Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สีสันของวันสงกรานต์อย่างหนึ่งก็คือ กลุ่มชายหญิงที่โยกย้ายไปตามจังหวะเสียงเพลงที่ถูกกระหน่ำจากตู้ลำโพงขนาด มหึมา ด้วยลีลาเร้าใจของเพลงแด๊นซ์ร่วมสมัย หลายคนขนานนามพวกเขาว่า “เด็กแวนซ์” คำๆ นี้เริ่มเป็นที่รู้จักมาเมื่อ 2-3 ปีก่อน ที่มาของคำมาจากเสียงของรถมอเตอร์ไซค์อันเป็นยานพาหนะของกลุ่มวัยรุ่นกลุ่ม นี้ ที่มีเสียงดัง “แว้นนนนนนนนน”ออกมาจากท่อไอเสีย พวกเขาเหล่านี้มักจะถูกจับกลุ่มกับผู้หญิงวัยรุ่นที่จะเรียกว่า “เด็กสะก๊อย” ในช่วงสงกรานต์ หลายคนออกมาบ่นผ่าน status ของ Facebook ด้วยอารมณ์ที่อาจมองได้ว่า “เหยียด” เด็กแว๊นซ์ บ้างก็ค่อนขอดถึงลีลาการเต้นที่ปล่อยใจไปตามเสียงเพลง บ้างก็เหยียดหยามสไตล์การแต่งตัวหรืออัตลักษณ์ส่วนบุคคลที่เป็นเอกลักษณ์ของ คนกลุ่มนี้ เช่น ใส่ยีนส์ขาเดฟ แว่นดำ เสื้อสีแสบๆ ย้อมผมทอง ที่แยกย่อยไปกว่านั้นก็คือ การมองไลฟ์สไตล์พวกเขาแบบเบ็ดเสร็จตามที่สื่อมักจะผลิตซ้ำความเชื่อ เช่น การแข่งรถเพื่อแลกเปลี่ยนคู่นอน วัยรุ่นที่เล่นสนุกสุดเหวี่ยงในช่วงสงกรานต์ อาจได้รับคำนิยาม \เด็กแวนซ์\" จากบางส่วนในสังคม (ภาพจาก Flickr โดย nogoodreason) การแสดงความคิดเห็นแบบเหยียดหยามแบบนี้เป็นทัศนคติที่ค่อนข้าง น่ากลัว เพราะมันคือการมองแบบ “เลือกจัดกลุ่ม” ให้เสร็จสรรพแล้วว่าคนเหล่านี้นั้นเป็นคนประเภทไหน หรือการจัดประเภทแบบพวกเขาพวกเรา และที่แย่ก็คือการเลือกจัดกลุ่มแบบเหมารวมนั้นถูกพัฒนาให้กลายเป็น “เครื่องมือทางชนชั้น” ที่น่าสนใจ คำว่า “เด็กแวนซ์” กลายเป็นคำด่าเมื่อมีเพื่อนหรือบุคคลรู้จักทำตัวไม่เข้าท่า เช่น “วันนี้มึงแต่งตัวแวนซ์มาก” หรือ “ลีลาท่าเต้นนี่แวนซ์กระจาย” คำว่า “แวนซ์” มีความหมายที่เลื่อนไหลกลายเป็นแสลงคำด่า เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับคำว่า “เสี่ยว” หรือ “ลาว” มาก่อนหน้านี้ หรือการนำการพูดไม่ชัดของชนกลุ่มน้อยอย่าง “กะเหรี่ยง” มาล้อเลียนเป็นเรื่องสนุกสนาน สิ่งเหล่านี้ถือเป็นทัศนคติแบบเดียวกันที่น่ากลัวไม่น้อย เพื่อนหลายคนถึงกลับเลิกฟังเพลงของวง So Cool หรือวง Clash เพราะพวกวงเหล่านี้กลายเป็นไอดอลของเด็กแวนซ์ ทั้งที่สมัยก่อนก็เคยกอดคอฟังเพลงเหล่านี้มาด้วยกัน เหตุการณ์แบบคล้ายกันนี้เคยเกิดขึ้นในช่วงที่เพลงป๊อปวัยใสแบบ “บับเบิ้ลกัม” ของค่ายอาร์เอสกำลังดังก็จะมีกลุ่มคนต่อต้าน หรือ ปัจจุบันกับกระแสเหยียด “ติ่งหูเกาหลี” ที่เอาไว้แขวะกลุ่มนักเรียนมัธยมที่คลั่งไคล้ศิลปินเกาหลีอย่างเต็มขั้น สื่อมวลชนก็มีหน้าที่ผลิตซ้ำคำพูดดังกล่าว เมื่อเกิดเหตุการณ์ในแง่ลบกับสังคม “เด็กแวนซ์” คือคนกลุ่มแรกที่มักจะถูกโยนความผิดให้เสมอในรายการเล่าข่าวยามเช้า เช่น เกิดเรื่องการทำแท้งเถื่อน การค้ายาเสพย์ติด โดยที่ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบคำพูด โดยสรุปเหตุผลสุดท้ายของทุกเรื่องราวว่า “ก็เพราะมันเป็นเด็กแวนซ์” กรอบของศีลธรรมมักจะถูกนำมาใช้เพื่อบอกว่าคนเหล่านี้ขาด “สามัญสำนึก” ซึ่งก็ต้องตั้งคำถามกลับไปว่า “มาตรฐานทางศีลธรรม” นั้นใครเป็นผู้กำหนด? และมาตรฐานทางศีลธรรมนั้นมีหน้าที่เพื่อสร้างมาตรฐานทางสังคม หรือเพื่อเหยียดคนกลุ่มหนึ่งให้ต่ำและทำให้ตัวเองรู้สึกสูงส่งทางศีลธรรมกัน แน่ (โดยเฉพาะทัศนคติของชนชั้นกลาง) การเขียนบทความนี้ไม่ได้ต้องการมุ่งเปลี่ยนทัศนคติจากขาวเป็นดำ หรือเพื่อเชิดชูคุณค่าของเด็กแวนซ์ว่าเป็นต้นแบบที่สังคมควรจะดำเนินตาม เพราะไม่ว่าใครก็ตามที่สร้างความเดือดร้อนให้กับสังคม เช่น การแข่งรถบนทางหลวง หรือ การยกพวกตีกัน ก็สมควรต้องเป็นถูกลงโทษไปตามหลักนิติรัฐที่กำหนดไว้ เพียงแต่อยากให้มองกลุ่มคนเหล่านี้ว่ามีคุณค่ามนุษย์เทียบเท่า กับ “กลุ่มคนเสื้อแพง” หรือ “กลุ่มพวกเอาพารากอนกูคืนมา” ก็เพียงเท่านั้น (น่าแปลกใจไม่เห็นมีใครไปเหยียดกันว่า “อี๋ เด็กทองหล่อ!!” หรือ “ว้าย!!เด็กสยาม” เหมือนกลายเป็นว่าการเป็นเด็กสยามหรือเด็กเมืองจะกลายเป็นชนชั้นขั้นสูงสุด ของสังคมวัยรุ่นไทย โดยเด็กแวนซ์ถูกทำให้เป็นฐานล่างสุดของสังคมลำดับขั้น) ภาพเหล่านี้ยิ่งขยายสังคมไทยซึ่งเป็นสังคมชนชั้นให้ชัดเจนมากขึ้น ถ้าสังคมมองเขาเพียงว่าเป็น “แค่” เด็กแวนซ์ เขาก็จะเป็นแค่เด็กแวนซ์ แต่ถ้าสังคมมองเขาเป็นคนกลุ่มหนึ่งในสังคมที่ดำรงด้วยความหลากหลาย และไม่ถูกฉาบด้วยมายาคติที่สูงส่งกับศีลธรรมจอมปลอม (ที่ถูกฉาบไว้ให้เราไม่เห็นความเท่าเทียมที่มีอยู่จริงในสังคมอุปถัมภ์) เขาก็จะเป็นเพื่อนร่วมสังคมแบบหนึ่งของเรา อยากให้ลองคิดว่า เราเองปลดปล่อยอารมณ์ให้สนุกเท่าพวกเขาได้ไหม? เราไม่เป็นทาสของศีลธรรมและความดัดจริตว่าตนเองเหนือกว่าคนพวกนี้หรือไม่? ถ้าหากเขาไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับเราอย่าไปเหยียดเขาเลย ถือว่าเป็นสีสัน อย่ากระแดะกันให้มาก ประเทศเป็นแบบนี้ก็เพราะมัวแต่นั่งเหยียดกันนี่ล่ะ!! (เพื่อนชาวต่างชาติบอกว่า ถ้าในประเทศของเขาเราไปเรียกคนอื่นว่า ไอดำ ไออ้วน ไอแขก หรือไปเตี้ย ป่านนี้คงกลายเป็นเรื่องใหญ่โตถึงขั้นลงไม้ลงมือหรือโดนแรงกดดันทางสังคมไป แล้วโทษฐานที่เป็นพวกเหยียดผิว หรือเหยียดอารยธรรม) สิ่งสำคัญก็คือเราจะเลือกสังคมที่เราอยู่แบบไหน เราจะอยู่ในสังคมที่มีอารยธรรมหลากหลายแต่ทุกคนอยู่ภายใต้มาตรฐานทางกฏหมาย เดียวกัน หรือ สังคมที่เราพยายามจะหล่อหลอม (และพยายามทำให้เชื่อว่า) สังคมมี “มาตรฐานทางศีลธรรม”เดียวกัน เพื่อนำมาปกปิดมาตรฐานทางสังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ? ที่มา:www.siamintelligence.com"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net