นักข่าวพลเมือง: แรงงานยานยนต์ เตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ "ประชาคมเศรษฐกิจอาเชียน"

สหพันธ์แรงงานยานยนต์เปิดเวทีอภิปรายเจาะลึกประเด็นประชาคมเศรษฐกิจอาเชียน(AEC)กับผลกระทบด้านแรงงานเมื่อวันที่ 31 มีนาคม ณ โรงแรมแกรนด์อินคำ โดยสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย เห็นว่าการพัฒนาไปสู่กลุ่มอาเชียนเป็นโอกาศทางการค้าที่สร้างอำนาจการต่อรองได้ ในส่วนของกระบวนการแรงงานจึงมีความจำเป็นต้องเรียนรู้ร่วมกันถึงผลได้ผลเสียที่อาจตามมา เพื่อให้สามารถนำความรู้ที่ได้ไปปรับขบวนการในการพัฒนาบุคลากรให้ก้าวไปพร้อมอุตสาหกรรม และได้จัดสัมมนาเรื่อง “ความเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์: สิทธิแรงงานในกฎบัตรอาเชียน สิ่งที่แรงงานควรรู้” โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาที่เป็นผู้นำแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์กว่า 60 คน และมีผู้ทรงคุณวุฒิคือ นางสาวโชติมา เอียมสวัสดิกุล ผู้อำนวยการยุทธศาสตร์ประชาคมเศรฐกิจอาเชียน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศกระทรวงพาณิชย์ มาให้ความรู้เรื่องของประชาคมเศรษฐกิจอาเชียน(AEC)ต่อมาเวลา 13.00น.มีการเปิดเวทีอภิปรายมี นายสิงหเดช ชูอำนาจ ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายยงยุทธ เม่นตะเภา ประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทยเป็นผู้ร่วมอภิปราย ดำเนินการอภิปรายโดยมีนายศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา ชี้ยุทธศาสตร์ AEC นางสาวโชติมา เอียมสวัสดิกุล ผู้อำนวยการยุทธศาสตร์ประชาคมเศรฐกิจอาเชียน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศกระทรวงพาณิชย์ อธิบายถึงยุทธศาสตร์หลักของ AEC ในเรื่องเปิดตลาดและฐานการผลิตร่วมดังนี้ 1.เปิดเสรีการค้าซึ่งได้มีการลดภาษีนำเข้าเป็นลำดับตั้งแต่ปี 2536 และเป็นศูนย์ในปี 2553 สำหรับกลุ่ม อาเซียน-6 ประกอบด้วย ไทย,อินโดนีเซีย,ฟิลิปปินส์,มาเลเซีย,สิงคโปร์และบรูไน เป็นศูนย์ในปี 2558 สำหรับกลุ่ม CLMV ประกอบด้วย กัมพูชา,ลาว,พม่าและเวียดนาม ยกเว้นสินค้าที่จัดอยู่ในกลุ่มสินค้าอ่อนไหวและอ่อนไหวสูง 2.เปิดเสรีการค้าและการบริการ ประเทศปลายทางต้องลดหรือเลิกข้อจำกัดต่างๆ ของการเข้าสู่ตลาดของประเทศต้นทาง และอนุญาตให้ผู้ประกอบกิจการบริการของอาเชียน ไปทำธุรกิจโดยถือหุ้นได้อย่างน้อยถึง 70% ในปี 2558 3.เปิดเสรีลงทุน ในด้านการเกษตร,การประมง,ป่าไม้,เหมืองแร่และภาคการผลิต(อุตสาหกรรม) ให้มีการเปิดเสรี คุ้มครอง ส่งเสริม และอำนวนความสะดวกการลงทุน 4.เคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือเสรี มีการทำข้อตกลงยอมรับร่วมแล้วใน 7 สาขาวิชาคือ วิศวกรรม, แพทย์, พยาบาล, นักสำรวจ, นักบัญชี, ทันตแพทย์และสถาปัตยกรรม ในสาขาเหล่านี้สามารถจดทะเบียนเพื่อประกอบวิชาชีพในประเทศอาเชียนอื่นๆ ได้ และคิดว่า AEC น่าจะไม่มีผลกระทบต่อแรงงานมากนักเนื่องจากในเรื่องของการเคลื่อนย้ายแรงงานยังเป็นเพียงข้อตกลงไม่ได้มีการใช้งานจริง แต่ก็ยังเป็นห่วงว่าอาจส่งผลกระทบต่อการจ้างงานของไทยส่วนเรื่องที่มีผลกระทบโดยตรงคือเรื่องของการค้าการลงทุนและผู้บริโภค ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย โอกาสดีของแรงงานมีฝีมือ นายสิงหเดช ชูอำนาจ ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ใน 7 อาชีพสำคัญ ไทยถือว่ามีมาตรฐานสูงสุดในมุมมองของกระทรวงแรงงานเพราะทั้งหมดมีใบอนุญาตในการทำงานไม่ใช่ว่าใครจะมาทำก็ได้ บางสาขาก็ใช้เวลาเรียนถึง 5-6 ปีซึ่งนานกว่าในหลายๆ ประเทศ ส่วนในเรื่องของสายงานผลิตเรามีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานที่กำหนดมาตรฐานอยู่แล้วและแรงงานไทยในกลุ่มนี้ก็ถือว่ามีฝีมือสูงเมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศ หากมีการเปิดเคลื่อนย้ายเสรีแรงงานใน 7 สาขาวิชา ประเทศไทยอาจเกิดการสมองไหลแต่ก็เป็นโอกาสดีของแรงงานเพราะมีโอกาสเลือกงานที่พอใจมากขึ้น ส่วนเรื่องที่น่าเป็นห่วงคือการที่มีชาวต่างชาติเข้ามามากๆ อาจส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมของไทย วัดกันตรงไหนว่ามีฝีมือ นายยงยุทธ เม่นตะเภา ประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย แสดงความเห็นว่าประเด็นต่างๆ ที่ได้ไปทำข้อตกลงกันมาทั้งหมดนั้นได้มีการสอบถามทางแรงงานตัวจริงหรือไม่ และแรงงานมีฝีมือก็ยังไม่มีความชัดเจนเพียงพอว่าระดับไหนถือว่าเป็นแรงงานมีฝีมือ ในส่วนตัวแล้วเชื่อว่า AEC ดีต่อไทยอย่างแน่นอนแต่ยังคงกังวลว่า ที่มาที่ไปโปร่งใสหรือไม่ ครอบคลุมทุกฝ่ายในประเทศไทยหรือไม่ คาดหวัง ระวัง และพัฒนาตัวเอง รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยข้อมูลและวิเคราะห์ในเรื่องนี้ว่าจากงานวิจัยของธนาคารโลก (World Bank) และองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ในอาเชียนเราพบว่าเมื่อวัดกันที่ผลิตภาพแล้วฝีมือแรงงานของไทยเป็นรองแค่มาเลเซียและสิงคโปร์ จากการศึกษาต้นทุนค่าจ้างโดยใช้เกาหลีเป็นฐานคำนวนเราพบว่า ต้นทุนค่าจ้างของไทยคิดเป็นเพียง 25% มาเลเซีย 38% สิงคโปร์ 80% แต่ค่าครองชีพของไทยต่ำกว่าอีก 2 ประเทศ 3-10 เท่า เมื่อคิดดูแล้วถึงแม้รายได้ในไทยต่ำกว่าต่างชาติก็ตาม แต่อยู่ไทยสบายกว่าเพราะค่าครองชีพต่ำกว่าหลายเท่า จากตรงนี้ทำให้เราคาดหวังได้ว่านักลงทุนจากต่างชาติอาจมองการลงทุนในไทยเพิ่ม โดยเฉพาะ SMEs ของญี่ปุ่นที่กำลังมองหาฐานการผลิตใหม่มาอยู่ที่ไทยเพราะค่าแรงไม่สูงมาก ค่าครองชีพต่ำ แรงงานมีฝีมือ และยังดึงคนจากประเทศเพื่อนบ้านได้อีกด้วย หากว่าเรามีการพัฒนาการขนส่งในการเชื่อมต่อออกไปประเทศต่างๆ ยิ่งทำให้เราค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้านได้ง่ายขึ้น ยิ่งทำให้เกิดความน่าลงทุนมากขึ้น แต่ทั้งนี้เราก็ต้องระวัง การเกิด AEC เป็นเป้าหมายของจีน จีนกำลังตั้งหน้าตั้งตาพัฒนาการขนส่งมาสู่อาเชียนและกำลังจะตั้งไทยให้เป็นศูนย์กระจายสินค้าของจีนในอาเซียน ตรงนี้ทำให้สินค้าราคาถูกของจีนไหลเข้ามาในไทยเนื่องจากจีนมีแรงงานมาก สินค้าที่จีนขายจึงไม่ค่อยสนใจเรื่องกำไร แต่จีนสนใจการจ้างงานในประเทศ และใช้การผลิตในปริมาณมากๆ ชดเชย ซึ่งอาจทำให้ SMEs ของไทยตายได้ ขณะนี้ไทยกำลังติดกับดักอุตสาหกรรมขนาดกลาง เรามองจีน เวียดนาม และลาวเป็นคู่แข่ง เนื่องจากมีค่าแรงต่ำกว่า แต่ในความจริงแล้วควรมองสิงคโปร์และมาเลเซียเป็นคู่แข่งมากกว่า เราควรหันมาพัฒนาด้านคุณภาพมากกว่าการผลิตสินค้าราคาถูกแข่งกัน ซึ่งอาจทำให้นายจ้างตั้งหน้าตั้งตาลดต้นทุนและหันไปมองแรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือ มองในด้านกลับกันค่าแรงในต่างประเทศบางแห่งสูงกว่าในไทย 5-7 เท่า แต่ค่าครองชีพสูงกว่าเพียง 3-4 เท่า ทำให้แรงงานของไทยอาจไหลไปต่างประเทศได้ จากสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เราต้องมีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาตัวเองมากขึ้น นายจ้างมีการรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นแต่แรงงานยังต่างคนต่างอยู่ ในอนาคตเราจะเป็นแบบนี้ไม่ได้ต้องมีการสร้างขบวนการแรงงานในระดับอาเซียนที่มีพลัง และต้องหาความรู้เพิ่มเติม การศึกษาไทยไม่สนับสนุนแรงงาน รศ.ดร.ณรงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การทำงานแบบเหมาช่วงนั้นมีมานานแล้วและมีทั่วโลก แต่ในไทยมีปัญหาดังนี้ 1.รัฐบาลหนุนเพราะมีแล้วสหภาพแรงงานอ่อนแอ 2.ไทยนิยมมีสหภาพฯ แบบตัวใครตัวมันแต่ในต่างประเทศแรงงานแบบเหมาช่วงจะอยู่ในสหภาพฯ บริการแรงงาน 3.สังคมไทยส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจเรื่องแรงงาน ไม่มีการสอนในสถานศึกษาทั้งๆ ที่นักศึกษากำลังก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงาน กล่าวคือระบบการศึกษาส่งเสริมไม่ให้รู้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท