Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในบทความชื่อ ดูแล “ตัวกู” ให้อยู่เป็นที่เป็นทาง (มติชนรายวัน 2 เมษายน 2554) หลวงพี่ไพศาล วิสาโล เขียนว่า “...การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางการเมืองเป็นเหลืองและแดงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อันเป็นผลสืบเนื่องจากความขัดแย้งในเรื่องรูปแบบทางการเมืองที่พึงปรารถนา (เน้นโดยผู้เขียน) ฝ่ายหนึ่งเรียกร้องต้องการประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญกับเสียงข้างมาก อีกฝ่ายต้องการการเมืองที่มีคุณธรรม ไร้การคอร์รัปชั่น ท่ามกลางความขัดแย้งดังกล่าวได้มีการกล่าวประณามหยามเหยียดจนเกิดความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์อย่างรุนแรง ถึงขั้นสนับสนุนให้มีการใช้ความรุนแรงต่อกัน จนเกิดเหตุการณ์นองเลือดระหว่างการล้อมปราบของฝ่ายรัฐ มีการสูญเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในฝ่ายของคนเสื้อแดง นอกจากการโจมตีต่อต้านจุดยืนทางการเมืองของกันและกันแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่กันก็คือ ท่าทีที่เป็นปฏิปักษ์ต่อคุณค่าที่แต่ละฝ่ายยึดถือด้วย (เน้นโดยผู้เขียน) คนเสื้อเหลืองจำนวนไม่น้อยรู้สึกรังเกียจกับคำว่าประชาธิปไตย ความยุติธรรม (และแสลงหูกับคำว่าสองมาตรฐาน ความเหลื่อมล้ำ) ขณะเดียวกันคนเสื้อแดงจำนวนไม่น้อยก็รังเกียจกับคำว่า คุณธรรม ความดีงาม ความซื่อสัตย์สุจริต (และแสลงหูกับคำว่า คอร์รัปชั่น) ทั้งนี้ก็เพราะถ้อยคำและคุณค่าเหล่านี้ถูกมองว่าผูกโยงอยู่กับฝ่ายตรงข้ามกับตน จึงมีความรู้สึกในทางลบจนเห็นว่าเป็นสิ่งเลวร้ายไปเลย นั่นเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะทั้งประชาธิปไตย ความยุติธรรม รวมทั้งคุณธรรมความดี ความซื่อสัตย์สุจริต ล้วนเป็นสิ่งสำคัญสำหรับมนุษย์ทุกคนและจำเป็นต่อสังคมไทยในยุคนี้ ใช่แต่เท่านั้นมันยังเป็นคุณค่าที่ฟูมฟักอยู่แล้วในใจของทุกคนไม่ว่าเหลืองหรือแดง การปฏิเสธคุณค่าเหล่านี้(เน้นโดยผู้เขียน) ไม่ว่าอันใดอันหนึ่ง หมายถึงการปฏิเสธสิ่งที่มีอยู่ในตนเอง รวมทั้งปิดโอกาสที่คุณค่าเหล่านี้จะเจริญงอกงามในใจตนเพื่อชีวิตที่มีคุณค่า” ประเด็นแรก ที่ผมขอแลกเปลี่ยนกับหลวงพี่ไพศาล คือ ผมเห็นว่าความขัดแย้งทางการเมืองที่เป็นมาและเป็นอยู่เป็นความขัดแย้งที่มากกว่า “ความขัดแย้งในเรื่องรูปแบบทางการเมืองที่พึงปรารถนา ฝ่ายหนึ่งเรียกร้องต้องการประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญกับเสียงข้างมาก อีกฝ่ายต้องการการเมืองที่มีคุณธรรม ไร้การคอร์รัปชั่น” อะไรที่ “มากกว่า”โปรดดูคำกล่าวของ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ว่า “เราร่วมต่อสู้กันมาตั้งแต่หลังปี 2549 สิ่งที่เราอยากเห็นมากที่สุดคือ ให้บ้านเมืองนี้เป็นประชาธิปไตย สิ่งที่เราอยากเดินไปถึงที่สุดคือ ผืนแผ่นดินนี้เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ...ต้องการแค่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์เท่านั้น ผู้มีอำนาจให้สิ่งนั้นไม่ได้แต่กลับหยิบยื่นความตายให้เรา เพียงเพราะต้องการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ ผู้ต้องรับผิดชอบต่อโศกนาฏกรรมในครั้งนี้คือผู้ลงมือ ผู้สั่งการ และผู้อยู่เบื้องหลัง เราไม่คาดคิดว่าผู้มีอำนาจจะอำมหิตถึงเพียงนั้น ไม่คาดคิดไม่ใช่เพราะรู้ไม่ทัน แต่ไม่คาดคิดเพราะที่ผ่านมาเรารักเขามากเกินไป ความรักทำให้คนตาบอด แต่ความตายทำให้คนตาสว่าง แล้วจะไม่มีวันหลงลืมความตายของประชาชน ไม่มีวันลืมความสูญเสียของผู้บริสุทธิ์ ตรงกันข้าม เราจะลืมตามองไปทุกมุมมืดเพื่อดูใครก็ตามที่ซ่อนตัวอยู่ให้เขารู้ว่าเรารู้แล้ว ตาสว่างแล้วทั้งแผ่นดิน” (ประชาไท/เข้าถึงเมื่อ 5/04/2554) ผมคิดว่าคนเสื้อแดงส่วนใหญ่เข้าใจ “ความหมาย” ที่คุณณัฐวุฒิพูด และต้องการมากว่า “ประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญกับเสียงข้างมาก” (ซึ่งมักถูกฝ่ายตรงข้ามกล่าวหาว่า “ประชาธิปไตย 4 วินาที”) นั่นคือคนเสื้อแดง (ยืนยันมาตลอดว่า) ต้องการสร้างรูปแบบประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญกับเสียงข้างมากและพ้นไปจากการครอบงำกำกับของอำนาจนอกระบบ เป็นประชาธิปไตยที่อยู่บนพื้นฐานของหลักสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคแบบอารยประเทศ ประเด็นที่สอง หากพิจารณาดูให้ดีจะเห็นว่า คนเสื้อแดงปฏิเสธเสื้อเหลืองในเรื่องเรียกร้องรัฐประหารให้เป็นทางออกของการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน และอ้างการเมืองที่มีคุณธรรม ไร้คอร์รัปชันโดยให้ความสำคัญกับอำนาจของชนชั้นนำเหนืออำนาจของประชาชน เช่น อำนาจพิเศษ อำมาตย์ กองทัพ คนดีมีคุณธรรม (ที่ฝ่ายตนเป็นผู้นิยาม/เลือกสรร?) ให้เป็นฝ่ายที่มีสิทธิพิเศษในการสร้าง “การเมืองที่มีคุณธรรม ไร้คอร์รัปชัน” คนเสื้อแดงไม่ได้ปฏิเสธ “คุณค่า” ของ “การเมืองที่มีคุณธรรม ไร้คอร์รัปชัน” ว่าคุณค่าดังกล่าวนี้เป็นคุณค่าที่ไม่พึงปรารถนา แต่อาจมีการแสดงออกที่เสมือนว่าคนเสื้อแดงบางส่วน “วิจารณ์/โจมตี” คุณค่าดังกล่าวนั้น ทว่าเมื่อดูในรายละเอียดจะเห็นว่า คนเสื้อแดงวิจารณ์/โจมตี “คำกล่าวอ้างกับการกระทำที่ขัดแย้งกัน” ของฝ่ายตรงข้ามมากกว่า และสำหรับคนเสื้อแดงการเมืองที่มีคุณธรรมและไร้คอร์รัปชันมีความเป็นไปได้มากกว่าภายใต้รูปแบบประชาธิปไตยที่เคารพเสียงข้างมากของประชาชน และเป็นประชาธิปไตยที่ประชาชนมีความเสมอภาค มีเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ “ทุกอำนาจสาธารณะ” อย่างแท้จริงเท่านั้น ประเด็นที่สาม ผมเคารพในบทบาทความเป็นกลางและเจตนาดีของหลวงพี่ไพศาลครับ และเห็นว่าการที่พระสงฆ์ในบ้านเรา (อาจจะ 1 ในประมาณ 250,000 รูป) แสดงบทบาท “เตือนสติ” ทุกฝ่ายเช่นที่หลวงพี่พยายามทำเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ แต่ผมก็อยากเห็นบทบาทความเป็นกลางที่ “สามารถลงลึก” ใน “ความเป็นจริง” มากกว่าที่เป็นมา หมายถึง ผมอยากเห็นบทบาทความเป็นกลางที่ “มองเห็น” และ “อธิบาย” ปัญหาความขัดแย้งที่ลงลึกมากกว่าปัญหา “ความขัดแย้งระหว่างสี” หรือการพิพากษาเพียงแค่ว่า “แต่ละฝ่ายเอาพวกมากกว่าเอาความถูกต้อง” หรือ “แต่ละฝ่ายเอาพวกจนปฏิเสธคุณค่าที่ฝ่ายตรงข้ามยึดถือแม้เป็นคุณค่าที่สอดคล้องกับคุณค่าของฝ่ายตนเองก็ตาม” หรือแต่ละพวกต่างยึด “ตัวกู” เหนือ “หลักการ” หรือหากจะวิพากษ์ “ตัวกู” ของแต่ละฝ่ายอย่างเที่ยงธรรม (ตามความหมายของความเป็นกลางที่ว่า “วิพากษ์วิจารณ์ทุกฝ่ายอย่างเที่ยงธรรมและเท่าเทียม”) หลวงพี่ก็น่าจะวิพากษ์ “ตัวกูใหญ่” ที่อยู่เบื้องหลังความขัดแย้งด้วย จึงจะสรุปได้ว่าหลวงพี่ “สามารถ เป็นกลาง” ได้ในความหมายที่สามารถ “วิพากษ์วิจารณ์ทุกฝ่ายได้อย่างเที่ยงธรรมและเท่าเทียม” อย่างแท้จริง นี่คือ “บางประเด็น” ที่ผมขอแลกเปลี่ยน “ความเห็นต่าง” (ความเห็นผมอาจผิดก็ได้) กับหลวงพี่ไพศาล ด้วยความเคารพ และด้วยจิตที่เป็นกัลยาณมิตรอย่างแท้จริงครับ !

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net