ญี่ปุ่นหวังใช้ขี้เลื่อย-โพลิเมอร์ ผสมปูนซีเมนต์ อุดรูรั่วเตาปฏิกรณ์ประสบผลสำเร็จ

ทีมวิศวกรนิวเคลียร์ญี่ปุ่นระดมทุกวิถีทาง เร่งแก้ไขปัญหาโรงไฟฟ้า ล่าสุดทดลองใช้ขี้เลื่อย-โพลิเมอร์ ผสมปูนซีเมนต์อุดรูรั่วเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 ซึ่งตรวจพบว่ามีสารกัมมันตรังสีรั่วไหลลงสู่ทะเล หวังประสบผลสำเร็จ โพสต์ทูเดย์ รายงานวันนี้ (4 เม.ย.54) ระบุแหล่งที่มาจากรอยเตอร์ว่า ปัญหาหลักที่ทีมวิศวกรซึ่งปฏิบัติการอยู่ที่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ฟูกุชิมะ ไดอิชิ ของโตเกียว อิเลคทริค พาวเวอร์ (เทปโค) กำลังประสบอยู่ในขณะนี้ ก็คือการเร่งหา วัสดุใดก็ตามที่สามารถอุดรูรั่วที่บริเวณบ่อเก็บกักน้ำใช้แล้วของเตาปฏิกรณ์เพื่อหยุดการรั่วไหลของกัมมันตรังสี และป้องกันไม่ให้ความร้อนของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ ทีมวิศวกรได้ลองใช้ขี้เลื่อยผสมกับหนังสือพิมพ์ โพลีเมอร์ และซีเมนต์ เพื่อฉาบทับปิดรอยแตกร้าวที่เกิดขึ้นที่โรงปฏิกรณ์หมายเลข 2 ซึ่งเป็นสถานที่ที่ตรวจพบว่ามีสารกัมมันตรังสีรั่วไหลลงสู่ทะเล “เราหวังว่าคุณสมบัติของโพลีเมอร์จะช่วยทำหน้าที่คล้ายกับผ้าอ้อมคือดูดซับ แต่ยังคงต้องรอพิสูจน์ผลกันต่อไป” ฮิเดฮิโกะ นิชิยามา รองผู้อำนวยการสำนักงานความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์และ อุตสาหกรรมของญี่ปุ่นกล่าว ขณะเดียวกัน ทางทีมวิศวกรได้ตรวจหาการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีในน้ำ โดยอาศัยสีย้อม ซึ่งยังไม่มีรายงานตัวเลขการรั่วไหลเพิ่มเติม นอกจากนี้ นิชิยามาได้กล่าวเพิ่มเติมว่า 3 ใน 6 ของเตาปฏิกรณ์ได้กลับคืนสู่สภาพปกติอย่างสมบูรณ์แล้ว ขณะที่ทางเทปโคระบุว่า จะปิดเตาปฏิกรณ์อย่างน้อย 4 เตาเป็นการถาวรหลังจากที่สามารถควบคุมสถานการณ์ทุกอย่างได้เรียบร้อยแล้ว แต่การดำเนินงานดังกล่าวอาจต้องใช้เวลาอีกหลายปี วิกฤตนิวเคลียร์ในญี่ปุ่นได้ส่งผลต่ออุตสาหกรรมนิวเคลียร์ทั่วโลกอย่างหนัก โดยกลุ่มสหภาพยุโรปมองว่า วิกฤตการณ์ครั้งนี้จะส่งผลต่อนโยบายด้านพลังงานเพื่อต่อกรกับปัญหาโลกร้อน ทางด้านรัฐบาลเยอรมนีและสวิสเซอร์แลนด์ ได้ออกมาประกาศชัดเจนแล้วว่าจะปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใช้งานมานานทั้งหมด หรือเลื่อนการพิจารณาอนุมัติสร้างโรงไฟฟฟ้านิวเคลียร์แห่งใหม่ เช่นเดียวกันกับประเทศจีน ขณะที่ทางไต้หวันกำลังศึกษาความเป็นไปได้ของพลังงานอื่นที่ไม่ใช่นิวเคลียร์ ผลกระทบจากวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ ส่งผลให้ล่าสุด เจ้าหน้าที่อาวุโสในกระทรวงสิ่งแวดล้อม แง้มว่า ญี่ปุ่นอาจทบทวนลดตัวเลขการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาย ซึ่งอยู่ที่ 25% ในปี 2563 ด้านหนังสือพิมพ์โยมิอุริรายงานโดยอ้างคำกล่าวของฮิเดกิ มินามิคาวา รองรัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อมโลกซึ่งระบุว่า เหตุการณ์ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ส่งผลต่อเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของญี่ปุ่นแน่นอน ทั้งนี้ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะรั่วหลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิที่ญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 11 มี.ค.54 เป็นวิกฤตินิวเคลียร์ที่รุนแรงที่สุดในรอบ 25 ปี (หลังเชอร์โนบิล 1986 หรือ พ.ศ. 2529) และผู้เชี่ยวชาญตรวจพบพลูโตเนียมรั่วลงดินในวันอังคาร (28 มี.ค.) ที่ผ่านมา ด้านสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รายงานวันเดียวกันนี้ (4 เม.ย.54) สรุปสถานการณ์จากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศหรือ IAEA วันที่ 2-3 เม.ย.54 ซึ่ง IAEA ได้มีแถลงการณ์เกี่ยวกับสถานการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Fukushima Daiichi สรุปได้ดังนี้ IAEA ได้รับข้อมูลจากหลายหน่วยงานของประเทศญี่ปุ่นโดยผ่านทางแหล่งข้อมูลอย่างเป็นทางการ คือ ทบวงการความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์และอุตสาหกรรม (Nuclear and Industrial Safety Agency) จากข้อมูลที่รายงานเมื่อวันที่ 2 (7.00 น. เวลาประเทศไทย) และ 3 เมษายน 2554 (7.00 น. เวลาประเทศไทย) สถานการณ์ล่าสุดของ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Fukushima Daiichi มีการรายงานดังต่อไปนี้ (ข้อความที่ขีดเส้นใต้เป็นข้อมูลที่ปรับปรุงจากรายงานครั้งก่อน) การกู้กระแสไฟฟ้า การดำเนินการกู้กระแสไฟฟ้าไปที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์หน่วยที่ 1-4 และการจ่ายไฟฟ้าไปที่อุปกรณ์ในแต่ละส่วน เป็นไปอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดียังไม่การรายงานเพิ่มเติมจากแถลงการณ์ฉบับที่แล้ว การจัดการน้ำที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีที่โรงไฟฟ้า ในการเตรียมถ่ายเทน้ำจากชั้นล่างของอาคารกังหันปั่นไฟไปที่เครื่องควบแน่น ในโรงไฟฟ้าหน่วยที่ 1 ได้มีการสูบน้ำจากถังเก็บน้ำของเครื่องควบแน่นไปที่ถึงสำรองของบ่อลดความดันเมื่อวันที่ 31 มีนาคม เวลา 10.00 น. (ประเทศไทย) และเมื่อวันที่ 2 เมษายน เวลา 13.27 น.(ประเทศไทย) การดำเนินการดังกล่าวได้เสร็จสิ้นลง น้ำในคูน้ำที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีได้ถูกสูบไปที่ถังน้ำที่ตึกหลักของหน่วยสิ่งแวดล้อมกลาง และระดับน้ำในคูน้ำได้ลดลงจากประมาณ 0.14 เมตรถึงระดับ 1.14 เมตร จากระดับส่วนบนสุดของคูน้ำ (ลดลงประมาณ 1 เมตร) เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2554 ในหน่วยที่ 2 ได้มีการสูบน้ำจากถังเก็บน้ำของเครื่องควบแน่นไปที่ถังสำรองของบ่อลดความดันเมื่อวันที่ 29 มีนาคม เวลา 14.45 น. และเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน เวลา 09.50 น.(ประเทศไทย) จากนั้นเมื่อวันที่ 2 เมษายน ได้เริ่มมีการถ่ายน้ำจากเครื่องควบแน่นไปยังถังเก็บน้ำของเครื่องควบแน่น จากนั้นจะมีการดำเนินการสูบน้ำออกชั้นล่างอาคารกังหันปั่นไฟ ในหน่วยที่ 3 ได้มีการสูบน้ำจากถังเก็บน้ำของเครื่องควบแน่นไปที่ถังสำรองของบ่อลดความดันเมื่อวันที่ 28 มีนาคม เวลา 15.40 น. และเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน เวลา 06.37 น.(ประเทศไทย) กองทับเรือของประเทศสหรัฐอเมริกาได้นำน้ำจืดมาที่ท่าเรือพิเศษของฟุกุชิมา ไดอิชิเมื่อวันที่ 31 มีนาคม เวลา 13.42 น.(ประเทศไทย)จากนั้นมีการถ่ายเทน้ำไปยังถังน้ำกรอง แต่มีการหยุดชะงักเป็นบางช่วงเนื่องจากปัญหาของท่อสูบน้ำ ส่วนเรือบรรจุน้ำลำที่ 2 ได้เดินออกจากท่า Onahama แล้วกำหนดจะเดินทางถึงในวันที่ 2 เมษายน 2554 NISA ได้เปิดเผยวันที่ 2 เมษายน 2554 เกี่ยวกับน้ำที่ปนเปื้อนที่มีระดับกัมมันตรังสีสูงกว่า 1,000 มิลลิซีเวิร์ตต่อชั่วโมง ที่พบในบ่อพักสายไฟ (cable storage pit) ในตำแหน่งใกล้กับจุดส่งน้ำทะเลของหน่วยที่ 2 ซึ่งได้รับการยืนยันจาก TEPCO เมื่อเวลา 07.20 น. (ประเทศไทย) ของวันเดียวกัน ทั้งนี้เนื่องจากมีรอยแตกประมาณ 20 เซนติเมตรที่ผนังของบ่อพักสายไฟที่ใกล้ที่สุดกับน้ำทะเล น้ำจากจุดนี้รั่วและไหลลงทะเลโดยตรง ซึ่งได้รับการยืนยันเป็นทีแน่ชัดแล้ว จะมีการวิเคราะห์ไอโซโทปในน้ำต่อไป การเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์ที่ประเทศญี่ปุ่นจากเหตุแผ่นดินไหว ฉบับที่ 28 (รายละเอียด)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท