มองต่าง ‘สมชัย สุวรรณบรรณ’ : บทบาทสื่อใหม่กับการเลือกตั้ง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

แน่นอนว่าการเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้านี้ คือหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญที่จะมีผลกระทบต่อประชาชนคนไทยทั้งประเทศในระยะยาว และสื่อจะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งยวดในการนำพาข่าวสารไปให้ประชาชนประกอบการ พิจารณาตัดสินใจเลือกผู้แทนไปทำหน้าที่แทนตนตามวิถีทางประชาธิปไตย

เมื่อสมชัย สุวรรณบรรณ เขียนบทความเรื่อง “การเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ กับ ปัญหาสื่อชนเผ่า (partisan press)” และเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย ของสถาบันอิศรา เมื่อ 17 พ.ค. ที่ผ่านมา ทำให้ผู้เขียนย้อนนึกถึงบรรดาปัญหาอุปสรรคในการเปลี่ยนแปลงสื่อให้เป็น ประชาธิปไตยตลอดระยะเวลากว่าสิบปี เพราะเมื่อมีวาระทางสังคมคราวใด สื่อมักถูกตั้งคำถามถึงบทบาทและการทำหน้าที่เสมอมา แต่ก็น่าแปลกที่ไม่มีการปฏิรูประบบหรือโครงสร้างสื่อที่รัฐผูกขาดกรรมสิทธิ์ อยู่ เพื่อให้สื่อทุกประเภทได้เกิดขึ้นและทำหน้าที่สนองตอบสาธารณะตามบริบทของตน ซ้ำเสียงของสื่อกระแสหลักที่อยากเห็นการปฏิรูประบบกลับแผ่วเบาจนน่าใจหาย

การเลือกตั้งผู้แทนราษฎรในหนนี้ก็เช่นกัน สมชัย สุวรรณบรรณ ซึ่งดำรงตำแหน่งกรรมการนโยบายขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่ง ประเทศไทย และอดีตหัวหน้าแผนกภาษาไทยของบีบีซี ได้ขมวดปมปัญหาของสื่อไปถึงสิ่งที่เรียกว่า “สื่อชนเผ่า” หรือ partisan press โดยให้นิยามความหมายที่จำกัดและมุ่งเป้าไปที่สื่อใหม่ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นประเด็นที่สาธารณชนควรพิจารณาให้ถี่ถ้วนและไม่หลง ลืมด้านที่ไม่ถูกพูดถึง ไม่เช่นนั้นแล้วอาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ว่าสื่อที่เกิดขึ้นใหม่เป็นสิ่งที่ ทำลายประชาธิปไตย  

พิจารณาจากข้อเขียนดังกล่าวอาจสรุปมุมมองของสมชัยได้ว่า “สื่อชนเผ่า” หมายถึง สื่อเฉพาะกลุ่มที่มีวาระทางการเมืองและอาจนำพาประเทศไปสู่ระบอบอำนาจนิยมที่ มีลักษณะการปกครองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ สื่อสารครอบงำด้วยข้อมูลด้านเดียวจนอาจนำไปสู่การชักชวนให้ละเมิดสิทธิของ ผู้อื่นหรือให้กระทำผิดกฎหมาย โดยมีบุคคลคอยบงการหรือควบคุมสื่อเหล่านี้  และท้ายสุดระบุว่า ปัจจุบันอยู่ในรูปของทีวีดาวเทียม สื่อออนไลน์ และวิทยุชุมชนหรือวิทยุขนาดเล็กของกลุ่มการเมือง

แน่นอนเช่นกันว่าสื่อที่นำพาประเทศไปสู่ระบอบเผด็จการหรือยอมรับอำนาจของ ผู้ทำรัฐประหาร ครอบงำความคิดประชาชน ชักชวนให้ไปทำร้ายหรือฆ่าผู้อื่น รวมทั้งการสื่อสารด้วยถ้อยคำที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังทั้งหลาย ย่อมเป็นสื่อที่เป็นปฏิปักษ์กับสังคมประชาธิปไตยและสาธารณชนไม่ควรยอมให้ เกิดขึ้น

หากแต่ข้อเขียนชิ้นนี้ได้ระบุเจาะจงและมุ่งเป้าไปเฉพาะสื่อที่เกิดขึ้น ใหม่ โดยหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึงสื่อกระแสหลักอย่างสื่อของรัฐและสื่อที่เอกชนได้ รับสัมปทานและดำเนินการเชิงพาณิชย์ทั้งวิทยุและโทรทัศน์ ซึ่งต้องหมายรวมถึงสถานีโทรทัศน์สาธารณะอย่างทีวีไทยที่เกิดขึ้นภายหลังการ รัฐประหาร 19 กันยา ด้วย เพราะสื่อกระแสหลักเองก็อาจตกอยู่ในฐานะของสื่อชนเผ่าในนิยามของสมชัยได้ เช่นกันเมื่อพิจารณาในมิติของเนื้อหา และก็ปรากฏให้เห็นชัดเจนในบางรายการของสถานีวิทยุโทรทัศน์ช่อง 11  กรมประชาสัมพันธ์

การเกิดขึ้นและแพร่หลายของสื่อใหม่อย่างวิทยุขนาดเล็ก สื่อออนไลน์ และโทรทัศน์ดาวเทียมในปัจจุบัน  นอกจากเหตุผลในเรื่องความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการเข้าถึงโดยง่ายแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งคือการที่สื่อกระแสหลักไม่สามารถทำหน้าที่ตอบสนองในด้าน ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะได้ครบถ้วน และประการหลังนี้คือประเด็นใหญ่ที่สะท้อนปัญหาเรื่องสิทธิการสื่อสารในสังคม ไทยตลอดมา ทั้งที่จริงสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและสิทธิในการแสดงความคิดเห็นถือ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ดังนั้นการอ้างถึงหลักจริยธรรมและจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อกระแส หลักเข้าเทียบกับสื่อใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นจึงเป็นเรื่องผิดฝาผิดตัว เพราะสิทธิในการสื่อสารของประชาชนในสื่อใหม่เป็นคนละเรื่องกับหลักเกณฑ์ของ นักวิชาชีพในสื่อกระแสหลักที่ต้องรับผิดชอบหน้าที่ที่มีต่อสังคม แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าประชาชนจะใช้สิทธิในการสื่อสารโดยไม่ต้อง แสดงความรับผิดชอบ

กล่าวโดยสรุปได้ว่า การที่ข้อเขียนเรื่อง“การเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ กับ ปัญหาสื่อชนเผ่า (partisan press)” ของสมชัย สุวรรณบรรณ หลีกเลี่ยงที่จะกล่าวพาดพิงหรือนับรวมเอาสื่อกระแสหลักว่าอาจอยู่ในสถานะ “สื่อชนเผ่า” ได้ตามนิยามที่เสนอ ซ้ำยังนำเอามาตรฐานทางวิชาชีพของสื่อมวลชนหรือสื่อกระแสหลักมาเป็นเครื่อง มือในการมองสื่อใหม่ จึงสะท้อนให้เห็นถึงความระแวดระวังที่มาจากอคติของสื่อกระแสหลัก

และหากเปรียบการสื่อสารเป็นสนามหรือเป็นพื้นที่สาธารณะที่แต่เดิมสื่อ กระแสหลักเป็นผู้ใช้ประโยชน์โดยอ้างพันธะหน้าที่ที่มีต่อการรับรู้ข้อมูล ข่าวสารของประชาชน เมื่อประชาชนพร้อมที่จะลุกขึ้นมาใช้สิทธิการสื่อสารในทางตรงย่อมควรต้องได้ รับสิทธิในทันทีโดยไม่มีการบ่ายเบี่ยงจากผู้ใช้ประโยชน์เดิม ซึ่งอันที่จริงสื่อกระแสหลักควรต้องมีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชน ได้ใช้ประโยชน์และร่วมปกป้องเสรีภาพของสื่อใหม่ เพราะการที่สื่อกระแสหลักจะอ้างเสรีภาพในการแสดงออกของตนเพียงฝ่ายเดียวและ สกัดกั้นเสรีภาพทางความคิดเห็นของสื่อที่เกิดขึ้นใหม่ก็อาจไม่ต่างจากการผูก ขาดอำนาจในการสื่อสารเช่นเดียวกับที่รัฐปฏิบัติเสมอมา

แต่ประเด็นที่ผู้เขียนคิดว่ามีความสำคัญในช่วงเวลาที่จะมีการเลือกตั้ง นี้ คือการตั้งคำถามถึงบทบาทของทั้งสื่อใหม่และสื่อกระแสหลัก ว่าจะมีส่วนในการส่งเสริมให้เกิดประชาธิปไตยที่มีคุณภาพได้อย่างไร  และจะทำเช่นไรให้ประชาชนทุกกลุ่มอุดมการณ์ที่แตกต่างกันได้มีพื้นที่และมี ส่วนร่วมทางการเมืองในทุกระดับ และการใช้สื่อในทางการเมืองจะมีกรอบกติกาที่ชัดเจนและทุกฝ่ายพอจะยอมรับร่วม กันได้อย่างไร

ท้ายสุดในภาวการณ์ที่ยังไม่มีกลไกอิสระอย่าง กสทช. เข้ามาทำหน้าที่กำกับดูแลสื่อทั้งวิทยุและโทรทัศน์ กระทั่งออกใบอนุญาตให้กับสื่อใหม่ที่เกิดขึ้นแล้วอย่างวิทยุชุมชน วิทยุธุรกิจขนาดเล็ก เคเบิลทีวี และโทรทัศน์ดาวเทียม ซึ่งเป็นปมปัญหาตลอดมาในการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างสื่อในสังคมไทยให้เป็น ประชาธิปไตย แต่วาระเฉพาะหน้ากับการเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึงนี้กลับเป็นโจทย์ท้าทายสื่อ ใหม่ให้แสดงคุณค่าต่อสาธารณะ แล้วเราจึงอาจตอบได้ว่าสื่อใหม่เกิดมาเพื่อธำรงประชาธิปไตยได้มากน้อยเพียง ใด

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท