การชำระประวัติศาสตร์ไทยเป็นเรื่องของเวลา

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

วันก่อนอ่านคำสัมภาษณ์ “คำ ผกา” เธอกล่าวสั้น ๆ ว่ารัฐบาลในฝันของเธอควรจะหันมาสนใจประวัติศาสตร์อย่างจริงจัง

“ส่วนการชำระประวัติศาสตร์เป็นเรื่องสำคัญ อย่างที่อเมริกาเคยมีการกล่าวหาอินเดียนแดงอย่างสาหัส หรือญี่ปุ่นที่ไม่เคยยอมรับว่าไปทำอะไรจีนตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 เดี๋ยวนี้ในแบบเรียนก็มีการปรับการชำระแล้ว ของไทยเองก็ต้องหาจุดยืนที่ใกล้เคียงความถูกต้องว่าไทยกับพม่าเคยรบกันจริงหรือไม่ ไทยกับเขมรเป็นศัตรูกันจริงหรือเปล่า ความสัมพันธ์ไทยกับเพื่อนบ้านเป็นอย่างไร ล้วนแล้วต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้อง” [1]

ดิฉันเห็นด้วยกับสองบรรทัดแรกที่คุณคำ ผกากล่าว และในฐานะผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์คนหนึ่ง เป็นธรรมดาที่จะรู้สึก “ปลื้ม” ที่มีนักคิดนักเขียนที่เรียกว่าเป็นปัญญาชนของสังคมที่เห็นว่ามันถึงเวลาแล้วที่ประวัติศาสตร์ หรือเจาะจงลงไปอีกคือกรอบความคิดทางประวัติศาสตร์ของคนไทย (หมายรวมไปถึงกระบวนงานเขียนทางประวัติศาสตร์ไทยบางประเภท) จะต้องถูกรื้อ ขัดเงาและประกอบเข้าใหม่ในแบบที่ควรจะเป็น แต่เมื่ออ่านต่อไปสองบรรทัดต่อมา ดิฉันเห็นว่าคุณคำ ผกาเองก็ยังมิวายถูก “ครอบ” อยู่ด้วยวาทกรรมประวัติศาสตร์ของรัฐไทยแบบเดิม ๆ

การเขียนหรือระเบียบความคิดทางประวัติศาสตร์ของไทยที่เราประสบพบเจอกันทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบตำราเรียน ตำราคำสอน หนังสือ บทความหรือแม้แต่เลกเชอร์ล้วนเป็นอิทธิพลความคิดของตะวันตกที่เข้ามาผสมผสานกับการเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีต (historical narration) โดยมีพระเอกและแก่นเรื่องหลักอยู่ที่ชนชั้นผู้นำ มีการกล่าวถึงศาสนาปะปนอยู่ด้วย แต่ส่วนมากเกิดจากบริบทที่ศาสนา “ถูกอุปถัมป์” หรือ วัดวาอารามณ์ “ถูกสร้างขึ้นมา” และยังมีแก่นเรื่องอื่น ๆ อย่างการสร้างชาติ (รวมไปถึงการปลดแอกรัฐไทยออกจากการปกครอง/การคุกคามจากต่างชาติ) เหล่านี้ล้วนเป็นแก่นเรื่องที่วนเวียนอยู่ที่ตัวพระเอกชนชั้นผู้นำที่เป็นตัวดำเนินเรื่องแทบทั้งสิ้น ไม่น่าแปลกใจที่คนส่วนใหญ่จะถูกทำให้เชื่อว่า ราชธานีของรัฐไทยมีเพียง 3 แห่ง และกษัตริย์ที่ปกครอง “รัฐไทย” ที่ผ่านมาก็มาจากอาณาจักร 3 แห่งดังที่ได้กล่าวมา รัฐอื่น ๆ ที่อยู่รายล้อมรัฐทั้งสามแห่งแทบไม่เคยถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงในตำราประวัติศาสตร์ของไทยในฐานะตัวละครตัวหนึ่ง หรือหากจะมีกล่าวถึงบ้างตัวละครเหล่านั้นก็จะกลายเป็นตัวอิจฉา เป็นผู้รุกราน เป็นกบฎ ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงเพื่อให้เห็นว่ารัฐไทยเป็น “ผู้ถูกกระทำ”

เรื่องแต่งกระแสหลักรวมทั้งละครน้ำเน่าหลังข่าวก็มักเสนอภาพนางเอกว่าเป็นผู้ถูกกระทำ ผู้ที่ถูกย่ำยี ผู้ที่อ่อนแอ (ตอนที่ถูกกระทำเท่านั้น แต่อาจไม่ได้อ่อนแอในชีวิตจริง) แต่ลองสังเกตดูเถิดว่านางเอกที่ยิ่งอ่อนแอ ยิ่งใสซื่อบริสุทธิ์มากเท่าไหร่ยิ่งชนะใจผู้ชมมากขึ้นเท่านั้น

การเล่าเรื่องทางประวัติศาสตร์เห็นจะไม่ต่างจากละครหลังข่าวนัก...

ถ้าถามว่าไทยกับพม่าเคยรบกันจริงหรือไม่ ก็ตอบได้ว่าจริง เป็นข้อมูลจริงที่ปรากฎอยู่ในหลักฐานของทั้งไทย พม่า และหลักฐานฝรั่ง แต่ข้อมูลรายละเอียดยิบย่อยอย่างอื่นย่อมแตกต่างกันออกไป แล้วแต่ว่าอ่านประวัติศาสตร์ของไทยหรือพม่า ในช่วงคริสศตวรรษที่ 16 อันเป็นช่วงที่รัฐไทยและพม่า “ขับเคี่ยว” กันเป็นผู้นำในภูมิภาค (แต่การจะเป็นผู้นำได้ คือต้องปราบอีกฝ่ายให้อยู่หมัด ต้องมีการสูญเสียเยอะ อีกฝั่งจะได้ไม่มีแรงงานคนและทรัพยากรอื่น ๆ เพียงพอที่จะต่อสู้ไปอีกหลายปี) รัฐทั้งสองแม้จะเขียนประวัติศาสตร์เรื่องเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น เรื่องสมเด็จพระนเรศวร แต่แก่นของการเล่าเรื่องอาจอยู่คนละที่กัน จุดเด่นของการเล่าเรื่องในพระราชพงศาวดารไทยและโดยเฉพาะพระราชพงศาวดารที่ถูกสร้างขึ้นมาในยุคการไล่ล่าอาณานิคม (คริสตศตวรรษที่ 19) คือการมีเนื้อหากล่าวหาและพาดพิงถึงผู้ครองรัฐอื่น ๆ อยู่ตลอดเวลา เมื่อพูดถึงพระเจ้าบุเรงนอง (ที่เป็นมหาบุรุษและเป็นหนึ่งในสามกษัตริย์ที่คนพม่าให้ความเคารพสูงสุด) พระราชพงศาวดารไทยกล่าวว่า “พระเจ้าหงษาวดีนั้นมิได้ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม” [2] ด้านเจ้าอนุวงศ์วีรบุรุษของชาวลาว (บัดนี้อนุสาวรีย์เจ้าอนุวงศ์สูง 8 เมตรยืนตระหง่านอยู่กลางนครหลวงเวียงจันทน์) ที่ชาวลาวยกย่องให้เป็นผู้ปลดแอกลาวพ้นจากการปกครองของสยาม ก็มักถูกมองโดยรัฐไทยว่าเป็น “คนไม่ดี” [3]

ส่วนที่ว่าไทยกับเขมรเป็นศัตรูกันจริงหรือไม่ แม้แต่นักประวัติศาสตร์พม่าอย่างสะยาหม่อง ทิน อ่องเองยังเคยกล่าวไว้ว่า “กัมพูชานั้นเห็นว่าสยามเป็นศัตรูตัวฉกาจ” [4] พระราชพงศาวดารฉบับหนึ่งเมื่อเกริ่นถึงศึกเมืองละแวก (ปี พ.ศ.2123/ค.ศ.1580) จะเริ่มด้วยการพาดพิงไปที่กัมพูชาก่อนว่า “ตั้งแต่สมเด็จพระรามาธิบดีสร้างกรุงศรีอยุธยามา พระเจ้ากรุงกัมพูชายังไม่เคยยกเข้ามาทำศึกกับกรุงศรีอยุธยาเลย ด้วยเปนประเทศราชขึ้นกรุงศรีอยุธยาเกือบตลอดมา บางคราวเมื่อคิดร้ายเปนข้าศึก ว่าอย่างจะทำร้าย ก็เสมอมาลักกวาดคนตามหัวเมือง พึ่งทนงองอาจยกเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา...” [5]

ที่ผ่านมารัฐไทยแทบไม่เคยคิดว่าตนผิด แม้จะเป็นฝ่ายที่ไปรุกรานเพื่อนบ้านก่อน แต่นั่นก็ถือว่าเป็นสิทธิ์ที่ชอบธรรม เพราะ “เรากำลังถูกรังแก” เป็นที่มาของความพยายามสร้างมโนคติให้เห็นว่า “ไทยนี้รักสงบ แต่ถึงรบไม่ขลาด” คนไทยจำนวนมากรู้เรื่องที่พม่ามาเผาอยุธยาเป็นอย่างดี แต่ไม่เคยรู้เลย (หรือทำเป็นไม่รู้?) ว่ารัฐไทยเองก็เคยทำกับรัฐเพื่อนบ้านไม่ต่างกัน การเขียนประวัติศาสตร์ของผู้ที่ “ถูกกระทำ” ภายใต้ระบบจารีตที่มีกษัติรย์อุปถัมป์ก่อนคริสศตวรรษที่ 19 อย่างการเขียนประวัติศาสตร์ของกัมพูชาก็คงไม่ได้ต่างจากที่ไทยมองพม่านัก ทัศนคติแบบ “ผู้ถูกกระทำ” ที่คับแคบนี้เป็นสิ่งอันตรายอย่างยิ่ง เพราะเป็นความทรงจำร่วมกันที่คนส่วนใหญ่ในชาติหนึ่ง ๆ ไม่มีวันลืม ถึงแม้จะไม่ได้นึกถึงอยู่ทุกวัน แต่เมื่อมีเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งมากระตุ้น ทัศนคตินี้จะกลายเป็นความเกลียดชังประเทศเพื่อนบ้านแบบเฉียบพลันและรุนแรง เหตุการณ์การสู้รบกับกัมพูชาที่ผ่านมาหลายปีก็แสดงให้เห็นแล้วว่า คนสองชาติมีช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ชาติที่ทับซ้อนกันอย่างไร การเขียนประวัติศาสตร์ (ที่ถูกบอกเล่าและสั่งสอนกันต่อ ๆ มา) และความทรงจำร่วมกันก่อให้เกิดพลังอันน่าทึ่งอย่างไร

ความสำคัญของการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยและของโลกในปัจจุบันไม่ได้อยู่ที่การสืบค้นหาความจริงเพียงอย่างเดียว เราไม่ต้องการจะรู้แล้วว่า สยามรบชนะใครและรบแพ้ใครบ้าง ดิฉันไม่ได้ปฏิเสธว่าความจริงและข้อเท็จจริงเป็นเรื่องสำคัญ แต่การที่จะตรวจสอบหาหลักฐานในเรื่องบางเรื่องหรือการจะยกเครื่องชำระประวัติศาสตร์ไทยทั้งหมดเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ไม่ได้ทำกันได้ภายในช่วงข้ามคืนข้ามวัน ดิฉันไม่เห็นว่าการที่ประเทศประเทศหนึ่งเคยแพ้สงคราม (หรือพ่ายแพ้หรือสูญเสียในกรณีอื่น ๆ หรือที่เคยไปเผาบ้านเมืองอื่นเขา) จะต้องเป็นตราบาปติดตัวประเทศนั้น ๆ ตลอดไปเสียเมื่อไหร่ ชาติมหาอำนาจเองอย่างอเมริกาก็เคยแพ้สงคราม รัสเซียยุคจักรวรรดิตอนรุ่งเรืองก็เคยแพ้กองทัพญี่ปุ่นมาแล้ว แต่ก็ไม่เห็นว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศเหล่านี้จะยึดติดกับประวัติศาสตร์หรือต้องยกเครื่องเขียนประวัติศาสตร์กันใหม่ทั้งหมด

อย่าลืมความจริงข้อหนึ่งที่ว่าคนไทยอ่านหนังสือกันน้อยเหลือเกิน แม้จะมีงานเขียนทางประวัติศาสตร์ใหม่ ๆ ออกมา แต่ก็เผยแพร่กันในหมู่นักวิชาการหรือผู้ที่สนใจเท่านั้น เมื่อไม่เกิดกระบวนการซึมซับในสังคมวงกว้าง รวมทั้งการสร้างวาทกรรมใหม่ ๆ หรือกระบวนการวิพากย์ขึ้น สังคมการเรียนรู้ที่หลายคนใฝ่ฝันคงเกิดขึ้นได้ยาก ในทางตรงกันข้ามคนไทยมักยึดติดกับสิ่งที่ได้ “เห็น” และได้ “ฟัง” สื่ออย่างภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์หรือแม้แต่ละครน้ำเน่า จึงกลายเป็นเบ้าหลอมให้ทำให้คนจำนวนมากในสังคมคิดอย่างที่เห็นจากในภาพยนตร์และในโทรศัพท์และไม่คิดตั้งคำถามใด ๆ อีก

ในประเทศที่พัฒนาแล้วหลายแห่ง การจะชำระประวัติศาสตร์กันแต่ละครั้งไม่ใช่ทำกันง่าย ๆ และกลับเป็นเรื่องที่รัฐบาลแต่ละชาติต่างกลืนไม่เข้าคายไม่ออก แต่เนื่องจากวิธีคิดและสังคมที่เปิดกว้างเหล่านั้นก้าวหน้าไปมาก “สำนักประวัติศาสตร์” สำนักต่าง ๆ จึงแข่งขันกันเพื่อให้แก่นวิธีคิดของตนเป็นแกนหลักของตำราประวัติศาสตร์

เมื่อพูดถึงปัญหาการเขียนตำราประวัติศาสตร์ขึ้นมาใหม่ หลายคนคงอดไม่ได้ที่จะคิดถึงกรณีการเขียนตำราประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น (โดยเฉพาะตำราในระดับจูเนียร์ไฮสคูลสำหรับนักเรียนอายุ 12 ปีขึ้นไป) ในช่วงทศวรรษ 1990 สมาคมปฏิรูปตำราในนาม สุกุรุ คาอิถูกก่อตั้งขึ้นในญี่ปุ่นและได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงศึกษาธิการของญี่ปุ่น มีผู้วิเคราะห์อยู่เนือง ๆ ว่าเนื้อหาในตำราดังกล่าวมีลักษณะที่เป็นข้อมูลเชิงวิพากย์อยู่น้อย ทั้งยังใช้ข้อมูลทื่อ ๆ และจืดชืด [6] แต่ปัญหาที่สำคัญกว่าคือ เมื่อผู้แต่งตำราต้องการเขียนหรือเล่าเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง อันเป็นเหตุการณ์ที่มีญี่ปุ่นเป็น “ผู้กระทำ” และมีชาติที่ในปัจจุบันมีความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมญี่ปุ่นอย่างจีนและเกาหลีเป็น “ผู้ถูกกระทำ” เหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดคือ เหตุการณ์สังหารและขมขื่นหมู่ที่นานกิง (ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ค.ศ.1937)

ตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา กระทรวงศึกษาธิการญี่ปุ่นมีข้อกำหนดให้การเขียนประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับการสังหารหมู่ที่นานกิงต้องมีข้อความ “ปลอบขวัญ/ปลอบประโลม” เพศหญิงใส่ไว้ด้วย (เพราะแก่นของเหตุการณ์สังหารหมู่อยู่ที่การที่กองทัพญี่ปุ่นข่มขืนผู้หญิงจำนวนเรือนหมื่นและฆ่าทิ้ง เพราะกฎในกองทัพมีอยู่ว่า ห้ามข่มขืนผู้หญิงฝ่ายตรงข้าม) แต่ถึงกระนั้นข้อมูลเกี่ยวกับนานกิงที่ผู้เรียบเรียงใส่ไปในตำรามีเพียงน้อยนิด คลุมเครือ และที่สำคัญคือ กลับย้ำให้ผู้อ่านเห็นว่า ประชาชนคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่ได้เห็นด้วยกับสิ่งที่กองทัพทำเลย หนำซ้ำยังต้องทนทุกข์ทรมานกับสิ่งที่ตนไม่ได้อยากให้เกิดอีกด้วย แต่ถึงแม้จะมีความพยายามหลีกเลี่ยงไม่พูดความจริง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ตำราประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 1980 มีข้อความที่กล่าวยอมรับอยู่กลาย ๆ ว่า ความสูญเสียที่เกิดขึ้นทั่วทั้งเอเซียในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ส่วนหนึ่งมาจากความทะเยอทะยานของญี่ปุ่นที่จะเป็นเจ้าอาณานิคมและเป็นเผด็จการครอบงำเอเซีย [7]

ผ่านมาสองทศวรรษ กระบวนการเขียนตำราของญี่ปุ่นยังมีพลวัตอยู่ตลอด มีการเสริมข้อมูลหรือตัดข้อความบางส่วนออกไปตลอดเวลา ข้อความปลอบใจเพศหญิงที่เป็นเหยื่อและผู้ถูกกระทำในเหตุการณ์ดังกล่าวที่ปรากฎในตำราเดิมเริ่มหายไป และเปลี่ยนไปเป็นการใส่ลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในนานกิงที่ละเอียดและลึกขึ้น รวมทั้งการยอมรับเป็นนัย ๆ ว่าไม่ใช่ประชาชนญี่ปุ่นในสมัยนั้นทั้งหมดที่เป็นเหยื่อของสงคราม ยังมีประชาชนจำนวนมากที่สนับสนุนให้กองทัพรุกรานประเทศอื่นๆ ในเอเซีย เป็นต้น ความน่าสนใจของตำราประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นฉบับปรับปรุงส่วนหนึ่ง คือการกล้ายืดอกตั้งคำถามต่อสิ่งที่กองทัพญี่ปุ่นกระทำต่อเหยื่อสงคราม และความพยายามใส่เสียงเล็ก ๆ ของคนที่เป็นเหยื่อสงครามจริง ๆโดยเฉพาะชาวเกาหลีที่จะได้รับผลกระทบจากความทะเยอทะยานของญี่ปุ่นในครั้งนั้นยาวนานที่สุด

“ผู้ถูกกระทำ” และตัวแสดงเล็ก ๆ เหล่านี้มิใช่หรือที่เป็นคนสร้างประวัติศาสตร์ ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นผู้นำและความทะเยอทะยานของคนบางกลุ่มในตัวของมันเองไม่สามารถก่อให้เกิดสงครามได้

หลายคนอ่านกรณีศึกษาการเขียนประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นแล้วคงได้แต่สะท้อนใจและอยากให้รัฐไทยนำกระบวนการคิดและเขียนประวัติศาสตร์อย่างระมัดระวังและเอาใจเขามาใส่ใจเราบ้าง เอาเป็นว่า เราอย่าเพิ่งฝันไปก่อนว่าประเทศไทยต้องเขียนประวัติศาสตร์เล่มใหม่หรือเวอร์ชั่นใหม่เลย แต่ขอให้รีบคิดว่า ความแตกต่างและความหลากหลายในวงการวิชาการรวมทั้งการสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ เป็นสิ่งที่ควรต้องรีบส่งเสริมและเป็นสิ่งที่รัฐไทยต้องการ

ตำราประวัติศาสตร์ไทยที่เด็ก ๆ ใช้เรียนกันอยู่ทุกวันนี้เป็นการผูกขาดของนักประวัติศาสตร์ไทยเพียงไม่กี่คณะ ไม่ได้สะท้อนความเชื่อ มิติและความลื่นไหลประวัติศาสตร์โลกในช่วงร้อยกว่าปีที่ผ่านมามากนัก การเขียนตำราประวัติศาสตร์ใหม่ไม่ว่าจะเป็นฉบับปรับปรุงกี่ฉบับจึงคล้ายเอาเหล้าเก่ามาใส่ขวดใหม่ ในศตวรรษที่ 21 ที่โลกรอบตัวเราก้าวหน้าไปมากขนาดนี้ ประเทศหนึ่ง ๆ ไม่สามารถอยู่ได้อย่างสงบสุขหากคนในประเทศยังเชื่ออย่างหนักแน่นว่า “ประเทศของกู ตัวกูดีที่สุด” และมีสปิริตนักกีฬาที่รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัยอยู่ริบหรี่ในวงการเมืองโลกหรือแม้ในภูมิภาคอาเซียน

ดิฉันยังเชื่อว่า ก่อนที่จะมีการลงทุนยกเครื่องการเขียนประวัติศาสตร์ไทยอย่างที่คุณคำ ผกา กล่าว ควรมีกระบวนการอย่างใดอย่างหนึ่งที่กระตุ้นให้คนในสังคม “คิด” และ “วิเคราะห์” ได้มากกว่าที่เป็นอยู่ การรู้ว่าเราเป็นใคร เรามาจากไหน เราเคยรบกับใคร หรือเราเป็นศัตรูกับใครไม่เพียงพอตอบโจทย์ความต้องการทางประวัติศาสตร์ในปัจจุบัน และทักษะการคิดและวิพากย์อย่างเป็นระบบจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากองค์รัฐยังควบคุมความคิดของสังคมอย่างที่เป็นอยู่

ถ้าจะแก้เงื่อนตายให้ได้เร็ว ต้องแก้ช้าๆ รีบร้อนเมื่อไหร่จะแก้ไม่ได้อีกเลย

อ้างอิง

  1. “เปิดมุมมองการเมืองของ "คำ ผกา" ขอเลือกพรรคที่สนับสนุนเสื้อแดง รบ.ในฝันต้องผ่าตัดการศึกษา-ชำระปวศ.” จาก มติชนออนไลน์ วันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2554
  2. พระราชพงษาวดารฉบับพระราชหัตเลขา (พิมพ์ครั้งที่ 2) เล่มที่ 1 หอพระสมุดวชิรญาณ, พ.ศ.2457 หน้า 228
  3. http://www.m-culture.go.th/detail_page.php?sub_id=531
  4. Maung Htin Aung. A History of Burma. New York: Columbia University Press, 1967, หน้า 130
  5. เล่มเดียวกัน หน้า 591
  6. Alexander Bukh, “Japan’s History Textbooks Debate – National Identity in Narratives of Victimhood and Victimization,” Asian Survey, Vol. XLVII, No. 5, 2007, หน้า 686
  7. เล่มเดียวกัน หน้า 694-5

 

 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท