บทบาทกองทัพต่อการเมืองและความขัดแย้งภายใน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

บทบาทของทหารที่แท้จริงในยุคโลกาภิวัตน์ 
และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เมื่อเกิดภัยพิบัติตามธรรมชาติ

 

นับจากเหตุการณ์พฤษภา 2535 เราหวังว่าทหารการเมืองจะกลับไปสู่กรมกองและกลับใจเป็นทหารอาชีพที่สมเกียรติ แต่ทหารก็เข้าแทรกแซงการเมืองการปกครองอีกครั้งด้วยการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549, ในยุค รสช. นั้น เรามี จปร.5 ที่ผนึกอำนาจกันแน่นเหนียวจนอาจเปรียบได้ว่าตาข่ายฟ้าไม่มีรอยทะลุ และบัดนี้ก็เช่นกัน ผลพวงต่อเนื่องการรัฐประหาร เราได้เครือข่ายบูรพาพยัคฆ์ที่เข้มแข็งและอำนาจที่แน่นเหนียวที่สุดของกองทัพภายใต้อำนาจนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเป็นยุคที่ทหารนำการเมืองมากที่สุดยุคหนึ่งในยุคหลังประชาธิปไตยครึ่งใบ ทหารอาชีพชั้นผู้น้อยจึงกระอักกระอ่วนใจมากที่สุดเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ กองทัพยังมีกฎหมายที่อวยเอื้อในการสถาปนา Military Monarchy อีกด้วย คือ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินฯ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ และ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก จนลืมไปว่า เราปกครองด้วยระบบ constitutional monarchy หรือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยใช้ระบบรัฐสภา

เราจะยอมรับกันได้ หากทหารในกองทัพท่านใดจะใช้สิทธิพลเมืองเมื่อเกษียณหรือลาออกมาเล่นการเมืองในระบบรัฐสภา หรือตั้งพรรคการเมือง ซึ่งปัจจุบันก็มีพรรคมาตุภูมิ ที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าพรรค เป็นตัวอย่าง ทหารท่านใดอยากเล่นการเมืองก็สมัครเข้าพรรคนี้ได้ ทหารมีสิทธิในระบอบประชาธิปไตย มีสิทธิเลือกตั้ง และเราได้ทหารจำนวนมากจากจังหวัดลพบุรี, กาญจนบุรี ที่มีกำลังพลจำนวนมากตั้งอยู่ แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน กองทัพได้ปรับตัวจากรัฐทหารที่ชัดเจนในอดีต พยายามสร้าง “พรรคทหาร” ขึ้นในปัจจุบันในลักษณะเป็นอำนาจรัฐเงา เพื่อเป็นพรรคร่วมรัฐบาล โดยไม่ได้ลงเลือกตั้ง โดยไม่สนใจระบบรัฐสภาและฐานะของ 3 อธิปไตยที่ต้องยึดโยงประชาชนในระบอบประชาธิปไตย

ในระบอบประชาธิปไตย กองทัพต้องฟังคำสั่งรัฐบาลขึ้นต่อฝ่ายบริหาร ไม่ใช่หน่วยงานเร้นรัฐหรือรัฐบาลเงา แต่ปัจจุบัน กองทัพได้แทรกแซงทางการเมืองอย่างโจ่งแจ้ง

อาณาจักรของกองทัพซึ่งไม่เคยมีองค์กรใดก้าวล่วงหรือถูกตรวจสอบ ที่ผ่านมาอาจมีปัญหาการคอร์รัปชั่นซึ่งเป็นเรื่องภายในเท่านั้น บัดนี้ กลายเป็นการคอร์รัปชั่นครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ และอย่างโจ่งแจ้งต่อสาธารณะ โดยไม่เกรงใจใครหน้าไหน เช่น กรณี เรือเหาะ, จีที200, เครื่องบินกริพเพรน ฯลฯ

ท่านผู้นำทั้งหลาย ได้ใช้กองทัพเป็นพรรคทหาร เล่นการเมืองอย่างเต็มตัว โดยไม่สนใจคำสั่งหรือนโยบายรัฐบาลอย่างเคร่งครัด โดยหลายครั้งเราจะเห็นนายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นเป็นฝ่ายตาม, และแสดงความเห็นด้วยกับกองทัพ เช่น กรณีการตรวจแถวตบเท้าให้กำลังใจ ผบ.ทบ. โดยที่พลเมืองส่วนหนึ่งเห็นว่า กองทัพแสดงการข่มขู่ประชาชน นอกจากนี้ ดูเหมือนกองทัพยังใช้ศักยภาพและภาษีของประชาชน โดยใช้กลไกทั้งหมดของกองทัพที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดองค์กรหนึ่งในประเทศไทยในการเชื่อมพรรคร่วมรัฐบาลระหว่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยอย่างชัดเจน ภายใต้แนวทางที่กองทัพต้องการ เหมือนตนเองเป็นพรรคทหาร เป็นพรรคร่วมรัฐบาลไปด้วย นอกจากกองทัพได้รับงบประมาณจำนวนมหาศาลแล้ว ยังเป็นยุคที่มี “ทหารการเมือง” มากที่สุดอีกด้วย

ทางออกของประเทศไทยในขณะนี้ กองทัพต้องยุติบทบาทการทหารนำการเมือง และถอยกลับมาสู่ทหารอาชีพซึ่งเป็นตำแหน่งแห่งที่ที่ทหารควรยืนอยู่ ก่อนบ้านเมืองจะเสียหายมากไปกว่านี้ ปัญหาการเมืองและความขัดแย้งภายในไม่ใช่เรื่องของกองทัพแต่อย่างใด จริงๆ แล้ว การช่วยเหลือประชาชนในเหตุการณ์ที่เราเห็นกรณีเหตุการณ์สึนามิ หรือ “ฟูคุชิมา” ที่ญี่ปุ่น และกรณีน้ำท่วมภาคใต้คือบทบาทที่แท้จริงของกองทัพในยุคโลกาภิวัตน์ และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เมื่อเกิดภัยพิบัติตามธรรมชาติ และตอนนี้ภารกิจของกองทัพอยู่ที่ชายแดน!

การใช้กองทัพเข้ามาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งภายใน เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง และนำมาสู่ความขัดแย้งของพลเมืองในปัจจุบัน จากการที่รัฐบาลใช้กองทัพซึ่งมีบทบาทปกป้องพลเมืองจากศัตรูภายนอกของรัฐมาจัดการกับพลเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ภายใน จริงๆ แล้ว คณะกรรมาธิการการทหาร วุฒิสภา ก็เคยได้สรุปปัญหาและแนวทางปรับโครงสร้างกองทัพมาตั้งแต่ปี 2546 แล้วว่า สาเหตุหลักของการปรับโครงสร้างกองทัพ เพราะว่าการสิ้นสุดของสงครามเย็น การสิ้นสุดของสงครามภายใน และการสิ้นสุดของอำนาจทหารในการเมืองไทย ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่–ระเบียบบริหารราชการใหม่ แต่ดูเหมือนว่ากองทัพบกจะไม่ยอมรับเรื่องดังกล่าว

หมดเวลาของทหารการเมือง, กองทัพจะชักใยอำนาจรัฐแล้ว

ความฝันปิดเทอมประเทศ เป็นไปไม่ได้ในยุคโลกาภิวัตน์ การถอยหลังไปสู่อนารยะธรรมเป็นสิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์ของกองทัพไทยไปแล้วหลังจากเหตุการณ์ 19 กันยายน 2549

ดังนั้น 2 เรื่อง ที่นักการเมืองบางกลุ่ม กลุ่มคนบางคน และผู้นำกองทัพบางคนพยายามทำอยู่ในขณะนี้ คือ 1)ปลุกกระแสความขัดแย้งเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ 2)สงครามชายแดน  เพื่อเป็นเงื่อนไขในการเว้นวรรค, รัฐประหาร, ปิดเทอมประเทศ หรือกระชับอำนาจอย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ยุทธการที่ดีที่จะสร้างความยั่งยืนให้ประชาธิปไตยและสันติภาพในภูมิภาค ในขณะที่จีนและอเมริกาขนาบข้างประเทศไทยอยู่

ทิศทางประเทศไทยในขณะนี้ คือการเลือกตั้ง และหลังจากนั้นต้องมีการพัฒนาประชาธิปไตย ทั้งในส่วนของรูปแบบและเนื้อหา กลไก, รัฐธรรมนูญและกฎหมาย เพื่อเปิดพื้นที่ของประชาชนทุกกลุ่มอุดมการณ์ทางการเมืองในระบบรัฐสภา

การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น กองทัพไม่ควรมีโครงการใดๆ เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะรูปแบบใด, การเลือกตั้งครั้งที่แล้วสีเทา เพราะมีการประกาศกฎอัยการศึกระหว่างการเลือกตั้งในหลายพื้นที่ ครั้งนี้ อย่าให้เป็นการเลือกตั้งสีดำ!!

 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท