Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เป็นปกติเสียแล้วที่ รายการ ‘เจาะข่าวร้อน ล้วงข่าวลึก’ ของ T-New ช่วงเวลาประมาณ 21.00 - 22.00 น. ทางเอ็นบีที จะทำตัวเป็นเครื่องมือของรัฐอย่างโจ่งแจ้ง ดังหลายต่อหลายครั้งที่รายการนี้พยายามสร้างภาพ ‘ปีศาจ’ ให้แก่ฝ่ายปริปักษ์ทางการเมืองของรัฐบาลผ่านมุมมองของตนเพียง ‘ด้านเดียว’ มีความพยายามในการเชื่อมโยงเหตุผลต่างๆ นานามาสนับสนุนการใช้อำนาจและความรุนแรงต่อศัตรูทางการเมืองของรัฐอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังยัดเยียดตีตราประชาชนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยว่าเป็น ‘พวกเผาบ้านเผาเมือง’ รวมถึงบิดเบือนให้กลายเป็น ‘ขบวนการล้มเจ้า’ โดยที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีโอกาสได้แก้ต่าง ผู้ที่รับรู้เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยหรือเคยผ่านเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษา อย่าง 6 ตุลาคม 2519 มา คงไม่แปลกใจนักกับบทบาทของสื่อที่ทำหน้าที่ปลุกระดมมวลชนคลั่งชาติผ่านสถานีวิทยุยานเกราะ และหนังสือพิมพ์ขวาจัดอย่างดาวสยาม (ซึ่งมีความสัมพันธ์กับหน่วยงานทหาร กอ.รมน.) ให้สนับสนุนการสังหารหมู่นักศึกษา ผ่านมาแล้วกว่า 30 ปี สื่ออย่างสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ หรือเอ็นบีทีหอยม่วง ยังคงทำหน้าที่เช่นเดียวกับสื่อรุ่นพ่อรุ่นแม่ได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ราวกับว่าสื่อขวาจัดเหล่านี้คลอดออกมาจากครรภ์เดียวกัน...นั่นคือ ครรภ์มารดาแห่งเผด็จการฟัสซิสต์! ล่าสุด เมื่อค่ำวันที่ 2 พฤษภาคม 2554 รายการเจาะข่าวร้อนฯ ได้ทำหน้าที่ปลุกระดมมวลชนผู้รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ อย่างแข็งขันอีกครั้ง ด้วยการนำเสนอประวัติส่วนตัวของ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล แบบเจาะลึก ตั้งแต่ครั้งเป็นแกนนำนักศึกษา 6 ตุลา 19 มาสู่การเป็นนักวิชาการประวัติศาสตร์ที่สนใจประเด็นการเมืองไทยสมัยใหม่ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 และกรณีสวรรคตของในหลวงอานันท์ กระทั่งถึงบทบาทปัจจุบันในการเป็นผู้เสนอให้มีการปฏิรูปสถานะและอำนาจของสถาบันกษัตริย์ ผ่านข้อเสนอ 8 ข้อ อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีการตัดต่อข้อถกเถียงและข้อโต้แย้งของผู้คนในชุมชนอินเทอร์เน็ต ที่มีต่อข้อเสนอทั้ง 8 ข้อ ของสมศักดิ์ มานำเสนอผ่านรายการแบบ ‘ชี้นำ’ เพียงด้านเดียว โดยละเลยการอธิบายรายละเอียดหรือเหตุผลต่างๆ ที่สมศักดิ์ได้ชี้แจงประกอบการนำเสนอข้อเสนอทั้ง 8 ข้อของเขา เมื่อดูรายการจบแล้วไม่สามารถสรุปเป็นอื่นได้เลย นอกจากรายการเจาะข่าวร้อน ล้วงข่าวลึก และเอ็นบีที มุ่งชี้นำให้สังคมเชื่อว่า สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ยืนอยู่ ‘ตรงข้ามกับสถาบัน’ หรือเป็นศัตรูกับสถาบันนั่นเอง !! อย่างที่ทราบกันว่า ก่อนหน้าที่จะมีการโจมตี สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ผ่านรายการเจาะข่าวร้อนฯ ทางเอ็นบีที ได้เกิดปรากฏการณ์ตบเท้าของเหล่าทัพ อันสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวให้แผ่กระจายไปทั่วทั้งสังคม และปรากฏการณ์ดังกล่าวก็ทำให้หวั่นเกรงว่า จะมีการใช้อำนาจ (ไม่ว่าอำนาจตามกฎหมายหรืออำนาจนอกกฎหมาย) จัดการต่อผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นอันตรายต่อสถาบันอย่างสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และคนอื่นๆ ที่ถูกหมายหัวว่าเป็นศัตรูต่อรัฐและสถาบัน แม้ว่าการทำเช่นนั้นอาจทำให้ ‘รัฐ’ ดูป่าเถื่อนเกินไปสำหรับยุคสมัยนี้ และอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลและกองทัพ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข จะไม่ทำหรือทำไม่ได้ และการใช้สื่อของรัฐคุกคามสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ในครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการใช้อำนาจจัดการต่อเป้าหมายหรือเหยื่อที่รัฐได้ “ล็อกเป้า’ เอาไว้แล้ว เพียงแต่เป็นการหวังยืมมือประชาชนที่ได้ดูรายการเข้าผู้จัดการกับปริปักษ์ทางการเมืองของรัฐแทน โดยรัฐไม่ต้องตกเป็นจำเลยสังคม หรือหากไม่สามารถปลุกกระแสรุนแรงถึงขั้นนำไปสู่ปฏิบัติการยืมมือได้ อย่างน้อยที่สุด การนำเสนอรายการโจมตีตัวบุคคลดังกล่าว ก็เป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของเหยื่อในฐานะนักวิชาการ และเป็นการสร้างภาพให้สมศักด์ เจียมธีรสกุล กลายเป็น ‘ปีศาจ’ เช่นเดียวกับนักศึกษาในเหตุการณ์ล้อมปราบสังหารหมู่ 6 ตุลาคม 2519 และการสังหารหมู่คนเสื้อแดง ช่วงเมษา-พฤษภา 2553 หากรายการนี้ทำงานสำเร็จ เกิดปรากฏการณ์เข้าจัดการใช้ความรุนแรงกับ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล รวมถึงคนอื่นๆ รายการเจาะข่าวร้อน ล้วงข่าวลึก เอ็นบีที กอ.รมน. และหน่วยงานที่เป็นผู้กำกับดูแลรายการนี้ รวมถึงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ย่อมไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบต่อการใช้สื่อของรัฐปลุกระดมยั่วยุให้เกิดความรุนแรงในครั้งนี้ได้ ในฐานะสื่อมวลชน เมื่อเห็นว่าข้อเสนอของสมศักดิ์ผิด ทางรายการเจาะข่าวร้อนฯ และเอ็นบีทีต้องกล้า ‘เปิดพื้นที่’ ให้อีกฝ่ายได้อภิปรายแสดงเหตุผลของตนอย่างตรงไปตรงมาและเป็นธรรม ไม่ใช่มุ่งนำเสนอแบบตัดต่อและชี้นำเพียงด้านเดียวเช่นนี้ การกระทำของเอ็นบีทีและรายการดังกล่าวถือเป็นการกระทำที่ป่าเถื่อนและล้าหลังแบบเผด็จการฟัสซิสต์ จนไม่อาจเรียกได้ว่า “สื่อมวลชน” และนี่เอง จึงไม่ผิดที่องค์กรตรวจสอบเสรีภาพสื่ออย่าง ฟรีดอม เฮาส์ (Freedom House) จะระบุว่า เสรีภาพสื่อไทยได้ลดระดับลงถึงระดับไม่เสรีแล้ว ในบรรยากาศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเช่นนี้ รัฐใช้ทุกกลไกที่รัฐมี ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ กฎหมาย หรือสื่อในมือ เข้าจัดการกับประชาชนที่มีความคิดเห็นแตกต่าง ในภาวะอันเปลือยเปล่าไร้ซึ่งอาภรณ์แห่งการปกป้องใดๆ เช่นนี้ สิ่งที่พอจะเป็นเครื่องมือปกป้องประชาชนได้ คงมีเพียงพลังของประชาชนเท่านั้น และไม่ใช่ปกป้องเฉพาะกรณีของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล หรือนักวิชาการ แต่คนทุกคน มนุษย์ทุกผู้นาม ต้องได้รับการปกป้องสิทธิเสรีภาพพื้นฐานในความเป็นมนุษย์อย่างแข็งขัน เพราะการปกป้องสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ย่อมเป็นการปกป้องสิทธิเสรีภาพของเราด้วย ข้อเสนอ 8 ข้อ เพื่อการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ การปฏิบัติ ตาม 8 ข้อนี้ ผลลัพท์ ไม่ใช่การล้มสถาบันกษัตริย์ แต่ทำให้สถาบันฯมีลักษณะเป็นสถาบันฯสมัยใหม่ ในลักษณะไม่ต่างจากยุโรป เช่น สวีเดน, เนเธอร์แลนด์ (ผมตระหนักในความแตกต่างบางอย่างของข้อเสนอนี้ กับยุโรปอยู่ เช่น ผมเข้าใจว่า เรื่องมาตราแบบ รธน. 2475 ในข้อแรก ไม่มีในยุโรปเหมือนกัน แต่นี่เป็นข้อเสนอที่อิงอยู่บนความเฉพาะของไทยทีผ่านมา) 1. ยกเลิก รธน. มาตรา 8 เพิ่มมาตรา ในลักษณะเดียวกับ รธน.27 มิย 2475 (สภาพิจารณาความผิดของกษัตริย์) 2. ยกเลิก ประมวลกฎหมายอาญา ม.112 3. ยกเลิก องคมนตรี 4. ยกเลิก พรบ. จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ 2491 5. ยกเลิก การประชาสัมพันธ์ด้านเดียวทั้งหมด การให้การศึกษาแบบด้านเดียวเกี่ยวกับสถาบันทั้งหมด 6. ยกเลิก พระราชอำนาจ ในการแสดงความเห็นทางการเมืองทั้งหมด (4 ธันวา, 25 เมษา “ตุลาการภิวัฒน์” ฯลฯ) 7. ยกเลิก พระราชอำนาจ ในเรื่อง โครงการหลวง ทั้งหมด 8. ยกเลิก การบริจาค / รับบริจาค โดยเสด็จพระราชกุศล ทั้งหมด หมายเหตุ: กระทู้นี้ ความจริงเป็น “ของเก่า” ที่ผมเคยเขียนในบริบทของกระทู้อื่นๆมาก่อน แต่ผมขออนุญาตตั้งเป็นกระทู้ต่างหากชัดๆแบบนี้ เผื่อสำหรับประโยชน์ของการอ้างอิงโดยสะดวกในอนาคต อย่างน้อยสำหรับผมเอง (หรือสำหรับคนอยาง ส.ว.คำนูญ ที่นำความคิดผมเรื่องนี้ไปเขียนถึงหลายครั้งในระยะหลัง โดยไม่ระบุชื่อและไม่มีการอ้างอิงชัดเจน คราวหน้า เผื่อท่าน ส.ว.จะได้สามารถทำ “เชิงอรรถ” ได้ชัดๆ – ฮา) 23 มกราคม 2553 อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่มา – ชุมชนคนเหมือนกัน หมายเหตุ:ข้อเสนอ 8 ข้อ เพื่อการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เป็นการนำเสนอเพิ่มเติมของ กอง บ.ก.ประชาไท เพื่อความสมบูรณ์ในการทำความเข้าใจถึงเนื้อหาของบทความ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net