Skip to main content
sharethis

เครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง เรียกร้องรัฐบาลลาว - ช.การช่าง ยุติโครงการเขื่อนไซยะบุรี ชี้ให้ปฏิบัติตามมติที่ประชุมของคณะกรรมการร่วม 4 ประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างความขัดแย้ง 4 ประเทศลุ่มน้ำโขง วันนี้ (20 เม.ย.54) เครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลลาวยุติการก่อสร้าง โครงการเขื่อนไซยะบุรี ปฏิบัติตามมติคณะกรรมการร่วม 4 ประเทศลุ่มน้ำโขง ยุติความขัดแย้งประเทศลุ่มน้ำโขง หลังจากที่การประชุมคณะกรรมการร่วม 4 ประเทศ วานนี้ (19 เม.ย.54) ที่กรุงเวียงจันทน์ เพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการเขื่อนไซยะบุรี มีมติที่ประชุมมีผลว่ากัมพูชา สปป.ลาว ไทย และเวียดนามได้เห็นพ้องร่วมกันว่าการตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการไซยะบุรีควรจะยกให้ระดับรัฐมนตรีเป็นผู้ตัดสินใจ เนื่องจากคณะกรรมการร่วมไม่สามารถจะบรรลุข้อสรุปร่วมกันได้ว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไรกับโครงการ “พวกเรา เครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ขอเรียกร้องให้ รัฐบาลลาว และบริษัท ช.การช่าง ยุติการดำเนินการก่อสร้างโครงการเขื่อนไซยะบุรีทันที และขอให้ปฏิบัติตามมติที่ประชุมของคณะกรรมการร่วม 4 ประเทศ เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2554 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างความขัดแย้งระหว่างประเทศลุ่มน้ำโขงทั้ง 4 ประเทศ และเพื่อดำรงไว้ซึ่งสันติภาพ ชีวิต และธรรมชาติของภูมิภาคที่มีแม่น้ำโขงเป็นทรัพยากรร่วมกัน” แถลงการณ์ระบุ แถลงการณ์ดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้ แถลงการณ์ 20 เมษายน 2554 เรียกร้องให้รัฐบาลลาวยุติการก่อสร้าง โครงการเขื่อนไซยะบุรี ปฏิบัติตามมติคณะกรรมการร่วม 4 ประเทศลุ่มน้ำโขง ยุติความขัดแย้งประเทศลุ่มน้ำโขง ตามที่เครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ติดตามและรณรงค์เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านการสร้างเขื่อนไซยะบุรีมาโดยตลอด ด้วยความกังวลใจต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทางระบบนิเวศและวิถีชีวิต ของชุมชนกว่า 60 ล้านคนในลุ่มน้ำโขงทั้ง 4 ประเทศ โดย ได้เข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นซึ่งจัดโดยคณะกรรมการแม่น้ำโขง แห่งชาติไทย มีการจัดเวทีของภาคประชาชนในเขตลุ่มน้ำ โขงทั้ง 8 จังหวัด จำนวน 5 ครั้ง ในภาคอีสาน และมีการยื่นหนังสือร้องเรียนถึงนายกรัฐมนตรีไทย นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สมาชิกวุฒิสภาและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอาเซียน ซึ่งภาคประชาชนเรียกร้องให้มีการชะลอการ ตัดสินใจโครงการออกไปก่อน จนกว่าจะได้มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับรายงานการศึกษาผลกระทบ ทั้งหมด ตลอดจนขอให้มีการจัดกระบวนการรับฟังความเห็นที่เปิดกว้างและมีผู้เข้าร่วม ที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อให้การตัดสินใจเป็นไปอย่างรอบคอบ และคำนึงถึงความผาสุกของประชาชนในลุ่มน้ำ เมื่อวัน ที่ 19 เมษายน มีการประชุมคณะกรรมการร่วม 4 ประเทศ ที่กรุงเวียงจันทน์ เพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการเขื่อนไซยะบุรีแห่งนี้ ซึ่งมติที่ประชุมมีผลว่ากัมพูชา สปป.ลาว ไทย และเวียดนามได้เห็นพ้องร่วมกันว่าการตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการไซยะบุรีควรจะ ยกให้ระดับรัฐมนตรีเป็นผู้ตัดสินใจ เนื่องจากคณะกรรมการร่วม ไม่สามารถจะบรรลุข้อสรุปร่วมกันได้ว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไรกับโครงการ ในขณะที่ ประเทศสมาชิกอีก 3 ประเทศ แสดงความกังวลถึงผลกระทบ ข้อมูลทางเทคนิค และมาตรการบรรเทาผลกระทบต่างๆ โดยเฉพาะผลกระทบข้ามพรมแดน แต่ทางรัฐบาลลาวกลับยืนกรานว่ากระบวนการสมบูรณ์ และยืนยันว่าไม่จำเป็นจะต้องยืดกระบวนการต่อไปอีกเนื่องจากผลกระทบข้าม พรมแดนนั้นไม่น่าจะเกิดขึ้น หากมีการศึกษาเพิ่มเติมจะต้องการเวลามากกว่าหกเดือน และจะไม่สามารถสร้างความพอใจให้เกิดแก่ทุกฝ่ายได้อยู่ดี นอกจากนี้ยังมีรายงานข่าวว่าได้มีการเริ่มก่อสร้างโครงการ เขื่อนไซยะบุรี และเตรียมอพยพประชาชนออกจากพื้นที่แล้ว ดังนั้น เท่ากับว่ารัฐบาลลาวได้แสดงออกอย่างดึงดันแล้วว่า จะไม่ยอมรับฟังเสียงของประเทศอื่นๆ ที่ใช้ทรัพยากรแม่น้ำโขงร่วมกัน พวกเรา เครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ขอเรียกร้องให้ รัฐบาลลาว และบริษัท ช.การช่าง ยุติการดำเนินการก่อสร้างโครงการเขื่อนไซยะบุรีทันที และขอให้ปฏิบัติตามมติที่ประชุมของคณะกรรมการร่วม 4 ประเทศ เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2554 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างความขัดแย้งระหว่างประเทศลุ่มน้ำโขงทั้ง 4 ประเทศ และเพื่อดำรงไว้ซึ่งสันติภาพ ชีวิต และธรรมชาติของภูมิภาคที่มีแม่น้ำโขงเป็นทรัพยากรร่วมกัน พวกเรา เครือข่ายขอประกาศว่า จะติดตามและรณรงค์เคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านการทำลายแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของพวกเราตลอดไป เครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ประเทศไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net