Skip to main content
sharethis

ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือก 2.3 ล้านคนทั่วเกาะสิงคโปร์จะออกไปใช้สิทธิทั่วไปในวันนี้ โดยถือเป็นการเลือกตั้งที่มีการแข่งขันสูงสุดนับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ โดยพรรคฝ่ายค้านได้แบ่งกันส่งผู้สมัคร 82 ที่นั่ง จาก 87 ที่นั่ง เพื่อหวังชิงที่นั่ง ส.ส. มาจากพรรคกิจประชาชน ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลมาตลอด เขตเลือกตั้งสิงคโปร์ สำหรับการเลือกตั้ง 7 พ.ค. โดยพื้นที่สีชมพูเป็นเขตเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียว (Single Member Constituencies - SMCs) มี 12 เขต และสีที่เหลือเป็นเขตเลือกตั้งแบบกลุ่มหรือเขตเรียงเบอร์ (Group Representation Constituencies - GRCs) มีตั้งแต่เขตที่เลือก ส.ส. ได้ 4 คน จนถึงเขตที่เลือกได้ 6 คน มีจำนวนทั้งสิ้น 15 เขต โดยเกือบทุกเขตเป็นเขตที่เป็นการแข่งขันระหว่างพรรคฝ่ายค้านกับพรรครัฐบาลคือพรรคกิจประชาชน ยกเว้นเขตตันจง ปาการ์ (Tanjong Pagar) เขตเดียวที่มีแต่ผู้สมัครจาก ส.ส.พรรคกิจประชาชน (ที่มาของภาพ: วิกิพีเดีย) ผู้สนับสนุนพรรคแรงงานสิงคโปร์ (WP) ฟังการปราศรัยที่สนามเซรังกูน เมื่อ 29 เม.ย. ที่ผ่านมา (ที่มาของภาพ: Steel Wool – CC/Flickr.com) ในวันนี้ (7 พ.ค.) ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งกว่า 2.3 ล้านคนในสิงคโปร์ จะออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งทั่วไป โดยถือเป็นการเลือกตั้งที่มีการแข่งขันสูงสุดนับตั้งแต่ตั้งประเทศสิงคโปร์ในปี 2508 ทั้งนี้เพราะพรรคฝ่ายค้านส่งผู้สมัครลงชิงตำแหน่ง ส.ส. 82 ที่นั่ง จากทั้งหมด 87 ที่นั่ง ด้วยเหตุนี้ “ทีมข่าวต่างประเทศ” ขอนำเสนอข้อมูลโดยสังเขปสำหรับการเลือกตั้งของสิงคโปร์ดังกล่าว การเลือกตั้งที่รัฐบาลพรรคเดียวเป็นผู้ชนะมาโดยตลอด ทั้งนี้นับตั้งแต่ได้รับเอกราชในปี 2508 พรรคกิจประชาชน ครองอำนาจในสภามาโดยตลอด โดยระหว่างปี 2508 – 2526 ทั้งสภา มี ส.ส. จากพรรคกิจประชาชนเพียงพรรคเดียวที่ชนะการเลือกตั้ง ต่อมาในการเลือกตั้งปี 2527 มี ส.ส. ฝ่ายค้านเป็นครั้งแรกโดยวิธีการสำรองที่นั่งให้ฝ่ายค้าน ทำให้มีฝ่ายค้าน 2 ที่นั่งจากจำนวน ส.ส. ทั้งสภา 74 ที่นั่ง ในปี 2531 มี ส.ส. ฝ่ายค้านชนะการเลือกตั้งเข้ามาในสภา 1 ที่นั่ง จากจำนวน ส.ส. ทั้งสภา 77 ที่นั่ง ในปี 2534 มี ส.ส. ฝ่ายค้านชนะการเลือกตั้ง 4 ที่นั่ง จาก ส.ส. ทั้งสภา 81 ที่นั่ง ในปี 2540 ปี 2544 และปี 2548 ส.ส.ฝ่ายค้านไม่ชนะการเลือกตั้ง แต่ฝ่ายค้านได้รับการสำรองที่นั่งให้เป็น ส.ส. จำนวน 2 ที่นั่ง ขณะที่ล่าสุด ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2549 มีการชิงชัย ส.ส. 84 ที่นั่ง โดยมีพรรคฝ่ายค้านลงแข่งเลือกตั้งกับพรรคกิจประชาชน (PAP) เพียง 47 ที่นั่งเท่านั้น ทำให้อีก 36 ที่นั่งเป็นของ PAP โดยปราศจากคู่แข่ง โดยผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุด พรรคกิจประชาชน (PAP) ได้ ส.ส. 82 ที่นั่ง พรรคฝ่ายค้านได้ 2 ที่นั่งจากการสำรองที่นั่ง ได้แก่ พรรคแรงงาน (Workers’ Party) และพันธมิตรประชาธิปไตยสิงคโปร์ (Singapore Democratic Alliance) อย่างละ 1 ที่นั่ง การเลือกตั้งที่ขับเคี่ยวมากสุดในประวัติศาสตร์ และ “ร่วมกันเดิน แยกกันตี” ของฝ่ายค้าน โดยการเลือกตั้ง 7 พ.ค. นี้ จะมีการเลือกตั้งใน 27 เขตเลือกตั้ง เพื่อชิงตำแหน่ง ส.ส. 87 ที่นั่ง แบ่งเป็นเขตเลือกตั้งเขตเดียวเบอร์เดียว (Single Member Constituencies - SMCs) 12 เขต และที่เหลือเป็นเขตเลือกตั้งแบบกลุ่มหรือเขตเรียงเบอร์ (Group Representation Constituencies - GRCs) 15 เขต ในการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นการชิงชัยระหว่าง พรรคกิจประชาชน (PAP – People’s Action Party) พรรครัฐบาลซึ่งครองอำนาจมาโดยตลอดนับตั้งแต่ตั้งประเทศสิงคโปร์ในปี 2508 กับ พรรคฝ่ายค้าน ซึ่งประกอบด้วยพรรคการเมืองขนาดเล็ก ได้แก่ พรรคแรงงานสิงคโปร์ (Workers' Party of Singapore - WP) พรรคปฏิรูป (Reform Party) พรรคสมานฉันท์แห่งชาติ (the National Solidarity Party - NSP) พรรคประชาธิปไตยสิงคโปร์ (Singapore Democratic Party - SDP) และพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตยสิงคโปร์ (Singapore Democratic Alliance - SDA) ซึ่งในกลุ่มนี้ประกอบด้วย สองกลุ่มการเมือง คือ องค์กรชาวมาเลย์แห่งชาติสิงคโปร์ (Singapore Malay National Organization - PKMS) และพรรคประชาชนสิงคโปร์ (Singapore People's Party - SPP) โดยพรรคฝ่ายค้านได้แบ่งกันส่งผู้สมัคร ส.ส. แบบไม่มีซ้ำเขตเพื่อตัดคะแนนกันเอง แต่เป็นการแบ่งกันส่งเพื่อลงชิงตำแหน่ง ส.ส. กับพรรครัฐบาลคือพรรคกิจประชาชน (PAP – People’s Action Party) เกือบทุกเขต รวม 82 ที่นั่ง จากทั้งหมด 87 ที่นั่ง คิดเป็นร้อยละ 94.3 โดยสถิติการแข่งขันสูงสุดก่อนหน้านี้ คือการเลือกตั้งในปี 2515 ที่ฝ่ายค้านส่งผู้สมัครลงชิงตำแหน่ง ส.ส. 57 ที่นั่ง จากทั้งหมด 65 ที่นั่ง คือเป็นร้อยละ 87.7 ทำให้ในการเลือกตั้ง ครั้งนี้มีเพียงเขตตันจง ปาการ์ (Tanjong Pagar) ซึ่งมี ส.ส. 5 ที่นั่ง ซึ่งมีเพียงผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคเดียวคือพรรคกิจประชาชนนำโดยนายลี กวน ยู (Lee Kuan Yew) รัฐบุรุษของสิงคโปร์และอดีตนายกรัฐมนตรีหลายสมัย โดยสาเหตุที่ทำให้ผู้สมัคร ส.ส.พรรคกิจประชาชนชนะการเลือกตั้งโดยที่ยังไม่ถึงวันเลือกตั้ง เนื่องจากผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคฝ่ายค้านยื่นใบสมัครไม่ทันกำหนดเส้นตายของเวลา 12.00 น. วันที่ 27 เม.ย. คลิปขอคะแนนของพรรคประชาธิปไตยสิงคโปร์ (SDP) เนื่องจากข้อจำกัดทางกฎหมาย ทำให้บรรดาพรรคการเมืองในสิงคโปร์หันมาใช้ช่องทางการประชาสัมพันธ์ และการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งการเลือกตั้งในปีนี้รัฐบาลไม่ได้ห้ามไว้ สื่อ เวลา สถานที่: สารพันข้อจำกัดการหาเสียง ข้อจำกัดสำหรับพรรคฝ่ายค้านในการหาเสียงแข่งกับพรรครัฐบาล คือวันหาเสียงที่มีระยะเวลาจำกัด โดยกฎหมายเลือกตั้งกำหนดให้พรรคการเมืองมีเวลาหาเสียงเพียง 9 วัน โดยการเลือกตั้งรอบนี้ วันแรกของการหาเสียงเริ่มตั้งแต่วันที่ 28 เม.ย. และต้องหยุดกิจกรรมหาเสียงทุกอย่างหลังเวลา 22.00 น. ของในวันที่ 5 พ.ค. 54 ก่อนวันเลือกตั้ง 7 พ.ค. นอกจากเวลาการหาเสียงจะน้อยแล้ว ช่องทางการใช้สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ สำหรับพรรคการเมือง ก็เป็นไปอย่างจำกัด โดยพรรคการเมืองสามารถใช้สื่อดังกล่าวได้เฉพาะที่รัฐจัดสรรเวลามาให้ ทำให้บรรดาพรรคการเมืองหันไปหาสื่อออนไลน์ เช่น พรรคประชาธิปไตยสิงคโปร์ (SDP) มีการเปิดเว็บ http://yoursdp.org เพื่อสื่อสารกับผู้สนับสนุน มีการอัพโหลดคลิปการปราศรัยไว้ในเว็บไซต์ youtube.com นอกจากนี้ยังมีการเผยแพร่คลิปโฆษณาของพรรคใน youtube ด้วย เช่นชุด SDP Loves Singapore: VOTE SDP! ซึ่งเผยแพร่เมือ 26 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยเป็นคลิปที่สมาชิกพรรค SDP 45 คน ช่วยกันแปรอักษรว่าพรรค SDP รักสิงคโปร์ เพื่อขอคะแนนจากคนสิงคโปร์ให้ช่วยกันโหวต ขณะที่ก่อนหน้านี้เมื่อ 4 มี.ค. มีการออกคลิปโฆษณาชุด SDP: Time For Change เป็นผู้สมัครของพรรคเปลี่ยนชุดฟอร์มขาวล้วน คล้ายกับชุดของพรรคกิจประชาชน (PAP) เป็นชุดฟอร์มสีแดงของพรรค SDP และลงท้ายคลิปว่าได้เวลาเปลี่ยนแปลง (Time for Change) ขณะที่พรรคกิจประชาชน ซึ่งเป็นรัฐบาลเองก็ไม่แพ้กัน โดยจอร์จ เหยียว (George Yeo) รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคกิจประชาชน (PAP) หลังจากที่หน้าเฟซบุ๊คของเขามีเพื่อนถึง 5 พันคนแล้ว เขาได้สร้างบัญชีแฟนเพจขึ้นใหม่ โดยมีผู้แอดแล้วกว่า 3 หมื่นคน ขณะที่ลี เซียน ลุง (Lee Hsien Loong) นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ผู้นำพรรคกิจประชาชน (PAP) ซึ่งแม้ไม่มีบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊ค แต่เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (4 พ.ค.) เขาก็ได้ตอบคำถามผู้สนับสนุนผ่านหน้าแฟนเพจของพรรคกิจประชาชน (PAP) ทั้งนี้มีผู้ใช้เฟซบุ๊คในสิงคโปร์ถึง 3 ล้านบัญชี จากจำนวนประชากรทั้งประเทศ 5 ล้านคน อย่างไรก็ตาม กฎหมายหาเสียงเลือกตั้ง ได้กำหนดให้พรรคการเมืองไม่สามารถห้ามโพสต์ข้อมูลใดๆ เพิ่มหลังพ้นเวลา 22.00 น. ของวันที่ 5 พ.ค. จนกว่าถึงเวลานับคะแนนเลือกตั้ง นอกจากเวลาที่จำกัด สถานที่จัดชุมนุมปราศรัยทางการเมืองก็ถูกจำกัด โดยปีนี้ กรมตำรวจสิงคโปร์ ประกาศให้มีพื้นที่สำหรับการชุมนุมทางการเมืองทั้งสิ้น 41 แห่งทั่วเกาะสิงคโปร์ โดยพรรคการเมืองที่ต้องการใช้สถานที่ดังกล่าวจะต้องลงทะเบียน โดยใช้วิธีลงทะเบียนแบบมาก่อนได้สิทธิ์ก่อน โดยการชุมนุมหาเสียงสามารถจัดได้ระหว่างวันที่ 28 เม.ย. ถึง 5 พ.ค. 54 ระหว่างเวลา 7.00 ถึง 22.00 น. มากกว่านั้น หลังการเลือกตั้งไปแล้ว ก็ยังมีระเบียบควบคุมการรวมตัวของบรรดาผู้สนับสนุนพรรคการเมือง โดยที่ในวันเลือกตั้ง ผู้สมัครลงเลือกตั้ง ผู้สนับสนุน และสมาชิกของพรรคการเมืองต่างๆ จะสามารถรวมตัวกันได้หลังจากที่ปิดหีบเลือกตั้งไปแล้ว เริ่มตั้งแต่เวลา 20.00 น. และรวมตัวกันได้จนถึงเวลา 30 นาทีหลังจากมีการประกาศผลการนับคะแนนในเขตสุดท้าย และรวมตัวกันได้ในสถานที่ซึ่งกฎหมายกำหนดเท่านั้น และในสถานที่เหล่านั้นจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจรักษาความปลอดภัย โดยในการเลือกตั้ง 7 พ.ค. นี้ พรรคการเมืองสามารถไปรวมตัวได้ในสถานที่ที่เรียกว่า “ศูนย์กลางการสมาคม” (Assembly centre) ซึ่งประกาศในวันนี้ (6 พ.ค.) ไว้อย่างน้อย 5 แห่ง โดยฝั่งตะวันออกของเกาะ ได้กำหนดให้ สนามกีฬาเบดก (Bedok Stadium) เป็นสถานที่รวมตัวของพรรคกิจประชาชน (PAP) และสนามกีฬาหูกัง (Hougang Stadium) เป็นสถานที่รวมตัวของพรรคแรงงาน (WP) พื้นที่ตอนกลางของเกาะ ได้กำหนดให้สนามกีฬาโต๊ะ ปาโย (Toa Payson Stadium) และพื้นที่ทางตะวันตกของเกาะ ได้กำหนดให้สนามกีฬาจูร่ง (Jurong West Stadium) เป็นที่รวมตัวของพรรคกิจประชาชน (PAP) ขณะที่สนามกีฬาคเลเมนติ (Clementi Stadium) ในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของเกาะ ได้กำหนดให้เป็นพื้นที่รวมตัวและสมาคมของพรรคปฏิรูป (RP) โดยในการเลือกตั้งสิงคโปร์วันนี้ จะเริ่มเปิดคูหาเลือกตั้ง ตั้งแต่เวลา 08.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น (07.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย) และจะปิดหีบลงคะแนนในเวลา 20.00 น. และการนับคะแนนจะเริ่มในทันทีหลังปิดหีบบัตรเลือกตั้ง โดยคาดว่าจะรู้ผลการเลือกตั้งช่วงกลางดึกของคืนวันนี้ ที่มา: เรียบเรียงจาก Singaporean general election, 2011, Wikipedia, http://en.wikipedia.org/wiki/Singaporean_general_election,_2011 Assembly centres for Polling Day, Straits Times, May 6, 2011 http://www.straitstimes.com/GeneralElection/News/Story/STIStory_665591.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net