Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
ตามที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช”) ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 (พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ”) ภาย ใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี ได้มีมติ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ผ่านมา เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบและมอบหมายให้หน่วยงานที่ เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการเกี่ยวกับการสั่งห้ามใช้แร่ใยหินประเภทไครโซไทล์ ดังต่อไปนี้
 
(ก) ให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการควบคุมแร่ใยหินประเภทไครโซไทล์ ให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 อย่างเร่งด่วน ภายในปี 2554 ซึ่งจะห้ามมิให้มีการผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครอง และกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสำหรับสินค้าที่ใช้สารทดแทนแร่ใยหินประ เภทไครโซไทล์
 
(ข) ให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบในการดำเนินการและประสาน งานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถาบันการศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น เพื่อดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ การทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน
 
(ค) ให้กระทรวงมหาดไทยเป็นแกนกลางร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนามาตรการเพื่อควบคุมการรื้อถอน ซ่อมแซม ต่อเติมอาคารหรือวัสดุที่มีแร่ใยหินประเภทไครโซไทล์เป็นส่วนประกอบ และการกำหนดมาตรการการทิ้งขยะแร่ใยหินประเภทไครโซไทล์ โดยเฉพาะในกิจการก่อสร้างและการบริการติดตั้ง
 
(ง) ให้กระทรวงพาณิชย์ ดำเนินการห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินประเภทไครโซไทล์เป็นส่วนประกอบ
 
(จ) ให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคตรวจสอบและประกาศรายชื่อผลิตภัณฑ์ ที่มีแร่ใยหินประเภทไครโซไทล์เป็นส่วนประกอบให้สังคมรับรู้ และ ดำเนินการห้ามขายผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินประเภทไครโซไทล์เป็นส่วนประกอบ พร้อมกับพิจารณาออก กฎ ระเบียบ หรือกฎหมาย ที่ควบคุมสินค้าที่มีแร่ใยหินประเภทไครโซไทล์เป็นส่วนประกอบ โดยเฉพาะสินค้าที่มีความเสี่ยงสูง
 
(ฉ) ให้กระทรวงการคลังพิจารณาเพิ่มอัตราภาษีการนำเข้าแร่ใยหินประเภทไครโซไทล์ และลดอัตราภาษีการนำเข้าของสารที่นำมาใช้ทดแทนที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยกำหนดเป็นเงื่อนไขพิเศษที่จะไม่กระทบต่อการจัดเก็บภาษีของสารอื่นที่อยู่ ในรหัสเดียวกัน
 
(ช) ให้สำนักนายกรัฐมนตรีปรับเพิ่มเกณฑ์ในระเบียบเดิม เรื่องการก่อสร้างอาคารของส่วนราชการโดยกำหนดไม่ให้ใช้วัสดุที่มีแร่ใยหิน ประเภทไครโซไทล์เป็นส่วนประกอบในการก่อสร้าง ต่อเติม หรือซ่อมแซมอาคารใหม่อย่างเคร่งครัด
 
โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังกล่าวปฏิบัติงานให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี หรือ ภายในปี 2555
 
ซึ่ง รัฐบาลได้แสดงท่าทีว่าอาจจะดำเนินการตามข้อเสนอของ คสช. โดยการประกาศให้แร่ใยหินประเภทไครโซไทล์ เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 ภายใต้ พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.วัตถุอันตราย) ซึ่งจะต้องให้กระทรวงอุตสาหกรรมโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นเจ้า ภาพไปดำเนินการออกประกาศเพื่อประกาศให้แร่ใยหินประเภทไครโซไทล์ เป็นวัตถุอันตราย ชนิดที่ 4 ตามมาตรา 43 [1] แห่ง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย โดยจะมีผลทำให้ไม่สามารถผลิต นำเข้า ส่งออก และมีไว้ในครอบครองซึ่งแร่ใยหินประเภทไครโซไทล์ได้
 
ถ้า หากรัฐบาลตัดสินใจ หรือ มีมติสั่งห้ามใช้แร่ใยหินประเภทไครโซไทล์ ตามข้อเสนอของ คสช. ดังกล่าวจริง การกระทำดังกล่าวนอกจากจะส่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังก่อให้เกิดผลกระทบทางกฎหมายต่อภาคส่วนต่างๆ ในสังคมที่สำคัญตามมาดังนี้
 
(1) ก่อให้เกิดการใช้สิทธิฟ้องร้องภายใต้พระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 (พ.ร.บ. สินค้าที่ไม่ปลอดภัย”) เนื่องจากแร่ใยหินประเภทไครโซไทล์เป็นสารที่เป็นส่วนประกอบอยู่ในสินค้า กระเบื้องที่มีผู้บริโภคใช้กันอย่างแพร่หลายและกว้างขว้าง หากคณะรัฐมนตรี หรือ รัฐบาล มีมติและ/หรือการดำเนินการประกาศให้แร่ใยหินประเภทไครโซไทล์เป็นวัตถุ อันตราย และสั่งห้ามมิให้มีการใช้แร่ใยหินประเภทไครโซไทล์ในประเทศไทย จะทำให้สินค้าที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินประเภทไครโซไทล์ที่ขายและใช้ใน ประเทศตลอดเวลา 70 ปีที่ผ่านมา กลายเป็น สินค้าที่ไม่ปลอดภัยตาม นิยามในมาตรา 4 ของ พ.ร.บ. สินค้าที่ไม่ปลอดภัย ทำให้ผู้บริโภคที่ได้ใช้ ใช้ หรือเคยใช้สินค้าที่มีแร่ใยหินประเภทไครโซไทล์เป็นส่วนประกอบ มีสิทธิที่จะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ประกอบการรายนั้นๆ ถึงแม้กฎหมายฉบับนี้ได้มีการประกาศใช้เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งทำให้เกิดการจำกัดสิทธิของผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าก่อนวันที่กฎหมายฉบับ นี้จะประกาศใช้ให้ไม่สามารถมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากสินค้าอันตรายนี้ ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ได้ และอาจมีผู้ผลิตบางรายกล่าวอ้างว่าตนไม่ต้องรับผิดชดใช้ความเสียหายภายใต้ กฎหมายดังกล่าว เนื่องจากได้เลิกผลิตสินค้าที่มีแร่ใยหินประเภทไครโซไทล์เป็นส่วนประกอบก่อน ที่ พ.ร.บ. สินค้าที่ไม่ปลอดภัยดังกล่าวจะบังคับใช้นั้น แต่อย่างไรก็ตาม หากสินค้าที่มีส่วนผสมของแร่ใยหินประเภทไครโซไทล์ที่ผู้ผลิตรายนั้นได้เลิก ผลิตไปแล้วยังมีการวางขายและจำหน่ายอยู่ภายหลัง พ.ร.บ. สินค้าที่ไม่ปลอดภัย บังคับใช้ ผู้ผลิตรายดังกล่าวก็ยังมีหน้าที่และความรับผิดที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ ผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าดังกล่าวของผู้ผลิตรายนั้นภายหลังที่ พ.ร.บ. สินค้าที่ไม่ปลอดภัยบังคับใช้นั่นเอง ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบการที่ผลิตหรือเคยผลิตกระเบื้องที่มี แร่ใยหินประเภทไครโซไทล์เป็นส่วนประกอบดังกล่าว มีความรับผิดชอบร่วมกันที่จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายต่อผู้บริโภคในความ เสียหายที่เกิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย และได้มีการขายให้แก่ผู้บริโภค ไม่ว่าผู้ประกอบการจะจงใจกระทำหรือประมาทเลินเล่อก็ตาม
 
(2)  ก่อให้เกิดการใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายมูลละเมิดภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 [2] นอก จากผู้บริโภคผู้ซื้อสินค้าที่มีแร่ใยหินประเภทไครโซไทล์เป็นส่วนประกอบจะ สามารถใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ผลิตภายใต้ พ.ร.บ. สินค้าที่ไม่ปลอดภัย ได้แล้ว ผู้บริโภคยังมีสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ผลิตในฐานที่ผู้ผลิตระทำ การละเมิดไม่ว่าโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย จากการสินค้าที่เป็นวัตถุอันตรายตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้อีก โดยกรณีนี้ไม่ว่าผู้บริโภคจะซื้อสินค้าดังกล่าวมาก่อนหรือหลัง พ.ร.บ. สินค้าที่ไม่ปลอดภัย บังคับใช้ ผู้บริโภคทุกคนก็มีสิทธิที่ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ผลิตทุกรายที่ เกี่ยวข้องได้ เพียงแต่อาจมีปัญหาในเรื่องภาระการพิสูจน์และอายุความในการฟ้องร้องคดีซึ่ง กฎหมายกำหนดให้ต้องเรียกร้องค่าเสียหายภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าเสียหาย หรือไม่เกินสิบปีนับแต่วันทำละเมิด   ตามมาตรา 448 [3] แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
 
โดย นอกจากการดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดจากผู้บริโภคแล้ว อาจมีการดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายจากแรงงานที่ได้ทำงานในโรงงานผลิต สินค้าที่ใช้แร่ใยหินประเภทไครโซไทล์เป็นส่วนประกอบต่อผู้ประกอบการเจ้าของโรงงานดัง กล่าว ในฐานที่ผู้ประกอบการเจ้าของโรงงานกระทำการละเมิดไม่ว่าโดยจงใจหรือประมาท เลินเล่อทำให้แรงงานดังกล่าวได้รับอันตรายจากการทำงานโดยใช้สารที่เป็นวัตถุ อันตราย
 
นอก จากนี้ยังมีกรณีศึกษาในต่างประเทศถึงกรณีการดำเนินการฟ้องร้องอันเป็นผล กระทบมาจากการดำเนินการสั่งห้ามใช้แร่ใยหินประเภทไครโซไทล์ ที่น่าสนใจ ดังนี้
 
- กรณีศึกษาของประเทศสหรัฐอเมริกา ตามข้อมูลจากhttp://www.rand.org/content/dam/rand/pubs/documented_briefings/2005/DB397.pdf
สรุป ได้ว่า ในประเทศอเมริกามีอัตราการฟ้องร้องในเรื่องนี้สูงมาก ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในเฉพาะภาคธุรกิจอุตสาหกรรมแร่ใยหินประเภทไครโซไทล์ เองเท่านั้น แต่ได้ส่งผลกระทบไปถึงเกือบทุกภาคธุรกิจในประเทศ โดยเฉพาะในปี พ.ศ.2549 เพียงแค่ปีเดียวนั้น มีการฟ้องร้องที่เกิดจากความตื่นตระหนกของผู้บริโภคที่มีต่อ แร่ใยหินประเภทไครโซไทล์มากกว่า 60,000 คดี โดยมีผู้ฟ้องร้องกว่า 600,000 ราย และมีผู้ถูกฟ้องกว่า 8,400 ราย โดยมีมูลค่าการจ่ายค่าชดเชยทดแทนความเสียหายกว่า 11 ล้านล้านบาท และบริษัทที่ถูกฟ้องส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกานั้นได้มีคำร้องขอเป็นผู้ล้ม ละลายเนื่องจากการถูกฟ้องร้องในคดีดังกล่าว
 
- กรณีศึกษาของประเทศญี่ปุ่น ตามข้อมูลจาก http://search.japantimes.co.jp/cgi-bin/ed20100529a1.html ปรากฏข้อมูลว่าศาลในประเทศญี่ปุ่นได้มีคำสั่งให้รัฐบาลรับผิดชดใช้ค่าเสีย หายให้แก่แรงงานที่ทำงานในโรงงานแร่ใยหิน โดยคิดเป็นมูลค่าชดเชยค่าเสียหายถึง 435 ล้านเยน และยังปรากฏข้อมูลตามhttp://www.japantoday.com/category/national/view/honda-ordered-to-pay-y54-mil-in-damages-over-asbestos-related-case ว่าศาลได้เคยมีคำสั่งให้บริษัทฮอนด้าในประเทศญี่ปุ่น ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่พนักงานที่ทำงานในโรงงานของฮอนด้าเป็นจำนวน 54 ล้านเยน เนื่องจากพนักงานดังกล่าวอ้างว่าเป็นมะเร็งเนื่องจากการทำงานที่เกี่ยวข้อง กับแร่ใยหินจากโรงงานของฮอนด้า
 
- กรณีศึกษาของประเทศอินเดีย ตามข้อมูลจาก www.chrysotile.com/data/inde_janvier2011_en.pdf ปรากฏข้อมูลว่าได้เคยมีกรณีองค์กรเอกชน (NGO) ยื่น คำฟ้องต่อศาลสูงในประเทศอินเดียเพื่อขอให้มีคำสั่งห้ามการใช้แร่ใยหินประเภท ไครโซไทล์ โดยยึดหลักฐานว่าใยหินทำให้สุขภาพร่างกายเสียหายรุนแรงต่อประชาชนที่อาศัย อยู่ภายใต้กระเบื้องหลังคาซึ่งสร้างด้วยแร่ใยหินประเภทไครโซไทล์ ซึ่งผลปรากฏออกมาว่าศาลสูงของประเทศอินเดียได้มีคำสั่งไม่รับคำร้องยุติการ ใช้แร่ใยหินประเภทไครโซไทล์ดังกล่าวขององค์กรเอกชน (NGO)  และ ในทางกลับกันศาลกลับมีคำสั่งให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องออกกฎหมายและ วิธีการควบคุมการใช้แร่ใยหินประเภทไครโซไทล์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยใช้แนวทางเรื่องความปลอดภัยของอุตสาหกรรมที่กำหนดโดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติ
 
- กรณีศึกษาของประเทศฝรั่งเศส ตามข้อมูลที่ปรากฏจากรายงาน The Damage by Abestos and The Problems of the Compensation/ Reliief in Japan ตาม http://www.ps.ritsumei.ac.jp/cocreative/research_output/discussion_paper/discussion_paper016.pdf มีการอ้างถึงการดำเนินการของรัฐบาลฝรั่งเศสในการดำเนินการชดใช้ค่าเสียหาย ว่า รัฐบาลของประเทศฝรั่งเศสรับผิดชอบต่อผู้เสียหาย โดยการจัดให้มีการจัดตั้งสถาบันเพื่อจัดการเยียวยาและชดใช้ค่าเสียหายขึ้น ซึ่งมีกรรมการมาจากหลายภาคส่วน รวมถึงตัวแทนจากกลุ่มผู้ได้รับความเสียหายด้วย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายในการชดใช้ค่าเสียหาย โดยมีรัฐบาลเป็นเจ้าภาพในการบริหารจัดการ
 
ซึ่ง จากข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมาข้างต้น แสดงให้เห็นว่าหากรัฐบาลมีมติหรือมีการดำเนินการในการสั่งระงับการใช้แร่ ใยหินประเภทไครโซไทล์ อาจก่อให้เกิดผลกระทบทางกฎหมายต่อภาคส่วนต่างๆ ในสังคมตามมา โดยอาจก็ให้เกิดการเรียกร้องค่าเสียหายมูลค่ามหาศาลที่ทั้งภาคเอกชนและภาค รัฐเองต้องรับผิดชอบ ดังนั้น การที่รัฐจะมีมติดำเนินการในเรื่องดังกล่าวจึงเป็นเรื่อสำคัญที่จะต้อง พิจารณาให้ดีถึงผลดีและผลเสีย และความวุ่นวายต่างๆ ในสังคมที่จะเกิดขึ้น จึงเป็นสิ่งที่รัฐต้องตั้งคำถามก่อนดำเนินการว่า ประเทศไทยเหมาะสมและพร้อมจริงหรือที่จะดำเนินการสั่งห้ามใช้แร่ใยหินประเภท ไครโซไทล์
 
 
 
………………………
 
[1] มาตรา 43ห้าม ผู้ใดผลิต นำเข้า หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากหน่วยงานผู้รับผิดชอบเฉพาะกรณีเพื่อใช้ เป็นสารมาตรฐานในการวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ การขออนุญาต การอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบกำหนดโดยความเห็นของคณะกรรมการ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้ประกาศระบุวัตถุใดเป็นวัตถุอันตราย ชนิดที่ 4 ให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้มีไว้ในครอบครองปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ และให้นำมาตรา 41 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
 
[2] มาตรา 420ผู้ ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดีทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
 
[3] มาตรา 448 สิทธิ เรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้น ท่านว่าขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการ ละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิด แต่ถ้าเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิดมีโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา และมีกำหนดอายุความทางอาญายาวกว่าที่กล่าวมานั้นไซร้ ท่านให้เอาอายุความที่ยาวกว่านั้นมาบังคับ     

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net