดต่อกันระหว่างพุทธทาส และครอบครัวของสัญญา ธรรมศักดิ์ ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2516 เวลา 1.00 น. จากลูกชายของสัญญา ธรรมศักดิ์ ว่า “ช่วยกรุณาอำนวยพรให้คุณพ่อด้วยครับ กระผมรู้สึกแหม่งๆ ไม่สบายใจเลย แม้จะทราบว่ามันเป็นหน้าที่ แต่จิตมันก็ยังวุ่นมากครับ” ส่วนจดหมายวันที่ 17 พฤศจิกายนในปีเดียว จดหมายได้กล่าวไว้ว่า เมื่อสัญญาพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จะขอบวชที่ไชยา [20]

หนังสือ 100 ปี ร้อยจดหมายพุทธทาส-สัญญา - ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ! วิพากษ์พุทธทาสในวันล้ออายุปีที่ 105
หนังสือ 100 ปี ร้อยจดหมายพุทธทาส-สัญญา

ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ เป็นธรรมบรรยายผู้ที่กำลังจะเป็นผู้พิพากษา เมื่อวันที่ 14-15 กันยายน 2517 ณ สวนโมกขพลาราม ไชยา แบ่งเป็นการบรรยายสองหัวข้อ วันแรกคือ “ศีลธรรมในพระพุทธศาสนา” และวันที่สองคือ”สังคมนิยมตามหลักแห่งพระศาสนา” อาจกล่าวได้ว่าในห้วงเวลาที่บรรยากาศบ้านเมืองตึงเครียด ธรรมะของพุทธทาสก็ประกาศรสนิยมทางการเมืองของตนออกมาอย่างล่อนจ้อน

ผู้พิพากษา วรรณะปูชนียบุคคล

ใน หัวข้อแรก แม้จะเป็นหัวข้อเรียบๆว่าด้วยศีลธรรม แต่ภายในเต็มไปด้วยสารและรหัสทางการเมือง พุทธทาสไม่เพียงให้คุณค่ากับเหล่าผู้พิพากษา แต่ยังแยกผู้พิพากษาเป็นคนอีกชนชั้นหนึ่งไป เขาเชิดชูว่า ตุลาการเป็นสถาบันอันดับหนึ่งของโลก เป็นสถาบันที่พิทักษ์ “ความถูกต้อง ความเป็นธรรม ความยุติธรรมของโลก” ดังนั้นควรถูกจัดวางไว้เป็น “ปูชนียบุคคล” ไม่ใช่ตำแหน่งดาดๆในฐานะข้าราชการที่ “รับใช้ประชาชน” ในมุมมองของพุทธทาสมองบทบาทในการรับใช้ประชาชนนั้น เลวกว่า ต่ำกว่าประชาชน ซึ่งเป็นแนวคิดที่ดูถูกความเท่าเทียมกันของมนุษย์อย่างยิ่ง วิธีคิดดังกล่าวของพุทธทาสอยู่ที่ว่า หากคนได้รับการยกย่องให้เป็นปูชนียบุคคลแล้ว คนเหล่านั้นจะมีศีลธรรมมากำกับ ในทางกลับกันถ้าแต่ละคน “มีอะไรเสมอภาคกันหมด” นั่นจะไม่มีใครเป็น “ที่ตั้งแห่งความเคารพนับถือ” แสดงให้เห็นสังคมอันมีลำดับชั้นอย่างชัดเจน ที่ผู้มี “ศีลธรรม” มีอภิสิทธิ์ที่เหนือกว่าในการปกครองคนที่ด้อยศีลธรรม

นั่น แสดงให้เห็นวิธีคิดของพุทธทาสว่า ไม่ได้เชื่อในความเสมอภาค ไปมากกว่า การเทิดทูนบุคคลโดยตำแหน่งและสถานะทางสังคมที่รองรับด้วยศีลธรรมและคุณงาม ความดีที่สากลครอบจักรวาล ซึ่งนั่นก็คือ การตอกย้ำความมีลำดับชั้นของสังคมไทยให้ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่คนชั้นล่างในสังคมไทยกู่ตะโกนเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาค

ศีลธรรมเชิงพุทธ คำตอบของทุกอย่างในจักรวาล

สิ่ง ที่พุทธทาสโจมตีอีกประการหนึ่งก็คือ วิธีคิดเชิงปรัชญาตะวันตกเกี่ยวกับด้านศีลธรรม ที่เห็นว่าเป็นเพียงปรัชญาไม่มีผลในการปฏิบัติ เป็นเหตุผลสำหรับพูด [21] สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาอย่างยิ่งสำหรับพุทธทาสและพุทธศาสนิกชนจำนวนมากที่ ละเลยในการทำความเข้าใจว่า ปรัชญานั้นมีบทบาทต่อปฏิบัติการทางสังคมอย่างไร การตีความศีลธรรมสากลที่เกี่ยวข้องกับโลกทางการเมืองสมัยใหม่ ที่อยู่นอกพ้นไปจากประสบการณ์ทางจิตวิญญาณทางศาสนาแล้วเป็นอย่างไร

ใน มุมมองทางการเมือง พุทธทาสเห็นว่า การปกครองนั้นคือระบบการทำให้มี “ศีลธรรม” เนื่องจากว่าสังคมในอุดมคติของเขา คือ สังคมบ้านเมืองที่ตั้งอยู่ในความสงบราบคาบ ทั้งที่หากศึกษาประวัติศาสตร์ของอินเดียในยุคพุทธกาลแล้ว หาได้มีความสงบสุขอย่างอุดมคติไม่ แต่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอยู่ตลอด ไม่เว้นแม้แต่ในวงศาคณาญาติของพระพุทธเจ้าที่รบกันจนแทบจะสิ้นศากยวงศ์ จะมีประวัติศาสตร์พระเจ้าอโศกมหาราช ที่ย่ำยีบีฑาแคว้นต่างๆจนสยมอยู่แทบเท้าแล้ว จึงใช้ธรรมาวุธเข้าไป และสร้างความสงบราบคามของสังคมได้ชั่วคราว สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ธรรมะด้วยตัวมันเองไม่ได้แก้ไขปัญหาทางการเมืองอย่างมีประสิทธิภาพอย่างที่ เสนอๆกัน

และยิ่งพุทธทาสทุบโต๊ะใช้โวหารว่า “การเมืองก็คือเรื่องศีลธรรม” ที่ผู้ปกครองก็ชั่ว ผู้ถูกปกครองก็เลวก็เพราะว่า แยกการเมืองและศีลธรรมออกจากกัน [22] ซึ่งเป็นการด่วนสรุปด้วยตรรกะเหตุผลที่แสนจะอ่อนด้อย ไม่แน่ใจว่าพุทธทาสไม่เข้าใจสังคมที่สลับซับซ้อนจริงๆ หรือว่าเขาเลือกที่จะปิดตาและอธิบายในสิ่งที่เขาเชื่อเท่านั้น เมื่อพุทธทาสก้าวข้ามเข้ามาในปริมณฑลการเมืองสาธารณะแล้ว แทนที่จะเป็นการถกเถียง โต้แย้งแลกเปลี่ยนกันตามเหตุผล อวตารของเขากลับมาในคราบของสัพพัญญูผู้รู้ทุกสิ่ง มีวาจาเป็นสัจธรรม ศีลธรรมเป็นสิ่งที่ดีงามที่สุดโดยไม่ต้องการคำถาม

อย่างประเด็นที่ เกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรงก็คือเรื่องรัฐธรรมนูญ พุทธทาสกล่าวว่า “รัฐธรรมนูญที่น่าสงสารที่สุด ก็คือ รัฐธรรมนูญที่ไม่ข้องแวะกับศีลธรรมเสียเลย..ไม่เคยเห็นระบุเจาะจงลงไปว่า จะรักษาศีลธรรม...ฉะนั้นรัฐธรรมนูญนั้น จึงไม่ป้องกันภัยได้เลย” [23] ดังนั้นหากมีหลักคิดที่คับแคบเพียงนี้ การแก้ไขปัญหาก็ยิ่งดิ้นไปไหนไม่พ้นกับการป้อนยาที่ชื่อศีลธรรมให้กับปัจเจก วิธีแก้ปัญหาก็คือ การสอนให้คนมีศีลธรรมมาตั้งแต่เล็ก จนกระทั่งเป็น “ผู้ปกครองบ้านเมือง” ให้เข้าใจว่า ทุกคนในโลกนี้เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ถ้าเข้าใจก็ง่ายที่จะมีศีลธรรม [24]

สังคมนิยมฉบับพุทธทาส ใบสั่งจากทางการ

ใน หัวข้อที่สอง พุทธทาสเริ่มต้นด้วยคำที่หวาดเสียวสำหรับชนชั้นนำสมัยนั้นก็คือ “สังคมนิยม” แต่เอาเข้าจริงแล้วต้องถือว่าเป็นการเล่นศัพท์ของพุทธทาสเพื่อล้อสังคมนิยม ตามทฤษฎีทางสังคมศาสตร์เสียมากกว่าหัวข้อธรรมที่ว่าด้วย “สังคมนิยม” ครั้งนี้ เป็นปีแรกที่ “ทางการ” ขอมา [25] สิ่งนี้จึงสะท้อนให้เห็นว่าชนชั้นนำ มีความต้องการให้พุทธทาสวิพากษ์สังคมนิยมที่กำลังเติบโตงอกงามในสังคมไทย ด้วยลีลาโวหารของพุทธทาส

พุทธทาส นิยามความหมายใหม่โดยตัวเองว่า สังคมนิยม คือ “การจัดระบบที่ทำให้สังคมเป็นปกติ หรือเป็นปกติสุข” [26] และไปกันใหญ่เมื่อพุทธทาสแปล social science ว่า “ศาสตร์แห่งสังคม” ซึ่งแปลซ้ำอีกทีว่า “ของมีคมที่จะตัดปัญหาทางสังคม” เพื่อตีขลุมเข้าทางตนว่า ฉะนั้นศาสนาก็รวมอยู่ในศาสตร์สังคม [27] หรือสังคมศาสตร์ อันมีนัยว่า เมื่อมีศาสนาอันประเสริฐแล้วยังต้องการเครื่องมือใดๆอีก

การ อธิบายนี้ต้อนไปสู่วิธีคิดเดิมแบบมุมมองพระเจ้าว่า ถ้าเช่นนั้น ควรจะให้การเมืองมาอยู่ในรูปของศาสนา หากเราต้องการสังคมอุดมคติที่สงบราบคาบ เนื่องจากว่า ศาสนา ก็คือ “ภาวะสมบูรณ์ของสิ่งที่เรียกว่า ศีลธรรม” [28]

ศีลธรรม - ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ! วิพากษ์พุทธทาสในวันล้ออายุปีที่ 105
ภาพถ่ายจากโปสเตอร์ในสวนโมกข์
“ถ้าศีลธรรมไม่กลับมาโลกาวินาศ
มนุษยชาติจะเลวร้ายกว่าเดรัจฉาน”

ใครว่าพุทธทาสโปรประชาธิปไตย?

ใน ที่สุดพุทธทาสก็เผยให้เห็นทัศนคติที่ไม่ไว้วางใจประชาธิปไตย เมื่อเขากล่าวว่า “โลกเรามีประชาธิปไตยกันมากี่สิบปีแล้ว แล้วโลกนี้เป็นอย่างไร มันมุ่งหมายไปรวมที่จุดไหน” [29] โดยที่เขาไม่ได้มองประชาธิปไตยในแง่หลักการของความเสมอภาค สิทธิเสรีภาพของมนุษย์ที่พึงจะมีจะได้ “ประชาธิปไตยเสรีนิยม” เป็นของต่ำที่ทำให้คนด้อยศีลธรรมหลงระเริงไปตามกิเลส เมื่อประชาธิปไตยเปิดโอกาสให้เสียงข้างมาก ก็ยิ่งเอื้อให้คนมีกิเลสมารวมหัวกัน [30] ทำให้สงสัยว่า ตกลงพุทธทาสกำลังเสนอทางออกให้กับผู้พิพากษาที่เป็นพระอรหันต์ผู้ไร้กิเลสแล้วหรืออย่างไร

ถ้ายังไม่ชัดเจน โปรดฟังคำปฏิเสธที่ขึงขังของเขาด้วยย่อหน้านี้

“เดี๋ยว นี้ มนุษย์เรามีความคิดอย่างที่พวกฝรั่งเขาคิดให้กลายเป็นว่า ทุกคนเสมอภาค คนที่มีการศึกษาแล้ว ก็ให้ทุกคนมีสิทธิปกครอง จนเกิดรูปประชาธิปไตยขึ้นมา...อาตมา ในฐานะประชาชน ไม่กลัวจะถูกใครจับไปฆ่า ไปแกง เพราะว่าไม่นิยมประชาธิปไตยแบบนี้ก็ได้ ไม่นิยมแน่ แต่นิยมประชาธิปไตยแบบสังคมนิยมตามหลักแห่งพระศาสนา ซึ่งประกอบด้วยธรรมแล้วก็มีวิธีดำเนินการอย่างเผด็จการ อย่างระบบทศพิธราชธรรมนั่นเอง” [31]

เพราะเชื่อในความเด็ดเดี่ยว เฉียบขาด จึงเชื่อในเผด็จการ

การ ประดิษฐ์คำใหม่ของพุทธทาส เป็นสิ่งที่สื่อให้เราเห็นภาพได้ชัดเจนที่สุดว่า พุทธทาสมีมุมมองทางการเมืองอย่างไร “ประชาธิปไตยเผด็จการ” ก็คือคำๆนั้น เผด็จการของพุทธทาสนั้นมีความหมายว่า การปฏิบัติที่ให้ผลเร็ว [32] แม้แต่องค์ศาสดาก็ถือว่าปฏิบัติงานอย่างเผด็จการ! “พระพุทธเจ้าท่านมีระบบสังคมนิยมแต่วิธีปฏิบัติงานเป็นเผด็จการ... ประชาธิปไตยมันโอ้เอ้ไม่ทำประโยชน์ให้ทันแก่เวลา...มันต้องมีการบังคับและ ให้ทำทันที...มิหนำซ้ำพระองค์เองก็ทรงบัญญัติว่า ทรงอยู่เหนือวินัย เช่นเดียวกับที่ว่ากฎหมายสมัยโน้น เขาบัญญัติใช้แก่ประชาชนไม่ใช้แก่พระราชา” [33]

การนิยามเช่นนี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึงนักปกครองในอุดมคติของชนชั้นนำอย่าง สฤษดิ์ ธนะรัชต์

เพื่อ ป้องกันการเข้าใจผิดต่อสังคมว่า ตนนิยมการเผด็จการทุกรูปแบบ พุทธทาสได้แปะท้ายกันประดักประเดิดไว้ว่า “ถ้าเผด็จการเป็นวิธีการดำเนินการที่ประกอบด้วยธรรมแล้วก็ใช้ได้เต็มที่” ปัญหาก็คือ ที่ผ่านมาเผด็จการทรราชย์ส่วนใหญ่ทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว มักจะอ้างว่าตนเองมีศีลธรรมมากพอที่จะกดหัวปกครองประชาชนทั้งนั้น ซึ่งนิยามดังกล่าวของพุทธทาสได้เสมือนกับออกใบรับรองเผด็จการทางการเมืองไป อย่างไม่รู้ตัว ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีสิ่งที่น่าขนลุก ถ้าไม่มีกิเลสไม่ต้องมีระบบการปกครองก็ได้ [34] ซึ่งแม้แต่ในสมัยพุทธกาลก่อนพระพุทธเจ้าปรินิพพาน แม้จะมีพระสงฆ์ไม่มีกิเลส (ถ้าเชื่อตามนั้นจริง) แต่พระพุทธเจ้าก็ยังต้องมีวินัยเพื่อควบคุมและบริหารคณะสงฆ์อยู่ดี

วรรณะทางชาติกำเนิดหมดไป แต่วรรณะโดยการงานต้องมีอยู่!

พุทธ ทาสได้นิยามนายทุน และกรรมาชีพอย่างผิดฝาผิดตัวกลับหัวกลับหาง เขากล่าวว่า ในพุทธกาล เศรษฐีที่เป็นนายทุนนั้นไม่ได้น่ารังเกียจรังงอน แทนที่จะตั้งแง่ใส่กัน ชนกรรมาชีพเสียอีกกลับจะบูชานายทุนา เนื่องจากว่าพวกนายทุนที่เป็นเศรษฐีเหล่านั้นเป็นเจ้าของโรงทาน เป็นผู้ให้ ต่างกันราวฟ้ากับเหวกับนายทุนปัจจุบันที่เป็นผู้กอบโกย ขณะที่ ทาสสมัยก่อนไม่อยากได้รับอิสรภาพ ไม่อยากไปจากเศรษฐีเนื่องจากมีคนเลี้ยงดูอุปถัมภ์ [35]

คำ อธิบายดังกล่าวตอกย้ำความชอบธรรมของสังคมที่เป็นลำดับชั้นและไม่เท่าเทียม ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แม้พยายามจะเอาตัวรอดว่า เขาก็ได้ปฏิเสธวรรณะทั้งสี่แบบเดิมเช่นกันว่า วรรณะทางชาติกำเนิดหมดไปแล้ว แต่ในที่สุดสิ่งที่ต้องมีอยู่นั่นคือ “วรรณะโดยการงาน” กรณีนี้คือยกผู้พิพากษาเป็นชนชั้นอภิสิทธิ์ เป็นวรรณปูชนียบุคคลดังที่กล่าวไปแล้ว [36]

พุทธ ทาสต้องการจะขับเน้นการเมืองแบบขาว-ดำ โดยให้ค่าว่าการปกครองโดยการควบคุมให้สังคมสงบราบคาบอย่างไม่ต้องเลือกวิธี การแต่ขอให้ผู้นำมีศีลธรรมนั้นประเสริฐ ซึ่งอยู่คนละฟากเหวกับประชาธิปไตยเสรีนิยมที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย เต็มไปด้วยคนพาลมากกิเลส ที่เป็นคนกลุ่มเดียวกันนี่แหละที่เรียกร้องสิทธิ ความเสมอภาคของกลุ่มคนชนชั้นล่าง พวกเขาไม่ใช่ “ปูชนียบุคคล” ไม่ใช่อภิสิทธิ์ชน บทบรรยายนี้แสดงให้เห็นความตระหนกต่อสถานการณ์บ้านเมืองของพุทธทาส และแสดงให้เห็นจุดยืนทางการเมืองของเขาอย่างกระจ่างชัด

“ถ้า เรามีระบบสังคมนิยมธัมมิกเผด็จการนี้ เราจะรับหน้าได้ แม้แต่ลัทธินายทุน และลัทธิบ้าเลือด แก้แค้น ของคนกรรมาชีพบางประเภทก็ตาม เพราะว่า มันจะเป็นอย่างที่เคยพูดกันมาแล้ว คือ สังคมนิยมอันบริสุทธิ์นี้ไม่สร้างทั้งนายทุนและไม่สร้างชนกรรมาชีพ จะสร้างแต่คนที่เป็นสัตบุรุษ หรือมนุษย์ที่ถูกต้องแต่อย่างเดียวที่อยู่ตรงกลางชนิดเดียว” [37]

 

นัยนอกใบสั่ง

หากพิจารณาจากความสัมพันธ์ใกล้ชิดของ พุทธทาสและสัญญา ธรรมศักดิ์แล้ว คำสอน ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ นั้น น่าจะเป็นสัญญาณตรงที่ส่งถึงสัญญา ธรรมศักดิ์ ผ่านมาทางผู้พิพากษา ที่จะปลุกปลอบให้กำลังใจและให้ความชอบธรรมแก่สัญญา ธรรมศักดิ์ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน

วรรคทองที่เขากล่าวไว้ถึงกับทำตัวเอียงเน้นไว้ด้วยซ้ำว่า “ถ้าคนดีเผด็จการ นั่นแหละดี ถ้าคนเลวก็ใช้ไม่ได้ เมื่อระบบสังคมนิยมดี มันต้องมีเครื่องมือเป็นเผด็จการ” [38] สารถึง สัญญา ธรรมศักดิ์นั้น ในอีกด้านหนึ่งยังสร้างความชอบธรรมให้อำนาจของตุลาการ และชนชั้นนำที่กำลังหาคำอธิบายและวิธีจัดการกับความไม่สงบเรียบร้อยในประเทศ

ความตาย และความเงียบหายของแก่นธรรม

วลี อันเลือดเย็น “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” ที่ถูกจับใจความมาจากบทสัมภาษณ์ของ กิตติวุฒโฒ ใน จัตุรัส ฉบับเดือนมิถุนายน 2519 ในสายตาของคนรุ่นปัจจุบันเห็นว่าเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ และเชื่อว่าจะถูกประณามจากฝ่ายประชาธิปไตยไปอีกแสนนาน อย่างไรก็ตามก่อนกิตติวุโฑจะตกเป็นจำเลย เราพบว่าใน ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ ฯ พุทธทาสก็ยกเรื่องการ “ฆ่า” ที่สอดรับการวิธีคิดแบบเผด็จการว่า “วิธีดำเนินการเป็นเผด็จการ ใครไม่ทำไม่ได้ จะฆ่าเลย ถ้าเป็นการฆ่าตามแบบของพระพุทธเจ้านั้น คือ ไม่ยุ่งด้วยอีกต่อไป นั่นแหละคือการฆ่าตามแบบของพระพุทธเจ้าที่จะ ฆ่าคน คือ จะไม่ยุ่งด้วยกับคนๆ นั้น อีกต่อไป การฆ่ากันอย่างมนุษย์ คือการฆ่าให้ตาย ถ้าในอริยวินัยแล้ว การฆ่าใคร ก็คือ ไม่ยุ่งกับคนนั้นอีกต่อไป ท่านมีเผด็จการอย่างนี้” [39]

ส่วนการ “ฆ่า” แบบเห็นเลือดเห็นเนื้อ ตายจริงเจ็บจริง พุทธทาสอ้างถึงพระเจ้าอโศกว่า

“วิธี ดำเนินการของพระเจ้าอโศกนี้เฉียบขาด เป็นเผด็จการ จึงทำให้มีการฆ่ากระทั่งพระสงฆ์ พระสงฆ์จำนวนหนึ่งถูกฆ่าไปโดยเหตุที่ว่า พระเจ้าอโศกยืนยันให้มีประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้อง...แต่พระเจ้าอโศกมหาราชนี้ ไม่ใช่ทุรราช เพราะเป็นผู้กระทำทุกกระเบียดนิ้ว เพื่อประโยชน์แก่สังคม...เป็นเผด็จการอะไรก็ตาม แต่ว่าไม่ได้เผด็จการที่เอามาให้แก่ตัวเอง”

ความรุนแรงที่แฝงอยู่ระหว่างบรรทัดนี้ พาให้ผู้เขียนยังรู้สึกมือเย็นตีนเย็นไปชั่วขณะ

หลัง การล้อมปราบและสังหารประชาชนกลางเมืองของเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ภาพการฆ่าและการทารุณกรรมผู้เสียชีวิตอย่างโหดเหี้ยมถูกเผยแพร่ออกมาแม้จะ ไม่ใช่ทั้งหมด แต่ก็น่าจะเป็นการรับรู้กันทางสาธารณะบ้างแล้ว จากเอกสารหลักฐานร่วมสมัย ผู้เขียนยังไม่พบว่าพุทธทาสอธิบายเหตุการณ์อันสยองขวัญนั้นอย่างไร ในบรรยากาศเช่นนั้น พุทธทาสกลับไม่เคลื่อนไหว อำนาจโดยธรรมของเขาไปอยู่ที่ไหนกันเล่า อะไรที่ทำให้เขาอยู่ในสภาวะเงียบงันเช่นนั้น ยังไม่มีใครพบคำตอบ

หรือแท้จริงแล้วยังไม่มีใครตั้งคำถามในเรื่องนี้?

อาจกล่าว ได้ว่า เราไม่สามารถหาตำแหน่งแห่งที่ของพุทธทาส ที่เหมาะเจาะพอดีกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ได้ หากก่อนหน้านั้นพุทธทาสไม่ได้ยุ่งเกี่ยว ไม่ได้ใช้คำสอนเพื่อผลทางการเมือง เรื่องนี้ก็จะไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องแปลกที่จะไม่มีการกล่าวถึงในประวัติ พุทธทาสเลย ตามที่ชี้ให้เห็นแล้วว่า พุทธทาสเล่นการเมืองมากกว่าที่เราคิด เสียงที่ตะโกนจนแสบแก้วหูเพื่อให้ธรรมครองโลก [40] กลับเงียบลงก่อนสิ้นสุดเสียงปืนและกลิ่นยางและเนื้อไหม้ของมนุษย์เสียอีก

 

พุทธทาสคอนเนคชั่น กับ การสืบต่อแนวคิดให้ธรรมะเป็นใหญ่

รูป ปฏิมาและคำสอนของพุทธทาส ในทุกวันนนี้เป็นสิ่งที่ขายได้ในสังคมเมืองที่มากไปด้วยความทุกข์แบบปัจเจก คำสอนของเขามักถูกหยิบยกมาอ้างอิง บ้างก็ลอกมาใช้แบบระมัดระวังบริบท แต่ส่วนมากก็ลอกมาใช้แบบผิดฝาผิดตัว โดยเฉพาะคำสอนที่กระทบชิ่งถึงการเมือง โดยเฉพาะคติเผด็จการโดยธรรม ยกยอเชิดชูคนดี ความดี-ศีลธรรม ยังเป็นที่นิยมติดปากอยู่เสมอ อาจกล่าวได้ว่าเป็นที่หลักธรรม-การเมืองที่ถูกใช้อ้างอิงอย่างหนักหน่วงใน ช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ เราจะพบจากปลายปากกาทั้ง นักวิชาการรัฐศาสตร์อย่าง วีระ สมบูรณ์, พระนักเทศนา ผู้สร้างประวัติศาสตร์จากการเทศนาหลังละครคาวโลกีย์แห่งปี ว.วชิรเมธี, สื่อมวลชน เปลว สีเงิน, อดีตนายกรัฐมนตรีเอนกประสงค์ อานันท์ ปันยารชุน, กวีซีไรท์ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ฯลฯ

ล่าสุดก็คือบทสัมภาษณ์ สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ เจ้าของบริษัท ทีวีบูรพา ผู้ผลิตรายการชื่อดังอย่าง ฅน ค้นค้น, กบนอกกะลา ฯลฯ “"ท่านพุทธทาสท่านพูดว่า ถ้ามีธรรมะแล้ว ก็ไม่ต้องมีการเมือง ประเทศไทยภายใต้ธรรมนิยมคือ มีความเข้าใจในความเป็นจริง เข้าใจความเป็นไปของชีวิต เข้าใจความเป็นไปของโลก และเท่าทันมัน ในเชิงธรรมะสุดท้ายแล้วชีวิตก็เป็นเรื่องชั่วคราว สุดท้ายตายแล้ว ก็เอาอะไรไปไม่ได้"” [41]

หอ จดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ หรือที่รู้จักในนามลำลองว่า สวนโมกข์กรุงเทพฯ คือรูปธรรมของการทำให้พุทธทาสกลายเป็นสถาบัน และฉายภาพความเป็นพระขวัญใจของชั้นกลางและชนชั้นนำที่ชัดเจนที่สุด โครงการนี้ เกษม วัฒนชัย (องคมนตรี) เป็นประธานกรรมการจัดตั้งฯ ชฎา วัฒนศิริธรรม (แบงค์ไทยพาณิชย์) เป็น ประธานคณะกรรมการสนับสนุนทุนจัดตั้ง ในวงเงินเบาะๆ 185 ล้านบาท

สวนโมกข์กรุงเทพ - ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ! วิพากษ์พุทธทาสในวันล้ออายุปีที่ 105
หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
หรือที่รู้จักในนามลำลองว่า สวนโมกข์กรุงเทพฯ
ตั้งอยู่บริเวณสวนรถไฟ

ใน ทำนองเดียวกันกับหลังเหตุการณ์ล้อมฆ่าประชาชนในปี 2519 คำสอนแบบพุทธทาสนั้น ได้มีปัญหาอีกครั้งกับการไม่ลงรอยต่อการอธิบายปรากฏการณ์ล้อมฆ่ากลางเมือง เดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 เราไม่ปรากฏนักศีลธรรมสายพุทธทาสออกมา อธิบายเหตุการณ์ดังกล่าวด้วยธรรมะ ในทางกลับกันพวกเขากลับเป็นฝ่ายไปเป็นส่วนหนึ่งของกลไกอันไม่ชอบธรรมที่ รัฐบาลอันเป็นคู่กรณีโดยตรงกับผู้เสียชีวิต ตั้งขึ้นมา ในกรณีการเข้าไปเป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยของ พระไพศาล วิสาโล [42] ผู้ที่มีภาพลักษ์ใส่ใจสังคมและความเป็นธรรม มองปัญหาสังคมเชิงโครงสร้าง และยังอาจนับได้ว่าเป็นพระที่อยู่ในข่ายลูกศิษย์พุทธทาส

สิ่ง ที่เกิดขึ้นหลังเหตุ 6 ตุลา 19 และ เมษา-พฤษภา 53 เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ดีถึงว่า หลักศีลธรรมแบบพุทธทาสที่เชื่อว่ามีคุณค่าบริสุทธิ์ผุดผ่องเป็นสัจพจน์นั้น หาได้อกาลิโก อธิบายได้ไม่จำกัดกาลสถานที่แต่อย่างใดไม่

หรือว่าคำ ถามของ ธงชัย วินิจจะกูล ที่มีต่อกลุ่มเป้าหมายซีกฝ่ายขวาในสมัย 6 ตุลา 19 เพื่อเข้าใจความคิดความรู้สึกนึกคิดของพวกเขา อันจะนำมาซึ่งการเข้าใจประวัติศาสตร์บาดแผล ความรุนแรง เพื่อมิให้เกิดสิ่งเหล่านี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าอีกในสังคมไทยนั้น [43] เป็นการสัมภาษณ์ที่ผิดฝาผิดตัว หรือว่าอันที่จริงแล้วเป้าหมายของการทำความเข้าใจควรจะเปลี่ยนไปเป็นฝ่ายที่ วางตัวเป็นคนดีมีศีลธรรมในยุคนั้นต่างหาก เหตุใดพวกเขาจึงนิ่งเฉยต่อการหลั่งเลือด และการย่ำยีความตายของสามัญชนทั้งสองเหตุการณ์

นั่นอาจพอทำให้เราเข้าใจสังคมไทยและประเมินสถานการณ์ต่อสังคมมือถือสากปากถือศีลได้อย่างสมจริงมากขึ้น.

 

อ้างอิง:

  1. บท ความนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากการสนทนาในชั้นเรียนของ ศาสตราจารย์สายชล สัตยานุรักษ์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อหลายปีที่ผ่าน อนึ่งวันล้ออายุ ก็คือ วันคล้ายวันเกิดของพุทธทาส ซึ่งตรงกับวันที่ 27 พฤษภาคมของทุกปี
  2. ธัมมิ กสังคมนิยมแบบเผด็จการ โดย พุทธทาสภิกขุ พิมพ์แจกเป็นที่ระลึกในงานฌาปนกิจศพ นางมณฑา หมื่นนิกร ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม กรุงเทพมหานคร วันเสาร์ที่ 13 ธันวาคม 2518 (กรุงเทพฯ : อักษรสัมพันธ์), 2518, น.119-120
  3. เคย มีบทความที่วิจารณ์พุทธทาสในกรณีการเมืองเช่นกัน แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดอย่างเป็นระบบ ดูใน วันพัฒน์ ยังมีวิทยา. ความอันตรายของวาทกรรม“ประชาธิปไตยที่แท้จริง”. http://www.prachatai.com/journal/2010/04/28653 (2 เมษายน 2553)
  4. พุทธทาสศึกษา. "ปฏิทินชีวิต 80 ปี ท่านพุทธทาส (2449-2529)" http://buddhadasa.org/html/life-work/bio/80yrs.html (25 พฤษภาคม 2554)
  5. พระศรีปริยัติโมลี. ปรีดี-พูนศุข พนมยงค์. "ปรีดี พนมยงค์ กับพระพุทธศาสนา" http://www.pridi-phoonsuk.org/pridi-and-buddhism/ (25 กุมภาพันธ์ 2543)
  6. กุหลาบ สายประดิษฐ์. บันทึกสวนโมกข์ : ความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมและการบังคับตน (กรุงเทพฯ : วิชญา ), 2548.
  7. “ปรีดี-กุหลาบ-พุทธทาสภิกขุ : สามัญชนที่หล่นหายในการตัดต่อความทรงจำ” http://www.prachatai.com/journal/2006/06/8817 (27 มิถุนายน 2549) อนึ่งกล่าวได้ว่า บุคคลทั้ง 3 ได้รางวัลยูเนสโก เมื่อครบ 100 ปีชาตกาล (ปรีดี ปี 2542, พุทธทาสปี 2548 และกุหลาบ ปี 2548)
  8. ดูตัวอย่างได้ใน “ประชุมเพลิงพุทธทาสภิกขุ 1/5” http://www.youtube.com/watch?v=yeeDn9z-nJc (28 กันยายน 2552)
  9. พุทธทาสศึกษา. “ชีวิตและผลงานพุทธทาสภิกขุ” http://www.buddhadasa.org/html/life-work/bio/bio_short.html (22 พฤษภาคม 2554 )
  10. พระประชา ปสนฺนธมฺโม. "เริ่มงานหนังสือพิมพ์และชีวิตนักเขียน" ใน เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา อ้างจาก พุทธทาสศึกษา. http://buddhadasa.org/html/life-work/bio/tell_chapter3-08.html (25 พฤษภาคม 2554)
  11. ชุมนุมข้อคิดอิสระ พุทธทาสภิกขุ (พิมพ์ ครั้งที่ 5, กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ), 2538 อ้างใน http://www.buddhadasa.com/freethinkbook/anata.html และ http://www.buddhadasa.com/freethinkbook/realhuman.html และ http://www.buddhadasa.com/freethinkbook/addict.html และ http://www.buddhadasa.com/freethinkbook/monk.html (26 พฤษภาคม 2554)
  12. ฉลอง สุนทรวาณิชย์. "ข้อมูลรองรับอย่างเป็นวิทยาศาสตร์และการทำตลาดพระเครื่องไทย เมื่อพระเครื่องก้าวขึ้นเป็นสุดยอดของเครื่องรางไทย" เผยแพร่ใน เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน. http://61.47.2.69/~midnight/midnight2544/0009999648.html (20 มิถุนายน 2550) และ "ธุรกิจพระเครื่อง เงินสะพัดหมื่นล้าน "มวลสาร" ที่แพงสุดในโลก" ถูกอ้างใน http://www.itti-patihan.com/ธุรกิจพระเครื่อง-เงินสะพัดหมื่นล้าน-มวลสาร-ที่แพงสุดในโลก.html (26 พฤษภาคม 2554)
  13. พุทธทาสศึกษา. “ปฏิทินชีวิต 80 ปี ของท่านพุทธทาส” http://www.buddhadasa.org/html/life-work/bio/80yrs.html (23 พฤษภาคม 2554)
  14. พุทธทาสศึกษา. “ปฏิทินชีวิต 80 ปี ของท่านพุทธทาส” http://www.buddhadasa.org/html/life-work/bio/80yrs.html (23 พฤษภาคม 2554)
  15. อรุณ เวชสุวรรณ. วิวาทะ (ความเห็นไม่ตรงกัน) ระหว่าง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กับท่านพุทธทาสภิกขุ (กรุงเทพฯ : อรุณวิทยา), 2554 หรือจะดูฉบับออนไลน์ก็ได้ที่ "วิวาทะ ระหว่าง ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช กับ ท่านพุทธทาสภิกขุ". http://www.dharma-gateway.com/ubasok/kukrit/kukrit-09-01.htm (26 พฤษภาคม 2554)
  16. 100 ปี ร้อยจดหมาย พุทธทาส-สัญญา (กรุงเทพฯ : แปลน รีดเดอร์ส), 2550, น. บทนำ
  17. พุทธทาสศึกษา. “ปฏิทินชีวิต 80 ปี ของท่านพุทธทาส” http://www.buddhadasa.org/html/life-work/bio/80yrs.html (23 พฤษภาคม 2554)
  18. เกรียง ศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช. เหตุการณ์การเมืองไทย 2516-2519 (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์), 2551, น.4-13 และสามารถอ่านคำอธิบายของการลุกฮือของจีนชั้นล่าง ที่ศึกษาจากกรณีจลาจลพลับพลาไชยในปี 2517 ได้จาก สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์. 'ชีวิตสามัญชนจีนในกรุงเทพฯ ระหว่าง พ.ศ. 2500-2517,' วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2553
  19. ธัม มิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ โดย พุทธทาสภิกขุ พิมพ์แจกเป็นที่ระลึกในงานฌาปนกิจศพ นางมณฑา หมื่นนิกร ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม กรุงเทพมหานคร วันเสาร์ที่ 13 ธันวาคม 2518 (กรุงเทพฯ : อักษรสัมพันธ์), 2518
  20. 100 ปี ร้อยจดหมาย พุทธทาส-สัญญา (กรุงเทพฯ : แปลน รีดเดอร์ส), 2550, น.445-446
  21. ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ ฯ, 2518, น.26
  22. ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ ฯ, 2518, น.42
  23. ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ ฯ, 2518, น.54
  24. ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ ฯ, 2518, น.59
  25. ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ ฯ, 2518, น.123
  26. ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ ฯ, 2518, น.67
  27. ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ ฯ, 2518, น.67
  28. ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ ฯ, 2518, น.77
  29. ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ ฯ, 2518, น.80
  30. ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ ฯ, 2518, น.81
  31. ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ ฯ, 2518, น.113
  32. ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ ฯ, 2518, น.84-85
  33. ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ ฯ, 2518, น.103
  34. เพื่อ ความเป็นธรรมแก่พุทธทาส รูปประโยคต่อจากนี้คือ “...แต่ดูจะเป็นความหวังที่เลื่อนลอย ที่ว่ามนุษย์จะอยู่กันโดยไม่มีระบบการปกครอง นี้จะมีได้ก็แต่ในโลกของพระอริยเจ้าเท่านั้น” ดูใน ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ ฯ, 2518, น.85-86
  35. ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ ฯ, 2518, น.107
  36. ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ ฯ, 2518, น.114-115
  37. ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ ฯ, 2518, น.120-121
  38. ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ ฯ, 2518, น.112
  39. ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ ฯ, 2518, น.103-104
  40. นอก จากหนังสือ ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ ที่มาจากการบรรยายในปี 2517 แล้ว ในเวลาที่ใกล้เคียงกับการปราบปราม ยังพบว่าในช่วงอาสาฬหบูชา เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2519 พุทธทาส ก็ยังได้บรรยายธรรมะที่เกี่ยวข้องกับการเมืองมากๆ ใน “ธรรมะกับการเมือง” (กว่าจะตีพิมพ์ก็ล่วงมาถึงปี 2522 แล้ว) ผู้เขียนได้ค้นพบประวัติการบรรยายดังกล่าวจากบทความนี้ วีระ สมบูรณ์ “ธรรมะกับการเมือง” ของ พุทธทาสภิกขุ ตีพิมพ์ครั้งแรกใน มติชนสุดสัปดาห์ ระหว่างเดือนตุลาคม 2549 ถึง กุมภาพันธ์ 2550 อ้างถึงใน พุทธทาสศึกษา. "ธรรมะกับการเมือง" ของ พุทธทาสภิกขุ. http://www.buddhadasa.in.th/site/articles/politic/politic.php (25 พฤษภาคม 2554)
  41. มติชนออนไลน์. ฅ.คนค้น ′ประเทศไทย′ ′เช็ค สุทธิพงษ์′ เค้น ′พินอคคิโอ′ ในจอ ′ธรรมะนิยม′. http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1306070426&grpid=01&catid&subcatid (22 พฤษภาคม 2554)
  42. ดูการวิพากษ์พระไพศาล ในกรณีดังกล่าวได้ใน สุรพศ ทวีศักดิ์: “พระไพศาล วิสาโล” พระสงฆ์เป็นเครื่องมือของรัฐ. ประชาไทออนไลน์. http://www.prachatai.com/journal/2010/09/31058 (12 กันยายน 2553)
  43. "ธงชัย วินิจจะกูล : ความทรงจำ ภาพสะท้อนและความเงียบในหมู่ฝ่ายขวาหลังการสังหารหมู่ 6 ตุลา". ประชาไทออนไลน์. http://www.prachatai.com/journal/2007/11/14920 (24 พฤศจิกายน 2550)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท