Skip to main content
sharethis

กอ.รมน.สรุปผลงาน 6 เดือน ปัดทหารไม่ได้ลงพื้นที่ แทรกแซงเลือกตั้ง แจงจับวิทยุชุมชน ส่วนใหญ่ผิดตาม ม. 116 ไม่ใช่ 112 พร้อมระดมวิทยุชุมชน 700 สถานี พิทักษ์สถาบัน เว็บไซต์หนังสือพิมพ์เดลินิวส์รายงานว่า วันนี้ (2 พ.ค.) ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในฐานะผอ.รมน. เป็นประธานในการประชุมสรุปผลการปฏิบัติงานรอบ 6 เดือนของกองอำนวนรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ตามแผนรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรปี 2553-2554 โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือ พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง นายกฯพอใจผลงาน 6 เดือน กอ.รมน. จากนั้นพล.อ.ดาวพงษ์ รัตนสุวรรณ เสธ.ทบ.ในฐานะเลขาธิการกอ.รมน. แถลงผลการประชุมกอ.รมน.ว่า เป็นการสรุปผลงานรอบ 6 เดือนของกอ.รมน.โดยนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.รมน.มาเป็นประธานและรับฟังในรอบ 6 เดือน กอ.รมน.ทำอะไรไปบ้าง ซึ่งเราได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผอ.รมน.ภาคและหัวหน้าส่วนราชการเข้าสรุปผลงาน ซึ่งมีภัยคุกคามหลายอย่างที่กอ.รมน.ดูแล อาทิ ยาเสพติด ผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย การก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ และสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งหลังจากสรุปผลงาน นายกรัฐมนตรีรู้สึกพอใจที่ กอ.รมน.ได้ทำงานขึ้นมากตามลำดับ ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา มีสิ่งที่ กอ.รมน.ต้องปรับบ้างตามสถานการณ์และภัยคุกคามที่เกิด มีอยู่เรื่องหนึ่งคือเรื่องภัยพิบัติที่เกิดขึ้นมาต่อเนื่องในประเทศ พล.อ.ดาวพงษ์ กล่าวว่า ความจริงมีหลายหน่วยงานที่เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหานี้ แต่ก็ยังขาดการบูรณาการที่เป็นภาพรวม จะเห็นว่าทางรัฐบาลได้แก้ปัญหาด้วยการแต่งตั้งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เข้ามาบูรณาการแก้ไขเป็นเหตุการณ์ๆ ไป ซึ่งเราได้เรียนนายกฯว่า น่าจะมีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้ ซึ่งขณะนี้ กอ.รมน.ก็ศึกษาเรื่องนี้อยู่ ความจริงตามกฎหมายระบุว่า กอ.รมน.ดูแลภัยคุกคามที่เกิดขึ้นจากกลุ่มบุคคล และบุคคลเท่านั้น แต่ภัยธรรมชาติ ไม่ได้เกิดจากบุคคล ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของ กอ.รมน.ตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงปี 2551 แต่ก็มีช่องว่า รัฐมนตรีสามารถมอบหมายได้หรือต้องหาใครสักคนมาช่วยเหลือประชาชน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาและปรับกัน ชี้งบปี 55 ได้ 6,943 ล้านบาท น้อยกว่าปีก่อน พล.อ.ดาวพงษ์ กล่าวถึง เรื่องบประมาณว่า งบของ กอ.รมน.จริงๆ ที่ได้รับในปี 2555 ที่ขณะนี้ยังไม่ตกผลึก เราได้รับน้อยกว่าปี 2554 ซึ่งงบประมาณที่เตรียมไว้ทำอะไรเกี่ยวกับงานยุทธศาสตร์ได้น้อยกว่าที่ได้เตรียมไว้ แต่ไม่เป็นไรเราใช้วิธีการประสานงานกับส่วนราชการ ซึ่งตอนท้ายการประชุม นายกฯสรุปว่า ความสำคัญของ กอ.รมน.คือ การประสานงานและบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกระดับ ทาง กอ.รมน.ส่วนกลางต้องประสานกับกระทรวง ทบวง กรมที่เกี่ยวข้องในเรื่องต่างๆ ซึ่งถือเป็นปัจจัยของความสำเร็จ และตรงกับที่ทางกอ.รมน.พยายามดำเนินการอยู่ หากเราประสานงานกันได้ดีงบประมาณต่างๆ ก็ไม่ต้องใช้มาก จากงบปี 2554 ที่ได้จำนวน 7,500 กว่าล้านบาท ส่วนงบประมาณปี 2555 ได้จำนวน 6,943 ล้านบาทแบ่งเป็นงบการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 6,164 ล้านบาท และงบความมั่นคงของรัฐ 778 ล้านบาท ซึ่งในงบความมั่นคงของรัฐ แบ่งเป็นงบกำลังพล 337 ล้านบาท และงบสำหรับขับเคลื่อนงานตามยุทธศาสตร์เพียง 440 ล้านบาท ปัด ทหารไม่ได้ลงพื้นที่ แทรกแซงเลือกตั้ง พล.อ.ดาวพงษ์ กล่าวว่า ในที่ประชุมไม่ได้กล่าวเฉพาะเจาะจงถึงเรื่องความมั่นคงภายในกรณีที่มีการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ ซึ่งกอ.รมน.มีส่วนเดียวคือ การจัดตั้ง ศอ.รส.และมอบให้เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมดูแลสถานการณ์ แต่ไม่ได้ลงลึกไปว่า มีกลุ่มผู้ชุมนุมกี่สี กี่กลุ่ม และสถานการณ์เป็นอย่างไร เพียงแต่มีการสรุปสถานการณ์ภัยคุกคาม เช่น ภัยยาเสพติดว่า มีความรุนแรงแค่ไหน ส่วนกรณีที่ กอ.รมน.ถูกฝ่ายการเมืองโจมตีว่านำทหารเข้าไปในพื้นที่ เพื่อแทรกแซงการเลือกตั้งนั้น สิ่งที่ตนคิดคือ ต้องทำความเข้าใจกับสื่อฯ หากสื่อเข้าใจบทบาทของ กอ.รมน. ตนก็จะไม่ถูกโจมตี แต่ถ้าเข้าใจผิดตนก็ถูกโจมตี ตนมีตำแหน่งเป็นเสนาธิการทหารบก เป็นเลขาธิการ กอ.รมน.อะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับสายงานของตน ก็ต้องทำเป็นเรื่องธรรมดา ส่วนใครจะมองอย่างไรหรือเข้าใจผิด ถ้ามีโอกาสตนจะไปทำความเข้าใจ ส่วนการดูแลการเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ รัฐบาลยังไม่ได้สั่งการ กอ.รมน.เป็นพิเศษในเรื่องนี้ และศูนย์ปฏิบัติงานทั้ง 6 ศูนย์ของ กอ.รมน.ก็ไม่มีหน้าที่ดูแลการเลือกตั้ง ทั้งนี้ยังเห็นรายงานว่าจะเกิดเหตุการณ์รุนแรงในช่วงเลือกตั้ง ซึ่งอาจจะมีการยิงกันเป็นเรื่องธรรมดาแต่เรื่องใหญ่ๆ คงไม่มี กรณีจับวิทยุชุมชน ส่วนใหญ่ผิดตาม ม. 116 ไม่ใช่ 112 เมื่อถามถึงกรณีที่ กอ.รมน.แจ้งจับวิทยุชุมนุมที่ผิดกฎหมายจำนวน 13 สถานี พล.อ.ดาวพงษ์ กล่าวว่า ความจริงที่ถูกจับส่วนใหญ่มีความผิดตาม มาตรา 116 คือ ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความแตกแยก ความสามัคคี ไม่ใช่ความผิด มาตรา 112 ที่เกี่ยวกับสถาบัน ซึ่งการจับกุม 13 สถานีวิทยุชุมนุมเราเอา พ.ร.บ.วิทยุกระจายเสียงเป็นตัวนำในการจับกุม และมาขยายผลเอาผิดโทษทางอาญาตามหลัง ทำให้ดูเหมือนเป็นสองมาตรฐาน เพราะมีอีกหลายคลื่นที่ทำผิด พ.ร.บ.กระจายเสียง ซึ่งขณะนี้มีอยู่อีกจำนวน 800 กว่าสถานีที่กระทำผิด พ.ร.บ.วิทยุกระจายเสียง ซึ่งทางคณะกรรมการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ได้ส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว ไม่ใช่ว่าตนจะมาไล่จับเสื้อแดง เสื้อเขียว อย่างเดียว ตนมองอะไรที่กระทบต่อความมั่นคง ระดม 700 วิทยุชุมชนปกป้องสถาบันฯ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผลสรุปการปฏิบัติงานที่สำคัญมี 3 ด้าน คือ 1.ด้านการติดตามตรวจสอบและประเมินแนวโน้มของสถานการณ์ โดยได้จัดทำโครงการเครือข่ายสายด่วนความมั่นคง 1374 ซึ่งเป็นงานตามแผนขับเคลื่อนงานด้านมวลชน กอ.รมน. โดยรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจและมีจิตสำนึกด้านความมั่นคง และทราบถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภัยคุกคามด้านต่างๆ โดยให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐในการเฝ้าระวัง แจ้งเตือนภัยความมั่นคงต่างๆ เบอร์เดียวทั้งประเทศ 2.ด้านการเสริมสร้างให้ประชาชนตระหนักในหน้าที่ที่ต้องพิทักษ์ไว้ซึ่งชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ โดยจัดชุดวิทยากรเสริมสร้างความเข้าใจสนับสนุนการดำเนินงานพิทักษ์ปกป้องและเทิดทูนสถาบัน รวมทั้งแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ กอ.รมน.ภาค 1-4 จำนวน 100 ชุด นอกจากนี้ กอ.รมน.ยังร่วมกับกองทัพบก ร่วมรณรงค์สร้างกระแสความรักชาติและความจงรักภักดี โดยใช้ดนตรีเป็นสื่อสนับสนุน กอ.รมน.ภาคในการพิทักษ์ปกป้องและเทิดทูนสถาบัน รวมทั้งการให้เครือข่ายวิทยุชุมชนเพื่อความมั่นคง กอ.รมน.จำนวน 700 สถานีออกอากาศผ่านระบบอินเตอร์เน็ตพร้อมกันทั้งเครือข่าย วันละ 3 เวลา โดยเน้นเรื่องพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยุ่หัวที่มีต่อพสกนิกรชาวไทย โดยให้นักจัดรายการสอดแทรกเรื่องของความรักชาติและความจงรักภักดี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 3.ด้านการสร้างความรักความสามัคคีของคนในชาติ รวมทั้งการส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปกป้องและแก้ไขปัญหาต่างๆที่กระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรและความสงบเรียบร้อยของสังคม ซึ่งได้มีการจัดตั้งกลไกในการขับเคลื่อนมวลชนของทุกหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อกำหนดกรอบทิศทางการอำนวยการและการขับเคลื่อนงานด้านมวลชนในภาพรวมของประเทศ รวมทั้งมีการฟื้นฟูมวลชนไทยอาสาป้องกันชาติ (ทสปช.)และมวลชนกลุ่มอื่นๆในทุกคโครงการของ กอ.รมน.โดยเน้นให้ความสำคัญในเรื่องการพิทักษ์ปกป้องและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งถือเป็นความเร่งด่วนลำดับแรก โดยในปี 2554 ได้ทำการฝึกอบรมและจัดตั้งมวลชนไทยอาสาป้องกันชาติในพื้นที่ กอ.รมน.จังหวัดรวม 26 จังหวัด จำนวน 30 รุ่น รุ่นละ 200 คน รวม 6,000 คน ที่มา: เว็บไซต์หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net