Skip to main content
sharethis

25 เมษายน บีบีซีได้เปิดโปงธุรกิจการลักลอบนำเข้าแรงงานพม่าผิดกฎหมายเข้าประเทศ และบังคับใช้แรงงานเหล่านี้เยี่ยงทาสในอุตสาหกรรมประมงไทย จากการสืบสวนของบีบีซีพบว่า มีชาวพม่าหลายพันคนถูกหลอกลวงจากประเทศพม่าอย่างผิดกฎหมายเพื่อมาทำงาน บนเรือและในโรงงานต่างๆ บางคนถูกกักตัวเยี่ยงทาสอยู่ในทะเลเป็นเวลาหลายปีโดยไม่มีโอกาสได้ขึ้นฝั่ง ถูกบังคับให้ทำงานเป็นเวลายาวนานหลายชั่วโมงติดต่อกันโดยได้รับค่าจ้างเพียง เล็กน้อยหรือไม่ได้เลย หรือถูกกักขังอยู่บนฝั่งระหว่างรอเดินทางไปกับเรือครั้งต่อไป บางคนที่หลบหนีออกมาได้เล่าถึงการต้องเผชิญกับการทรมานหรือถูกฆ่าโดยกัปตัน ชาวไทย ดังที่รายงานโดยเอแลสแตร์ ไลท์เฮด ดังนี้

 

0 0 0 0 0 0

 

ลูกเรือประมง“เยี่ยงทาส”ชาวพม่า
ถูกหลอกมาขายและเผชิญกับการกดขี่ทารุณ

โดย เอแลสแตร์ ไลท์เฮด (บีบีซี นิวส์, กรุงเทพฯ)

 

 

ปัจจุบัน ซอ ซอ อาศัยและทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ อีกทั้งยังช่วยเหลือคนอื่นๆ ที่พยายามจะหลบหนีด้วย

เรื่องราวของ ซอ ซอ เกี่ยวกับการเป็นคนงานชาวพม่าที่ถูกกักไว้เยี่ยงทาสบนเรือประมงของไทยนั้น ร้ายแรงสุดจะบรรยายแต่ก็ไม่ใช่เรื่องผิดธรรมดาเลย

เขาเป็นหนึ่งในจำนวนชายหนุ่มพม่าหลายพันคนที่ถูกหลอกมาขายให้กับ อุตสาหกรรมประมงในประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกปลารายใหญ่ที่สุด ไปยังประเทศสหราชอาณาจักร

ชายหนุ่มอายุ 26 ปีผู้นี้ใช้เวลาอยู่บนเรือเพียงสามเดือนก่อนที่จะหลบหนีออกมาได้ ในระหว่างนั้นเขาได้เห็นชายสามคนถูกฆ่า ต้องทนดูกัปตันผสมยาลงในน้ำดื่ม และถูกบังคับให้ทำงานทั้งวันทั้งคืน

เรื่องราวเริ่มต้นเมื่อเขาร่วมกลุ่มกับคนอื่นๆ ที่ถูกลักลอบพาออกจากบ้านเกิดอย่างผิดกฎหมายและเดินทางผ่านป่าเขาเข้าสู่ ประเทศไทย พร้อมกับคำสัญญาว่าจะมีงานให้ทำในตลาดหรือโรงงาน

“ในระหว่างเดินทาง หญิงพม่าสองคนถูกข่มขืนโดยนายหน้าชาวไทย จากนั้นนายหน้าก็เริ่มทุบตีพวกเรา” ซอ ซอ กล่าว

พวกเขาถูกส่งต่อไปยังนายหน้ารายอื่นและถูกกักขังไว้ก่อนจะถูกขายให้กับ เจ้าของเรือประมง - ในขณะนั้นเขาไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น แต่พวกเขากำลังเข้าไปสู่สิ่งที่นักสิทธิมนุษยชนเรียกกันว่า การตกเป็นทาส

เริ่มคำพูด
“ชายผู้นั้นถูกทรมานด้วยการใช้ไฟฟ้าช็อตและหลังจากนั้นเขาถูกยิงต่อหน้าพวกเราและถูกโยนทิ้งลงทะเล”

ซอ ซอ ลูกเรือประมงที่ถูกหลอกมาขาย

เมื่อใดที่ลูกเรือเจ็บป่วยก็จะถูกทุบตี พวกเขาไม่เคยได้หลับนอนเกินสองสามชั่วโมงในแต่ละครั้ง อีกทั้งยังต้องอยู่ภายใต้การขู่ทำร้ายหรือขู่ฆ่า

ซอ ซอ เล่าถึงวิธีการอันน่าเศร้าใจที่ลูกเรือบางคนใช้เพื่อให้หลุดพ้นจากสภาพดังกล่าว

“ชายสามคนพยายามหลบหนีตอนตีสองโดยคว้าอวนลอยจับปลาแล้วกระโดดลงทะเล แต่มีพายุรุนแรงมากและสองคนจมน้ำตายเพราะว่ายน้ำไม่เป็น ส่วนอีกคนถูกจับตัวได้หลังจากว่ายขึ้นฝั่ง”

“พวกเขานำตัวชายคนนั้นกลับมาที่เรือ – ใบหน้าของเขาบวมเป่งจากการทุบตีและทรมาน พวกเขาเรียกเราทั้งหมดไปที่ดาดฟ้า แล้วกัปตันคนไทยบอกกับเราว่า นี่คือสิ่งที่จะเกิดกับคนที่พยายามหลบหนี”

“ชายคนนั้นถูกทรมานด้วยการใช้ไฟฟ้าช็อตและหลังจากนั้นเขาถูกยิงต่อหน้าพวกเราและถูกโยนทิ้งลงทะเล”

การผสมยาในน้ำ
พวกเขานอนในหีบไม้ขนาดเพียงเท่าตัว ซอ ซอ บอกว่ามันเหมือนโลงศพและเล็กมากขนาดที่เมื่อระฆังดังขึ้นเพื่อปลุกพวกเขาให้ ตื่นไปทำงาน – ทุกๆ สองสามชั่วโมง – ลูกเรือที่เพิ่งมาทำงานมักจะหัวโขกตอนที่รีบลุกจากที่นอน

คาดว่ามีคนงานพม่าหลายพันคนทำงานบนเรือของไทย
“ผมเห็นกัปตันใส่ยาบ้าประมาณ 15 – 20 เม็ดในถุงพลาสติกแล้วบดให้เป็นผงก่อนที่จะใส่ลงไปในน้ำดื่ม พวกเราทำงานเร็วขึ้นและเร็วขึ้นแต่หลังจากนั้นจะปวดหัวแทบทนไม่ได้”

จากการเห็นชายสามคนถูกฆ่าตาย ซอ ซอ คิดว่ามันอาจจะเกิดขึ้นกับเขาได้เช่นกัน ดังนั้น เขาตัดสินใจที่จะหลบหนี แม้ว่าจะต้องเสี่ยงก็ตาม

“เมื่อเรือประมงทอดสมอใกล้ฝั่ง ผมจับทุ่นลอยแล้วกระโดดลงทะเลตอนตีหนึ่งและมาถึงฝั่งตอนหกโมงเช้า ทะเลมีพายุแรงมาก”

“ผมเดินไปตามสันทรายแล้วหลบซ่อนตัวในพุ่มไม้ พวกเขาค้นหาผมและเดินผ่านหน้าผมไปแต่ไม่เห็นผม ซึ่งผมต้องขอบคุณพระเจ้าจริงๆ”

หลังจากเดินทางด้วยเท้าเป็นเวลาสี่วัน เขามาถึงเมืองพัทยาและได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มที่ทำงานกับโบสถ์ ปัจจุบันเขาพำนักอาศัยและทำงานอย่างถูกกฎหมายในกรุงเทพฯ และให้ความช่วยเหลือคนอื่นๆ ที่ต้องการจะหลบหนี เขาทำเช่นนี้โดยไม่ได้รับผลตอบแทนใดๆ เลย

ปัญหาที่แพร่ขยาย
เราได้พูดคุยกับชายพม่าหลายคนที่อยู่ในประเทศไทยและเล่าเรื่องคล้ายๆ กัน – การค้ามนุษย์ การทุบตี การฆ่า พวกเขาประมาณว่ามีคนงานพม่าหลายพันคนทำงานบนเรือของไทย

คนงานผิดกฎหมายถูกนำเข้าสู่โรงงานบรรจุและผลิตเช่นกัน
พวกเขาบอกกับเราว่า มีคนงานบางคนถูกกักตัวไว้บนเรือประมงเป็นเวลาหลายปีโดยไม่มีโอกาสได้เห็น ฝั่งเลย เนื่องจากปลาจะถูกส่งต่อให้กับเรือลำใหญ่กว่าซึ่งนำไปส่งยังท่าเรือ

มหาชัยเป็นหนึ่งในเมืองประมงใหญ่ของไทยซึ่งเรือประมงจะเข้ามาเทียบท่าในยามเช้าตรู่ทุกวัน

เจ้าหน้าที่ท่าเรือผู้ไม่ประสงค์จะถูกเอ่ยนามกล่าวว่า เรือเหล่านี้ต่างก็ถูกควบคุมโดยกัปตันและวิศวกรคนไทย โดยมีคนงานผิดกฎหมายชาวพม่ามากที่สุดในจำนวนลูกเรือ 20 คน

และนี่ไม่ใช่เพียงแต่งานบนเรือเท่านั้น – คนงานผิดกฎหมายก็ถูกขายให้กับโรงงานบรรจุและผลิตเช่นกัน

กา อู อายุ 18 ปีเมื่อเดินทางมาประเทศไทย: “ผมไม่ได้รับอนุญาตให้ออกจากโรงงานเป็นเวลาสี่ปี และต้องทำงานวันละ 15 – 20 ชั่วโมง มันเหมือนกับการติดคุกเลย”

ในที่สุด เขาหลบหนีได้โดยใช้โทรศัพท์มือถือซึ่งถูกห้ามใช้ในโรงงานติดต่อเพื่อนให้ เตรียมมารับเขา จากนั้นเขาปีนกำแพงอันหนาทึบเพื่อหลบหนี

ผู้ซื้อควรระวัง
เจ้าหน้าที่ทางการไทยกล่าวว่า พวกเขาไม่สามารถให้ความเห็นเป็นรายๆ ได้ แต่ยืนยันว่ามีกฎหมายบังคับใช้อยู่ ซึ่งพวกเขาพยายามทำเท่าที่ทำได้เพื่อหยุดยั้งการกดขี่ทารุณ อีกทั้งยังวางระเบียบควบคุมดูแลกลุ่มเรือประมงของไทยอันเป็นหนึ่งในกลุ่ม เรือประมงที่ใหญ่ที่สุดในโลก

กลุ่มสิทธิมนุษยชนต้องการให้ผู้บริโภคกดดันรัฐบาลไทยให้ควบคุมดูแลอุตสาหกรรมดังกล่าว
แต่นักสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า ยังมีอีกหลายวิธีที่กระทำได้และควรกระทำเพื่อหยุดปัญหานี้ แอนดี้ ฮอลล์ ทำงานกับกลุ่มสิทธิมนุษยชนเพื่อผู้ย้ายถิ่นฐานชาวพม่า

“คนจำนวนมากกำลังถูกหลอกให้ทำงานในอุตสาหกรรมประมง ดังนั้น คนเหล่านี้จึงตกเป็นทาสและถูกกักตัวไว้บนเรือ” เขากล่าว

เขามีความเชื่อว่า ประชาชนในประเทศอังกฤษและทั่วโลกควรได้รับรู้เกี่ยวกับสินค้าที่พวกเขากำลังซื้อ

“สิ่งที่พวกเราอยากบอกคือ เมื่อใดที่คุณซื้อปลาและปลานั้นมาจากประเทศไทย นั่นคือปลาที่มาจากอุตสาหกรรมที่มีการเอารัดเอาเปรียบอย่างร้ายแรงต่อคนที่ ถูกหลอกมาขายให้กับอุตสาหกรรมนี้ผู้ซึ่งกำลังทำงานยาวนานหลายชั่วโมงในสภาพ แวดล้อมอันไร้มนุษยธรรม”

“ประชาชนผู้ได้รับปลาเหล่านี้ควรเรียกร้องให้รัฐบาลไทยควบคุมดูแล อุตสาหกรรมประมง รวมทั้งให้หลักประกันว่า การเอารัดเอาเปรียบจะลดน้อยลงเพราะปัจจุบันมันเป็นปัญหาที่ร้ายแรงอย่าง ยิ่ง”

 

อ่านต้นฉบับฉบับภาษาอังกฤษได้ที่...

  1. http://www.bbc.co.uk/news/world-asia-pacific-12881982
  2. http://www.bbc.co.uk/news/world-asia-pacific-13189103
  3. http://news.bbc.co.uk/today/hi/today/newsid_9467000/9467216.stm

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net