วงเสวนาญาติวีรชนพฤษภา ชี้ทางรอดการเมืองไทย ต้องปฏิรูปกองทัพ

 

 

24 เม.ย. 2554 คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 จัดเวทีอภิปรายสาธารณะ “คอร์รัปชั่นอำนาจ : บทบาทนัก (เลือกตั้ง) การเมืองไทยภายใต้อ้อมกอดทหาร” (แนวทางปฏิรูปกองทัพ บทบาทกองทัพต่อการเมืองและความขัดแย้งภายใน) ณ โรงแรมรัตนโกสินทร์ โดยกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของการรำลึก 19 ปี เหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม 2535 ซึ่งมีหัวใจหลักคือนำการให้อภัย และสันติวิธี มาเป็นบทเรียนสำหรับสังคมปัจจุบัน

สมชาย หอมลออ กรรมการอิสระค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เปิดการอภิปรายด้วยการตั้งคำถามสำคัญว่า “เราจะสร้างระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแบบไหนกันแน่?” เนื่องจากมีความเข้าใจที่แตกต่างกันจากกลุ่มคนหลายกลุ่ม ดังนั้นเราจึงควรมานิยามกันเสียให้ชัดว่า ทหาร และนักการเมืองควรมีบทบาทแค่ไหน อย่างไร 

เขากล่าวว่า ยุคหลัง 14 ตุลา 16 ทหารมีบทบาทหน้าที่ป้องกันประเทศจากศัตรูภายนอก การรักษาความมั่นคงภายใน และการพัฒนาประเทศ ยุคพล.อ.เปรม ทหารมีบทบาทต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ความมั่นคงของประเทศอย่างมาก และมีการทุจริตน้อย แต่เมื่อเปรียบเทียบกับยุคพล.อ.ชาติชาย มีการทุจริตมากกว่า และทหารก็มีบทบาทอย่างมากเช่นกัน จึงเกิดเหตุการณ์พฤษภา 35 หลังจากนั้นทหารก็กลับเข้ากรมกอง 

ยุคทักษิณ นักการเมืองมีบทบาทมาก ทำให้มีความก้าวหน้าในบางด้าน แต่ก็เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางจากการปราบปรามยาเสพติด สื่อมวลชนถูกปิดกั้น ประชาชนออกมาคัดค้าน แล้วทหารก็ออกมาทำรัฐประหาร 

ที่ผ่านมาประชาชนจึงตกอยู่ในสภาพ “หนีเสือปะจระเข้” คือในสภาพปกติต้องเจอกับนักการเมืองแย่ ๆ แล้วก็มาเจอกับทหารที่ออกมายึดอำนาจ ซึ่งก็ไม่ได้ดีไปกว่ากัน ที่ผ่านมาคิดว่าทหารมีบทเรียนมากพอแล้ว ไม่ควรออกมาก้าวก่ายการเมืองอีก เพราะทหารไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมและการเมืองในปัจจุบัน ถ้าออกมาคนจะต่อต้านมากขึ้น 

“ทหารหมดหน้าที่ทางประวัติศาสตร์ไปแล้ว” นายสมชายกล่าว 

นอกจากนี้นายสมชายยังสรุปรวบยอดต้นเหตุของปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันว่า เกิดจากการที่กลุ่มพลังทางการเมืองหลายกลุ่มถูกจำกัดพื้นที่ ควรเปิดพื้นที่ให้มีกลุ่มการเมืองที่มีความหลากหลาย อาจจะมีกลุ่มนิยมเจ้า นิยมทหารก็ได้ แต่ต้องอยู่ในกระบวนการเลือกตั้ง มิฉะนั้นระบบรัฐสภาจะไม่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนหรือคนหลากหลายกลุ่ม

พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ อนุกรรมาธิการ ในกรรมาธิการทหาร รัฐสภา กล่าวว่า สังคมเป็นประชาธิปไตยแค่รูปแบบ ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยที่เนื้อหาสาระ การเมืองจะเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงได้ โครงสร้างอำนาจต้องกระจายตัวจากขั้วอำนาจการเมือง 3 ฝ่ายที่ครอบครองการเมืองไทยอยู่ คือ 1.bureaucrat คือ กลุ่มอำนาจเก่า ข้าราชการ นักวิชาการ พวกนี้ไม่ได้รับเลือกตั้ง แต่จะได้เข้ามามีตำแหน่งทางการเมือง 2.Military คือ ทหาร และ 3. Capital คือกลุ่มทุน

เขากล่าวต่อว่า สมัยทักษิณคือกลุ่มทุนคลื่นลูกที่สามได้อำนาจบริหารประเทศ กลุ่มทุนเก่าสู้ไม่ได้จึงไปจับมือกับชนชั้นนำ นำมาสู่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งได้อำนาจมาแล้วก็ไม่ได้แก้โครงสร้างอะไร กลับเชื่อว่าคุณธรรมของมนุษย์สำคัญกว่าสิ่งอื่นใดจึงตั้งรัฐบาลขิงแก่ ซึ่งการเลือกตั้งต่อมาได้พิสูจน์แล้วว่ากลุ่มอำนาจเก่าไม่มีทางชนะ

ในส่วนของทหาร พล.ท.พีระพงษ์ มองว่าต้องมีการปฏิรูปกองทัพ ทั้งในเชิงโครงสร้างและเชิงอุดมการณ์ ปัจจุบันทหารมีโครงสร้างที่เป็นเอกเทศเกินไป ต่างคนต่างซื้อ ต่างคนต่างใช้ โยนงบประมาณลงไปเท่าไหร่จึงไม่เคยพอ ควรยุบรวมกันบ้างให้เล็กลง

ส่วนด้านอุดมการณ์ทหารควรจะเปลี่ยนแนวคิดเสียใหม่ว่า ทหารต้อง “พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ถ้ารักษารัฐธรรมนูญรอด ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ก็จะรอด เพราะทั้งหมดนั้นต่างก็อยู่ในรัฐธรรมนูญ แต่ปี 49 ทหารพิทักษ์อะไร? ทหารไทยคิดว่าตัวเองใหญ่ครอบจักรวาลมาก อะไร ๆ ก็กระทบความมั่นคงหมด และตีความคำว่า “อริราชศัตรู” กว้างเกินไป แม้แต่คนที่มาชุมนุมก็ถูกมองว่าเป็นผู้ก่อการร้ายไปได้ อย่างนี้มีแต่จะเสียหาย

อติเทพ ไชยสิทธิ์ กรรมการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) กล่าวว่า เราไม่อาจพิจารณาการเมืองไทยเพียงแค่จากนักการเมืองและทหาร แต่ต้องยอมรับว่า เราต้องนำสถาบันกษัตริย์เข้ามาพิจารณาด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ข้อเสนอต่อการปฏิรูปกองทัพก็คือ ทหารต้องเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ว่า ตัวเองเป็นพลเมืองในเครื่องแบบที่มีหน้าที่เป็นทหารอาชีพเท่านั้น ไม่ได้มีอำนาจบาตรใหญ่เหนือประชาชนและเหนือการเมือง อีกทั้งทหารต้องเป็นผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ต้องเป็นกลาง ไม่อ้างสถาบัน

“การอ้างสถาบันกษัตริย์ของทหารเป็นการวางสถานะตัวเองให้ไม่เป็นกลาง” อติเทพกล่าว

เมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา กล่าวว่า วันนี้เป็นยุคที่ทหารนำการเมืองมากที่สุดภายใต้อำนาจนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยกองทัพได้ปรับตัวจากรัฐทหารที่ชัดเจนในอดีต พยายามสร้าง “พรรคทหาร” ขึ้นในลักษณะเป็นอำนาจรัฐเงาเพื่อเป็นพรรคร่วมรัฐบาลโดยไม่ได้ลงเลือกตั้ง กองทัพมีสภาพเป็นพรรคทหาร เล่นการเมืองอย่างเต็มตัว เช่น กรณีการตรวจแถวตบเท้ากลางสายฝนให้กำลังใจ ผบ.ทบ. เสมือนกองทัพแสดงการข่มขู่ประชาชน

เมธากล่าวว่า การใช้กองทัพเข้ามาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งภายในเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง และนำมาสู่ความขัดแย้งของพลเมือง ขอเรียกร้องให้กองทัพยุติบทบาททหารนำการเมือง และหันมาเน้นการช่วยเหลือประชาชนในเหตุการณ์ภัยพิบัติเช่นน้ำท่วม นี่น่าจะเป็นบทบาทที่แท้จริงของกองทัพในยุคโลกาภิวัตน์.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท