Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

Enemies of the People ฉันอยู่นี่...ศัตรูที่รัก [1] (บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์) ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Enemies of the People [2] หรือชื่อไทยว่า ‘ศัตรูประชาชน’ เกิดขึ้นจากคำถามในใจของผู้กำกับร่วม เต็ต สมบัติ (Thet Sambath) ซึ่งเป็นคำถามเดียวกับคำถามที่คนทั้งโลกเฝ้าสงสัยมาเป็นเวลากว่าสามสิบปีว่า “ทำไมจึงมีผู้คนเสียชีวิตมากมายกว่าสองล้านคนในระยะเวลาเพียง 4 ปี (1975-1979) ที่เขมรแดง (Khmer Rouge) ปกครองกัมพูชา” เต็ต สมบัติในฐานะเหยื่อคนหนึ่งของระบอบเขมรแดง -เนื่องจากพ่อของเขาถูกทหารเขมรแดงฆ่าตาย แม่ถูกบังคับให้แต่งงานกับทหารเขมรแดงและตายเนื่องจากคลอดลูก อีกทั้งพี่ชายก็หายสาบสูญไปช่วงนั้น- เฝ้าเก็บความสงสัยและความเจ็บปวดไว้ในใจมาตลอดชีวิต จนเมื่อเขามีโอกาสใกล้ชิดกับนวน เจีย ผู้เป็นที่รู้จักกันดีในนามพี่ชายหมายเลขสองของระบอบเขมรแดง (พี่ชายหมายเลขหนึ่งคือพอล พต) เต็ต สมบัติ ตัดสินใจว่า เขาต้องทำสารคดีเพื่อหาคำตอบให้กับคำถามนี้ ส่วนหนึ่งเพื่อบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ และส่วนหนึ่งเพื่อปลดปล่อยและเยียวยาบาดแผลในจิตใจของตัวเขาเอง [3] เช่นที่มีคนเคยกล่าวไว้ว่า “ภาพยนตร์สารคดีคือความจริงในสายตาผู้เล่าเรื่อง” เต็ต สมบัติพาคนดูติดตามระยะเวลากว่าสิบปีที่เขาร่วมงานกับนวน เจีย ในฐานะคนทำหนังสารคดีและบุคคลที่เป็นประเด็นของหนัง (Subject) พาไปดูกระบวนการทำงานและความยากลำบากที่เขาต้องเผชิญในฐานะคนทำหนังเมื่อบุคคลที่เป็นประเด็นของหนังอย่าง นวน เจีย ที่แม้จะสูงวัย แต่ยังคงมีลักษณะของนักการเมืองผู้ผ่านสนามมาอย่างโชกโชน เต็ต สมบัติ พาคนดูไปสัมผัสกับชีวิตของเขาหลังจากสูญเสียพ่อแม่และความรู้สึกของครอบครัวที่แม้จะไม่เห็นด้วยแต่ก็ไม่เคยคัดค้านตลอดเวลากว่าสิบปีที่เขาทุ่มเทให้กับการค้นหาความจริงมากกว่าสิ่งอื่นใด เต็ต สมบัติพาคนดูไปพบไปพูดคุยกับอดีตนักฆ่าแห่งทุ่งสังหารผู้เคยปลิดชีวิตประชาชนชาวกัมพูชาศพแล้วศพเล่าในยุคเขมรแดงเรืองอำนาจ เหนือสิ่งอื่นใด คือคำบอกเล่าของนวน เจีย เกี่ยวกับการปกครองและอุดมการณ์ทางการเมืองของเขมรแดง ซึ่งอาจจะถือได้ว่าเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสุดท้ายที่เหลืออยู่หลังการเสียชีวิตของพอล พต ในแง่ของกลวิธีการเล่าเรื่อง Enemies of the People อาจจะไม่มีอะไรน่าสนใจมากนัก เมื่อเทียบกับสารคดียุคใหม่ แม้กระทั่งสารคดีเกี่ยวกับเขมรแดงอย่าง S-21: The Khmer Rouge Killing Machine ของผู้กำกับฤทธี ปาน (Rithy Panh) ที่นำผู้รอดชีวิต 2 คนจากคุกตวลสแลงหรือ Security Prison 21 มาเผชิญหน้ากับผู้คุม, ผู้ทำประวัติ, แพทย์ และช่างภาพที่เคยทำงานในคุกตวลสแลงภายใต้ระบอบเขมรแดง การเล่าเรื่องของ Enemies of the People นั้นเรียบง่ายตรงไปตรงมา ผ่านมุมมองของเต็ต สมบัติ ในฐานะเหยื่อของระบอบเขมรแดง แต่สิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้ในสารคดีเรื่องนี้คือข้อมูลทางประวัติศาสตร์จากปากของผู้นำเขมรแดงระดับสูงอย่างนวน เจีย เพราะหลังจากยุคเรืองอำนาจของเขมรแดงสิ้นสุดลง มีหนังสือและตำราวิชาการมากมายที่เขียนและวิเคราะห์ถึงความโหดร้ายและความเป็นมาเป็นไปของระบอบเขมรแดง แต่ข้อมูลทั้งหมดล้วนแล้วแต่มาจากสองฝ่ายคือ 1) เหยื่อของระบอบเขมรแดงชาวกัมพูชา 2) นักวิชาการและนักเขียนต่างชาติ แต่ไม่เคยมีใครได้รับรู้ถึงอุดมการณ์เบื้องหลังและวิธีคิดของเหล่าผู้นำระดับสูงอันเป็นที่มาของปรากฏการณ์ทุ่งสังหาร ข้อสังเกตที่น่าสนใจประการหนึ่ง คือการปฏิวัติในสังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ว่าจะเป็นลาว, กัมพูชา หรือเวียดนามมักจะไม่ใช่การปฏิวัติตามอุดมการณ์ชนชั้นแบบมาร์กซ์หรือเลนิน แต่อาศัยประโยชน์จากลัทธิชาตินิยมมาเป็นฐานในการปฏิวัติ ในกรณีเขมรแดงก็เช่นกัน นอกจากการปลดปล่อยประชาชาติกัมพูชาจากจักรวรรดินิยมอเมริกาแล้ว หลังจากปฏิวัติกัมพูชาสำเร็จ นวน เจีย เล่าให้เต็ต สมบัติ ฟังว่า หลังจากปฏิวัติกัมพูชาสำเร็จ ตัวเขาและพอล พต พยายามสร้างสังคมที่เท่าเทียม ก้าวหน้า และสงบสุข แต่เขมรแดงทำพลาดเมื่อปล่อยให้ศัตรูแทรกซึมเข้ามาทำลาย ดังนั้นเขาจึงยืนยันว่าสิ่งที่เขาและพอล พต ทำลงไปนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะคนเหล่านั้นเป็น ‘ศัตรูของประชาชน’ นอกจากนวน เจีย แล้ว การติดตามไปสัมภาษณ์มือสังหารระดับหมู่บ้านและผู้นำระดับแขวงในยุคเขมรแดงก็เป็นส่วนที่น่าสนใจมากเช่นกัน มือสังหารในระดับหมู่บ้านอย่างลุงสูนและลุงคูนอาจจะฆ่าคนเพียงเพื่อเอาตัวรอดในยุคเขมรแดง แต่สิ่งที่น่าสนใจคืออุดมการณ์เบื้องหลังความคิดของผู้นำระดับแขวงอย่างป้าเอมที่กล่าวกับเต็ต สมบัติว่า เธอเสียใจเสมอเมื่อนึกว่าตัวเองอาจจะเคยออกคำสั่งสังหารผู้บริสุทธิ์ แต่ไม่เคยเสียใจที่ออกคำสั่งสังหารผู้ทรยศชาติทรยศแผ่นดิน และแม้กระทั่งวันที่เต็ต สมบัติ พามือสังหารระดับหมู่บ้านทั้งสองคนไปพบกับนวน เจีย นวน เจียยังบอกกับมือสังหารทั้งสองคนว่า พวกเธอจงภูมิใจที่ได้มีโอกาสทำเพื่อชาติ ความหมายของชาติในสายตาของป้าเอมและนวน เจีย นั้นน่าสนใจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อเทียบเคียงกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดในประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงในเวลานี้ แม้ว่าจะเป็นการเปรียบเทียบต่างยุคต่างสมัยก็ตาม เพราะในยุคสมัยของเขมรแดง เป็นช่วงที่สงครามเย็นส่งผลกระทบไปทั่วภูมิภาคเอเชีย และเป็นช่วงใกล้เคียงกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 (1973) และ 6 ตุลาคม 2519 (1976) ในประเทศไทย ความหวาดระแวงการล้มครืนของโดมิโนและการปะทะกันของสองขั้วอำนาจคอมมิวนิสต์อย่างจีนและโซเวียตได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนคนธรรมดาในกัมพูชาอย่างมหาศาล แต่ในยุคโพสต์โมเดิร์น-ในศตวรรษที่ 21-ในประเทศเพื่อนบ้านของกัมพูชา ไม่น่าเชื่อว่าอุดมการณ์ชนิดและรูปแบบเดียวกันยังสามารถทำงานรับใช้ผู้กำหนดนิยามคำว่า ‘ชาติ’ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้อุดมการณ์ชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ (อุดมการณ์หลักของชาติ) เราสามารถมองดูเพื่อนร่วมชาติตายไปโดยไม่รู้สึกอะไรเพราะเขาและเธอเหล่านั้นเป็นศัตรูของชาติ ภายใต้อุดมการณ์ชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ เราต้องไล่ล่าและทำลายล้างผู้คนที่มีความคิดเห็นแตกต่างเพราะเขาและเธอเหล่านั้นเป็นภัยต่อสถาบันหลัก ภายใต้อุดมการณ์ชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ เราสนับสนุนให้กองทัพทำสงครามกับประเทศเพื่อนบ้าน ภายใต้อุดมการณ์ชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ หลายคนเชื่อว่า ตนเองกำลังทำสิ่งที่ถูกต้องในการปกป้องความเป็นชาติไทย ไม่ต่างกับที่นวน เจีย ยืนยันว่าเขาและพอล พตได้ทำในสิ่งที่ถูกต้องเพื่อไม่ให้กัมพูชาสิ้นชาติสิ้นแผ่นดิน .................................... หมายเหตุ Enemies of the People เข้าฉายที่โรงเอสเอฟซีนีม่า เซ็นทรัลเวิลด์ ตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2554 ในโครงการ Director’s Screen Project ของบริษัทเอ็กซ์ตร้า เวอร์จิ้น http://www.extravirginco.com/enemiesofthepeople อ้างอิง ชื่อหนังสือรวมเรื่องสั้นของ ส. เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา ชมตัวอย่างภาพยนตร์ Enemies of the People และข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://enemiesofthepeoplemovie.com/ อ่านความคิดเห็นของผู้กำกับ “เสวนา : “Enemies of the people” ว่าด้วยเบื้องหลังการฆ่าล้างศัตรูประชาชน” http://www.prachatai3.info/journal/2011/05/34678

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net