จดหมายเปิดผนึกเรียกร้องรัฐขจัดการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมงไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

29 เมษายน 2554 มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ออกจดหมายเปิดผนึกถึงฯพณฯ นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรียกร้องให้รัฐขจัดการค้ามนุษย์โดยการแสวงหา ประโยชน์ด้านแรงงานในอุตสาหกรรมประมงทะเลไทย ตามการรายงานของสำนักข่าวบีบีซี ดังมีรายละเอียด ดังนี้

0 0 0

 

จดหมายเปิดผนึก

ด่วนที่สุด

                                                                        วันที่ 29 เมษายน 2554

 

เรื่อง     เรียกร้องให้รัฐขจัดการค้ามนุษย์โดยการแสวงหาประโยชน์ด้านแรงงานในอุตสาหกรรมประมงทะเลไทย
เรียน    ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
            รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
            รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
            รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
            ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
            อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม
            อธิบดีกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม
            อธิบดีกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
            ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
            นายกสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย
            ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
            นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทย ณ นครเจนีวา และประธานคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน                     แห่งสหประชาชาติ
            คณะกรรมาธิการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา
            คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค
 

จากการรายงานข่าวของสำนักข่าว บีบีซี นิวส์ (BBC News) เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2554 ถึงกรณีการค้ามนุษย์โดยแสวงหาประโยชน์จากการใช้แรงงานหรือบริการ ซึ่งปรากฏกระบวนการนำพาแรงงานเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายและหลอกลวงแรงงานจาก ประเทศพม่าหลายพันคนมาทำงานในอุตสาหกรรมประมงประเทศไทย ทั้งกิจการประมงทะเล(ลูกเรือประมง) และกิจการต่อเนื่องจากประมงทะเล(คนงานในโรงงานบรรจุและผลิตอาหารทะเล) โดยเมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทยแรงงานชาวพม่าจะถูกขายต่อไปยังนายหน้ารายอื่น และถูกกักขังไว้ก่อนจะถูกขายให้กับเจ้าของเรือประมง เปรียบเสมือนกับการค้าทาสซึ่งละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนในเนื้อตัวร่างกาย และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ สภาพการทำงานนั้น แรงงานชาวพม่าถูกบังคับให้ต้องทำงาน ๑๕-๒๐ ชั่วโมงต่อวัน กรณีทำงานบนเรือประมงจะถูกกักตัวเยี่ยงทาสไว้ในเรือในทะเลเป็นเวลาหลายปีโดย ไม่มีโอกาสขึ้นฝั่ง หรือถูกกักขังอยู่บนฝั่งระหว่างรอการออกเรือรอบต่อไป หากหลบหนีแล้วถูกจับได้ก็จะถูกทรมาน ทำร้ายทุบตี และข่มขู่เอาชีวิต ซึ่งในรายงานข่าวดังกล่าวมีรายหนึ่งที่กัปตันเรือคนไทยจับลูกเรือต่างด้าว ที่หลบหนีมาช็อตด้วยไฟฟ้าและถูกยิงต่อหน้าลูกเรือคนอื่นแล้วโยนทิ้งทะเล ซึ่งผู้ให้ข้อมูลตามรายงานข่าวดังกล่าวเป็นลูกเรือประมงคนหนึ่งที่กระโดด เรือแล้วว่ายน้ำหนีรอดออกมาได้

(รายละเอียดข่าว สามารถอ่านได้ที่ http://www.bbc.co.uk/news/world-asia-pacific-12881982,http://news.bbc.co.uk/today/hi/today/newsid_9467000/9467216.stm,http://www.bbc.co.uk/news/world-asia-pacific-13189103 )

การทำงานบนเรือประมงและกิจการต่อเนื่องจากประมงนั้น ซึ่งมีความต้องการแรงงานเข้าสู่อุตสาหกรรมประมงซึ่งเป็นอุสาหกรรมที่ทำราย ได้ติดอันดับต้นๆของประเทศไทย ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายกลุ่มแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้าสู่ระบบ เศรษฐกิจดังกล่าวในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง สภาพความเป็นจริงปรากฏขบวนการค้ามนุษย์เข้ามาแทรกแซงกลไกดังกล่าวจนกระทั่ง สะท้อนออกมาเป็นภาพรวมว่า ยิ่งอุตสาหกรรมประมงรุ่งเรืองมากขึ้นเท่าใด การค้ามนุษย์โดยบังคับใช้แรงงานประมงยิ่งเลวร้ายมากขึ้นเพียงนั้น

ทั้งนี้ การรายงานข่าวของสำนักข่าวบีบีซี นอกจากจะสะท้อนถึงปัญหาสภาพการจ้างงานในอุตสาหกรรมประมงไทยแล้ว ยังเรียกร้องให้นานาประเทศตระหนักว่าสินค้าจากอุตสาหกรรมประมงซึ่งส่งออกมา จากประเทศไทยนั้น อาจเป็นสินค้าที่ได้มาจากการเอารัดเอาเปรียบ บังคับใช้แรงงานและละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา(มสพ.) ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนไม่แสวงหาผลกำไร ตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน เห็นว่าข้อมูลที่เผยแพร่ในรายงานข่าวของสำนักข่าวบีบีซี นั้น น่าเชื่อถือ ได้ และสอดคล้องกับปัญหาและข้อเท็จจริงที่ทางมูลนิธิตรวจสอบอยู่ การค้ามนุษย์ในกิจการประมงทะเลนอกจากเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและกฎหมาย ทั้งในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศอย่างร้ายแรงแล้ว หากปล่อยไว้โดยไม่มีการแก้ไขอย่างจริงจัง จะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยได้ ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลและภาคธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจการประมงทะเลดำเนินการแก้ไขปัญหา ดังต่อไปนี้

1. ออกกฎหมายคุ้มครองแรงงานในภาคอุตสาหกรรมการประมงอย่างน้อยให้เท่ากับมาตรฐาน คุ้มครองแรงงานในภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ทั้งในด้านค่าจ้าง สิทธิในบริการสาธารณสุข สิทธิในความปลอดภัยจากการทำงาน และการประกันสังคม เป็นต้น และบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวอย่างเคร่งครัด

2. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์โดยการแสวงหาประโยชน์จากการบังคับใช้แรงงาน และบริการในอุตสาหกรรมประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่างจริงจัง โดยสมาคมของผู้ประกอบการกิจเกี่ยวกับการประมงทะเล จะต้องให้ความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามอย่างเต็มที่ เพื่อประโยชน์ในอุตสาหกรรมการประมงที่ยั่งยืน โดยต้องยึดถือปฏิบัติโดยเคารพ สิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคน ไม่ว่าจะมาจากเผ่าพันธุ์ หรือประเทศใดอย่างเสมอภาคเท่าเทียม

3. จัดระบบแรงงานในอุตสาหกรรมประมง ปรับปรุงระบบการจัดเก็บฐานข้องมูลของแรงงานประมงทะเล และเอกสารประจำตัวลูกเรือ หรือseaman book ให้สามารถตรวจสอบได้ทั่วประเทศและป้องกันการสวมทะเบียน ทั้งนี้ การปราบปรามการค้ามนุษย์ต้องมุ่งเน้นกระบวนการนำพาของนายหน้าและการลงโทษ สถานประกอบกิจการประมงทะเลผู้ได้รับประโยชน์โดยตรงต่อกระบวนการค้ามนุษย์

4. จัดระบบตรวจสอบเรือประมง การจดทะเบียนเรือของกรมเจ้าท่าต้องมีรายละเอียดที่ ชัดเจน ระบุตัวเรือได้จริง เป็นฐานข้อมูลที่ตรวจสอบได้ทั้งประเทศ เพื่อให้สะดวกต่อการตรวจสอบข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันและปราบ ปรามการค้ามนุษย์ด้านแรงงานในอุตสาหกรรมประมงทะเล อาทิเช่น การตรวจสอบเอกสารของคนประจำเรือ, การตรวจสอบใบอนุญาตทำประมง(อาชญาบัตร), ใบอนุญาตใช้เครื่องมือทำการประมง และใบอนุญาตเช่าพื้นที่, การตรวจสอบสภาพการทำงานและคุ้มครองสิทธิแรงงาน เป็นต้น

5. ขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกรณีการค้ามนุษย์ด้านแรงงานประมงอย่างจริงจัง

6. รัฐบาลไทยต้องให้ความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ ทั้งสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ, ผู้รายงานพิเศษด้านต่อต้านการค้ามนุษย์ และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ในการตรวจสอบกรณีดังกล่าว

 

                                                                                 ขอแสดงความนับถือ

                                                          มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.)

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท