Skip to main content
sharethis

จากกรณีอุบัติเหตุรถบรรทุกที่โดยสารแรงงานข้ามชาติชาวพม่า ชนกับรถบรรทุกอีกคันหนึ่ง ที่จังหวัดสมุทรสงคราม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 16 ราย บาดเจ็บอีกราว 50 ราย ล่าสุด (7 เม.ย.54) เครือข่ายผู้ย้ายถิ่นในลุ่มน้ำโขง (MMN) และเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ (ANM) ออกแถลงการณ์เรื่อง แรงงานท่ามกลางความเสี่ยง ความโลภ ความแออัดยัดเยียด และการขาดระบบขนส่งมวลชน โดยเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย ให้รับรองว่า ครอบครัวของแรงงานทุกคนที่เสียชีวิตจะได้รับค่าชดเชย แรงงานที่บาดเจ็บจะได้รับการรักษาในโรงพยาบาลโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ และได้รับค่าชดเชยจากการสูญเสียช่วงเวลาทำงาน มีการบังคับใช้ระเบียบข้อบังคับเรื่องความปลอดภัยสำหรับระบบการขนส่งทุกประเภทอย่างเข้มงวด โดยมีการพิจารณาอย่างระมัดระวังต่อความปลอดภัยของแรงงานในกระบวนการปฏิบัติตามกฏหมาย รวมถึงมีการปรับปรุงระบบการขนส่งมวลชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองซึ่งมีการเติบโตในด้านต่างๆ อันเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของการลงทุน การเติบโตทางเศรษฐกิจ และการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรแรงงานข้ามชาติ แถลงการณ์ แรงงานท่ามกลางความเสี่ยง ความโลภ ความแออัดยัดเยียดและ การขาดระบบขนส่งมวลชน ในวันจันทร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2554 ประเทศไทยได้รับรู้ถึงอุบัติเหตุทางถนนที่ร้ายแรงอีกครั้งหนึ่ง ที่ทำให้แรงงานข้ามชาติชาวพม่าเสียชีวิต 16 คนและมีผู้บาดเจ็บอีกราว 50 คน เมื่อรถบรรทุกคันที่แรงงานเหล่านี้กำลังเดินทางมาด้วยได้ชนกับรถบรรทุกอีกคันหนึ่ง ในจังหวัดสมุทรสาคร ในขณะที่แรงงานฯ อยู่ระหว่างการเดินทางไปทำงานที่โรงงานแปรรูปอาหารในมหาชัย แรงงานหลายคนในกลุ่มนี้ได้ปฏิบัติตามกฏกระทรวงและนโยบายใหม่ด้วยการเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติและได้รับหนังสือเดินทางชั่วคราวเรียบร้อยแล้ว ในตอนเช้าและตอนเย็นของทุกวันทั่วประเทศไทยมีรถบรรทุกที่แน่นไปด้วยแรงงานทั้งชาวไทย ชาวพม่า ชาวกัมพูชา และชาวลาว ทั้งผู้หญิงและผู้ชายที่มุ่งหน้าไปและกลับจากการทำงาน ในบางกรณี รถบรรทุกเหล่านี้ถูกจัดการโดยนายหน้าซึ่งจะมายังจุดนัดพบทุกๆ วัน เพื่อรับแรงงานและพาพวกเขาไปส่งยังสถานที่ทำงานต่างๆ ขณะที่กรณีอื่นๆ นั้น ทางโรงงานจะจัดรถบรรทุกไปรับแรงงานมาทำงานโดยที่พวกเขาไม่ต้องหลบซ่อน การเดินทางเพื่อการทำงานของแรงงานข้ามชาติซึ่งอยู่ในสายตาของทุกคนนั้น รถบรรทุกแรงงานฯ มักจะเร่งความเร็วไปตามท้องถนนในเมืองต่างๆ ทำให้แรงงานที่พยายามหาที่ยึดเกาะถูกแกว่งไปแกว่งมาในรถประหนึ่งว่าชีวิตครึ่งหนึ่งได้ถูกโดยออกไปนอกรถแล้ว เมื่อสิ้นสุดวันอันเหนื่อยล้าจากงานในสถานที่ก่อสร้าง แรงงานก็แทบจะไม่สามารถยืนขึ้นได้ แต่โดยส่วนมากพวกเขาไม่จำเป็นต้องใช้ความพยายามที่จะยืน เนื่องจากรถบรรทุกที่อัดแน่นนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะนั่งลงพักให้สบาย แต่ก็โชคไม่ดีที่เป็นไปไม่ได้ที่จะออกไปจากรถ กฏหมายซึ่งบังคับให้คาดเข็มขัดนิรภัยและสวมหมวกกันน็อกดูเหมือนจะไม่มีประโยชน์ เมื่อมีความเป็นไปได้ที่จะยัดแรงงานไว้บนด้านหลังของรถบรรทุกแต่ละคันโดยปราศจากเครื่องป้องกันความปลอดภัยจากอันตรายต่างๆ ทั้งนี้ยานพาหนะทุกประเภทในประเทศไทยจะต้องทำประกันภัยและในการทำประกันภัยจะระบุจำนวนผู้โดยสารที่สามารถบรรทุกได้สำหรับยานพาหนะแต่ละคัน แต่รถบรรทุกแรงงานฯ เหล่านี้แทบจะไม่ได้ถูกให้หยุดตรวจโดยตำรวจเลย ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองก็ได้ดำเนินการเช่นเดียวกันด้วยการอัดแน่นรถบรรทุกของพวกเขาเมื่อส่งกลับแรงงานข้ามชาติ [1] แรงงานข้ามชาติจำนวนมากเดินทางมายังประเทศไทยในตอนกลางคืนเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับจากทางการ ภาพโดย Prey Veng, ประเทศกัมพูชา พ.ศ. 2549, เอื้อเฟื้อภาพโดย Cambodian Women for Peace and Development (CWPD) การขนส่งแรงงานในลักษณะนี้ได้กลายเป็นแบบแผนปกติ เนื่องจาก: 1. แรงงานข้ามชาติที่ไม่มีหนังสื่อเดินทางชั่วคราว(มีจำนวนนับล้านคน) ไม่สามารถเดินทางได้อย่างเสรี ดังนั้นแรงงานฯ กลุ่มนี้ต้องพึ่งพานายหน้าในการจัดการเดินทางจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง รวมทั้งการเดินทางจากที่พักไปยังสถานที่ทำงาน 2. การไม่มีระบบอื่นๆ ในที่ทำงาน ทำให้นายหน้าให้บริการรถขนส่งแรงงานไปยังสถานที่ทำงานที่มีงานรองรับในแต่ละวัน ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่แรงงานจะได้งานทำและสามารถเดินทางไปทำงาน นายหน้ามีรายได้จากการเป็นคนกลางระหว่างนายจ้างและแรงงานข้ามชาติ และหวังจะได้ผลประโยชน์ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ จึงยัดแรงงานฯเข้าไปในรถให้ได้มากที่สุดแล้วส่งแรงงานไปตามสถานที่ทำงานต่างๆ พร้อมเก็บค่าโดยสารจากแต่ละคน 3. ในเมืองส่วนใหญ่ของประเทศไทย นอกจากกรุงเทพฯแล้ว ระบบขนส่งมวลชนมีค่อนข้างจำกัด ส่วนระบบขนส่งทางเลือกคือ รถสองแถว (รถแดง) ก็มีราคาแพงเกินไปสำหรับแรงงานที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 4. แรงงานข้ามชาติต้องเผชิญกับการจำกัดควบคุมในการได้รับใบอนุญาตขับขี่ และไม่สามารถขับรถจักรยานยนต์ไปทำงานเหมือนแรงงานทั่วไป เครือข่ายผู้ย้ายถิ่นในลุ่มน้ำโขง(MMN) และเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ(ANM)รู้สึกผิดหวังเป็นอย่างยิ่งต่อสิ่งเหล่านี้ที่จะนำไปสู่การสูญเสียชีวิตของแรงงานรุ่นเยาว์ในอนาคต การกระทำที่อันตรายนี้จะต้องยุติลงก่อนที่จะมีแรงงานต้องสูญเสียชีวิตหรือพิการถาวรมากกว่านี้ พวกเราร้องขอต่อรัฐบาลไทย เพื่อให้การรับรองว่า: -ครอบครัวของแรงงานทุกคนที่เสียชีวิตจะได้รับค่าชดเชย -แรงงานที่ได้รับบาดเจ็บจะได้รับการรักษาในโรงพยาบาลโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ และได้รับค่าชดเชยจากการสูญเสียช่วงเวลาทำงาน -มีการบังคับใช้ระเบียบข้อบังคับเรื่องความปลอดภัยสำหรับระบบการขนส่งทุกประเภทอย่างเข้มงวด โดยมีการพิจารณาอย่างระมัดระวังต่อความปลอดภัยของแรงงานในกระบวนการปฏิบัติตามกฏหมาย -มีการปรับปรุงระบบการขนส่งมวลชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองซึ่งมีการเติบโตในด้านต่างๆอันเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของการลงทุน การเติบโตทางเศรษฐกิจ และการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรแรงงานข้ามชาติ -ลดการพึ่งพานายหน้า โดยให้บริการจัดหางานให้แรงงานข้ามชาติสามารถหางานด้วยตนเอง -ยกเลิกการจำกัดควบคุมการเดินทางของแรงงานข้ามชาติที่จดทะเบียนทั้งหมด -อนุญาตให้แรงงานที่จดทะเบียนแล้วทุกคนเข้าทดสอบการขับขี่และมีรถจักรยานยนต์เป็นของตนเอง โดยเครือข่ายผู้ย้ายถิ่นในลุ่มน้ำโขง(Mekong Migration Network: MMN) และ เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ(Action Network for Migrant: ANM) อ้างอิง [1] Mekong Migration Network & Asian Migrant Centre, “Migration in the Greater Mekong Subregion, Resource Book- In-depth Study: Arrest, Detention and Deportation”, 2008

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net