Skip to main content
sharethis

 

เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2554 ที่ห้องน้ำพราว 2 โรงแรม ซี.เอส. ปัตตานี สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จัดโครงการประชุมสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อจัดทำนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ โดยมีนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นประธานพร้อมรับฟังความคิดเห็นจาก ตัวแทนภาคประชาชน สื่อมวลชน ผู้บริหารสถานศึกษา มีผู้เข้าร่วมประมาณ 50 คน

นายถวิล กล่าวในที่ประชุมว่า นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้มีกำหนดให้มีการปรับปรุงทุก 3 ปี โดยสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นผู้ยกร่างขึ้นมา ครอบคลุมทั้งในเรื่องการพัฒนาและความมั่นคง ที่มาจากความต้องการของประชาชน และมีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ก่อนจะเสนอให้คณะกรรมการอำนวยการนโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอต.) พิจารณา โดยยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนา ทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นผู้กำกับดูแล ส่วนยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.)เป็นผู้กำกับดูแล

นายถวิล กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติยังต้องรับฟังความเห็นจาก สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของศอ.บต. ตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 ด้วย จากนั้นจึงเสนอให้สภาความมั่นคงแห่งชาติพิจารณา ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี และที่ประชุมรัฐสภาต่อไป

นายมันโซร์ สาและ ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวในที่ประชุมว่า จากการลงไปทำงานในพื้นที่ของเครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่ พบว่า ประชาชนในพื้นที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่ โดยต้องการให้มีการลดอำนาจรัฐและเพิ่มอำนาจประชาชน คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องการเขตปกครองพิเศษ แต่ไม่ใช่ในรูปแบบการปกครองท้องถิ่นแบบกรุงเทพมหานคร หรือเมืองพัทยา แต่ต้องการรูปแบบที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตวัฒนธรรมในท้องถิ่น

“ทำอย่างไรที่จะให้คนในพื้นที่มีอำนาจมากขึ้นในการตัดสินใจ ไม่ใช่แค่การมีส่วนร่วม แต่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงการทางการเมืองการปกครองในพื้นที่ วันนี้พรรคประชาธิปัตย์ได้ผลักดันพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 ได้สำเร็จและถือเป็นผลงานชิ้นโบร์แดง ส่วนพรรคเพื่อไทย กำลังเสนอนโยบายเรื่องมหานครปัตตานี ส่วนภาคประชาชนก็กำลังเสนอเรื่องปัตตานีมหานคร ทั้งหมดนั้นแสดงให้เห็นว่าประชาชนในพื้นที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปกครอง” นายมันโซร์ กล่าว

“สายตาของหน่วยงานในส่วนกลางมองคนในพื้นที่อย่างไม่ค่อยจริงใจถ้าไว้ใจจริงรัฐควรกระจายอำนาจให้คนในท้องถิ่นได้บริหารจัดการการปกครองด้วยตัวของตัวเอง” นายมันโซร์ กล่าว

นายสุริยะ สะนิวา อาจารย์มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา กล่าวว่า จากการสอบถามความเห็นของชาวบ้านในพื้นที่รวมกว่า 2,200 กลุ่ม ในเรื่องเขตปกครองพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่า ร้อยละ 80 เห็นด้วย แต่สิ่งที่ชาวบ้านยังตอบไม่ได้คือ เมื่อเป็นเขตปกครองพิเศษแล้ว จะป้องกันความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่างๆในพื้นที่ได้อย่างไร

“ยกตัวอย่างเช่น การกำหนดเขตปกครองตนเองทางตอนใต้ของประเทศฟิลิปปินส์ที่กลุ่ม MNLF ที่ขึ้นมาบริหารเขตปกครองตนเองดังกล่าว ก็ยังมีความขัดแย้งกับกลุ่มอื่นๆ นอกจากนี้ ยังพบว่า รัฐบาลส่วนกลางไม่ให้งบประมาณแก่เขตปกครองตนเอง” นายสุริยะ กล่าว

นายดือราแม ดาราแม ชาวบ้านจากตำบลปะลูกาสาเมาะ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า มติเสียงข้างมากของสภากาแฟในหมู่บ้าน แต่ไม่มีการบันทึกไว้ เพราะถ้ามีการจดบันทึกไว้ สภาก็จะล่มทันที บอกว่า คำพูดของรัฐกับการปฏิบัติของรัฐนั้นช่างแตกต่างกันมาก พูดอีกอย่างทำอีกอย่าง การที่เจ้าหน้าที่รัฐได้นำสื่อมวลชนมาใช้เป็นเครื่องมือในการพิพากษาตัดสินเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลายครั้ง เป็นคดีความมั่นคง เป็นอีกวิธีหนึ่งที่รัฐจะปัดความรับผิดชอบในการสืบสวนสอบสวนค้นหาความจริง เพราะหากตัดสินว่า เป็นคดีความมั่นคง ก็จะปิดคดีได้เร็วขึ้น

นายดือราแม กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา โครงการเศรษฐกิจพอเพียงที่หน่วยงานภาครัฐได้ทุ่มลงไปยังชุมชนกลับเป็นการสร้างภาระให้กับชาวบ้านมากขึ้น เช่น โครงการแจกลูกไก่ ลูกเป็นและลูกปลา แถมแจกอาหารลูกไก่ ลูกเป็ด และลูกปลาด้วย คนละ 5 –10 กิโลกรัม เมื่ออาหารที่แจกให้หมดลง แต่ลูกไก่ ลูกเป็ด และลูกปลายังไม่ทันได้โต ชาวบ้านก็ต้องออกเงินไปซื้ออาหารเอง ต้องแบ่งเงินจากลูกของตัวเองที่จะพาไปโรงเรียนไปซื้ออาหารลูกไก่ ลูกเป็ดและลูกปลาแทน

นายอาไซน่า อับดุลเลาะ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านจะแนะ อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส เล่าว่า ตนสอนหนังสือมาตั้งแต่ปี 2520 การสอนหนังสือในอดีตค่อนข้างลำบาก เพราะเจอกับกลุ่มก่อการร้ายในอดีตที่สร้างอิทธิพลด้วยการเรียกเก็บค่าคุ้มครอง ถ้าไม่ให้ก็ไปสอนหนังสือไม่ได้ เพราะจะให้รัฐดูแลก็ไม่ได้ ต้องจำยอมเสียเงินเพื่อแลกกับความปลอดภัยในการทำงาน นานหลายปีกว่าเรื่องราวแบบนี้จะจบ

นายอาไซน่า กล่าวต่ออีกว่า ปัจจุบันก็ยังมีอุปสรรคที่เกิดจากภาครัฐเสียเอง อย่างกรณีการเปิดหลักสูตรศาสนาอิสลามแบบเข้มข้นในโรงเรียนชั้นประถมศึกษา ซึ่งได้รับการตอบรับจากชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างดี แต่ในปัจจุบันรัฐกลับไม่สนับสนุน โดยตัดงบประมาณปี 2554 ตรงส่วนนี้ออกไป ทำให้การแก้ปัญหาด้านความเข้าใจเป็นไปได้ยากขึ้น เพราะการจะซื้อใจคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นต้องซื้อด้วยศาสนา

นายอับดุลลาเตฟ กรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดที่มี 3 กระทรวงที่กำกับดูแลอยู่ คือกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงวัฒนธรรม ทำให้การทำงานบางครั้งค่อนข้างมีปัญหาในการรับคำสั่ง เสนอว่า หากเป็นไปได้อยากให้มีเพียงกระทรวงเดียวที่คอยกำกับดูแล เพื่อง่ายต่อการทำงาน

นายอับดุลลาเตฟ กล่าวว่า โครงการวิทยาลัยอีหม่ามที่ได้ดำเนินงานมาระยะหนึ่ง รูปแบบคือการนำผู้นำศาสนาหรืออีหม่ามจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปศึกษาดูงานต่างภาค ไปดูวิถีการดำรงชีวิตของชาวมุสลิมต่างภาค แต่มาปีหลังๆก็เริ่มเงียบเหงาทั้งๆ ที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี นี่คือการพัฒนาแบบขาดความต่อเนื่อง

 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net