Skip to main content
sharethis

สำนักข่าวอิรวดีรายงานการสัมภาษณ์แรงงานประมงชาวพม่าว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจใน จ.ชุมพร มีพฤติกรรมมิชอบ ใช้อำนาจในเครื่องแบบกดขี่ข่มและรีดไถแรงงานชาวพม่าในพื้นที่อยู่เป็นประจำ “เจ้าหน้าที่มักอ้างว่า พวกเขามาตรวจหาแรงงานผิดกฎหมาย แต่พวกเขามักจะหยิบเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินของแรงงานที่พวกเขาต้องการไปด้วยเป็นประจำ” นายอ่องอ่อง แรงงานชาวพม่าที่ทำงานในโรงงานแปรรูปอาหารทะเลใน ต.ปากน้ำ จ.ชุมพรกล่าว ด้านนายเอหม่อง แรงงานชาวพม่าอีกคนเปิดเผยว่า ในชุมชนที่เขาอยู่นั้น แรงงานจากพม่าที่ถูกและผิดกฎหมายถูกห้ามใช้โทรศัพท์มือถือ รถจักรยานและรถจักรยานยนต์ รวมทั้งยังถูกห้ามใส่นาฬิกาข้อมือและรองเท้ายี่ห้อดัง ซึ่งหากแรงงานฝ่าฝืนก็จะต้องจ่ายค่าปรับให้กับเจ้าหน้าที่ “หากถูกจับว่าใช้โทรศัพท์เครื่องราคาแพงๆ และอยากได้คืนจากเจ้าหน้าที่ จะต้องจ่ายค่าปรับจำนวน 500 บาท แต่หากเป็นโทรศัพท์เครื่องราคาถูกก็ต้องจ่าย 200 บาท นอกจากนี้ จะถูกปรับ 500 บาท หากสวมนาฬิกาข้อมือและรองเท้ายี่ห้อ All Star” นายเอหม่องกล่าว และหากแรงงานต้องการรวมตัวจัดงานใดๆ ไม่ว่าจะเป็นแต่งงานหรืองานศพ แรงงานต้องจ่ายเงินอีกจำนวน 5,000 บาทให้กับเจ้าหน้าที่ ซึ่งอ้างว่าเป็นค่ารักษาความปลอดภัย ทั้งนี้ ในจังหวัดชุมพรเพียงแห่งเดียว มีแรงงานจากพม่ากว่า 3 หมื่นคน นอกจากนี้ แรงงานประมงชาวพม่าในพื้นที่ยังกล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจมีส่วนร่วมในการค้ามนุษย์ โดยมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจบางคนได้ขายแรงงานที่ไม่มีบัตรให้กับเจ้าของเรือประมงไทย โดยแรงงานพม่าผิดกฎหมายมีราคาอยู่ที่ 1 หมื่นบาทต่อคน มีรายงานอีกด้วยว่า แรงงานทาสเหล่านี้จะได้รับการปล่อยตัวก็ต่อเมื่อทำงานให้กับเจ้าของเรือ ประมงชาวไทยเป็นเวลา 8 – 9 เดือนที่ออกทะเลหาปลา ซึ่งพวกเขาจะไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ แต่ที่โชคร้ายกว่านั้นก็คือ แรงงานบางคนที่ถูกขายให้เป็นแรงงานทาสไม่เคยได้กลับคืนฝั่งอีก ตามคำบอกเล่าของแรงงานประมงชาวพม่าเปิดเผยว่า เมื่อปี 2552 ก็เคยมีแรงงานชายหนุ่มจากเมืองเค้าก์ทอและเมืองมีบวา รัฐอาระกันจำนวน 5 คน ถูกจับในข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมาย แต่หลังจากนั้นพบว่า ทั้งหมดถูกขายให้กับเรือประมงไทย ซึ่งต่อมา มีรายงานว่า แรงงาน 1 ใน 5 ถูกเจ้าของเรือยิงตายและทิ้งศพลงกลางทะเล เนื่องจากไม่พอใจที่แรงงานคนนี้ทำงานไม่ดี โดยหลังจากนั้น แรงงานที่เหลืออีก 4 คนรู้สึกหวาดกลัวและตัดสินใจที่จะหนี ซึ่งทั้ง 4 คนได้เอาเชือกมัดแขนผูกติดกันไว้และกระโดดลงทะเลเพื่อที่จะหนี “พวกเขาเอาเชือกมัดแขนไว้ด้วยกัน เผื่อว่า หากตายก็จะตายด้วยกัน และหากรอดชีวิตก็จะรอดด้วยกัน แต่สุดท้ายพวกเขาทั้งหมดก็ตาย” นายเอหม่องกล่าว มีรายงานเช่นกันว่า ในปีนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจในชุมชนบ้านนางย่อน อ.คุระบุรี จ.พังงา ได้บังคับให้แรงงานชาวพม่าทุกคนในพื้นที่ต้องสวมเสื้อกั๊กสีส้มเมื่อออกไปข้างนอกหรือเดินตามท้องถนน โดยหากฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าว แรงงานที่ถูกกฎหมายจะต้องเสียค่าปรับหลายร้อยบาทให้กับเจ้าหน้าที่ แต่หากเป็นแรงงานผิดกฎหมายจะต้องเสียค่าปรับราว 3,000 บาท “คุณอาจถูกปรับ หากเจ้าหน้าที่พบว่า คุณติดกระดุมผิดที่หรือเสื้อของคุณสกปรก” นายอาลี แรงงานในพื้นที่กล่าว ด้านทูชิต ผู้อำนวยการองค์กรคณะกรรมการเพื่อมนุษยชนและการศึกษาสำหรับคนรากหญ้า (Grassroots Human Rights Education and development) กล่าวว่า มาตรการใหม่ที่เจ้าหน้าที่ใช้เพื่อจัดการกับจำนวนประชากรของแรงงานนั้นถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงต่อแรงข้ามชาติจากพม่า “การกระทำเช่นนี้ เรามักจะทำกับสัตว์เท่านั้น” นายทูชิตกล่าว ............................................. แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ \สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน\" อ่านข่าวและบท ความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่ เว็บไซต์ เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net