เสวนา: Unseen 2475 เปิดตำนานอภิวัฒน์ 2475 กับทายาทพลเอกพระยาพหลฯ

วงเสวนาเผยเส้นทางคณะราษฎรปราบกบฏบวรเดชปี 2476 สงครามกลางเมืองครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ ที่ไม่ได้รบกันแค่บางเขน-ดอนเมืองแต่ตีโต้กันไปไกลตามทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือจนถึงศรีสะเกษ ด้านทายาทภูมิใจพระยาพหลฯ เสียสละยิ่งใหญ่ให้แก่ประเทศ ส่วนหนึ่งของภาพเหตุการณ์คณะราษฎรปราบกบฏบวรเดช ที่นายชีพธรรม คำวิเศษณ์ วิทยากรในงานเสวนา “Unseen 2475 เปิดตำนานอภิวัฒน์ 2475 กับทายาทพลเอกพระยาพหลฯ” ทำสำเนามาจากพิพิธภัณฑ์พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ที่ จ.ลพบุรี และนำมาเผยแพร่ในงานเสวนา ลูกเสือจาก จ.อยุธยากับนักเรียนหญิง ร.ร.นารีนุกูล จ.อุบลราชธานี ทำการห่ออาหารและการครัวเพื่อสนับสนุนฝ่ายคณะราษฎรที่วารินทร์ (ที่มา: พิพิธภัณฑ์พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ศูนย์การทหารปืนใหญ่\ ค่ายพหลโยธิน อ.เมือง จ.ลพบุรี) รถรบปืนกลหนักบนรถบรรทุกของทหารฝ่ายคณะราษฎรไปถึงสถานีศรีษะเกษ (ที่มา: พิพิธภัณฑ์พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ศูนย์การทหารปืนใหญ่\" ค่ายพหลโยธิน อ.เมือง จ.ลพบุรี) ผู้คนออกมาต้อนรับทหาร และมีรถยนต์ทหารรอบรรทุกทหารปราบกบฏส่วนที่ 1 กลับกรม ย่านหัวลำโพง ภาพถ่ายเมื่อ 25 พ.ย. 2476 (ที่มา: พิพิธภัณฑ์พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ศูนย์การทหารปืนใหญ่\" ค่ายพหลโยธิน อ.เมือง จ.ลพบุรี) ชาวพระนครต้อนรับทหารปราบกบฏส่วนที่ 1 กลับมาเมื่อ 25 พ.ย. 2476 (ที่มา: พิพิธภัณฑ์พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ศูนย์การทหารปืนใหญ่\" ค่ายพหลโยธิน อ.เมือง จ.ลพบุรี) นายทหารที่ไปรบชนะกลับมามาจากการปราบกบฏ นายทหารในกองรบส่วนที่ 1 กลับมาและได้รับพวงมาลัยจากคณะนาย ต.บุญเทียม ภาพเมื่อ 25 พ.ย. 2476 (ที่มา: พิพิธภัณฑ์พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ศูนย์การทหารปืนใหญ่\" ค่ายพหลโยธิน อ.เมือง จ.ลพบุรี) มีการเตรียมของขวัญแก่คณะปราบกบฏ ภาพเมื่อ 25 พ.ย. 2476 (ที่มา: พิพิธภัณฑ์พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ศูนย์การทหารปืนใหญ่\" ค่ายพหลโยธิน อ.เมือง จ.ลพบุรี) วันที่ 30 เมษายน มีการจัดเสวนาเรื่อง “Unseen 2475 เปิดตำนานอภิวัฒน์ 2475 กับทายาทพลเอกพระยาพหลฯ” เสวนาโดย นายชีพธรรม คำวิเศษณ์ นักจัดรายการวิทยุจากสถานีเนชั่น พ.ต.พุทธินารถ พหลพลพยุหเสนา บุตรชายของพระยาพหลพลหยุหเสนา และนางพวงแก้ว ศาตรปรุง บุตรสาวของของพระยาพหลพลหยุหเสนา ดำเนินรายการโดย นายบุญเลิศ ช้างใหญ่ หนังสือพิมพ์มติชน งานเสวนาในครั้งนี้เน้นไปที่เรื่องราวของพระยาพระหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎรผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 จนเป็นที่มาของการยื้ออำนาจระหว่างฝ่ายอนุรักษ์นิยม กับฝ่ายคณะราษฎร จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์กบฏบวรเดชขึ้นในปีถัดมา และเหตุการณ์ดังกล่าวก็ถือเป็น “สงครามกลางเมือง” ครั้งแรกของประเทศไทยและยังคงปรากฏการยื้ออำนาจระหว่างสองฝ่ายมาจนกระทั่งปัจจุบัน ก่อนการเสวนากับทายาทพระยาพระหลฯ นายชีพธรรม คำวิเศษณ์ ได้เปิดเสวนานำในหัวข้อ “รถไฟสายสงครามกลางเมือง” โดยเล่าเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองไทยผ่านเส้นทางรถไฟที่เขาได้เดินทางไปยังจังหวัดอุบลราชธานี ชีพธรรมเล่าว่าเส้นทางที่ตนโดยสารรถไฟฟรีไปยังจังหวัดอุบลราชธานีนั้น เป็นเส้นทางแห่งประวัติศาสตร์การเมืองไทยในช่วงต่อจากเหตุการณ์อภิวัตน์ 2475 ซึ่งก็คือเหตุการณ์ “กบฏบวรเดช” ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร ชีพธรรมชี้การแบ่งฝ่ายระหว่าง “คณะเจ้า” กับ “คณะราษฎร” ไม่ต่างกับการเมืองในปัจจุบัน ชีพธรรมกล่าวถึงเหตุการณ์ในช่วงนั้นว่าทหารแยกออกเป็นสองสาย คือ กลุ่ม “คณะเจ้า” กับกลุ่ม “คณะราษฎร” ซึ่งเป็นความขัดแย้งกันระหว่าง “กลุ่มอำนาจเก่า” กับ “กลุ่มอำนาจใหม่” ที่ขึ้นมาทำการอภิวัตน์เปลี่ยนแปลงการปกครองและขึ้นมามีบทบาทสำคัญทางการเมืองแทนที่กลุ่มอำนาจเก่า เช่นเดียวกับการยื้ออำนาจที่ยังคงเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน ชีพธรรมเล่าต่อไปอีกว่าในขณะที่ตนนั่งรถไฟผ่านเส้นทางแห่งประวัติศาสตร์นั้น ตนคิดในใจว่าจะมีใครที่ทราบบ้างว่าเส้นทางรถไฟสายนี้ที่กำลังแล่นผ่านไปยังจุดต่างๆนั้น ในอดีตเคยมีเหตุการณ์สำคัญอะไรเกิดขึ้นบ้าง ชีพธรรมกล่าวว่า “ภาพทางประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์กบฏบวรเดชที่เราเห็นกันส่วนใหญ่นั้น ถูกพูดถึงแค่การต่อสู้ที่เกิดขึ้นบริเวณแถบพื้นที่ดอนเมือง แต่จริงๆ แล้วการสู้รบระหว่างสองฝ่ายกลับไปไกลถึงพื้นที่ในจังหวัดบุรีรัมย์ อุบลราชธานี และอาจเลยไปถึงพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษด้วยซ้ำ” แต่เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้น ณ เส้นทางรถไฟสายนี้กลับไม่ถูกพูดถึงว่ามีความสำคัญอย่างไรหรือเกิดอะไรขึ้นในพื้นที่เหล่านี้บ้าง ชีพธรรมเล่าเสริมว่าในยุคนั้นรัฐบาลมีการรับอาสาสมัครมาปราบกบฏ และก็มีคนในพื้นที่จังหวัดต่างๆ สมัครเข้ามา ซึ่งชีพธรรมกล่าวว่า “การเข้ามาของอาสาสมัครเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลในยุคนั้นมีการประชาสัมพันธ์ที่ได้ผล” และอาสาสมัครชาวบ้านเหล่านี้ก็เป็นกำลังสำคัญอีกแรงหนึ่งที่ทำให้คณะราษฎรสามารถปราบปรามกบฏฝ่ายคณะเจ้าได้สำเร็จ หลังเหตุการณ์กบฏบวรเดชจบลง รัฐบาลของพระยาพระหลฯ ในขณะนั้นได้จัดแห่ขบวนศพของผู้เสียชีวิตอย่างสมเกียรติ์ และจัดพิธีเผาศพของทหารเหล่านี้ขึ้นที่ท้องสนามหลวง ซึ่งในสมัยก่อนศพที่จะเผาที่สนามหลวงนั้น ต้องเป็นชนชั้นขุนนางหรือเจ้านายเท่านั้น ซึ่งการจัดพิธีเผาศพในครั้งนี้ได้เกิดการคัดค้านจากกลุ่มอำนาจเก่าเป็นอย่างมาก ชีพธรรมชี้ว่า หลังเหตุการณ์กบฏบวรเดชจบลง ได้ส่งผลให้รัชกาลที่ 7 ไม่เสด็จกลับกรุงเทพอีกเลย จนกระทั่งมีการประกาศสละราชสมบัติในเวลาต่อมา ชีพธรรมสรุปทิ้งท้ายว่า การยึดอำนาจมาจากกบฏบวรเดชนั้นยังคงมีบทบาทมาจนกระทั่งปัจจุบัน ซึ่งการใช้ “แท็กติก” ต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันนั้นดูคล้ายกับเค้าโครงของประวัติศาสตร์ที่กำลังวนกลับมาอีกครั้ง เขาย้ำว่าเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันนั้นเป็นการยื้ออำนาจกันระหว่าง “ประชาชน” กับ “กลุ่มอนุรักษ์นิยม” ที่มีการแบ่งสายชัดเจนในวงการการเมืองปัจจุบัน ทายาทชี้พระยาพระพหลฯ เสียสละให้ประเทศ ในช่วงเสวนา พ.ต. พุทธินารถ พหลพลหยุหเสนา และนางพวงแก้ว ศาตรปรุง บุตรชายและบุตรสาวของทายาทพระยาพระพลฯได้เล่าถึงความทรงจำของพวกตนที่ยังคงระลึกถึงคุณพ่อผู้ทำการอภิวัตน์การปกครองของไทย พุทธินารถกล่าวว่าบิดาของตนเป็นผู้นำปฏิวัติ และทำให้ประเทศมีรัฐธรรมนูญ “คุณพ่อเป็นคนที่ซื่อสัตย์ ไม่เคยแสวงหาผลประโยชน์ และไม่เคยแสวงหาอำนาจ\" พุทธินารถเล่าต่อไปอีกว่าบิดาและมารดาของตนสอนไว้ว่าอย่าคิดว่าเกิดเป็นลูกของใคร ให้คิดว่าตัวเองเป็นลูกของคนธรรมดาทั่วไป และพึงระลึกไว้ว่าตนเองไม่ได้วิเศษเหนือคนอื่น พุทธินารถเล่าว่าตนจำคำสอนเรื่อง “ไพร่” และ “ผู้ดี” ของบิดาตนได้ “ไพร่ ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นคนจน แต่คนรวยก็เป็นไพร่ได้ ถ้าไปเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น ส่วนผู้ดี แม้ว่าจะเป็นขอทานก็เป็นผู้ดีได้ ถ้าไม่ได้ไปเอาเปรียบใคร” พุทธินารถกล่าว เช่นเดียวกับนางพวงแก้วที่กล่าวว่าทั้งบิดาของตนและผู้ก่อการอภิวัตน์ทุกคนต่างก็เป็นผู้เสียสละอันยิ่งใหญ่ และภูมิใจมากที่ได้เกิดเป็นลูกของพระยาพระหลฯ ผู้เสียสละให้แก่ประเทศ พวงแก้วเล่าว่าแม้แต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองที่บิดาของตนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีลอย และได้รับหน้าที่ไปเป็นแม่ทัพบังคับบัญชาทหารนั้น บิดาของตนเป็นอัมพาตแล้วด้วยซ้ำแต่ก็ยังไปทำหน้าที่ในสนาม จนกระทั่งในช่วงที่บิดาของตนเสียชีวิต แทนที่บิดาของตนจะนึกถึงครอบครัว แต่บิดาของตนกลับสั่งเสียกับคนสนิทว่า “ฝากประเทศด้วย” เมื่อมีผู้ชนะ ผู้แพ้ก็ต้องกลายเป็น “กบฏ” นายบุญเลิศ ช้างใหญ่เปิดประเด็นถามถึงเรื่องกบฏบวรเดช โดยเขาชี้ว่าเป็นองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์การเมืองที่ไม่เคยรู้ และเหตุการณ์ดังกล่าวก็เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ต้องใช้ทั้งกำลังทหารและอาวุธ โดยนางพวงแก้วกล่าวว่า “ในยุคนั้นเป็นช่วงเวลาที่มีเรื่องเกิดขึ้นตลอด ท่านปรีดีก็โดนกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ให้ไปอ่านเอาจากหนังสือเลยดีกว่า เพราะมันเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก” พวงแก้วมองว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นธรรมชาติของมนุษย์ “เมื่อใดที่มีกลุ่มหนึ่งมาหักล้าง อีกกลุ่มก็ต้องไม่ยอม เมื่อกลุ่มหนึ่งเป็นผู้ชนะ กลุ่มที่เป็นผู้แพ้ก็ต้องเป็นกบฏ” พวงแก้วกล่าว ทางด้านของพุทธินารถเล่าว่าตนทราบเหตุการณ์จากผู้ใหญ่ที่เล่าให้ฟังว่า “ตอนนั้นคุณพ่อปรึกษากับจอมพล ป. แล้ว แต่จอมพล ป. บอกว่าไม่ยอม จึงต้องมีการนำทหารออกมา และสั่งให้เอาปืนใหญ่ออกมาตั้งที่คลองบางเขน แล้วยิงกระสุนลงฝ่ายบวรเดช” พุทธินารถเล่าต่อไปว่าหลังจากที่กลุ่มทหารฝ่ายพระองค์เจ้าบวรเดชที่ล้อมกรุงเทพฯ นั้นมาจากราชบุรีและเพชรบุรี แต่พอทราบผลว่าแพ้ เหล่าทหารก็ถอยกลับไป จึงรบกับทหารที่มาจากทางภาคใต้เท่านั้น พุทธินารถเล่าทิ้งท้ายถึงตอนที่เขารับราชการทหารและเดินทางไปทำหน้าที่ยังประเทศเวียดนาม พุทธินารถกล่าวว่าเห็นชาวเวียดนามรักแผ่นดินเท่าชีวิต แต่คนไทยกลับต้องมาฆ่ากันเพราะขัดแย้งกันเอง เช่นเดียวกับประเทศเกาหลีในช่วงที่เกิดสงครามสองฝ่าย เขาเห็นว่าประเทศไทยในยุคนั้นเจริญกว่ามาก แต่มาในยุคนี้กลับเป็นตรงกันข้าม “คนไทยมักพูดว่า เราเป็นเมืองพุทธ แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นพุทธประเภทไหนถึงต้องมาขัดแย้งกันเอง” พุทธินารถกล่าว"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท