Skip to main content
sharethis

หมายเหตุจากประชาไท: ศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน (Cross Border News Agency) ฉบับที่ 104 (28 มีนาคม 2554) รายงาน เนื้อหาจากเวทีเสวนาเรื่อง เสียงครวญจาก “ลุ่มน้ำโขง” บอกเล่าปัญหาการย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติที่เป็นผลมาจากนโยบายการพัฒนา ประเทศ และการแสดงนิทรรศการภาพถ่ายแรงงานข้ามชาติในลุ่มน้ำโขง “ประชาไท” แบ่งนำเสนอเป็น 2 ตอน

 

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2554 เวลา 09.00-13.00 น. โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล (คพรส.) ร่วมกับหน่วยงานพัฒนาและบริการสังคม สภาคริสตจักรในประเทศไทย (SDSU-CCT) เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group-MWG) เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ (Action Network for Migrants-ANM) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีเสวนาเรื่อง เสียงครวญจาก “ลุ่มน้ำโขง” บอกเล่าปัญหาการย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติที่เป็นผลมาจากนโยบายการพัฒนา ประเทศ และการแสดงนิทรรศการภาพถ่ายแรงงานข้ามชาติในลุ่มน้ำโขง ณ สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน สะพานหัวช้าง ราชเทวี กรุงเทพฯ

ชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า คณะกรรมการสมานฉันท์เเรงงานไทยได้ทำงานร่วมกับพี่น้องเเรงงานข้ามชาติมาโดย ตลอด โดยไม่เเบ่งเเยกว่าเป็นเเรงงานไทยหรือเเรงงานข้ามชาติ ทำงานกับทั้งแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ เเละเเรงงานข้ามชาติ

สำหรับวัตถุประสงค์ในการจัดการเสวนาครั้งนี้ ได้แก่ (1) เพื่อสร้างความตระหนักและความเข้าใจในเรื่องการดำเนินชีวิตของแรงงานข้าม ชาติ ผ่านการเสวนาและนิทรรศการภาพถ่ายแรงงานข้ามชาติ รวมทั้งการสร้างความเข้าใจและสายสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน รวมทั้งเคารพในบทบาทหน้าที่ของกันและกัน เพื่อสร้างสังคมที่เปี่ยมสุข

(2) เพื่อเอื้ออำนวยให้องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานหรือเกี่ยวข้องกับ ประเด็นแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล รวมทั้งองค์กรต่างๆ เช่น คริสตจักรได้นำเสนอและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงานแรงงานข้ามชาติแก่ สาธารณะชนและสร้างความตระหนักให้ทุกคนในสังคมได้มีส่วนในการช่วยเหลือแรงงาน ข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

(3) เพื่อหนุนเสริมบทบาทและศักยภาพของสื่อมวลชนและองค์กรต่าง ๆ ในการนำเสนอภาพและประเด็นต่างๆ ของแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล ให้มีการนำเสนอโดยปราศจากอคติและสร้างความเข้าใจต่อสาธารณชนมากยิ่งขึ้น และ (4) เพื่อเป็นเวทีสื่อสารสาธารณะในการนำเสนอความเคลื่อนไหว การขับเคลื่อน การติดตามและผลักดันนโยบายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นแรงงานข้ามชาติและผู้มี ปัญหาสถานะบุคคล รวมทั้งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนทัศนคติและมุมมองต่อแรงงานข้ามชาติ และผู้มีปัญหาสถานะบุคคลในมุมมองของคนทำงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสริมสร้างการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติ

ทั้งนี้ ขอเเสดงความชื่นชมที่ช่างภาพมีความสนใจเรื่องสิทธิ สังคมการเมือง และยังเป็นโอกาสที่ดีของเเรงงานข้ามชาติที่จะได้รับการนำเสนอประเด็นเพื่อ ความเท่าเทียมเเละเป็นธรรมในการทำงาน ผมหวังว่านิทรรศการเเละการเสวนาวันนี้จะประสบความสำเร็จเเละเป็นเสียงสะท้อน ให้รัฐ สังคม ประชาชน เเละสื่อ เข้าใจว่าเเรงงานข้ามชาติเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานสร้างสังคมและควรได้รับการ ปฏิบัติที่เท่าเทียมกับเเรงงานไทย

ทั้งนี้การเสวนามีผู้ใช้แรงงานเข้าร่วมงานกว่า 150 คน

 

ด้าน ดร.รุ่ง เริงสันติ์อาจิณ รองประธานสภาคริสตจักรในประเทศไทย กล่าวเปิดงานเสวนาและงานแสดงนิทรรศการภาพถ่ายว่า การจัดนิทรรศการในครั้งนี้มีความมุ่งหวังเพื่อให้สังคมเข้าใจปัญหาที่เกิด ขึ้นร่วมกันในลุ่มน้ำโขง โลกได้พัฒนาอย่างรวดเร็ว มีความเจริญก้าวหน้า มนุษย์อยู่อย่างสุขสบาย เเรงขับเคลื่อนสำคัญเกิดจากหยาดเหงื่อเเรงกายของเเรงงานข้ามชาติ ดังนั้นจึงเห็นชัดว่าเเรงงานข้ามชาติจึงมีความสำคัญต่อสังคมไทย

วันนี้ประเทศไทยมีแรงงานที่จดทะเบียนกว่า 900,000 คน ยังไม่นับที่ไม่จดทะเบียนอีก คาดการณ์ว่าน่าจะไม่ต่ำกว่า 2-3 ล้านคน คนเหล่านี้เป็นเบื้องหลังความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ทำงานที่ไม่มีใครมองเห็น ทั้งสกปรก อันตราย เเละยากลำบาก แน่นอนแม้ว่าประเทศไทยจะมีนโยบายเพื่อคุ้มครองเเรงงานข้ามชาติเเละการจัดการ เเรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบ เเต่พบว่ายังมีเหตุการณ์ที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำ เช่น อุบัติเหตุจากการทำงาน การเข้าถึงการบริการสุขภาพ การศึกษา สถานะบุคคล สิทธิเเรงงาน นี้เป็นประเด็นที่จะนำมาเเลกเปลี่ยนในวันนี้

ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา สภาคริสตจักรแห่งประเทศไทยได้ทำงานในประเด็นเเรงงานข้ามชาติ ผ่านการส่งเสริมความรู้เเก่โบสถ์เเละคริสเตียนตามเเนวชายเเดนให้มีการยอมรับ เเรงงานข้ามชาติในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เล็งเห็นความสำคัญของการร่วมมือ มองเขาในฐานะมนุษย์ที่มีคุณค่ามีศักดิ์ศรีเช่นเดียวกับเรา ดังนั้นการกระทำใดๆ ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยความรักก็เหมือนการกระทำต่อพระผู้เป็นเจ้านั้นเอง

 

อดิศร เกิดมงคล ผู้จัดการโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล กล่าวเปิดงานเป็นคนต่อมาว่า

ในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา ภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ มีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่เกิดขึ้นจำนวนมาก เเต่การพัฒนากลับเข้าไม่ถึงคนในพื้นที่ คนจนกลายเป็นคนที่ไม่มีโอกาสในการพัฒนา อย่างไรก็ตามคนจนในลุ่มเเม่น้ำโขงก็ไม่เคยยอมเเพ้ เเม้โอกาสการเข้าถึงเศรษฐกิจจะถูกปิดกั้น แต่พวกเขากลับมองการพัฒนาที่เกิดขึ้นผ่านความพยายามในการตอบโต้เอาตัวรอด เพื่อดำรงชีวิตได้ต่อไป ทางเลือกหนึ่งที่พบ คือการเดินทางข้ามเส้นสมมติเส้นพรมเเดนเพื่อเเสวงหาชีวิตเเละโอกาสที่ทำให้ คนที่บ้านมีสภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป แม้การเดินทางเต็มไปด้วยอุปสรรค เจอเจ้าหน้าที่รัฐเอารัดเอาเปรียบ เจอนายหน้าผู้เเสวงหาประโยชน์ พบเจอความยากลำบากตลอดการเดินทางข้ามพรมแดน ดังเช่นกรณีที่แรงงานข้ามชาติที่จังหวัดระนองเสียชีวิตในตู้คอนเทนเนอร์ พวกเขาและเธอก็มองเพียงแค่เป็นอุปสรรคที่ไม่ได้ทำให้ต้องยอมเเพ้ เมื่อมาถึงปลายทางชีวิตก็เต็มไปด้วยความยากลำบาก การถูกดูถูก ถูกมองว่าเป็นอื่น ถูกเอารัดเอาเปรียบเรื่องการทำงาน แน่นอนทำให้เขาเห็นว่าชีวิตในประเทศไทยไม่ง่ายเเต่ไม่ได้ทำให้เขายอมเเพ้

คนข้ามชาติในลุ่มเเม่น้ำโขงนอกเหนือจากประเทศไทยมีประมาณสามถึงห้าล้านคน เปอร์เซ็นต์ไม่มาก เเต่เป็นฐานสร้างชีวิตในภูมิภาคหลายสิบหลายร้อยล้านคน เขาข้ามมาพร้อมความหวังเเละชีวิตที่ดีขึ้น ในฐานะคนเบื้องหลังเขาทำให้สภาพชีวิตคนในประเทศไทยหลายล้านคนดีขึ้น ไม่ว่าจะถูกมองในฐานะอะไรก็ตาม สิ่งที่คุณจอห์นได้ทำคือนำเสนออีกหน้าหนึ่งของทางเลือก นำเสนอภาวะของความเป็นมนุษย์ เป็นชีวิตที่คนทั่วไปเป็นอยู่ เช่น เเม่ลูกมารอสามี ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นกับคนที่เรารัก เด็กหนุ่มรองานทำ ความรู้สึกอย่างนี้คนงานไทย คนไทยก็รู้สึก มีภาพของเเรงงานที่กำลังมีรอยสัก เหมือนวัยรุ่นไทยที่ตามเกาหลี มนุษย์ต้องการภาวะอย่างนี้ ทำให้ผมรู้สึกถึงหนังเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นการต่อสู้ระหว่างทหารอเมริกากับหนุ่มญี่ปุ่น เมื่อทหารอเมริกามองเข้าไปในดวงตาของหนุ่มญี่ปุ่น ภาวะความเป็นศัตรูหายไป เป็นความรู้สึกของมนุษย์คนหนึ่ง เป็นสิ่งที่ภาพนำเสนอ อยากให้มองตาเเละจะเข้าใจความเป็นมนุษย์ ซึ่งอยู่ติดตัวเราตั้งเเต่เกิดจนตาย

ขอขอบคุณคุณจอห์นที่เป็นมากกว่าช่างภาพ เป็นคนที่บอกเล่าความเป็นมนุษย์ของคนอื่นให้คนได้รู้ ทั้งด้านที่งดงามเเละไม่งดงาม ขอบคุณผู้จัดงานที่ทำให้เรื่องเเรงงานข้ามชาติได้รับการเผยเเพร่อีกครั้ง เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเพื่อความเข้าใจในประเด็นเเรงงานในลุ่มเเม่น้ำโขงต่อไป

 

Mr.John Hulme ช่างภาพ กล่าวขอบคุณ คพรส. ที่มอบโอกาสให้เเสดงภาพ เพื่อนำเสนอเรื่องสิทธิเเรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นเรื่องยากมาที่จะถ่ายทอดให้คนทั่วไปเข้าใจ พร้อมกล่าวว่า สำหรับเเรงบันดาลใจนี้ ครั้งเเรกได้ไปที่เเม่สอด ตอนเเรกตั้งใจเพื่อถ่ายภาพในค่ายผู้ลี้ภัย ซึ่งเข้าถึงยากมาก เเละเป็นพื้นที่ที่มีเจ้าหน้าที่ไทยเฝ้าระวังอยู่ เเละมีความเข้มงวดเรื่องการเข้าถึง จึงได้ศึกษาสถานการณ์ที่ชายเเดนหลายปี เดินทางไปหลายครั้ง ช่วงนั้นผมสังเกตว่ามีเเรงงานข้ามชาติทำงานในโรงงาน มีเเรงงานมากจนเเทบจะเป็นเมืองพม่ามากกว่าเมืองไทย ผมเริ่มสนใจชีวิตเเรงงาน เเละวิถีชีวิตทั่วไปของคนในเเม่สอด ผมจึงได้ถ่ายรูปเด็กเก็บขยะ ต่อมาผมได้ไประนองเเละได้พบเเรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมประมง

ช่วงเดียวกันผมเริ่มเห็นว่าประเด็นเเรงงานข้ามชาติไม่ใช่ประเด็นเฉพาะของ ประเทศไทย เเต่เป็นประเด็นนานาชาติ ทั่วโลกมีเเรงงานกว่า 192 ล้านคน ทั้งยุโรป อเมริกา ผมเริ่มศึกษาเรื่องการย้ายถิ่นข้ามพรมเเดนในภูมิภาค ผมจึงไม่ได้เป็นเเค่นักรณรงค์เรื่องเเรงงานที่ต้องการทำงานเฉพาะประเด็นพม่า ที่ประสบความยากลำบาก เเต่ต้องการชี้ให้เห็นถึงประเด็นการย้ายถิ่น ในฐานะปัญหาที่คนทั่วโลกต้องตระหนักมากกว่าร่วมด้วย

ถ้าถามว่ามีภาพไหนที่ประทับใจเป็นคำถามที่ตอบยากมาก เพราะการจะเลือกรูปใดรูปหนึ่งนั้นเลือกยาก เพราะผมรู้สึกผูกพันกับภาพต่างกันไปตามเวลาเเละสถานการณ์ ที่ชอบตอนนี้เป็นรูปที่ชุมชนกองขยะ เป็นรูปที่เเม่ลูกกำลังหาเลี้ยงชีพจากกองขยะ เพราะเเรงงานจะนึกว่ามาเมืองไทยเพื่อชีวิตที่ดีกว่า ผมไม่เข้าใจว่ามันดีกว่าอย่างไร เพราะเขาต้องไปใช้ชีวิตบนกองขยะ ผมพบเห็นครอบครัวพยายามเลี้ยงลูกหกคนบนกองขยะ ก็เลยสงสัยว่าเป็นชีวิตที่ดีกว่าในพม่าจริงหรือ เเล้วดีกว่าอย่างไร

รูปอีกรูปที่ชอบคือแรงงานข้ามชาติที่อยู่อย่างทุกข์ระทมในเมืองไทย เห็นวิถีชีวิตเเรงงานที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ห้องน้ำ น้ำสะอาดไม่ค่อยมี นอกจากนั้นแล้วยังชอบภาพเหตุการณ์ที่รู้สึกว่าเป็นการดิ้นรน เอาชนะความยากลำบาก จะเห็นภาพเเรงงานประท้วงขณะที่นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างก็เลยประท้วงนัดหยุดงาน ความพยายามในการเจรจาต่อรองกลับถูกมองว่าเป็นภัย เเรงงานต้องหนีไปอาศัยที่วัดอยู่ชั่วคราว เเรงงานเป็นผู้หญิงก็ต้องหนีไปโดยไม่ได้เก็บของ ต่อมาเเรงงานเเละเเกนนำถูกเเจ้งจับหาว่าคุกคามนายจ้าง สุดท้ายแรงงานทั้งหมดถูกส่งกลับพม่า นี้ถือเป็นความเลวร้ายอย่างหนึ่ง แม้ว่าแรงงานจะพยายามดิ้นรนก็กลับถูกรังเเกซ้ำ เรื่องการต่อสู้อาจไม่ได้สร้างรอยยิ้มหรือชัยชนะ เเต่เป็นเรื่องที่เราต้องต่อสู้เพื่อเเก้ปัญหาเเต่ละวันกันไป

ในความยากลำบาก เราพบเห็นคนพม่า เเรงงานพม่าพยายามสนับสนุนซึ่งกันเเละกัน เพื่อให้ชีวิตต้องเดินต่อไป เช่นกรณีหมอซินเธียที่มาเปิดคลินิกที่เเม่ตาว ให้บริการรักษาพยาบาลทั้งคนพม่าข้ามมาเพราะบริการสาธารณสุขไม่ดีเเละช่วย รักษาเเรงงานพม่าในไทย หรือศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติเป็นความพยายามสอนลูกหลานพม่า สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดตากก็สนับสนุนให้เด็กเรียนหนังสือ ให้ได้วุฒิการศึกษาและไม่โดนจับ

ในระหว่างที่ผมถ่ายภาพแต่ละภาพๆ นั้น ผมไม่ค่อยพบความเสี่ยงในการทำงาน เเต่มักเจอสถานการณ์ความยากลำบากมากกว่า มีเรื่องเศร้าเรื่องหนึ่ง เช่น ภรรยาแรงงานข้ามชาติอายุ 20 กว่าๆ สามีทำงานอยู่ในเรือประมง นานๆ จะมาขึ้นฝั่ง วันหนึ่งเขาถูกซ้อมแล้วหายไป เเต่ภรรยายังมารอท่าเรือ เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องยากที่จะทำใจยอมรับ บางครั้งก็มีเหตุการณ์ที่นักข่าว ช่างภาพมักโดนข่มขู่ เช่น การประท้วงที่เเม่สอด ตอนที่ไปถ่ายที่วัด ทั้ง ตม. ตำรวจ ฉก. มาที่วัดเพื่อผลักดันกลับ ตอนนั้นผมเป็นฝรั่งคนเดียว สภาอุตสาหกรรม หอการค้าไม่พอใจที่ผมพยายามถ่ายรูป พยายามส่งสัญญาณว่าถ้ามีข่าว มีรูปหลุดสู่สาธารณะ จะเป็นเรื่อง มีคนข่มขู่ไม่ให้เรื่องออกไปสู่สาธารณะ

แน่นอนเราคงไม่สามารถเปลี่ยนเเปลงโลกด้วยภาพถ่ายนิทรรศการ หรือเปลี่ยนเเปลงสังคมเเบบพลิกฝ่ามือ แต่อย่างน้อยผมหวังว่านี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตเเรงงานข้ามชาติว่า เป็นอย่างไรบ้าง เปิดประตูให้คนได้ใส่ใจรับรู้ประเด็นเเรงงานย้ายถิ่น เปิดให้เห็นประเด็นที่ถูกลืมและละเลยไปจากสังคม

 

ชมภาพของ John Hulme ได้ที่ http://johnhulme.net/?page_id=29

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net