Skip to main content
sharethis

เจ้าหน้าที่ตำรวจ-ทหารนำกำลังเข้าค้นบ้านนางแยนะ สาแลแม แกนนำเรียกร้องความเป็นธรรมกรณีตากใบ หลังเกิดเหตุถล่มป้อมจุดตรวจริมถนนนราธิวาส-ตากใบเมื่อคืนวานนี้ อ้างได้รับเบาะแส แต่การค้นเกิดขึ้นโดยไม่มีหมายศาล และหลังการค้นไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย ด้านนางแยนะอยู่ในสภาพเกรงความไม่ปลอดภัย เผยเมื่อปี 50 สามีถูกลอบยิงมาแล้วและจับคนลงมือไม่ได้ นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (19 เม.ย.) เวลา 01.30 น. มีเหตุคนร้ายแต่งกายคล้ายทหารได้ปล้นรถ 6 ล้อที่ใช้ขนผัก โดยนำรถที่ปล้นมาดังกล่าวเป็นพาหนะยิงถล่มป้อมจุดตรวจไพรวัน ริมถนนสายนราธิวาส-ตากใบ ช่วงบริเวณบ้านศาลาเชือก ม.6 ต.ศาลาใหม่ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส จากการตรวจสอบที่เกิดเหตุพบพบว่าเจ้าหน้าที่ทุกนายปลอดภัย มีเพียงบริเวณกระสอบทรายบังเกอร์จุดตรวจมีรอยกระสุนปืนเสียหายหลายจุด ต่อมาเมื่อเวลา 16.30 น. ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารจาก สถานีตำรวจภูธรตากใบประมาณ 20 นายพร้อมอาวุธได้เข้าปิดล้อมตรวจค้นบ้านนางแยนะ สาแลแม ราษฎรอำเภอตากใบและแกนนำเรียกร้องความเป็นธรรมกรณีเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนตากใบ โดยเจ้าหน้าที่ที่เข้าตรวจค้นมิได้แสดงหมายค้นจากศาล เพียงแจ้งว่ามีผู้ให้เบาะแสว่านางแยนะ อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ยิงจุดตรวจไพรวัน ลักษณะการตรวจค้นเป็นการตรวจค้นเฉพาะบ้านนางแยนะ โดยเจ้าหน้าที่มิได้ตรวจค้นบ้านข้างเคียงในบริเวณเดียวกัน ภายหลังการตรวจค้นเจ้าหน้าที่ไม่พบมีสิ่งของผิดกฎหมาย หรือผู้กระผิดหลบซ่อนแต่อย่างใด จึงให้นางแยนะลงนามในหนังสือรับรองการตรวจค้น และเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้นำการตรวจค้นได้แจ้งแก่นางแยนะว่ามิให้นำเรื่องดังกล่าวแจ้งแก่นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ทั้งนี้นางแยนะ เคยได้รับรางวัลผู้หญิงปกป้องสิทธิมนุษยชน จากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เคยได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมนักปกป้องสิทธิมนุษยชนร่วมกับ Frontline International for HRDs ที่กรุงดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ เมื่อปี 2552 และได้รับเชิญเข้าร่วมในการรำลึกวีรชน 18 พฤษภาคม ที่เมืองกวางจู ประเทศเกาหลีใต้เมื่อปี 2553 นางแยนะเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม โดยทำงานร่วมกับนักสิทธิมนุษยชนหลายองค์กร เมื่อสองเดือนเศษที่ผ่านมา นางแยนะยังเป็นแกนนำในการยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อให้เป็นโจทก์ฟ้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการใช้กำลังสลายการชุมนุมที่ สภ.ตากใบ แทนประชาชน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 257 ภายหลังการร้องเรียนดังกล่าวนางแยนะได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารหลายคนสอบถามถึงความพยายามที่จะเรียกร้องความเป็นธรรมกรณีตากใบ นอกจากนี้นางแยนะ ยังเป็นผู้ให้ข้อมูลแก่นักถ่ายทำสารคดีจากสถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส ในการทำสารคดีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเหตุการณ์ตากใบ เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้นางแยนะ สาแลแม มีความหวาดกลัว และเกรงความไม่ปลอดภัย และคิดว่าเหตุที่ถูกเจ้าหน้าที่ตรวจค้นบ้านในครั้งนี้อาจมาจากการทำงานเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน เนื่องจากที่ผ่านมาไม่เคยมีความโกรธแค้น หรือความขัดแย้งกับผู้ใดเป็นการส่วนตัว และเมื่อปี 2550 สามีของนางแยนะได้ถูกยิงเสียชีวิตภายในหมู่บ้าน โดยเจ้าหน้าไม่สามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net